พุทธานุสสติ เพื่อยังจิตให้ร่าเริง และเพื่อวิปัสสนา

วันก่อนได้ตั้งกระทู้ถึงพระสิงคาลมาตาเถรี ซึ่งเป็นผู้เจริญพุทธานุสสติจนถึงอรหัตผล
วันนี้ขอยกบาลีที่พระพุทธเจ้าตรัสถึงกรรมฐานกองนี้ มาให้เพื่อพิจารณา
ส่วนอรรถกถานั้น ผมขออนุญาตที่จะสรุปย่อในบางส่วน
ถ้าผู้ใดสนใจเนื้อหาเต็มๆ ก็อ่านต่อได้ที่ลิงค์ข้างล่างนะครับ

ปล.น่าสนใจตรงที่ว่า สมัยพุทธกาลนั้น ท่านว่ากันบทเดียวถึงอรหัตผล แสดงว่าอิทธิบาท ๔ ท่านพร้อมกันจริงๆ

เอกธัมมาทิบาลี อีกนัยหนึ่ง
             [๑๗๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมอย่างหนึ่งที่บุคคลเจริญแล้ว
กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความหน่ายโดยส่วนเดียว
เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน
ธรรมอย่างหนึ่งคืออะไร
คือ พุทธานุสสติ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมอย่างหนึ่งนี้แล อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อความหน่ายโดยส่วนเดียว เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง
เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ฯ

ยกอรรถกถามาให้อ่าน

พึงทราบวินิจฉัยในเอกธรรมบาลี ต่อไป.
ความเป็นธรรมอย่างหนึ่ง ชื่อว่าเอกธรรม ธรรมอย่างหนึ่ง.
บทว่า เอกนฺตนิพฺพิทาย ได้แก่ เพื่อประโยชน์แก่ความหน่าย คือเพื่อประโยชน์แก่ความเบื่อระอาในวัฏฏะโดยส่วนเดียว.
บทว่า วิราคาย ได้แก่ เพื่อประโยชน์แก่การคลายกำหนัดในวัฏฏะ.
อีกอย่างหนึ่ง เพื่อสำรอก คือ เพื่อความไปปราศแห่งกิเลสทั้งหลายมีราคะเป็นต้น.
บทว่า นิโรธาย ได้แก่ เพื่อความดับกิเลสทั้งหลายมีราคะเป็นต้น คือเพื่อประโยชน์แก่การทำกิเลสมีราคะเป็นต้นมิให้ดำเนินต่อไป.
อีกอย่างหนึ่ง เพื่อประโยชน์แก่การดับวัฏฏะ.
บทว่า อุปสมาย เพื่อประโยชน์แก่การเข้าไปสงบกิเลส.
บทว่า อภิญฺญาย คือ เพื่อประโยชน์แก่การยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์ มีความไม่เที่ยงเป็นต้นแล้วรู้ยิ่ง.
บทว่า สมฺโพธาย ได้แก่ เพื่อประโยชน์แก่การตรัสรู้สัจจะทั้ง ๔. อีกอย่างหนึ่ง คือ
เพื่อประโยชน์แก่การแทงตลอดญาณในมรรคทั้ง ๔ ซึ่งพระองค์ตรัสไว้อย่างนี้ว่า ญาณในมรรคทั้ง ๔ เราเรียกว่า โพธิ การตรัสรู้.
บทว่า นิพฺพานาย ได้แก่ เพื่อประโยชน์แก่การทำให้แจ้งพระนิพพานซึ่งหาปัจจัย (ปรุงแต่ง) มิได้.

อรรถกถาตรงนี้ คือ ประโยชน์ที่ได้จากการเจริญพุทธานุสสติ มิใช่ก้อยใช่มั้ย
ตัวอย่างมีในเรื่องของ พระสิงคาลมาตาเถรี เจริญพุทธานุสสติจนสำเร็จอรหัตผล
ต่อไปอรรถกถาจะอธิบายว่าที่พระพุทธเจ้ายกผลทั้ง ๗ ประการนี้ ก็เพื่อให้มีความเพียรในการปฏิบัติ
ท่านเปรียบเหมือนพ่อค้า โฆษณาสินค้าของตนว่ามีดีอย่างไร
พระสูตรนี้พระพุทธเจ้าขึ้นต้นด้วยคำถาม และทรงตรัสตอบเอง เรียกว่า กเถตุกัมยตาปุจฉา

