หนังสือ อมตวาทะ พระมงคลเทพมุนี (สด จนทสโร) หลวงพ่อวัดปากน้ำ (ตอนที่ 1)

ตอนที่    1 - 10 https://ppantip.com/topic/42911183
ตอนที่  11 - 29 https://ppantip.com/topic/42911188
ตอนที่  21 - 30 https://ppantip.com/topic/42911195
ตอนที่  31 - 40 https://ppantip.com/topic/42913225
ตอนที่  41 - 50 https://ppantip.com/topic/42915182
ตอนที่  51 - 60 https://ppantip.com/topic/42915197
ตอนที่  61 - 70 https://ppantip.com/topic/42915214
ตอนที่  71 - 80 https://ppantip.com/topic/42915225
ตอนที่  81 - 90 https://ppantip.com/topic/42917084
ตอนที่ 91 - 100 https://ppantip.com/topic/42917108


1
ใจ
ต้องทำใจให้หยุดจึงจะเข้าภูมิของสมถะได้ ถ้าทำใจให้หยุดไม่ได้ก็เข้าภูมิสมถะไม่ได้ สมถะเขาแปลว่า สงบ แปลว่าระงับ แปลว่าหยุด แปลว่านิ่ง ต้องทำใจให้หยุด ใจของเรา อะไรเรียกว่า ใจ เห็นอย่างหนึ่ง จำอย่างหนึ่ง คิดอย่างหนึ่ง รู้อย่างหนึ่ง 4 อย่างนี้รวมเข้าเป็นจุดเดียวกัน นั่นแหละเรียกว่า ใจ

อยู่ที่ไหน? อยู่ในเบาะน้ำเลี้ยงหัวใจ คือ ความเห็นอยู่ที่ท่ามกลางกาย ความจำอยู่ที่ท่ามกลางเนื้อหัวใจ ความคิดอยู่ท่ามกลางดวงจิต ความรู้อยู่ท่ามกลางดวงวิญญาณ

เห็น จำ คิด รู้ ๔ ประการนี้หมดทั้งร่างกาย ส่วนเห็นเป็นต้นของรู้ ส่วนจำเป็นต้นของเนื้อหัวใจ ส่วนคิดเป็นต้นของดวงจิต ส่วนรู้เป็นต้นของดวงวิญญาณ

ดวงวิญญาณ เท่าดวงตาดำข้างใน อยู่ในกลางดวงจิต 
ดวงจิต เท่าดวงตาดำข้างนอก อยู่ในกลางเนื้อหัวใจ
ดวงจำ กว้างออกไปอีกหน่อยหนึ่งเท่าดวงตาทั้งหมด
ดวงเห็น อยู่ในกลางกายโตกว่าดวงตาออกไป
นั่นเป็นดวงเห็น นั่นแหละ ธาตุเห็นอยู่ศูนย์กลาง ดวงนั้น นั่นแหละเรียกว่าเห็น เห็นอยู่ในธาตุเห็นนั้น

ดวงจำ ธาตุจำอยู่ในศูนย์กลางดวงนั้น ความจำอยู่ที่นั่น
ดวงคิด ธาตุคิดอยู่ศูนย์กลางดวงนั้น
ดวงรู้ ธาตุรู้อยู่ในศูนย์กลางดวงนั้น
เห็น จำ คิด รู้ 4 อย่างนี้แหละ เอาเข้ามารวมเป็นจุดเดียวกัน เรียกว่า ใจ
จาก หลักการเจริญภาวนาสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน
 
2
ที่ตั้งของใจ
คำที่เรียกว่า ใจ นี่ เราต้องบังคับให้หยุดเป็นจุดเดียวกัน เห็น จำ คิด รู้ ๔ อย่างนี้ ต้องมารวมหยุดเป็นจุดเดียวกันอยู่กลางกายมนุษย์ สะดือทะลุหลัง ขวาทะลุซ้าย กลางกั๊กข้างใน สะดือทะลุหลังเป็นด้ายกลุ่มไปเส้นหนึ่งตึง ขวาทะลุซ้ายเป็นด้ายกลุ่มไปเส้นหนึ่งตึงตรงกัน ตึงทั้ง ๒ เส้น ตรงกลางจรดกัน

