หนังสือ คู่มือปฎิบัติวัดท่าซุง เล่ม 1 กสิณ 10 ตอนที่ 3.2

ต่อจาก หนังสือ คู่มือปฎิบัติวัดท่าซุง เล่ม 1 กสิณ 10 ตอนที่ 3.1 https://ppantip.com/topic/43181563

กสิณ 10 ตอนที่ 3.2

ฉะนั้น องค์สมเด็จพระธรรมสามิสรจึงได้เลือกพระกรรมฐานที่เหมาะกับใจของเธอ คือโลหิตกสิณ คำว่า โลหิตกสิณนี่ หมายความถึง กสิณสีแดง พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงเมรมิตดอกบัวทองคำขึ้นดอกหนึ่งมีสีแดง แล้วก็ยื่นให้กับพระผู้นั้น พระท่านนั้นเมื่อรับไปแล้ว สมเด็จพระประทีปแก้วจึงได้ทรงแนะนำว่า เธอจงไปนั่งที่กองทรายหน้าวิหาร เอาก้านบัวปักลงกับทรายแล้วก็ลืมตาจำสีแดงให้ชัด ให้จำได้ แล้วก็หลับตานึกถึงภาพสีแดงแล้วก็ภาวนาคิดว่านี่สีแดง ๆ ๆ ถ้าบาลีว่า โลหิตกสิณัง ๆ ถ้าบังเอิญภาพนี้มันเลือนไปจากใจ เธอจงลืมตาขึ้นมาดูใหม่ จำภาพได้ดี แล้วหลับตานึกถึงภาพสีแดง ทำอย่างนี้ตลอดไปจนกว่าจิตจะทรงตัว

เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงประทานคำแนะนำแนะนำเพียงเท่านี้ พระลูกชายนายช่างทองก็นำดอกบัวทองคำ ที่สมเด็จพระชินสีห์ทรงมอบให้ แล้วก็นำไปทำทรายเป็นกองมูลขึ้น แล้วเอาก้านดอกบัวปักลงไป ลืมตาจำภาพสีแดง แล้วก็หลับตานึกถึงภาพสีแดง เมื่อจิตมันเลือนไป ภาพหายไปจากความรู้สึกหรือความจำ ท่านก็ลืมตาขึ้นมาดูใหม่ จำสีแดงของดอกบัวจนชัด แล้วก็หลับตานึกถึงภาพสีแดง สลับกันไปสลับกันมาอย่างนี้เพียงครู่เดียว ปรากฏว่าภาพสีแดงของดอกบัวทองคำก็ปรากฎในจิตของท่านชัด ท่านหลับตานึกถึงภาพสีแดงเรื่อย ๆ ไป จิตก็เริ่มเป็นสมาธิสูงขึ้น ภาพสีแดงนั้นก็หาย ค่อย ๆ กลายเป็นสีเหลือง เหลืองอ่อนลงไปทุกที ๆ จนกระทั่งเป็นสีขาว ตอนนี้ท่านเรียก อุปจารสมาธิ ต่อไปจากสีขาวก็กลายเป็นสีแพรวพราว เป็นประกายพรึก จะนึกให้ใหญ่ก็ได้ จะนึกให้เล็กก็ได้ จะนึกให้อยู่สูงก็ได้ จะนึกให้อยู่ต่ำก็ได้ ใจของท่านทรงอยู่ในอารมณ์นั้น จิตมีความชื่นบานเป็น เอกัคคตารมณ์ กับ อุเบกขารมณ์ เอกัคคตารมณ์ หมายถึงว่า จิตจับถึงภาพเป็นประกายพรึกนั้นชัดเจนแจ่มใส อุเบกขารมณ์ อารมณ์ไม่ยุ่งกับอารมณ์ใด ๆ จับภาพนั้นโดยเฉพาะอยู่ได้นาน พอสมควร

เวลานั้นองค์สมเด็จพระพิชิตมารบรมศาสดาอยู่ในพระมหาวิหาร ทรงพิจารณาด้วยอำนาจพระพุทธญาณ ก็ทราบว่าเวลานี้พระลูกชายนายช่างทอง ที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าให้ใช้กสิณสีแดงเป็นนิมิต เวลานี้จิตเธอผ่องใสทรงฌาน 4 ได้แล้ว สมเด็จพระประทีปแก้วจึงทรงพิจารถนาต่อไปว่า องค์นี้เราไม่ช่วยเธอเพื่อความเป็นพระอริยเจ้า จิตทรงฌาน 4 ได้แล้ว แต่ทว่าเธอจะสามารถทำจิตของเธอให้ตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหานได้หรือไม่