อรรถกถาอธิบายต่อไปว่า พุทธานุสสตินั้นมีประโยชน์อยู่สองอย่างคือ
๑ ทำให้จิตร่าเริง (ไม่ใช่หลงระเริงนะครับ)
อรรถกถาจารย์ยกตัวอย่างว่า เมื่อเราเจริญอสุภกรรมฐาน อาจจะมีความคิดที่ผิดไม่ตรง ทำให้จิตเศร้าหมอง ไม่เป็นสมาธิ
(ซึ่งไม่ใช่เพราะอสุภกรรมฐานไม่ดี แต่เป็นเพราะเราคิดวินิจฉัยผิดที่ผิดทาง)
ท่านให้ละอสุภกรรมฐานนั้นเสีย แล้วเจริญพุทธานุสสติ ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า เมื่อระลึกแล้วจะทำให้จิตเป็นสมาธิ
ปราศจากนิวรณ์ แล้วจึงน้อมจิตนั้นเข้าสู่กรรมฐานกองเดิม
อรรถกถาท่านอุปมาว่า เหมือนเราจะตัดไม้ แต่ปรากฎว่าขวานนั้นทื่อ เราก็ไปลับขวานเสียก่อน

ถามว่า มนสิการกรรมฐานเดิมอีกอย่างไร.
              ตอบว่า มนสิการกรรมฐานเดิม เหมือนบุรุษกำลังตัดต้นไม้ใหญ่เพื่อต้องการเอาไปทำช่อฟ้าเรือนยอด
เมื่อคมขวานบิ่นไปเพราะเพียงตัดกิ่งและใบไม้เท่านั้น แม้เมื่อไม่อาจตัดต้นไม้ใหญ่ได้ ก็ไม่ทอดธุระ
ไปโรงช่างเหล็กให้ทำขวานให้คม แล้วพึงตัดต้นไม้ใหญ่นั้นอีกฉันใด
พึงทราบข้ออุปไมยนี้ฉันนั้น ภิกษุฝึกจิตด้วยอำนาจพุทธานุสสติอย่างนี้ได้แล้ว จึงมนสิการถึงกรรมฐานเดิมอีก
ทำปฐมฌานมีอสุภเป็นอารมณ์ให้เกิดขึ้น พิจารณาองค์ฌานทั้งหลาย ย่อมหยั่งลงสู่อริยภูมิได้อย่างนั้น.
พุทธานุสสติกรรมฐานย่อมเป็นประโยชน์แก่การทำจิตให้ร่าเริง ด้วยประการอย่างนี้ก่อน.


๒ เป็นไปเพื่อวิปสสนา พิจารณาขันธ์ ๕
ขออนุญาตยกมาให้อ่านเลยดีกว่านะครับ

ก็ในกาลใด ภิกษุนั้นระลึกถึงพุทธานุสสติแล้ว ตามระลึกถึงโดยนัยเป็นต้นว่า โก อยํ อิติปิ โส ภควา แปลว่า บุคคลผู้นี้คือใคร
แม้เพราะเหตุนี้ บุคคลผู้นั้นคือพระผู้มีพระภาคเจ้า ดังนี้เป็นต้น.
กำหนดอยู่ว่าเขาเป็นสตรีหรือเป็นบุรุษ เป็นเทวดา มนุษย์ มาร พรหม คนใดคนหนึ่งหรือ ก็ได้เห็นว่า
ผู้นี้หาใช่ใครอื่นไม่ จิตที่ประกอบด้วยสติเท่านั้นระลึกได้ดังนี้
แล้วกำหนดอรูปว่า ก็จิตนี้นั่นแลว่าโดยขันธ์เป็นวิญญาณขันธ์ เวทนาที่สัมปยุตด้วยจิตนั้นเป็นเวทนาขันธ์
สัญญาอันสัมปยุตด้วยจิตนั้นเป็นสัญญาขันธ์ ธรรมมีผัสสะเป็นต้นที่เกิดพร้อมกันเป็นสังขารขันธ์
(รวมความว่า) ขันธ์ ๔ เหล่านี้เป็นอรูปขันธ์ แล้วค้นหาที่อาศัยของอรูปนั้นก็ได้พบหทัยวัตถุ
จึงพิจารณามหาภูตรูปทั้ง ๔ อันเป็นที่อาศัยของอรูปนั้นและอุปาทารูปที่เหลือ
ซึ่งอาศัยมหาภูตรูปนั้นเป็นไปแล้วกำหนดรูปและอรูปโดยสังเขปว่า นี้เป็นรูปอันก่อนเป็นอรูป และกำหนดทุกขสัจในขันธ์ ๕
โดยเป็นประเภทอีกว่า โดยย่อขันธ์แม้ทั้ง ๕ เหล่านี้เป็นทุกขสัจ ดังนี้ ในเบื้องต้นกำหนดสัจจะทั้ง ๔ อย่างนี้ว่า
ตัณหาเป็นที่เกิดของทุกข์นั้นเป็นสมุทัยสัจ ความดับของทุกข์นั้นเป็นนิโรธสัจ
ปฏิปทาเป็นเครื่องรู้ความดับเป็นมรรคสัจ แล้วก้าวลงสู่อริยภูมิโดยลำดับ.
ในกาลนั้น กรรมฐานนี้ทั้งหมดย่อมชื่อว่าเป็นประโยชน์แก่วิปัสสนา.

http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=20&A=867&Z=883
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=20&i=179
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่