หนังสือ คู่มือปฎิบัติวัดท่าซุง เล่ม 1 อานาปานุสสติกรรมฐาน ตอนที่ 17.2

ต่อจาก หนังสือ คู่มือปฎิบัติวัดท่าซุง เล่ม 1 อานาปานุสสติกรรมฐาน ตอนที่ 17.1 https://ppantip.com/topic/43158169

อานาปานุสสติกรรมฐาน ตอนที่ 17.2

จำข้อนี้ไว้ให้ดี และก็จงวางเสียให้หมด การถือตัวถือตนจงอย่ามี ถ้าท่านทั้งหลายมีความรู้สึกว่า สัตว์เดรัจฉานกับเราไม่เป็นที่รังเกียจกัน เราไม่รังเกียจสัตว์เดรัจฉาน เพราะมีสภาวะความเกิดขึ้นในเบื้องต้น มีความแปรปรวนไปในท่ามกลาง มีการสลายตัวไปในที่สุด เขามีขันธ์ 5 เรามีขันธ์ 5 เขามีธาตุ 4 เรามีธาตุ 4 ร่างกายเขาสกปรกฉันใด ของเราก็สกปรกฉันนั้น ร่างกายเขากับร่างกายเรามันก็ไม่ใช่ใครเป็นเจ้าของ จิตผู้ครองร่างไม่ได้มีอำนาจเป็นเจ้าของร่างกาย ร่างกายมีสภาวะของมันไปตามกฎของธรรมดา ใครจะยึดเหนี่ยว เหนี่ยวรั้งมันไม่ได้ ทำใจให้เป็นสุข คนดี คนชั่ว คนเลว เรื่องของเขา เราถือเพียงอย่างเดียว ว่าเราทำจิตของเราให้บริสุทธิ์ เมื่อถึงเวลาจะคบหาสมาคมก็ถือว่า การคบหาสมาคมในฐานะเป็นมิตร ไม่คิดจะรังเกียจคนและสัตว์ และมีความรู้สึกอยู่เสมอว่า ขันธ์ 5 เรา ขันธ์ 5 เขา ไม่ช้ามันก็พัง ไม่มีอะไรจีรังยั่งยืน ฐานะไม่มีความหมาย วิชาความรู้ที่ศึกษามาไม่มีความหมาย เราตายแล้วมันไม่ตามไปด้วย เราจะไม่ยอมถือตัวถือตน

ผมขอพูดไว้แต่เพียงย่อๆ เพราะขั้นอนาคามีแล้วปัญญาดีมาก ผมศึกษามาไม่มีใครเขาสอนผมแบบนี้ ต้องใช้ปัญญาพิจารณาเองทั้งนั้น ส่วนใหญ่ท่านแนะนำให้แต่หัวข้อ ผมก็ใช้หนังสือปฏิบัติ ผมถือว่าหนังสือที่พระอรหันต์เขียนมาผมยอมรับนับถือ หนังสือที่พระอรหันต์แก้มาจากคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่เรียกว่าอรรถกถาจารย์ผมยอมรับนับถือ แต่ว่าของฎีกาจารย์กับเกจิอาจารย์นี่ผมไม่มอง เพราะว่าผมจับได้หลายจุดว่าท่านแก้เฝือมาก เราไปติดอย่างนั้นเราก็เสีย ฉะนั้นหนังสือที่เราอ่าน เราควรจะดูว่าใครเป็นผู้เขียน ถ้าเป็นพระพุทธพจน์บทพระบาลีของพระพุทธเจ้าเรายอมรับ แต่ว่าจงพยายามทำใจให้เข้าถึง จิตเราหยาบเราเข้าใจหยาบ จิตละเอียดเราเข้าใจละเอียด แต่ทีนี้จิตเราเข้าถึงพระอนาคามี เราสามารถจะเข้าไปทำความเข้าใจในการที่จะเป็นพระอรหันต์ได้ง่าย เป็นอันว่าโยนกลองทิ้งไป เรื่องมานะถือตัวถือตน เท่านี้พอผมไม่พูดมาก ขั้นอนาคามีแล้ว จะต้องพูดอะไรกันมาก พรุ่งนี้จะสรุปทั้งหมด