สมเด็จพระจอมไตรก็ทรงทราบด้วยอำนาจพระพระพุทธญาณว่า ถ้าเราไม่ช่วยเธอ เธอก็ไม่สามารถจะช่วยตัวเองให้เป็นพระอรหันต์ได้ จะได้แต่ทรงฌานโลกีย์ ฉะนั้น องค์สมเด็จพระชินสีห์จึงทรงช่วย วิธีช่วยก็คือทรงเนรมิตดอกบัวที่สีแดง มีความแจ่มใส่นั้นให้มีสีเศร้าหมอง กลายเป็นของเก่าคล้าย ๆ กับว่าดอกบ้าจะแห้ง เมื่อเริ่มแห้งลงไปแล้ว พระองค์นั้นเมื่อพิจารณาภาพกสิณชัดเจน พอมีความชื่นใจพอกับความต้องการ จึงได้ลืมตามาดูดอกบัวก็ตกใจว่า เอ๊ะ ดอกบัวนี้เป็นดอกบัวทองคำมีสีแดง เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้เรา มีอาการแจ่มใส นี่ครู่เดียวเท่านั้น มันทำไมกลายเป็นดอกบัวเก่า หมายความว่าบัวแห้งไปแล้ว ขาดความสดใส

เธอก็พิจารณาถึงภาพนั้นแล้วก็หลับตา ตั้งใจจับภาพนิมิต จิตทรงตัว แล้วก็พิจารณาต่อไป ว่าโอหนอ... ชีวิตคือร่างกายของคนและสัตว์ก็มีสภาพเช่นนี้ เดิมทีก็มีความผ่องใส ต่อไปก็มีการร่วงโรยไป มีความเหือดแห้งไป มีความแก่เข้ามาครอบงำ ความสวยสดงดงามมันก็จะสลายตัว เช่นเดียวกับดอกบัวนั้น เธอหลับตาพิจารณาจนมีความชุ่มชื่นใจ จิตใจจับอยู่ถึงกฎธรรมตาว่า ความสดใสทั้งหลายในใลกนี้ย่อมไม่มีตลอดกาลตลอดสมัย เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วมีความผ่องใส ต่อไปมันก็ร่วงโรยแบบนี้

ตอนนั้นองค์สมเด็จพระมหามุนีจึงทรงแนรนิดให้ดอกบัวแห้งนั้น กลีบหล่นลงไป เหลือแต่ฝัก เกสรก็หล่น พระองค์นั้นลืมตาขึ้นมาดู ก็คิดว่า อ้าว...แล้วกัน ดอกบัวนี่เมื่อสักครู่แห้ง เวลานี้กลีบหล่นลงไปเสียแล้ว เกสรก็หล่นเหลือแต่ฝักแห้งติดก้านอยู่ จึงได้มาพิจารณาภาพดอกบัวกับร่างกายของคนและสัตว์ ก็มีความรู้ด้วยปัญญาว่า ในที่สุดร่างกายของคนและสัตว์ และวัตถุธาตุทั้งหลายก็มีสภาพเช่นนี้ ความแก่เข้ามาถึงแล้วยังไม่พอ ยังมีความหง่อมเข้ามาถึงอีก จิตใจเธอก็ปลงคิดว่าขันธ์ ๕ คือร่างกายของคนก็ดี ของสัตว์ก็ดี หรือว่าวัตถุธาตุทั้งหลายก็ดี ไม่เป็นของน่ารัก ไม่มีความจีรังยั่งยืน ไม่มีความถาวร ในที่สุดก็จะมีความเศร้าหมองและร่วงโรยไปอย่างนี้ จิตคลายจากความรักในระหว่างเพศ

ตอนนี้องค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ จึงได้ทรงเนรมิตให้ดอกบัวนั้นหักเป็นชิ้นเป็นท่อนป็นตอน ละเอียดลงไปกองกับทราย เมื่อพระลูกชายนายช่างทองลืมตาขึ้นมาดู ก็ตกใจว่า โอ้หนอ ดอกบัวทองคำมีความแข็งแรงร่วงโรยยังไม่พอ ยังหักละเอียดลงไปเช่นนี้ ชีวิตินทรีย์ของเราก็เช่นเดียวกัน ร่างกายของบุคคลอื่นก็เช่นเดียวกัน วัตถุธาตุทั้งหลายเหล่าอื่นในโลกนี้ก็มีสภาพเช่นเดียวกัน เมื่อมีความเกิดขึ้นมาในบื้องต้น เมื่อเกิดมาใหม่ ๆ ก้าวเข้าไปหาความเจริญ เดินทางเข้าไปหาความผ่องใสและแข็งแรง เมื่อมีความเติบโตถึงที่สุด เมื่อหมดภารกิจ คืออายุแห่งการทรงตัวในความผ่องใสแล้ว ความเสื่อมก็เข้ามาถึง ในที่สุดก็มีความตายเข้ามาถึงอย่างนี้ ถ้าเราจะเอาอารมณ์จิตของเรานี้มาเกาะตัวเราว่า ร่างกายมันจะเป็นที่พึ่งสำหรับเราก็ดี มันจะอยู่กับเราตลอดกาลตลอดสมัยก็ดี หรือจะคิดว่าท่านผู้ใดผู้หนึ่งในโลกนี้ที่มีคุณกับเรา ท่านจะอยู่กับเราตลอดกาลตลอดสมัยก็ดี หรือคิดว่าวัตถุธาตุใด ๆ ที่ถือว่าเป็นสมบัติของเรานี้ มันจะอยู่กับเราตลอดกาลตลอดสมัยก็ดี เป็นอันว่าไม่มีแน่

