แบ่งปันวิธีทำ " พุทธานุสสติกรรมฐาน เป็นรูปฌาน อรูปฌาน และวิปัสนาญาน " ทำที่บ้านได้ทุกวัน

กระทู้สนทนา
จากที่ก่อนหน้านี้ผมได้มาแบ่งปันวิธีฝึกสมาธิเพื่อให้ใช้ ฌาน 1 2 3 4 เพื่อนำกำลังฌานที่ได้นั้นไปเจริญวิปัสนาญาณเพื่อหาทุกข์ ผมได้รวบรวมไว้ในลิ้งค์ด้านล่างนะครับ ถ้าใครสนใจนำไปฝึกก็ยินดีครับ

https://ppantip.com/topic/37723103 --->ฌาน 1

https://ppantip.com/topic/37744345 --->ฌาน 2

https://ppantip.com/topic/37750087 --->ฌาน 3

https://ppantip.com/topic/37751012 --->ฌาน 4

........................................................................................................................................................................................................

วันนี้จะมาแบ่งปันวิธีเจริญพุทธานุสสติกรรมฐานที่เราสามารถทำเป็น รูปฌานสมาบัติ อรูปฌานสมาบัติ และวิปัสนาญาณ และฝึกที่บ้านได้ทุกวันครับ   จากที่เคยกล่าวไปก่อนหน้านี้ว่าอานาปานสติใน สติปัฏฐาน 4 มีผลถึงฌาน 4 และเป็นกรรมฐานที่คุมกรรมฐานกองอื่นๆทั้งหมด 40 กอง และเมื่อเราฝึกสมาธิในอานาปานสติได้เป็นที่พอใจแก่ตนเองแล้วเราสามารถที่จะเลือกกรรมฐานที่เราชอบใจหรือถูกจริตกับเราในการใช้หาทุกข์ ใครชอบใจใน สติปัฏฐาน 4 ก็นำมาต่อยอดใน สติปัฏฐาน 4  ส่วนใครชอบกองอื่นๆเราก็ไปต่อยอดกองอื่น เพราะทั้งนี้ทั้งนั้นทุกกรรมฐานทุกกองไปลงที่ อริยะสัจ 4 หมดครับนั่นคือ ดับทุกข์ ได้หมด   เหมือนกับเส้นทางที่มุ่งสู่ กรุงเทพมหานคร ไม่ว่าจาก เหนือ ใต้ ออก ตก ทางเรือ อากาศ ทางบก ทุกเส้นทางสามารถมุ่งสู่ปลายทางได้หมดนั่นคือ กรุงเทพมหานคร ไม่มีผิดไม่มีถูกขอแค่ให้มาถึง จะช้า จะเร็ว จะทางใหนมาได้หมดครับ ฉะนั้นขออย่าได้ถกเถียงกันในวิธีการเลย เพราะทุกวิธีที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้แล้ว ดับทุกข์ได้หมด เพียงแค่เราชอบวิธีใหนและทำได้ถึงหรือไม่เท่านั้นครับ ขอให้ดูเรื่อง จริต 6 ประกอบด้วยนะครับ

กลับมาที่ตัวผมนะ หลังจากได้ลองฝึกกรรมฐานมาหลายกองแล้ว จริตไปตรงกับ พุทธานุสสติกรรมฐาน

" พุทธานุสสติกรรมฐาน คือ ระลึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ "  โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรรมฐานกองนี้เราสามารถทำเป็น รูปฌานสมาบัติ อรูปฌานสมาบัติ และวิปัสนาญาณได้ และจากที่ตัวเองได้ฝึกมาสักระยะนึง ก็ได้ผลเป็นที่พอใจเลยอยากจะมาแบ่งปันวิธีการสำหรับใครที่สนใจหรือมีจริตไปทางนี้ ลองฝึกดูครับ

สถานที่ฝึกก็ง่ายๆครับที่บ้าน อาจจะเป็นห้องพระ หรือห้องนอน ขอให้มีพระพุทธรูป หรือใครไม่มีก็ใช้รูปพระพุทธเจ้าที่เราชอบก็ได้ครับใช้ได้หมด


วิธีการฝึกนั้นก็ขอยกคำสอนของ พระราชพรหมยาน วัดท่าซุง มาประกอบนะครับเพราะท่านได้อธิบายไว้ดีแล้วและตัวผมเองก็ใช้วิธีการที่ท่านสอนนี้ในการฝึกด้วยเพราะเข้าใจง่ายและสะดวกครับ  

