JJNY : 5in1 รุมจวก สุดท้ายผ่าน│ไฟเขียวปรับขึ้นค่าแท็กซี่│ชี้ศก.โลกปีหน้าเหนื่อย│ชัชชาติไม่กังวล│รวมมิตรนักการเมืองมะกัน

‘ฝ่ายค้าน-รัฐบาล’ รุมจวก พ.ร.ก.คำประกันหนี้กองทุนน้ำมัน ซัด กู้จ่าย-กู้แจก รายละเอียดมีแค่ 3 แผ่น สุดท้ายสภาฯให้ผ่าน 239 เสียง
https://www.matichon.co.th/politics/news_3664338
 
เมื่อเวลา 10.45 น. วันที่ 9 พฤศจิกายน ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุมพิจารณา พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ผ่อนผันให้กระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำทันเชื้อเพลิง พ.ศ.2565 โดยนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ชี้แจงว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบในร่างพ.ร.กให้อำนาจกระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ฯ และมีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2565 ซึ่งเหตุผลความจำเป็นในการตรา พ.ร.ก. ครั้งนี้ ทั้งสถานการณ์เศรษฐกิจและสถานการณ์น้ำมันโลกในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมาเกิดจากการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญหลายประการ ตั้งแต่เดือน มีนาคม 2563 เป็นช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในทุกอาชีพอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง มีสภาพคล่องอยู่ประมาณ 36,000 ล้านบาท ได้เข้าช่วยค่าใช้จ่ายค่าครองชีพของประชาชนด้วยการเข้าไปดูแลลดค่าก๊าซหุงต้ม ให้อยู่ในระดับ 318 บาท ต่อถัง 15 กิโลกรัม จากเดิม 363 บาท แต่สถานะของกองทุนน้ำมัน ยังเป็นบวกในปลายปี 2563 จำนวน 2.7 หมื่นล้านบาท
  
นายสุพัฒน์พงษ์ กล่าวตอว่ามาปี 2564 ประมาณเดือนกรกฎาคม สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลายประชาชนทั่วโลกได้รับการฉีดวัคซีน ทำให้การติดเชื้อโควิดลดลงทั่วโลกได้มีการผ่อนคลายข้อจำกัดในการเดินทาง และเศรษฐกิจโดยรวมของเศรษฐกิจโลกก็ดีขึ้น และเป็นช่วงที่ราคาน้ำมันโลกเริ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกันผู้ผลิตน้ำมันคือโอเปก พลัส ยังมีมาตรการที่รักษาระดับการผลิตไว้เท่าเดิม ส่วนทางกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นเมื่อเดือนตุลาคม 2564 กองทุนน้ำมันฯ จึงได้เริ่มเข้าไปรักษาเสถียรภาพ ราคาน้ำมันดีเซล 8.1 พันล้านบาท ก๊าซหุงต้ม อีก1.3 หมื่นล้านบาท รวมแล้ว 2.2 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯสิ้นปี 2564 ติดลบ 4.5 พันล้านบาท และในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 ราคาน้ำมันตลาดโลกยังคงสูงอยู่ต่อเนื่อง และสถานการณ์ระหว่างรัสเซียกับยูเครน ทำให้กองทุนน้ำมันต้องอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ทำให้สถานการณ์กองทุนน้ำมันฯติดลบมากขึ้น และปัจจุบันกองทุนน้ำมันติดลบถึง 1.3 แสนล้านบาท โดยคุมราคาน้ำมันดีเซลไม่เกินลิตรละ 35 บาท และกองทุนน้ำมันติดลบไปเรื่อยๆ เพราะสถานการณ์น้ำมันยังไม่คลี่คลาย
 