ความรู้สึกของท่านมาคิดว่า เมื่อมีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น มันก็ต้องมีความแก่หรือความร่วงโรย ไปตามระยะเวลากาลในขณะที่ทรงชีวิตอยู่นั้น ความบีบคั้นจากโรคภัยไข้เจ็บมันก็มี เป็นปัจจัยให้เกิดทุกข์ แล้วก็ในที่สุดมันก็จะต้องตายไปเหมือนกับดอกบัวที่กำลังจะหักเกลื่อนกลาด ละเอียดลอออยู่กับพื้นทราย พิจารณาไปแล้วก็คิดว่าเมื่อเราตายหรือเราไม่ตาย ทรัพย์สมบัติทั้งหลายหรือว่าคนและสัตว์ที่รัก ก็จำจะต้องพลัดพรากจากกัน เมื่อเราไม่ตายก่อนเขา เขาก็ตายก่อนเรา ทรัพย์สมบัติที่มีอยู่ อันนี้ถ้าหากว่ามันไม่หมดไปก่อนเราตาย เราก็ตายก่อนมัน มันไม่จากเราก่อน เราก็จากมันก่อน เป็นอันว่าชีวิตและร่างกายไม่มีความหมาย ถ้าเรายังพึงต้องการความเกิดอยู่เพียงใด หมายความว่าถ้าจิตใจของเรายังรักรูปด้วย ในเสียงเพราะ ในกลิ่นหอม ในรสอร่อย ในสัมผัสระหว่างเพศ หรือว่ามีความต้องการร่างกายของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง มีความต้องการร่างกายของเราก็ดี มีความประสงค์จะยึดมั่นถือมั่นในวัตถุธาตุทั้งหลายว่าเป็นสมบัติของเราก็ดี อย่างนี้ไม่เป็นประโยชน์

ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะกฎของรรมดา สามารถจะต้องทำให้พลัดพรากจากกัน ร่างกายของเรานี้เดิมเป็นเด็ก เราก็เป็นเด็กเล็ก ต่อมาเป็นเด็กใหญ่ เวลานี้เป็นเด็กโต ก็เป็นหนุ่ม ต่อไปความแก่ก็จะเข้ามาครอบงำเรา เช่นเดียวกับ ปู่ ย่า ตา ยาย บิดา มารดาของเรา แล้วในที่สุดร่างกายก็จะพังไป เป็นอันว่าร่างกายนี่หาความจีรังยั่งยืน หาความดีไม่ได้

ท่านก็ตัดสินใจว่า นับตั้งแต่บัดนี้ต่อไปเราจะไม่ยึดถืออะไรทั้งหมด ว่าเป็นเรา เป็นของเรา ร่างกายที่เราอาศัยอยู่ก็ดี ร่างกายของบุคคอื่นก็ดี วัตถุธาตุทั้งหลายในโลกนี้ทั้งหมดก็ดี ไม่มีอะไรเป็นสาระไม่มีอะไรเป็นแก่นสาร ไม่มีอะไรเป็นที่พึ่ง เราไม่มีความปรารถนาต่อไป เมื่อจิตใจของพระลูกชายนายช่างทองพิจารณาอย่างนี้แล้ว เพียงครู่เดียวก็ปรากฎว่า ท่านก็บรรลุอรหัตตผล เป็นพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา

สำหรับวันนี้ที่นำเรื่องราวของพระลูกชายนายช่างทองมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อท่านทั้งหลายจะได้สดับจับเอาไปฏิบัติ สำหรับในคืนพรุ่งนี้จะใช้กสิณควบกับอริยสัจ สำหรับพวกเราจะปฏิบัติต่อไป ขอบรรดาพระโยคาวจรทั้งหลายที่สดับแล้ว จงทราบว่าธรรมที่นำมาแนะนำนี้เป็นธรรมะคำสอนขององค์สมเด็จพระประทีปแก้ว ไม่ใช่ของกระผม ขอท่านทั้งหลายจงทำใจเช่นเดียวกับพระลูกชายนายช่างทอง แต่ถ้าว่าท่านจะฝึกกสิณกองใดกองหนึ่งก็ได้ตามอัธยาศัย และเพื่อความสบายไม่ลำบาก ไม่ผิดจริต ก็จงฝึกในกสิณ 6 อย่างคือ ปฐวีกสิณ เตโชกสิณ วาโยกสิณ อาโปสกิณ อากาสกสิณ อาโลกกสิณ อย่างนี้ไม่ผิดกับจริตของตนเพราะเป็นกสิณกลาง จะมีผลกับบรรดาท่านทั้งหลาย

และต่อแต่นี้ไปขอบรรดาท่านทั้งหลาย กรุณาตั้งกายให้ตรง ดำรงจิตให้มั่น กำหมดรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก ใช้คำภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะถึงเวลาที่ท่านเห็นว่าสมควร สวัสดี

ลิงค์ทั้งหมด https://ppantip.com/profile/8483559#topics

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่