JJNY : แห่ตามรอย หมวกสีส้ม│นิด้าโพล"เผยปชช.ส่วนใหญ่เข้าใจเหตุผลฝ่ายค้าน│เฟดคาด‘คงดอกเบี้ย’│ฝรั่งเศสย้ำส่งทหารอาจจำเป็น

แห่ตามรอย หมวกสีส้ม ทิมสวมลุยเชียงใหม่ หมดสต๊อก แบรนด์เร่งผลิตตั้งชื่อรุ่น ‘พิธา’
https://www.matichon.co.th/politics/news_4476156

 
แห่ตามรอย หมวกสีส้ม ทิมสวมลุยเชียงใหม่ หมดสต๊อก แบรนด์เร่งผลิตตั้งชื่อรุ่น ‘พิธา’
 
เมื่อวันที่ 16 มีนาคม จากกรณีที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้เดินทางไปยังจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อศึกษาติดตามการแก้ไขปัญหาไฟป่ากับหน่วยงานและภาคประชาชนสังคมในพื้นที่อำเภอสันป่าตอง เพราะพรรคก้าวไกลติดตามปัญหาไฟป่าและหมอกควันมาอย่างต่อเนื่อง
 
ต่อมาเวลา 17.30 น. นายพิธา ได้เดินทางไปยังร้านเล่า ถนนนิมมานเหมินท์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ เพื่อพบปะพูดคุย และแจกลายเซ็น หนังสือ ‘ไม่สนว่าเก่งมาจากไหน’ ฉบับปรับปรุงและพิมพ์ใหม่ มีแฟนคลับมารอต้อนรับ พร้อมนำหนังสือมาขอลายเซ็นนายพิธาจำนวนมาก
 
ทั้งนี้ ตลอดทั้งวัน นายพิธา ปรากฎตัวในชุดเสื้อยืดสีขาวล้วน สวมหมวกแก็ปสีส้ม ซึ่งแฟชั่นวันนี้ของนายพิธาก็ได้กลายเป็นที่สนใจของบรรดาแฟนคลับ และผู้สนับสนุน โดยเฉพาะหมวกสีส้มที่มีผู้ไปตามหาว่าเป็นของแบรนด์ไหน
 
กระทั่งล่าสุด เฟซบุ๊ก แบรนด์ของคนไทย Calmoutdoors อ่านว่า “คราม เอ้าดอร์” ได้โพสต์ขอบคุณนายพิธาที่สวมหมวกของแบรนด์ พร้อมระบุด้วยว่า Calmoutdoors 5 panel Cap รุ่น Naturetone ลูกค้าตั้งชื่อให้ใหม่ คือ ชื่อรุ่น “คุณพิธา
 
โดยมีผู้เข้าสอบถามการสั่งซื้อ และทางร้านได้ตอบกลับหลายๆ คอมเมนต์ ความว่า สินค้าจะมาอีกทีต้นเดือนหน้า ตอนนี้หมด กำลังผลิต

https://www.facebook.com/calmoutdoors/posts/pfbid0UeCcneqnV1UhFfUnHgYTKTigtejndQxb4JZrdWAuySu4w2UrGQMYwwyiMiUmhWQNl


 
"นิด้าโพล"เผยปชช.ส่วนใหญ่เข้าใจเหตุผลฝ่ายค้านอภิปรายทั่วไปไม่ลงมติ
https://siamrath.co.th/n/521971

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “ฝ่ายค้าน จริงหรือเปล่า?” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 7-8 มีนาคม 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการทำงานของฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-stage Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0
 
จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับสาเหตุที่ฝ่ายค้านไม่ขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลพบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 32.75 ระบุว่า ควรให้โอกาสรัฐบาลได้บริหารงบประมาณปี 2567 ก่อน รองลงมา ร้อยละ 23.74 ระบุว่า รัฐบาลเพิ่งบริหารประเทศได้แค่หกเดือนจึงยังไม่ถึงเวลาขอเปิดซักฟอกเพื่อล้มรัฐบาล ร้อยละ 23.51 ระบุว่า ฝ่ายค้านไม่มีข้อมูลใด ๆ ในเชิงลึกพอที่จะล้มรัฐบาลได้ ร้อยละ 11.91 ระบุว่า ฝ่ายค้านเกี้ยเซี้ย (ประนีประนอม) กับรัฐบาล ร้อยละ 5.42 ระบุว่า ฝ่ายค้านอยากร่วมรัฐบาล ร้อยละ 5.34 ระบุว่า ฝ่ายค้านบางพรรคมัวแต่หมกมุ่นอยู่กับประเด็ มาตรา 112 ร้อยละ 4.05 ระบุว่า รัฐบาลบริหารแบบไม่มีช่องโหว่ให้ฝ่ายค้านขอเปิดซักฟอกเพื่อล้มรัฐบาล ร้อยละ 3.05 ระบุว่า ฝ่ายค้านทำงานไม่เป็น และร้อยละ 11.53 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
 