จากนั้นเปิดให้สมาชิกแสดงความคิดเห็น ส่วนใหญ่ทั้งส.ส.ฝ่ายค้านและรัฐบาลค้านการออก พ.ร.ก.ดังกล่าว อาทิ นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า การจะไปค้ำประกันต้องเอาเงินของประเทศ เงินของประชาชน ดังนั้นต้องถามตัวเองและเอากระจกส่องด้วยว่าตกลงแล้วท่านบริหารห่วยแตกผิดพลาดใช่หรือไม่ ถ้าท่านบริหารอย่างรัดกุมคงไม่เป็นแบบนี้ ถ้าไม่มีสงครามรัสเซีย-ยูเครนท่านคงไม่รู้จะโทษใคร ดังนั้นพ.ร.ก.ฉบับนี้ฝ่ายค้านไม่เห็นด้วย เพราะท่านมีแต่เข้ามาแล้วก็กู้ แจกแล้วก็กู้ แต่เดี๋ยวนี้เปลี่ยนใหม่เป็นขอค้ำประกันเงินกู้ แต่การบริหารของรัฐบาลชุดนี้เรียกว่าหนี้ท่วมหัวยังเอาตัวไม่รอด ปลายเทอมของรัฐบาลยังมีหน้าเข้ามาขออีก 1.5 แสนล้านบาท
 
ด้านนายเกียรติ สิทธีอมร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า เราได้รับเอกสาร 3 หน้าไม่มีรายละเอียดอะไรเลย ทั้งที่เป็น พ.ร.ก.คำ้ประกันนี้ จึงต้องมีรายละเอียดของหนี้ และรายละเอียดจากการจะไปกู้หนี้จากใคร เงื่อนไขเป็นอย่างไรชำระหนี้อย่างไร ภายในระยะเวลาเท่าไหร่ ซึ่งเอกสารที่ส่งมาให้ไม่มี ตนจึงมีความลำบากใจ และต้องพิสูจน์ว่าหนี้นี้ฉุกเฉินอย่างไร เป็นเพราะอะไร ต้องไม่ใช่เป็นกรณีที่เกิดจากการบริหารผิดพลาด ทั้งนี้รัฐมนตรีก็รู้ว่าหนี้เพิ่มขึ้นเลยๆ ทำไมไม่ออกเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เพราะถ้าเสนอช่วงเปิดสภาก็ทัน เพราะท่านรู้ตัวตั้งแต่เดือนมีนาคม
 
ขณะที่นายพิสิษฐ์ ลี้อาธรรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า เหตุใดรัฐบาลจึงไม่รีบดำเนินมาตรการการดูแลเรื่องการเงินของกองทุนน้ำมันฯ แทนที่จะมาเสนอสภาฯ และมาใช้เหตุผลว่าเป็นเรื่องความจำเป็นเร่งด่วน ฉุกเฉินคือออก พ.ร.ก. เหตุผลที่ตนอยากท่วงติงในเรื่องนี้ก็เพื่อจะไม่ให้เป็นแบบอย่างต่อไปในอนาคต เพราะเหตุการณ์แบบนี้แท้ที่จริงแล้วรัฐบาลประเมินได้อยู่แล้วว่ากองทุนน้ำมันจะติดลบและติดลบมากด้วย ท่านควรจะนำเสนอสภาฯเพื่อให้ระดมความคิด ซึ่งสิ่งที่ข้องใจมากคือโรงกลั่นและมาตรการนโยบายพลังงานของประเทศไทย ที่ณเวลานี้ยังไม่มีการดูองค์รวมเพื่อจะให้นำไปสู่การใช้พลังงานที่เหมาะสม และไม่มีภาระทางการเงินอย่างที่เราเห็นตอนนี้ ซึ่งค่าการกลั่นสูง 2-3 เปอร์เซนต์ ที่จริงไม่ควรจะสูงขนาดนี้ ควรอยู่ที่ประมาณ 1.50 บาท เพราะโรงกลั่นทั้งหมดที่มีอยู่ 6แห่ง สร้างมานานแล้ว ค่าเสื่อมราคาน่าจะตัดไปเกือบหมดแล้วไม่ควรจะมาใช้เหตุผลแบบเดิมๆอีก จึงควรจะต้องลดค่าใช้จ่ายนี้ และกระทรวงพลังงานก็น่าจะไปดูแลค่าใช้จ่ายเรื่องระบบต่างๆ
 