ทำพุทธานุสติกรรมฐานเป็น รูปฌานสมาบัติ

โดยปกติเมื่อเราเจริญพุทธนุสติกรรมฐานเราจะนึกถึงความดีของพระพุทธเจ้าในขณะที่เรานั่งสมาธิ(ในที่นี้ขอใช้การนั่งสมาธิ) แทนที่เราจะภาวนาเฉยๆ เราก็ จับภาพพระพุทธรูป กำหนดภาพไว้ ลืมตาดูภาพพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่งก็ได้ นึกถึงภาพพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่งก็ได้ ที่เราต้องการ เรามีความเลื่อมใสพอใจอยู่ เวลาจับลมหายใจเข้าออก ภาวนาว่า พุทโธ ก็นึกภาพขององค์สมเด็จพระบรมครู จะเป็นพระพุทธรูปก็ได้ ให้ปรากฏอยู่ในใจ ไม่ใช่ไปนั่งคอยให้ภาพลอยมาแบบนี้ใช้ไม่ได้ ภาวนาไปแล้วก็นึกถึงภาพไปด้วย จะนึกอยู่ในอก ให้เห็นอยู่ในอก หรือเห็นภายนอกก็ได้ไม่จำกัด ถ้านึกถึงภาพนั้นตามภาพเดิม อย่างนี้เรียกว่า อุคคหสมาธิ หรือ อุคคหนิมิต

ถ้าภาพเดิมนั้นขยายไป เปลี่ยนแปลงไปชักจะใหญ่ขึ้น จะสูงขึ้น จะเล็กลง แล้วก็มีสีสันวรรณะ เริ่มเปลี่ยนแปลงไปทีละน้อยๆ จากสีเดิมกลายเป็นสีจางไปนิดหน่อย จางลงไปจางลงไป แต่เรารู้สึกอารมณ์จิตนึกเห็นชัด นึกเห็นนะไม่ใช่ภาพลอยมา อารมณ์จิตนึกเห็นจนกระทั่งปรากฏเป็นแก้วใส อย่างนี้ก็ชื่อว่าเป็น อุปจารสมาธิตอนกลาง

ตอนนี้แก้วใสที่กลายเป็นแก้วประกายพรึก แพรวพราวไปหมดทั้งองค์ จิตใจสามารถจะบังคับให้ภาพนั้นเล็กก็ได้ จะให้ใหญ่ก็ได้ สูงก็ได้ ต่ำก็ได้ ตั้งอยู่ข้างหน้าก็ได้ ข้างหลังก็ได้ ตามใจนึก นึกอย่างไร ภาพนั้นปรากฏไปตามนั้น มีความใสสะอาดสุกใสเป็นกรณีพิเศษ อย่างนี้องค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ ท่านกล่าวว่าเป็น ปฐมฌาน

การจับภาพนี่จับให้สนิท ให้คิดอยู่เมื่อไรได้เมื่อนั้น เดินไปบิณฑบาต เดินไปธุระ นั่งอยู่ นึกเห็นเมื่อไรเห็นได้เมื่อนั้นทันที นี่อย่างนี้เป็น กสิณ ด้วย เป็นพุทธานุสสติกรรมฐานด้วย ถ้าการเห็นภาพแบบนั้นปรากฏว่า คำภาวนาว่า พุทโธ หายไป ภาพใสขึ้นผิดกว่าเดิม อันนี้เป็น ฌานที่ ๒ แต่มีจิตชุ่มชื่น อาการของจิตมันเหมือนกัน ภาพใสสะอาดขึ้น มีการทรงตัวมากขึ้น มีความแจ่มใสขึ้น ความชุ่มชื่นหายไป มีอาการเครียด จิตทรงตัวแนบนิ่งสนิท แล้วก็ลมหายใจน้อย ได้ยินเสียงภายนอกเบา อันนี้เป็น ฌานที่ ๓

การเห็นภาพชัดเจนแจ่มใสมากเป็นกรณีพิเศษ สว่างไสว คล้ายกับพระอาทิตย์ทรงกลด หรือว่าคล้ายกับกระจกเงาที่สะท้อนแสงแดดดวงใหญ่ ใจไม่ยุ่งกับอารมณ์อย่างอื่น เป็นอุเบกขารมณ์ ทรงสบาย เห็นแนบนิ่งสนิท จะนั่งนานเท่าไรก็เห็นได้ตามความปรารถนา หูไม่ได้ยินเสียงภายนอก ไม่ปรากฏลมหายใจ อย่างนี้เป็น ฌานที่ ๔



# กระทู้หน้ามาต่อ พุทธานุสติกรรมฐานเป็น อรูปฌาน ครับ #


ปล1.  ใครสนใจก็สามารถนำไปฝึกได้ หากมีอะไรผิดพลาดไปก็ขอน้อมรับไว้แต่เพียงผู้เดียว หากกระทู้มีประโยชน์แก่ใครเพียงใด ก็ขอยกความดีทั้งหมดให้แด่ครูบาอาจารย์ที่ได้แนะนำสั่งสอนมาครับ

ปล.2 เพื่อป้องกันการเข้าใจผิด พระราชพรหมยานท่านมรณภาพวันที่ 30 ตุลาคม 2535 ณ.โรงพยาบาลศิริราช ...ตอนนั้นผมอายุได้ 12 ปี และอยู่ต่างจังหวัดครับ

อมยิ้ม04
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่