ที่กลางจรดกันนั่นแหละเรียกว่ากลางกั๊ก กลางกั๊กนั่นแหละถูกกลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ใสบริสุทธิ์เท่าฟองไข่แดงของไข่ไก่ ถูกกลางดวงพอดี ที่สอนให้เอาพระของขวัญไปจรดไว้ที่กลางดวงนั้น คือกลางกั๊กนั่นเอง เราเอาใจของเราไปจดที่กลางกั๊กนั่น เห็น จำ คิด รู้ ๔ อย่างจรดอยู่กลางกั๊กนั้น กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ มีที่ตั้งแห่งเดียวเท่านั้นคือ ใจ

ที่เขาบอกว่า ตั้งใจ ตั้งใจ นั้น เราจะต้องเอาใจไปหยุดตรงนั้นทีเดียว ถึงจะถูกเป้าหมายใจดำ ที่เขาบอกว่าตั้งใจ เวลานี้เราจะทำบุญทำกุศล เราก็ต้องตั้งใจตรงนั้น บัดนี้เราจะรักษาศีลก็ต้องตั้งใจตรงนั้น บัดนี้เราจะเจริญภาวนา เราก็ต้องตั้งใจตรงนั้นเหมือนกัน ต้องเอาใจไปหยุดตรงกลางนั้น

เมื่อเอาใจไปหยุดอยู่กลางนั้นได้แล้ว ก็ใช้สัญญาจำให้มั่น หยุดนิ่ง บังคับให้นิ่ง ถ้าไม่นิ่งก็ต้องใช้บริกรรมภาวนาบังคับไว้ บังคับให้ใจหยุด บังคับหนักเข้า หนักเข้าๆ พอถูกส่วนเข้าใจหยุดนิ่ง ใจหยุดๆ พอใจหยุดเท่านั้นถูกตัวสมถะแล้ว หยุดนั่นแหละเป็นตัวสมถะ หยุดนั่นเองเป็นตัวสำเร็จ ทั้งทางโลกและทางธรรมสำเร็จหมด
จาก หลักการเจริญภาวนาสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน
 
3
ทางสายเอก
ใจที่หยุดนั้นต้องถูกกลาง ถ้าไม่ถูกกลางใช้ไม่ได้ ต้องหยุดเข้าสิบ เข้าศูนย์เข้าส่วน ถูกสิบ ถูกศูนย์ ถูกส่วน ถ้าหยุดกลางกายเช่นนั้นถูกสิบ พอถูกสิบเท่านั้นไม่ช้าจะเข้าถึงศูนย์ พอถูกสิบแล้ว ก็จะเข้าถึงศูนย์ที่เดียว โบราณท่านพูดว่า "เห็นสิบแล้วเห็นศูนย์ เป็นเค้ามูลสืบกันมา เที่ยงแท้แน่นักหนา ตั้งอนิจจาเป็นอาจิณ จุติแล้วปฏิสนธิ ย่อมเวียนวนอยู่ทั้งสิ้น สังขาราไม่ยืนยิน ราคีสิ้นเป็นตัวมา"

สิบศูนย์นี้เป็นตัวสำคัญนัก สัตว์โลกจะเกิดในโลกได้ ต้องอาศัยเข้าสิบแล้วตกศูนย์จึงเกิดได้ ถ้าเข้าสิบไม่ตกศูนย์แล้วเกิดไม่ได้ โลกกับธรรมต้องอาศัยกันอย่างนี้ ส่วนทางธรรมเล่าก็ต้องเข้าสิบ เข้าสิบแล้วก็ตกศูนย์ ตกศูนย์ คือ ใจหยุด พอใจหยุดเรียกว่าเข้าสิบแล้ว เห็นเป็นดวงใสเท่าดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ดขึ้นที่ใจหยุดนั้น นั่นตกศูนย์แล้ว เข้าสิบแล้ว เห็นศูนย์แล้ว เรียกว่า เข้าสิบแล้วเห็นศูนย์