ด้านนายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า ตนคิดว่า รัฐบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และผู้บริหารกองทุนฯ ขาดวิสัยทัศน์ ที่ตั้งเพดานกองทุนฯ ไว้แค่ 4 หมื่นล้านบาท จนเกิดปัญหาเมื่อต้นทุนน้ำมันลง แต่ราคาสินค้าไม่ได้ลงตาม จนเกิดภาวะผู้ประกอบการรายใหญ่ได้กำไรต่อเนื่อง แต่ไม่มีเงินมาชดเชยกองทุนนำ้มันฯ ที่จะนำไปแก้ไขวิกฤตพลังงานที่จะส่งราคาสินค้า รัฐบาล และผู้บริหารกองทุนฯ ต้องชี้แจงเสียทีว่าต้นทุนการกลั่นน้ำมันคือเท่าไหร่กันแน่ โดยเฉพาะ ปตท. ที่มีโรงกลั่น 3 โรง ดังนั้น การที่รัฐบาลนำเงินกองทุนฯ ไปชดเชยโดยที่ไม่รู้ว่าต้นทุนการกลั่นจริงเท่าไหร่ จึงเหมือนกับการนำเงินภาษีของพี่น้องประชาชนไปเป็นกำไรให้โรงกลั่น ทั้งที่กองทุนฯ ติดลบอยู่แล้วกว่าแสนล้านบาท นอกจากนี้ ยังเป็นการผลักภาระหนี้ให้ประชาชน ถ้าชี้แจงไม่ได้ ตนก็จะไม่โหวตให้แน่
 
ส่วนน.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) อภิปรายว่า เรื่องพื้นฐานที่สุดที่ต้องพูดกัน คือการขอให้ประชาชนมาค้ำประกันเงินกู้ ซึ่งมีวงเงินถึง 1.5 แสนล้านบาท จึงต้องชี้แจงรายละเอียดว่า กู้แล้วจะนำเงินไปทำอะไร นำเงินจากไหนมาใช้หนี้ และจะใช้หนี้กี่ปี แต่วันนี้นายสุพัฒนพงษ์ ไม่พูดถึงแผนการกู้ การใช้เงิน และแผนการใช้หนี้ ที่ผ่านมาในการประชุมวิปฝ่ายค้าน ทางหน่วยงานส่งเอกสารแผน 3 แผน มีไม่ถึง 2 หน้า และไม่บอกว่าจะคืนเงินเท่าไหร่ และไม่บอกว่าจะหารายได้ที่ไหนมาใช้หนี้ ทั้งนี้ตนทราบว่า ไม่มีที่ไหนยอมให้กู้ เพราะสภาพคล่องมีปัญหาจริงๆ แล้วแบบนี้เรายังจะกล้าค้ำประกันให้อีกหรือไม่ ดังนั้นจึงต้องเร่งเก็บเงินเข้ากองทุนจำนวนมหาศาล และจะกระทบประชาชน ที่ต้องจ่ายค่าน้ำมันแพงมากขึ้นหรือไม่ สุดท้ายแล้วภาษีสรรพสามิตหายไปแล้วเท่าไหร่ หนี้สาธารณะในอนาคตจะเป็นเท่าไหร่ และจะทำอย่างไรให้การเก็บภาษีลาภลอยนี้ไม่กระทบผู้บริโภค
  
