หนังสือ "อมตวาทะ พระมงคลเทพมุนี (สด จนทสโร)" หลวงพ่อวัดปากน้ำ 10/10

ตอนที่    1 - 10 https://ppantip.com/topic/42911183
ตอนที่  11 - 29 https://ppantip.com/topic/42911188
ตอนที่  21 - 30 https://ppantip.com/topic/42911195
ตอนที่  31 - 40 https://ppantip.com/topic/42913225
ตอนที่  41 - 50 https://ppantip.com/topic/42915182
ตอนที่  51 - 60 https://ppantip.com/topic/42915197
ตอนที่  61 - 70 https://ppantip.com/topic/42915214
ตอนที่  71 - 80 https://ppantip.com/topic/42915225
ตอนที่  81 - 90 https://ppantip.com/topic/42917084
ตอนที่ 91 - 100 https://ppantip.com/topic/42917108

91
สำเร็จด้วยการให้
ทำอะไรสำเร็จหมดด้วยการให้ แต่ว่าต้องฉลาดให้ ถ้าโง่ให้ยิ่งจนใหญ่ ถ้าฉลาดให้ยิ่งให้ยิ่งรวยใหญ่ มันเป็นอย่างนี้ ต้องฉลาดให้อย่างนี้ เพราะฉะนั้น ทานัญ จะ ทานเป็นวัตถุสำคัญสำหรับสงเคราะห์ซึ่งกันและกัน

เราเกิดมาในมนุษย์โลก หญิงชายคฤหัสถ์บรรพชิต ไม่ว่า เกิดมาต่างคนต่างมีตัวเปล่าๆ มีแต่บุญกุศลพิทักษ์รักษามา มาแสวงหาทรัพย์สมบัติ ได้เขตสำหรับในโลกนี้ ก็ย่อมเฉลี่ยซึ่งกันและกัน ตามมีตามเฉลี่ยได้ ตามสามารถที่จะทำได้เฉลี่ยได้ สามารถจะทำได้เพียงแค่ไหนก็ทำไปแต่เพียงเท่านั้น อย่าให้เกินกำลังกว่าตัว อย่าให้เดือดร้อน ทำพอสมควรเเก่การ เพราะเรามาไม่นานเท่าใดนัก ก็จะต้องลาโลกนี้ ผ่านโลกนี้ไป ไปโลกอื่นอีกต่อไป
การให้สำเร็จที่เป็นอัตภาพที่เป็นมนุษย์นี้ เมื่อพ้นอัตภาพมนุษย์นี้เสียแล้ว ก็ไม่ได้ให้กัน ให้กันไม่ได้ ไปเป็นรูปพรหมให้กันไม่ได้ ไปเป็นอรูปพรหมให้กันไม่ได้ทุกชั้นไป ของสมบัติทิพย์ก็มีด้วยกันทั้งสิ้น ไปนิพพานก็ให้กันไม่ได้ ให้กันได้แต่เฉพาะเป็นมนุษย์นี่เท่านั้นที่ให้กันได้ เป็นสัตว์เดรัจฉานให้กันไม่ได้ เป็นเปรตสุรกายให้กันไม่ได้ เป็นสัตว์นรกให้กันไม่ได้ ให้กันได้เฉพาะแต่ในมนุษย์นี้เท่านั้น
จาก พระธรรมเทศนากัณฑ์ที่ 56 เรื่อง สังคหวัตถุ
24 ธันวาคม 2497
 
92
วาจาศักดิ์สิทธิ์
หัดวาจาไพเราะเสียในชาตินี้ ชาติต่อๆ ไป วาจาของตนศักดิ์สิทธิ์ จะพูดอะไรสำเร็จกิจหมดทุกอย่าง ถ้าใช้วาจาหยาบก็เท่ากับวาจาจอบตัวเอง ในชาตินี้ก็ดี วาจาหมดอำนาจหมดสิทธิ์ ไม่มีอำนาจอะไร พูดไปก็เท่ากับไม่ได้พูด พูดอะไรเป็นไม่สำเร็จ เพราะวาจาของตน ไม่ได้บำเพ็ญกุศลทางวาจาไว้ ถ้าบำเพ็ญกุศลทางวาจาไว้แล้ว กล่าววาจาใด วาจาศักดิ์สิทธิ์
จาก พระธรรมเทศนากัณฑ์ที่ 56 เรื่อง สังคหวัตถุ
24 ธันวาคม 2497
 