ด้านความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับมติของฝ่ายค้านที่จะขอเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 38.09 ระบุว่า เห็นด้วยกับมติของฝ่ายค้านจะขอเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ รองลงมา ร้อยละ 28.24 ระบุว่า ฝ่ายค้านไม่ควรขอเปิดอภิปายใด ๆ ในเวลานี้ ร้อยละ 26.72 ระบุว่า ฝ่ายค้านควรขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล มากกว่า และร้อยละ 6.95 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
 
สำหรับความพึงพอใจของประชาชนต่อการทำงานของฝ่ายค้าน พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 36.49 ระบุว่า ค่อนข้างพอใจ รองลงมา ร้อยละ 28.39 ระบุว่า พอใจมาก ร้อยละ 20.84 ระบุว่า ไม่ค่อยพอใจ ร้อยละ 10.84 ระบุว่า ไม่พอใจเลย และร้อยละ 3.44 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ    
 
ท้ายที่สุดเมื่อถามความความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการบุกทำเนียบรัฐบาลของนายปดิพัทธ์ สันติภาดา เพื่อทวงถามร่างกฎหมายที่ค้างจากฝ่ายบริหาร พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 27.25 ระบุว่า เห็นด้วยกับการทวงถาม แต่ไม่ควรบุกทำเนียบรัฐบาล รองลงมา ร้อยละ 25.19 ระบุว่า เห็นด้วยกับการบุกทำเนียบรัฐบาล เพื่อทวงถาม ร้อยละ 22.06 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยทั้งการทวงถามและบุกทำเนียบรัฐบาล ร้อยละ 12.44 ระบุว่า ทำเพื่อประโยชน์ของประชาชน ร้อยละ 9.92 ระบุว่า เป็นเรื่องสมควรแล้วในการติดตามตรวจสอบโดยชอบและเป็นสิ่งที่พึงกระทำ ร้อยละ 8.85 ระบุว่า เป็นการกระทำที่ไม่มีมารยาท ร้อยละ 8.63 ระบุว่า เป็นการก้าวล่วงอำนาจและไม่ให้เกียรติฝ่ายบริหาร ร้อยละ 6.03 ระบุว่า แค่ต้องการให้เป็นข่าว และร้อยละ 3.36 ระบุว่า เป็นการทำตามขั้นตอนของทางราชการ และร้อยละ 9.92 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
 
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 8.55 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 18.55 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคกลาง ร้อยละ 18.01 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.44 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 13.74 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ และร้อยละ 7.71 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออก ตัวอย่าง ร้อยละ 48.09 เป็นเพศชาย และร้อยละ 51.91 เป็นเพศหญิง
 
ตัวอย่าง ร้อยละ 12.90 อายุ 18-25 ปี ร้อยละ 17.79 อายุ 26-35 ปี ร้อยละ 18.93 อายุ 36-45 ปี ร้อยละ 26.64 อายุ 46-59 ปี และร้อยละ 23.74 อายุ 60 ปีขึ้นไป ตัวอย่าง ร้อยละ 96.18 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.05 นับถือศาสนาอิสลาม และร้อยละ 0.76 นับถือศาสนาคริสต์ และศาสนาอื่น ๆ
 
ตัวอย่าง ร้อยละ 35.58 สถานภาพโสด ร้อยละ 61.37 สมรส และร้อยละ 3.05 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ ตัวอย่าง ร้อยละ 23.82 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 35.95 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 8.63 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 26.56 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 5.04 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า
 
ตัวอย่าง ร้อยละ 9.77 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 17.86 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 22.37 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 11.83 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 13.89 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 19.39 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน และร้อยละ 4.89 เป็นนักเรียน/นักศึกษา   
 