ด้าน นายสงวน พงษ์มณี ส.ส.ลำพูน พรรคเพื่อไทย (พท.) อภิปรายว่า ร่าง พ.ร.ก.ฉบับนี้ ออกในช่วงที่สภาปิดสมัยการประชุม และไม่มีรายละเอียด เอกสารช่องแรกคือราคาน้ำมันอ้างอิงตลาดโลก ที่ระบุว่าใช้ราคาอ้างอิงสิงคโปร์ วันนี้ตลกมากเพราะคนไทยเหมือนควาย คุณซื้อในราคาโรงกลั่นสิงคโปร์ และยอมให้เขาเอาค่าเรือ ค่าประกัน ค่าสูญหายตามธรรมชาติ มาบวกเป็นค่าน้ำมันให้ประชาชนใช้มาหลายสิบปีแล้ว ทำให้สูญเสียความเป็นมนุษย์ บริหารแบบนี้แล้วบ้านเมืองจะไปตรงไหน คุณเป็นตัวแทนประชาชนไปบริหารแผ่นดิน ต้องต่อรองกับต่างชาติที่มาลงทุนบ้านเรา ไม่ใช่ไปก้มหัวให้เขา ถึงวันนี้ต้องประกาศให้ประชาชนรู้ว่ารัฐบาลชุดนี้เอาแต่กู้ เอาแต่ง้อ ไม่เห็นหัวประชาชน ตนจึงไม่รับ ร่าง พ.ร.ก.ฉบับนี้ การออกร่าง พ.ร.ก. ต้องมีรายละเอียดมากกว่านี้ ไม่ใช่สภาให้ไปถามหมอดูว่าคุณคิดอย่างไร การไม่เปิดให้สภาตรวจสอบคือการดูถูกประชาชน
 
สิ่งนี้จะเกิดขึ้นตามมาหลังการยุบภา เรื่องการกู้เงินจะกลายเป็นประเด็นสาธารณะในการหาเสียงของทุกพรรคการเมืองต่อไปว่าประชาชนเห็นด้วยกับรัฐบาลชุดนี้ในการกู้จ่าย กู้แจก และบังคับให้เรามาใช้หนี้หรือไม่ ถ้าอยากได้แบบนี้ ก็เลือกพรรครัฐบาลทั้งหมดเลย เป็นการเมืองที่แลกกันในวันลงคะแนน” นายสงวน กล่าว
 
จากนี้ยังเล่นกลบิดเบือนราคาน้ำมัน ในส่วนของเบนซิน 100% ที่เก็บเงินเข้ากองทุน 7.58 บาทต่อลิตร แต่ไปบิดเบือนให้ใช้น้ำมันตัวอื่น ทำให้ราคาสูงขึ้น ถ้าท่านไม่ไปปกป้องพลังงานของพรรคการเมืองบางพรรคเรื่องปาล์มน้ำมัน เราจะใช้น้ำมันแพงเช่นนี้หรือ ที่เอาของแพงมาปนกับของไม่แพง เพราะไม่แยกว่าส่วนไหนคือเรื่องพลังงาน และส่วนไหนคือเกษตรที่ต้องพัฒนา
 
ทั้งนี้มีเพียง ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่สนับสนุนเท่านั้น อาทิ นายภาคิน สมมิตรธนกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค พปชร. อภิปรายว่า กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง มีรายได้เข้ามาทุกวัน หัวใจใหญ่ของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจคือการขนส่ง รัฐบาลจึงต้องเข้ามาช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะการช่วยเหลือค่าครองชีพ ตนจึงสนับสนุนการให้กระทรวงการคลังเข้ามาค้ำประราคาน้ำมัน และมั่นใจว่าจะสามารถใช้เงินคืนได้ภายใน 1 ปี ตนทราบว่ารัฐบาลไม่นิ่งนอนใจที่จะหาแหล่งพลังงานอื่นๆ เช่นพลังงานน้ำ และพลังงานไฟฟ้า ส่วนทิศทางพลังงานของประเทศไทยขณะนี้คือการส่งเสริมพลังงานไฟฟ้า เช่น รถยนต์ไฟฟ้า และในอนาคตเกษตรกรก็อาจจะใช้รถไถไฟฟ้า ดังนั้นการบริหารจัดการของรัฐบาลมาถูกทางแล้ว เช่นเดียวกับ นายธนกร วังบุญคงชนะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค พปชร. ที่สนับสนุนร่าง พ.ร.ก.ฉบับนี้ว่า ตนเชื่อว่ารัฐบาลภายใต้การนำ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำทุกอย่างเพื่อประชาชน ซึ่งรัฐบาลในอดีตก็ใช้นโยบายคล้ายๆ กัน แต่พอรัฐบาลนี้ใช้บ้าง กลับมาว่า ตนเชื่อว่าทุกคนรักประชาชน และประเทศชาติ รัฐบาลได้มาถูกทางแล้ว และถ้าบอกว่าไม่ดี ก็ไม่เป็นธรรมกับรัฐบาล
 