93
มัชฌิมาปฏิปทา
กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์นั่นแหละ แรกเรามาเกิดเอาใจหยุดอยู่ตรงนั้น ตายก็ไปอยู่ตรงนั้น หลับก็ไปอยู่ตรงนั้น ตื่นก็ไปอยู่ตรงนั้น นั่นแหละเป็นที่ดับที่หลับที่ตื่น กลางแท้ๆ เทียว กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ใสบริสุทธิ์เท่าฟองไข่แดงของไก่ กลางนั่นแหละตรงกลางนั่นแหละ ไปหยุดที่ศูนย์กลางนั่นแหละ ได้ชื่อว่ามัชฌิมา มัชฌิมานะ

พอหยุดก็หมดดีหมดชั่ว ไม่ดีไม่ชั่วกัน หยุดทีเดียว พอหยุดจัดเป็นบุญก็ไม่ได้ พอหยุดจัดเป็นบาปก็ไม่ได้ จัดเป็นดีก็ไม่ได้ ชั่วก็ไม่ได้ ต้องจัดเป็นกลาง ตรงนั้นแหละกลางใจ หยุดก็เป็นกลางทีเดียว

นี้ที่พระองค์ให้นัยไว้กับองคุลิมาลว่า สมณะหยุด สมณะหยุด พระองค์ทรงเหลียวพระพักตร์มา สมณะหยุดแล้ว ท่านก็หยุด นี้ต้องเอาใจไปหยุดตรงนี้ หยุดตรงนั้น ถูกมัชฌิมาปฏิปทาทีเดียว
จาก พระธรรมเทศนาภัณฑ์ที่ 57 เรื่อง ธัมมจักรกปปวัตตนสูตร
1 มกราคม 2498
 
94
เคร่งครัดในหน้าที่ของตน
ถึงเวลาให้ทาน ก็ให้ทานตามกำลังของตนไม่เดือดร้อน ถึงเวลารักษาศีล ก็รักษาศีลตามกำลังของตน ซื่อตรงต่อศีลจริงๆ ไม่คดโกงต่อศีล ไม่อวดดีต่อศีล เคารพในศีลอย่างมั่นคงทีเดียว เมื่อเจริญภาวนา ก็เคารพในภาวนาอย่างมั่นคงทีเดียว ทำให้เป็นปรากฏทีเดียว ถ้าไม่เห็นเป็นปรากฏ ก็ติเตียนตัวทีเดียวว่าตัวไม่เป็นว่ากล่าวเอาทีเดียว ติเตียนทีเดียว ดังนี้

หน้าที่ของอุบาสกอุบาสิกาเมื่อมาถึงที่ประชุม ภิกษุ สามเณรก็เคร่งครัดในศีล สมาธิ ปัญญาของตน อุบาสก อุบาสิกาเล่า ก็ต้องเคร่งครัดในหน้าที่ของตน เมื่อจะให้ทานก็ระลึกถึงจาคานุสสติ ระลึกถึงการให้ทาน เมื่อจะรักษาศีลก็ระลึกถึงสีลานุสสติ ถือศีลของตนไว้ ถือศีลให้มั่นคง อย่าส่งใจไปในทางอื่น เมื่อเจริญภาวนาก็ทำ

ภาวนาให้ปรากฏขึ้น อย่าส่งใจไปในที่อื่น เมื่อมีเป็นขึ้นเข้าที่ประชุมก็ระลึกถึงตัวไว้ให้มั่นคง อย่าลอกแลก ไม่ง่อนแง่นแคลนคลอน ทำภาวนาให้เห็นแจ่มอยู่เสมอ
จาก พระธรรมเทศนากัณฑ์ที่ 58 เรื่อง อนุโมทนาคาถา
8 มกราคม 2498
 