พอเห็นศูนย์ใจก็หยุดอยู่กลางศูนย์นั้น กลางดวงใสเท่าดวงจันทร์ดวงอาทิตย์นั้น ดวงนั้นแหละเรียกว่า ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรืออีกนัยหนึ่งดวงนั้นเรียกว่า ดวงปฐมมรรค หนทางเบื้องต้น มรรค ผล นิพพาน

ถ้าจะไปสู่มรรค ผล นิพพาน ต้องเข้ากลางดวงนั้นแห่งเดียว ไปได้ทางเดียวทางอื่นไม่มี เมื่อเข้าดวงศูนย์นั้นได้แล้ว เรียกว่าปฐมมรรคนัยหนึ่ง อีกนัยหนึ่งดวงนั้น นั่นแหละเรียกว่า เอกายนมรรค แปลว่า หนทางเอก ไม่มีโท สองไม่มี แปลว่า หนทางหนึ่ง สองไม่มี หนึ่งทีเดียว
จาก หลักการเจริญภาวนาสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน
 
4
ทางเดียวกัน
ดวงนั้นแหละเรียกว่า ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นทางไปของพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ทั้งหมดในสากลโลกในสากลธรรม พระพุทธเจ้า พระอรหันต์จะเข้าไปสู่นิพพาน ต้องไปทางนี้ทางเดียว ไม่มีทางแตกแยกจากกัน ไปแนวเดียวทางเดียวกันหมด แต่ว่าการไปนั้น บางทางเร็ว บางท่านช้า ไม่เหมือนกัน

คำที่ว่าไม่เหมือนกันนี้แหละ ถึงจะได้ชื่อว่าไม่ซ้ำกัน คำว่าไม่ซ้ำกัน เพราะเร็วกว่ากัน ช้ากว่ากัน แล้วแต่นิสัยวาสนาของตนที่สั่งสมอบรมไว้ แต่ว่า ทางไปนั้นเป็นทางเดียวกันหมด เป็นเอกายนมรรค หนทางเส้นเดียว เมื่อจะไปต้องหยุด

นี่ก็แปลก ทางโลกเขาจะไปต้องขึ้นเรือบิน เรือยนต์ รถยนต์ไป จึงจะเร็วจึงจะถึง แต่ทางธรรมไม่เป็นนั้น เมื่อจะไปต้องหยุด ถ้าหยุดจึงจะเร็วจึงจะถึง นี่แปลกอย่างนี้ ฉะนั้นต้องเอาใจหยุดจึงจะเร็วจึงจะถึง หยุดอยู่กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ พอหยุดถูกส่วนก็เห็นดวงใส ดวงใสนั้นแหละเรียกว่าเอกายนมรรค หรือเรียกว่า ปฐมมรรค หรือเรียกว่าธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน โตเท่าดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ ใจก็หยุดนิ่งอยู่กลางดวงนั้น
จาก หลักการเจริญภาวนาสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน

5
หยุด
คำว่า หยุด อันนี้แหละถูกตั้งแต่ต้นจนเป็นพระอรหัต คำว่าหยุดอย่างนี้คำเดียวเท่านั้น ถูกทางสมณะ ตั้งแต่ต้นจนพระอรหัต เป็นตัวศาสนาแท้ๆ เชียว คำว่า หยุด

เพราะฉะนั้น ต้องเอาใจหยุดอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ หยุดนั่นแหละถูกเป้าหมายใจดำ ถูกโอวาทของพระบรมศาสดา ถ้าไม่หยุดจะปฏิบัติศาสนาสัก 40-50 ปีก็ช่าง ที่สุดจะมีอายุสัก 100 ปี หรือ 120-130 ปี ถ้าใจหยุดไม่ได้ ไม่ถูกศาสนาสักที

หยุดเข้าสิบเข้าศูนย์ กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ไม่ได้ ไม่ถูกศาสนาสักที ต่อเมื่อใดหยุดได้ก็ถูกศาสนาทีเดียว ถูกพระโอษฐ์ของพระศาสดาทีเดียว ให้จำให้แม่นอย่างนี้
จาก หลักการเจริญภาวนาสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน

6
ตาย - เกิด
ตายเกิดเดินตรงกันข้าม ถ้าว่าจะเกิดก็เดินนอกออกไป ถ้าว่าจะไม่เกิดก็เดินในเข้าไป กลางเข้าไว้ หยุดเข้าไว้ ไม่คลาดเคลื่อน นี้ตายเกิดอย่างนี้ ให้รู้จักหลักอย่างนี้

เมื่อรู้จักหลักดังนี้แล้ว เราก็รู้ทีเดียว พอรุ่งขึ้นเช้านี้ที่ใจเราวุ่นวายอยู่นี้ มันทำอะไร? มันจะเวียนว่ายตายเกิด ถ้าใจเรานิ่งอยู่ในกลางนั้น มันจะเลิกเวียนว่ายตายเกิด เราก็รู้ตัวของเราอยู่ เราไม่ต้องง้อใคร เรารู้แล้ว เราเรียนแล้ว เราเข้าใจแล้ว เราต้องทำใจของเราให้นิ่ง ให้หยุด ทำใจให้หยุด

ทำใจให้หยุดอยู่ศูนย์กลางนั่น ทำใจของเราให้หยุด เราก็หยุด กลางของกลาง กลางของกลาง กลางของกลาง ซ้ายขวา หน้าหลัง นอกในไม่ไป เข้ากลางของกลาง กลางของกลาง กลางของกลาง นิ่งแน่นหนักขึ้น พอถูกส่วนเข้าเท่านั้น เห็นดวงเล่มบังเกิดขึ้นเท่าดวงจันทร์ดวงอาทิตย์นั่น
จาก หลักการเจริญภาวนาสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน

7
บุญใหญ่ - กุศลใหญ่
เราต้องตั้งใจให้หยุด ใจของเราถ้าหยุดได้สักกะพริบตาเดียวเท่านั้น ได้ชื่อว่าเราได้สร้างบุญใหญ่ กุศลใหญ่สำคัญนัก บุญที่เกิดจากการนั่งภาวนานั้นเป็นบุญใหญ่กุศลใหญ่ เราจะไปสร้างโบสถ์ วิหาร การเปรียญสักร้อยหลัง ก็สู้บุญที่เกิดขึ้นจากการบำเพ็ญสมถวิปัสสนาไม่ได้ เมื่อเราแสวงหาเขตบุญในพระพุทธศาสนา พึงบำเพ็ญสมถวิปัสสนาทำใจให้มั่นคงดังนี้ ให้ใจหยุด หยุดนี้เป็นตัวสำคัญ หยุด นี้จะเป็นทางมมรรค ผล นิพพาน พวกที่ให้ทาน รักษาศีลนั้นยังไกลกว่า หยุด นี้ใกล้นิพานนัก พอหยุดได้เท่านั้น ถูกคำสั่งสอนของพระศาสดาแล้ว
จาก หลักการเจริญภาวนาสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน

8
จริงแค่ไหน
ถ้าไม่หยุดจะถึงธรรมกายไม่ได้ ถ้าทำใจให้หยุดได้ก็เข้าถึงธรรมกายได้ เราเป็นมนุษย์ ปฏิบัติในพระพุทธศาสนาเหมือนกัน จะทำให้เป็นธรรมกายอย่างเขาไม่ได้เชียวหรือ เราต้องทำได้ ขอให้ทำจริงๆ เถิด ทำได้ทุกคน ถ้าทำไม่จริงละก็ไม่ได้แน่ๆ

ที่ว่าทำจริงนั้นจริงแค่ไหน? แค่ชีวิตซี่ เนื้อเลือดจะแห้งเหือดหมดไป จะเหลือแต่กระดูกหนังช่างมัน ถ้าไม่ได้ไม่ลุกจากที่ นี่จริงแค่นี้ละก็ทำได้ทุกคน ฉันเอง (หลวงพ่อวัดปากน้ำ) ๒ คราว เมื่อเริ่มปฏิบัติสมถวิปัสสนาใหม่ๆ ได้เข้าที่ทำสมาธิตั้งใจว่า ถ้าไม่ได้ก็ให้ตายเสียเถอะ นิ่งทำสมาธิอยู่ พอถึงกำหนดเข้าก็ทำได้ ไม่ตายสักที
จาก หลักการเจริญภาวนาสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน

9
นิพพาน
อายตนะนิพพานนี้มีอยู่ สูงขึ้นไปจากภพสามนี้ เลยออกไปจากขอบเนวสัญญานาสัญญายตนะภพ พ้นออกไปจากวิถีภพนี้ตรงขึ้นไปทีเดียว จะคำนวณระยะทางก็เห็นว่าหาประมาณมิได้ทีเดียว ไม่ได้มีอยู่ในดิน น้ำ ไฟ ลม และดิน น้ำ ไฟ ลม ก็ไม่มีอยู่ในนิพพาน ในอรูปภพทั้ง ๔ ก็มิใช่ แม้นิพพานก็มิได้มีลักษณะของอรูปภพทั้ง ๔ นี้เลย ในโลกนี้ โลกอื่นก็มิใช่

เพราะเหตุที่อายตนะนิพพานพ้นไปจากโลกจากภพ คือ กามภพ รูปภพ และอรูปภพเหล่านี้สิ้นแล้ว นิพพานก็มิใช่สิ่งเหล่านี้ แม้ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ก็เป็นสิ่งที่อยู่ในภพนี้ นิพพานจึงมิใช่สิ่งทั้งสอง และที่สุดสิ่งทั้งสองนี้ก็มิได้มีอยู่ในนิพพานเลย

อนึ่ง อายตนะนิพพานก็ไม่มีการไป การมา การยืนการจุติหรือการเกิด แต่ประการใดประการหนึ่ง ซึ่งแสดงว่า ไม่สามารถจะติดต่อกันได้โดยอาการปกติ แม้ที่สุดกำลังของอรูปฌานก็ไม่อาจไปถึงได้

เพราะว่าอายตนะนิพพานเป็นอายตนะสูงสุด เกินกำลังของผู้ที่อยู่ในภพจะไปถึงได้ และอายตนะนี้ก็หาที่ตั้งอาศัยมิได้ ไม่มีวัตถุหรืออารมณ์ชนิดใดเป็นที่ตั้งเป็นที่อาศัยทั้งสิ้น สิ่งเหล่านี้เองเป็นเครื่องยืนว่า อายตนะนิพพานนั้นมีจริง และไม่เกี่ยวข้องอยู่ในภพเลย พ้นออกไปต่างหากทีเดียว
จาก คู่มือสมภาร

10
เหตุแห่งความชั่ว-เหตุแห่งความดี
โลภะ โทสะ โมหะ เป็นเหตุแห่งความชั่วหรือความเสื่อม อโลภะ อโทสะ อโมหะ เป็นเหตุแห่งความดีหรือความเจริญ ทรงสอนว่าก่อนจะพูด คิดหรือทำสิ่งใด จงมีสติหรือที่เรียกว่าใช้ความคิดให้รอบคอบเสียก่อนจึงพูด จึงคิด จึงทำการนั้นๆ แล ว่าโดยเฉพาะจงระวังเรื่อง โลภะ โทสะ โมหะ นั้นไว้ อย่าให้เข้าครอบงำได้ ในเมื่อจะทำ พูด คิดการสิ่งใด

พระองค์ทรงสอนไว้ในทางปรมัตถ์ว่า ธรรมดาจิตนั้นไสบริสุทธิ์อยู่เสมอ ซึ่งหมายความว่า จิตที่ไม่มีกิเลสผสม ส่วนพวกกิเลส เช่น โลภะ โทสะ โมหะ เรียกว่าเป็นของจรมา เมื่อมาพ้องพานจิต ก็ย้อมจิตให้เป็นไปตามสภาพอันชั่วช้าของกิเลสนั้นๆ จิตระคนด้วยราคะหรือโลภะมีสีแดง ระคนด้วยโทสะสีดำ ระคนด้วยโมหะขุ่นเหมือนตมหรือน้ำล้างเนื้อ สิ่งเหล่านี้พระองค์ใช้ตาธรรมกายมองเห็นจริงๆ
จากพระธรรมเทศนา กัณฑ์ที่ ๑
เรื่อง พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่