จากนั้นนายสุพัฒนพงษ์ กล่าวชี้ว่า หลักการของกองทุนฯ คือการเพิ่มเสถียรภาพกองทุนน้ำมัน และก๊าซหุงต้มต่างๆ ที่ติดลบอยู่ เพราะช่วง 2-3 ปีของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ประชาชนยากลำบากมาก การเก็บเงินเข้ากองทุนฯ คือเพิ่มภาระให้ประชาชนโดย พอมาถึงช่วงปี 2564 รัฐบาลยังต้องประคับประคองประเทศ โดยกองทุนฯ ได้ตรึงราคาน้ำมัน และก๊าซหุงต้ม ต่อมา ปี 2565 เกิดวิกฤตสงครามรัสเซีย ยูเครน ทำให้ราคาน้ำมันทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น ทางกองทุนฯ ก็พยายามหาช่องทางอื่นๆ เพื่อแก้ปัญหาพลังงาน จนถึงวันสุดท้ายจึงต้องตัดสินใจกู้เงินเพื่อสร้างสภาพคล่อง ในช่วงที่ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ส่วนเรื่องค่าการกลั่น ที่บอกว่ากำไรปีนั้นปีนี้เท่าไหร่ ท่านก็ไม่เคยดูย้อนหลังว่าที่ผ่านมาโรงกลั่นได้ค่าการกลั่นเท่าไหร่ ยกตัวอย่างประเทศเวียดนาม ที่ไปกดดันโรงกลั่นมากๆ จนเขาไปไม่ไหวแล้วลดกำลังการผลิต สุดท้ายประชาชนต้องไปต่อแถวกันเติมน้ำมัน ซึ่งเราไม่อยากให้เกิดภาพแบบนี้ในประเทศไทย
 
เราจำเป็นต้องทำ ไม่เช่นนั้นแล้ว 1.5 แสนล้านบาท ไม่ต้องมีก็ได้ แต่ประชาชนคนไทยจะต้องรับภาระตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา หรือต้นปี 2565 ราคาน้ำมันอาจจะขึ้น 40 – 50 บาทต่อลิตรก็ได้ ถ้ากระทรวงการคลังไม่ช่วยมาสนับสนุน ราคาแอลพีจีอาจจะสูงถึง 525 บาทต่อถัง (15 กิโลกรัม) ก็ได้ แล้วประเทศไทยจะอยู่ได้อย่างไร ส่วนที่แบงค์รัฐ ไม่ปล่อยกู้นั้น เพราะมีข้อเสนอที่มีความยุ่งยาก และยังต้องมีความจำเป็นต้องไปใช้ช่วยเหลือประชาชน นอกจากนี้ น้ำมันยังเป็นสินค้าควบคุม จึงต้องไปถามกระทรวงพาณิชย์ ด้วย” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว
 
จากนั้นที่ประชุมลงมติเห็นด้วย 239 เสียง ไม่เห็นด้วย 166 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง ไม่ลงคะแนน 3 เสียง
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่