ต่อไป อุทธัจจะ อารมณ์ฟุ้ง ท่านผู้รับฟังอาจจะแปลกใจว่าอะไรหนอ ทำไมพระอนาคามีนี่ยังจะฟุ้งอีกรึ ก็เป็นพระอริยเจ้าขั้นสูง ถ้าตายจากความเป็นคนไปเกิดเป็นเทวดาหรือพรหมแล้วก็ไปนิพพานบนนั้น น่าจะไม่มีอารมณ์ฟุ้ง เราก็ต้องถอยหลังไปดูคำปรารภของ พระเจ้ามหานาม ท่านท้าวมหานามเคยปรารภกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่พระองค์ทรงตรัสว่า ข้าพระพุทธเจ้าเป็นพระอนาคามี เพราะเหตุใดในบ้างโอกาส จิตของข้าพระพุทธเจ้านี้ยังมีอารมณ์ฟุ้ง พอใจในทรัพย์สิน”

องค์สมเด็จพระมหามุนินทร์จึงได้มีพระพุทธฎีกาว่า “มหาราชะ ขอถวายพระพร พระมหาบพิตรพระราชสมภาร อนาคามีนี่ยังมีอารมณ์ฟุ้ง คือว่ายังติดอยู่บ้างแต่ติดไม่มาก มีความรู้สึกว่าทรัพย์สินกับเราไม่ช้ามันก็จากกันไป นี่ยังมีอารมณ์ฟุ้งนอกแนวทางพระนิพพานอยู่”

ฉะนั้นในฐานะที่ท่านทั้งหลาย เป็นสาวกขององค์สมเด็จพระบรมครู จงทำความรู้สึกตัดอารมณ์ฟุ้งในฐานะที่จะเข้าถึงความเป็นพระอรหันต์ เพราะว่าเวลานี้เราถึงอรหัตมรรคแล้ว ตัดฟุ้งตรงไหน ฟุ้งอารมณ์ทั้งหมด จะไม่ยอมให้ปรากฎว่าเป็นเจ้านายใจของเรา อารมณ์ของเราจะตั้งไว้โดยเฉพาะ นั่นก็คือพระนิพพานเป็นอารมณ์ ว่าทำยังไงหนอเราจะตัดสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามราคะ ปฎิฆะ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา ให้สิ้นไป มันจะสิ้นหรือไม่สิ้นเพียงใดก็ตาม แต่ใจของเรานี้จับพระนิพพานเป็นอารมณ์ มีความรักพระนิพพานอย่างยิ่ง

นี่ถ้าบางอาจารย์เขาฟังแล้วเขาจะคิดว่า เอ๊ะ...นี่สอนกันยังไง สอนให้ติดพระนิพพาน เพราะว่าในพระไตรปิฎกท่านสอนว่า “จงอย่าติดอะไรทั้งหมด แม้แต่พระนิพพาน ทำใจให้โปร่งที่สุด ถ้ายังมีอารมณ์ติดอยู่ยังว่าไม่ดี” ก็จงเข้าใจตัวเราว่าในเมื่อเรายังไม่ถึงอรหัตผลเพียงใด หรือว่าเหมือนกับคนที่มีร่างกายไม่แข็งแรง จะไปไหนมันก็ต้องเกาะราว มีไม้เท้าเป็นธรรมดา นี่อย่าลืมว่าเรายังเป็นอรหัตมรรค จะต้องเกาะราวสูงคือพระนิพพาน เกาะรอกที่สูงเหนี่ยวรอกจับไว้ให้มั่น มิฉะนั้นมันจะพลาด ถ้าพลาดโอกาสแล้วเวลาเราตายยังจะต้องทำกิจนี้ต่อไป เป็นอันว่าการตัดอารมณ์ฟุ้ง คือยึดถือพระนิพพานเป็นอารมณ์ มองทุกอย่างมันไม่ดีไปหมดในโลก เห็นว่ามันไม่ดีแต่เราไม่กลุ้ม ถือว่าเป็นธรรมดาของมัน ถ้ายังกลุ้มอยู่ยังใช้ไม่ได้