95
โลกร่มเย็นได้เพราะทาน
ทาน การให้นี้แหละเป็นข้อสำคัญนัก โลกจะอยู่ร่มเย็นเป็นสุขได้ ก็เพราะอาศัยทาน ถ้าปราศจากทานการให้แล้ว โลกก็เดือดร้อน ภิกษุสามเณรเดือดร้อนทีเดียว เพราะทานแปลว่าให้ความสุขซึ่งกันและกัน ลักษณะการให้ความสุขซึ่งกันและกันน่ะ จำเดิมแต่มารดา บิดาให้ความสุขแก่บุตรและธิดา บุตรและธิดาเจริญวัยวัฒนาเป็นลำดับไป

เมื่อมารดาบิดาแก่ชราทุพพลภาพเกินไป บุตรและธิดาก็ต้องให้อาหารและรางวัลแก่มารดาบิดาเหมือนกัน มารดาบิดาให้แก่บุตรและธิดาไว้แล้ว บุตรธิดาเป็นหนี้บิดามารดา ติดอยู่มากนัก เมื่อมารดาบิดาแก่เฒ่าทุพพลภาพเต็มที่ บุตรและธิดาต้องใช้หนี้ ต้องให้มารดาบิดาตอบบ้าง การให้กันเช่นนี้แหละ โลกถือกันเป็นประเพณีสืบกันมาได้
จาก พระธรรมเทศนากัณฑ์ที่ 59 เรื่อง ภัตตานุโมทนาคาถา
16 มกราคม 2498
 
96
พุทธานุภาพ ธรรมานุภาพ สังฆานุภาพ
อานุภาพพระพุทธเจ้านั้นอเนกอนันต์ พระเทวทัตประทุษร้ายพระพุทธเจ้า ข่มเหงพระพุทธเจ้า จนกระทั่งแยกย้ายพระสงฆ์เป็นสังฆเภท เหตุกรรมอันลามกของพระเทวทัต เกิดเจ็บไข้ขึ้น จะมาเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงรับสังว่า ไม่เห็นเราผู้ตถาคตหรอก มาก็ไหว้ไม่ถึง เต็มทีอยู่แล้ว ใกล้จะเห็นอยู่แล้ว พอใกล้จะเห็นเท่านั้น ด้วยพุทธานุภาพที่รับสั่งไว้ ไม่เห็นเราตถาคต นั้นแหละ พุทธานุภาพที่รับสั่งไว้นั้นแหละ แผ่นดินแยก สูบพระเทวทัตไปเข้าอเวจี ไม่ได้เห็นพระพุทธเจ้าอีก นี้พุทธานุภาพเป็นอย่างนี้

ธรรมานุภาพน่ะเป็นอย่างไร นี่แหละที่เราเป็นอยู่ทุกวันๆ เป็นหญิงก็ดี เป็นชายก็ดี ที่เป็นอยู่เป็นสุข นี้แหละเรียกว่าธรรมานุภาพ นี่แเหละธรรมานุภาพ ที่เป็นอยู่เป็นทุกข์พวกอธรรม นี้ธรรมานุภาพเหมือนกัน อยู่เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์ต่างๆ เหล่านี้เป็น อธรรมานุภาพ ที่เป็นมนุษย์อยู่นี้ เป็นแทวดาอยู่นี้ เป็นพรหมอยู่นี้ เป็นอรูปพรหมอยู่นี้ เป็นอยู่ได้ไม่แตกไม่สลายไปนั่นแหละธรรมานุภาพละ

สังฆานุภาพนะเป็นอย่างไร สังฆานุภาพน่ะอานุภาพของพระสงฆ์ พระพุทธศาสนาที่รุ่งเรืองดำรงอยู่ได้ จนกระทั่งเราได้ยินได้ฟัง ได้บวชเป็นภิกษุสามเณรอยู่บัดนี้ ที่ทรงมาได้จนกระทั่งถึงบัดนี้นั้น ใครจะทรงเอามาได้ ใครจะทรงเอาพระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้ามาได้ นอกจากสังฆานุภาพน่ะไม่ได้ สังฆานุภาพทรงเอาไว้ รักษาเอาไว้ สังฆานุภาพนั้นเรียกว่าจิต มันจะอคติอวดดีไปก็ไม่ได้ ทายกอุบาสกอุบาสิกาเลิกให้ทานเสีย หมดสังฆานุภาพดับอีกเหมือนกัน อยู่ด้วยทายกอุบาสก อุบาสิกา ทานของท่านทายกอุบาสกอุบาสิกา ท่านเลี้ยงดูไว้นี่แหละ สังฆานุภาพยังได้ปรากฏอยู่
จาก พระธรรมเทศนากัณฑ์ที่ 59 เรื่อง ภัตตานุโมทนาคาถา
16 มกราคม 2498
 