ตัวอย่าง ร้อยละ 21.15 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 21.37 รายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 28.24 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001-20,000 บาท ร้อยละ 8.85 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001-30,000 บาท ร้อยละ 4.97 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001-40,000 บาท ร้อยละ 4.20 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 11.22 ไม่ระบุรายได้


  
ประชุมเฟดคาด ‘คงดอกเบี้ย’ 5.25-5.50% ส่งสัญญาณปรับลด 3 ครั้งปีนี้
https://www.dailynews.co.th/news/3261776/

คาดการณ์ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด FOMC คงดอกเบี้ย 5.25-5.50% โดยส่งสัญญาณลดดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้. 
 
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ประเมินว่าในการประชุมนโยบายการเงิน ธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) วันที่ 19-20 มี.ค. นี้ คาดว่าเฟดจะคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 5.25-5.50% อย่างต่อเนื่อง และคงส่งสัญญาณปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย 3 ครั้งในปีนี้ สะท้อนผ่านคาดการณ์แนวโน้มดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า (Dot Plot) ที่มีแนวโน้มไม่แตกต่างจาก Dot Plot ในการประชุมรอบเดือนธ.ค. 2566 ท่ามกลางเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่แม้จะชะลอลงอย่างต่อเนื่องแต่ยังทรงตัวอยู่ระดับสูงกว่า 3.0% เกินเป้าหมาย 2.0% ของเฟด ขณะที่ ตลาดแรงงานแม้จะชะลอตัวลงและกลับเข้าสู่จุดสมดุลมากขึ้น แต่ยังคงสะท้อนภาพที่ค่อนข้างแข็งแกร่งอยู่
 
ขณะที่เฟดน่าจะเริ่มปรับลดดอกเบี้ยนโยบายได้ในการประชุมเดือนมิ.ย. 2567 และจะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายทั้งหมด 3 ครั้งในปีนี้ สอดคล้องกับที่ตลาดส่วนใหญ่คาด (จากข้อมูลของ CME FedWatch Tool ณ วันที่ 15 มี.ค. 2567) โดยเฟดคงต้องการเห็นเงินเฟ้อชะลอลงมาใกล้เป้าหมาย 2.0% มากขึ้นกว่านี้เพื่อให้มั่นใจว่าเงินเฟ้อจะกลับเข้าสู่เป้าหมายของเฟดอย่างยั่งยืนและไม่กลับมาเร่งตัวขึ้นอีกครั้ง ขณะเดียวกันเฟดคงไม่ต้องการดำเนินนโยบายช้าเกินไปท่ามกลางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เริ่มชะลอตัวลง เนื่องจากนโยบายการเงินมีความล่าช้า (policy lag) กว่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจ
 
ทั้งนี้ ถ้อยแถลงของสมาชิกเฟดล่าสุดเริ่มส่งสัญญาณแตกต่างกันออกไป โดยจากถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด วันที่ 7 มี.ค. 2567 นายเจอโรม พาวเวลได้ส่งสัญญาณว่าการเริ่มปรับลดดอกเบี้ยของเฟดนั้นใกล้เข้ามาแล้ว อย่างไรก็ดี นายจอห์น วิลเลียมส์ ประธานเฟดสาขานิวยอร์กระบุว่าแม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะปรับเข้าสู่จุดสมดุลมากขึ้นและเข้าใกล้เป้าหมายเงินเฟ้อมากขึ้น แต่ยังคงไม่ถึงจุดในการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย
 
จังหวะและจำนวนครั้งในการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายยังขึ้นอยู่กับข้อมูลเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่ออกมาเป็นสำคัญ โดยหากเงินเฟ้อปรับลดเร็วกว่าคาดและตลาดแรงงานชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญในระยะข้างหน้า มีโอกาสที่เฟดอาจปรับลดดอกเบี้ยนโยบายมากกว่า 3 ครั้งในปีนี้ ในทางตรงกันข้าม หากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาดและเงินเฟ้อสหรัฐฯ ยังคงไม่ชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญ เฟดอาจเลื่อนการเริ่มปรับลดดอกเบี้ยออกไปจากการประชุมเดือนมิ.ย. 2567
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่