แบ่งปันวิธีฝึกเพื่อให้ได้ " ตติยฌาน หรือฌาน 3 " สามารถทำที่บ้านได้ง่ายๆทุกวัน

กระทู้สนทนา
จากที่ได้แบ่งปันวิธีการฝึกสมาธิไปแล้วใน ฌาน 1 และ ฌาน 2 แล้วนั้น กระทู้นี้ก็มาถึง ฌาน 3 หรือ ตติยฌานครับ

วิธีการก็เหมือนเดิมครับคือเปิดเสียงคลอไปด้วย โดยที่ฌาน 3 นี้มีอารมณ์ค่อนข้างที่จะละเอียดกว่า ฌาน 1 และ 2 จึงจะขอนำคำสอนของครูบาอาจารย์มาประกอบเพื่อความเข้าใจที่ดียิ่งขึ้นครับ


ตติยฌานหรือตติยสมาบัติ

ปฐมแปลว่าที่ ๑    ทุติยะแปลว่าที่ ๒    ตติยะแปลว่าที่ ๓    ตติยฌานจึงแปลว่า ฌานที่ ๓     ตติยสมาบัติ แปลว่า การเข้าถึงอารมณ์ฌานที่ ๓


ฌานที่ ๓ นี้ มีอารมณ์ ๒ คือ

1. สุข ได้แก่ความสุขที่ปราศจากปีติ คือความสุขทางจิตโดยเฉพาะ ไม่มีความสุข ที่เนื่องด้วยกาย
2. เอกัคคตา มีอารมณ์เป็นหนึ่ง ที่ไม่มีอารมณ์ห่วงใยในกาย เป็นอาการที่สงัด จากกาย ฌานนี้ท่านว่าเป็นฌานที่กายกับจิตแยกกันเด็ดขาด

            อาการของฌานที่ ๓ นี้เป็นอาการที่จิตตัดปีติความเอิบอิ่มใจในฌานที่ ๒ ออกเสียได้ เมื่ออารมณ์จิตเข้าถึงฌานที่ ๓ นี้ จะรู้สึกว่า อาการขนพองสยองเกล้าก็ดี น้ำตา ไหลก็ดี กายโยกโคลงก็ดี อาการซู่ซ่าทางกาย คล้ายกายเบา กายใหญ่ กายสูงจะไม่ปรากฏเลย มีอาการทางกายเครียดคล้ายกับใครมาจับมัดไว้จนแน่น หรือคล้ายหลักที่ปักจนแน่น ไม่มีการโยกโคลงได้ฉันนั้น จงจำไว้ว่าตั้งแต่ฌานที่ ๒ เป็นต้นมา ไม่มีการภาวนาเลย ถ้ายังภาวนาอยู่ และหูได้ยินเสียงชัด แต่ไม่รำคาญในเสียง เป็นฌานที่ ๑  ตั้งแต่ฌานที่ ๒ เป็นตั้นมาไม่มีการภาวนาและเรื่องเสียงเกือบไม่มีความหมาย คือไม่มีความสนใจในเสียงเลย เสียงมีอยู่ก็เหมือนไม่มีเพราะจิตไม่รับเสียง ลมหายใจจะค่อยๆ น้อยอ่อนระรวยลงทุกขณะใน   ฌานที่ ๓ นี้ลมหายใจยังปรากฏ แต่ก็รู้สึกเบาเต็มที่มีอาการคล้ายจะไม่หายใจ แต่ก็พอรู้สึก น้อยๆ ว่าหายใจ จิตสงัดไม่มีการหวั่นไหว ไม่มืด มีความโพลงอยู่มีอารมณ์แน่นในสมาธิ มากจนรู้ตัวว่า อารมณ์แนบแน่นกว่าสองฌานที่ผ่านมา อย่างนี้ท่านเรียกว่าเข้าถึงฌานที่ ๓ ต้องฝึกเข้าฌานออกฌานให้แคล่วคล่องว่องไวตามที่กล่าวมาแล้ว




เสี้ยนหนามของฌานที่ ๓

            ปีติ เป็นเสี้ยนหนามของ ฌานที่ ๓ เพราะฌานที่ ๓ ตัดปีติเสียได้ แต่ถ้าอารมณ์ ตกลงไปปีติจะปรากฏขึ้น ถ้าปีติปรากฏขึ้นเมื่อไร พึงทราบเถิดว่า ขณะนี้อารมณ์จิตเคลื่อน จากฌานที่ ๓ มาอยู่ระดับฌาน ๒ แล้วถ้าปรากฏว่ามีการภาวนาด้วย แต่จิตยังไม่รำคาญ ในเสียงก็ยิ่งร้ายใหญ่ เพราะอารมณ์สมาธิไหลออกจนเหลือเพียงฌาน ๑ ท่านให้ระมัดระวัง ด้วยการทรงสติสัมปชัญญะ อย่าให้อารมณ์สมาธิรั่วไหลเป็นอันขาด เพราะจะเป็นอันตราย แก่ฌาน ๓


อานิสงส์ฌานที่ ๓

            ฌานที่ ๓ นี้ ถ้าทรงไว้ได้จนตาย ในขณะตาย ตายในระหว่างฌานที่ ๓ ท่านว่า จะไม่หลงตาย เมื่อมีชีวิตอยู่ ก็จะเป็นคนมีอารมณ์แช่มชื่นเบิกบานตลอดเวลา หน้าตา สดชื่นผ่องใส เมื่อตายแล้ว ฌาน ๓ ย่อมส่งผลให้เกิดเป็นพรหม คือ

ฌานที่ ๓ หยาบ ให้ผลไปเกิดเป็นพรหมชั้นที่ ๗
ฌานที่ ๓ กลาง ให้ผลไปเกิดเป็นพรหมชั้นที่ ๘
ฌานที่ ๓ ละเอียด ให้ผลไปเกิดเป็นพรหมชั้นที่ ๙

            ฌาน ๓ ที่เป็นโลกียฌานให้ผลอย่างนี้ ถ้าเอาฌาน ๓ ไปเป็นกำลังของวิปัสสนาญาณ วิปัสสนาจะมีกำลังกล้า ตัดกิเลสให้เด็ดขาดได้โดยรวดเร็ว อาจได้บรรลุมรรคผลเบื้องสูงใน ชาตินี้โดยไม่ชักช้านัก ผลของท่านที่ทรงฌาน ๓ ไว้ได้มีผลดังกล่าวมาแล้วนี้


ปล.ท่านที่ได้หรือกำลังฝึกอยู่สิ่งที่จะพอรู้สึกชัดเจนใน ฌาน 3 นี้คือ  " มีอาการทางกายเครียดคล้ายกับใครมาจับมัดไว้จนแน่น หรือคล้ายหลักที่ปักจนแน่น "  ให้ลองนึกถึงมีใครเอามือใหญ่ๆสองมือมาบีบเรา หรือเหมือนเราไปนั่งในช่องวางแคบๆที่ไม่พอดีกับตัวเราแต่เราต้องเบียดเสียดเพื่อยัดตัวเราเข้าไปนั่งตรงที่ว่างนั้นให้ได้ อาการที่กล่าวมาเป็นแบบนั้นครับ

คงมีประโยชน์สำหรับผู้ฝึกสมาธิทุกท่านนะครับ

อมยิ้ม04
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่