97
เป้าหมายใจดำของพุทธศาสนา
ธัมมะกาโย อะหัง อิติปี เราผู้ตถาคตคือธรรมกาย วางหลักไว้อย่างนี้ ความเชื่อที่ไม่กลับกลอก ตั้งมั่นดีแล้วในพระตถาคตเจ้า นี้ถูกแล้ว แปลอย่างนี้ เราจะต้องวางความเชื่อลงไว้ในธรรมกายนี้อีก

นี้วัดปากน้ำค้นพบแล้ว ได้ตัวจริงแล้ว ไปนรกได้ ไปสวรรค์ได้ ไปนิพพานได้ อาราธนาพระพุทธเจ้าที่อยู่ในพระนิพพาน มาให้มนุษย์เห็นในวัดปากน้ำมีมากมาย ในวันวิสาขะ มามะ ให้เห็นจริงเห็นจังกันอย่างนั้น เท่านั้น

แปลบาลีศัพท์หนึ่งแปลได้ตั้งร้อย ผู้รู้น้อยว่าแปลผิดไม่ถูก นี่แปลอย่างนี้ถูกเกินถูกอีก แน่นอนทีเดียวความเชื่อของเรา ต้องตั้งมั่นลงไปในพระตถาคตเจ้า อย่ากลับกลอก ถ้าว่าไปกลับกลอกเสีย ก็เป็นอันไร้จากประโยชน์ ไร้จากผล ไม่ถูกต้องความสนใจพระอริยบุคคล

พระอริยบุคคลท่านมีใจตั้งอยู่ในธรรมกายทั้งนั้น ยืนยันอย่างนี้ ตำรานี้ก็ถูกเรียกว่าอริยธนคาถา ทรัพย์อันประเสริฐ
ของพระอริยเจ้า
ถ้าว่าใจหยุดอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกาย ดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกายนั้น ต้องมีศูนย์กลางนะ มนุษย์เล่า ถ้าว่ามนุษย์มีใจไม่ลอกแลก ใจไม่ง่อนแง่นใจไม่คลอนแคลน ก็ตั้งอยู่ในดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ นั้นแหละถูกหลักเป้าหมาย ใจดำของพุทธศาสนา
จาก พระธรรมเทศนากัณฑ์ที่ 60 เรื่อง อริยธนคาถา
23 มกราคม 2498
 
98
โกงตัวเอง
ภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกาในพระพุทธศาสนา นับถือพระพุทธศาสนา ต้องตั้งมั่นอยู่ในศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกาย ถ้าว่าไม่ได้ธรรมกายละ ก็เข้าถึงธรรมกายให้ได้ จะต้องเอาใจไปตั้งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกายให้ได้ บัดนี้ วัดปากน้ำมีร้อยห้าสิบกว่าคน ใจหยุดอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกายได้ ร้อยห้าสิบกว่า

ที่ยังเข้าไม่ถึงก็เพราะประมาทเลินเล่อเผลอตัว ทำไม่จริง เข้าไม่จริง จรดไม่จริง ตั้งไม่จริง ลอกแลก เช่นนี้โกงตัวเอง เมื่อโกงตัวเองเสียแล้วเข้าถึงธรรมกายไม่ได้ ทำไมโกงตัวเองเล่า มันขี้เกียจทำ ทำเข้าเมื่อยขบเล็กๆ น้อยๆ ขี้เกียจเสียแล้ว หยุดเสียแล้ว ไม่ทำแล้ว ทำก็เห็นลางๆ ไรๆ เอ้า! ปล่อยเสียแล้ว ไม่ทำเสียแล้ว ไปไถลท่าอื่นเสียแล้ว ใจไปจรดที่อื่นเสียแล้ว ไปจรดอะไรเล่า รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ปัจจุบันบ้าง อดีตบ้าง อนาคตบ้าง
จาก พระธรรมเทศนากัณฑ์ที่ 60 เรื่อง อริยธนคาถา
23 มกราคม 2498
 