ต่อไปก็มาตัด อวิชชา อวิชชานี่ไม่มีอะไร ความจริงถ้าจิตเข้ามาถึงนี่แล้ว ไม่ต้องตัดอวิชชาก็ได้ มันตัดไปเสียแล้ว เนื้อแท้จริงๆ ของการปฏิบัติในการตัดสังโยชน์ 10 เขาตัดกันที่สักกายทิฏฐิตัวเดียว แต่ที่พูดกันมานี่เพื่อความเข้าใจ อวิชชา แปลว่าไม่รู้ ถ้าใครแปลอย่างนี้ เสร็จ คนทั้งหมด สัตว์ทั้งหมดที่เกิดมาโลกมีความรู้ทั้งหมด แต่ว่ารู้ไม่ครบ อวิชชาแยกออกได้เป็น 2 ศัพท์ คือตัวกิเลส ได้แก่ ฉันทะ กับ ราคะ ฉันทะกับราคะ 2 ตัวนี่คืออวิชชา นี่ปรากฎมีมาในพระไตรปิฎก ที่เราเรียกกันว่า ขันธวรรค

ฉันทะ มีความพอใจในทรัพย์สินบางอย่าง หรือว่าฉันทะมีความพอใจในมนุษยสมบัติ สวรรคสมบัติ และก็พรหมสมบัติ
ราคะ เห็นว่ามนุษยโลก เทวโลก พรหมโลก เป็นของดี ถ้าอารมณ์ยังติดดีจุดใดจุดหนึ่งอยู่ ติดมนุษย์ก็ดี ติดเทวดาก็ดี หรือว่าติดพรหมก็ดี ก็ชื่อว่าเรายังมีอวิชชาอยู่ เพราะอะไร เพราะเรายังโง่ ดินแดนมนุษย์ก็ดี เทวดาก็ดี พรหมก็ดี ไม่ใช่เป็นดินแดนที่หมดทุกข์ ยังมีทุกข์ ยังมีกังวล

ฉะนั้น ขอบรรดาท่านพุทธศาสนิกชน และพระโยคาวจรทุกท่าน จงจำคำนี้ไว้  ใช้กำลังใจโดยเฉพาะ ว่ามนุษยโลก เทวโลก และพรหมโลก เป็นดินแดนที่เรารังเกียจ เพราะเป็นดินแดนที่ไม่นำความสุขมาให้ เป็นดินแดนที่เป็นปัจจัยให้เกิดความทุกข์ มันจะเป็นทุกข์มากทุกข์น้อยก็ตาม ขึ้นชื่อว่าทุกข์แม้แต่นิดหนึ่งเราไม่ต้องการ ส่วนดินแดนที่เราต้องการนั่นก็คือ พระนิพพาน

พระนิพพานมีดินแดนไหม นี่บางท่านคิดว่ายังต้องเถียงใจของท่านอยู่ แต่เพื่อให้มั่นใจในคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระบรมครูว่า พระนิพพานเป็นดินแดนเอกันตบรมสุข เป็นสุขยอดเยี่ยมยิ่งกว่าดินแดนใดๆ จงทำใจของท่านให้เข้าถึงฌานสมาบัติ ฝึกหัดทิพพจักขุญาณหรือมโนมยิทธิให้ได้ แล้วหลังจากนั้นทำใจของท่าน อย่างเลวหรือต่ำที่สุดก็คือ โคตรภูญาณ หรือว่าถึงพระโสดาบัน ตอนนั้นท่านจะเข้าใจพระนิพพานได้ดี เพื่อการเปลี้องความรู้สึกของท่านนี้จงทำตนให้เข้าถึง เมื่อตนยังไม่เข้าถึงซึ่งพระโสดาบันเพียงใด ยังไม่สามารถได้ทิพพจักขุญาณด้วย จงอย่าเถียงกับเขาเรื่องพระนิพพาน

เอาละบรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน และพระโยคาวจรทั้งหมด มองดูเวลาก็เห็นว่าสมควรแก่เวลาที่จะพูด ต่อจากนี้ไปขอท่านทั้งหลายตั้งกายให้ตรง ดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก ใช้คำภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะเห็นว่าเวลานั้นสมควรจะเลิก สวัสดี


ลิงค์ทั้งหมด https://ppantip.com/profile/8483559#topics

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่