99
ขันธ์ 5
ขันธ์ทั้ง 5 เป็นภาระสำคัญและหนักด้วย ใครปล่อยวางขันธ์ 5 ละไม่ได้ ผู้นั้นต้องเวียนว่ายตายเกิด ผู้ใดปล่อยได้ผู้นั้นนับวันจะหมดชาติหมดภพ จะมีนิพพานเป็นที่ไปในเบื้องหน้า ที่เทศนานี้ล้วนสอนให้ถอดขันธ์ 5 ออกเป็นชั้นๆ ไป แต่ว่าจะถอดขันธ์ 5 จะถอดอย่างไร มันเหมือนมะขามสด เนื้อกับเปลือกมันติดกันไม่หลุด ไม่กรอกจากกัน ไม่ล่อนจากกัน ถอดไม่ได้ เรายังไม่เห็นขันธ์ 5

ต่อเมื่อใดถอดขันธ์ 5 เราจะเห็นขันธ์ 5 เห็น รูป เวทนา สัญญา สังชาร วิญญาณ นี่เรารู้เห็นด้วยตามนุษย์ รูปเราเห็นได้ เวทนาเราก็เห็นได้ หน้าตาแช่มชื่นดี เราก็รู้ว่าสุข เรื่องสัญญา สังขาร วิญญาณ เราก็ไม่เห็น เราจะต้องเห็นทั้ง 5 อย่างจึงจะละได้วางได้ ถ้าไม่เห็นขันธ์ทั้ง 5 อย่าง ละวางไม่ได้

ถ้าอยากเห็นขันธ์ 5 เราต้องถอดกายออกเป็นชั้นๆ ต้องถอดกายทิพย์ออกจากกายมนุษย์ วิธีจะถอดขันธ์ ไม่ใช่เป็นของง่าย เป็นของยาก หมื่นยาก แสนยากทีเดียว แต่วิธีเขามีที่วัดปากน้ำ วิธีเข้ากายถอดขันธ์ คือ ทำจิตให้หยุดให้นิ่งที่กำเนิดเดิม ถอดขันธ์ออกไปแล้วจึงเห็นขันธ์
จาก พระธรรมเทศนากัณฑ์ที่ 61 เรื่อง ภารสุตตกถา
 
100
ที่พึ่งจริง
ธรรมดาคนเราเมื่อมีทุกข์เข้า ก็ย่อมจะต้องถึงซึ่งที่พึ่งเพื่อพ้นทุกข์ บางคนถึงภูเขาใหญ่ๆ เป็นที่พึ่ง บางคนถึงบำใหญ่ๆ เป็นที่พึ่ง บางคนถึงอารามใหญ่ๆ เป็นที่พึ่ง บางคนถึงเจดีย์ ต้นไม้เป็นมหาสักการะ เชื่อว่าเทวดาจะปกปักรักษาไว้ได้ ไม่เป็นอันตราย

พระพุทธเจ้ารับสั่งว่า ภูเขา ต้นไม้ และอะไรๆ เหล่านี้ ไม่ใช่ที่พึ่งหรอก พ้นจากทุกข์ไม่ได้หรอก ผู้ใดถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งนั่นแหละ เป็นที่พึ่งได้ เพราะฉะนั้นจะพึ่งพวกภูเขา อารามใหญ่ๆเหล่านั้นไม่ได้ ต้องพึ่งพระพุทธเจ้า พุทธรัตนะนั้นแหละเป็นที่พึ่งจริง ธรรมรัตนะก็เป็นที่พึ่งจริง สังฆรัตนะก็เป็นที่พึ่งจริง
จาก พระธรรมเทศนากัณฑ์ที่ 62 เรื่อง โพธิปักขิยธรรมกถา
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่