หนังสือ คู่มือปฎิบัติวัดท่าซุง เล่ม 1 อานาปานุสสติกรรมฐาน ตอนที่ 12.2

ต่อจาก หนังสือ คู่มือปฎิบัติวัดท่าซุง เล่ม 1 อานาปานุสสติกรรมฐาน ตอนที่ 12.1 https://ppantip.com/topic/43143476

อานาปานุสสติกรรมฐาน ตอนที่ 12.2

ต่อมาองค์สมเด็จพระชินสีห์ก็ทรงเนรมิตให้กลีบบัวหล่นลง เธอพิจารณาภาพกสิณด้วย แล้วก็ใช้อารมณ์ใจพิจารณาถึงกำลังของร่างกายด้วย ว่ามีความไม่เที่ยง มีความทรุดโทรมอยู่เป็นธรรมดา ลืมตามาอีกที ตายจริง กลีบบัวหล่นเสียหมดแล้ว เหลือแต่ฝัก เกษรก็ไม่มี เหลือแต่ก้าน เธอก็หลับตาลงไป คิดว่าร่างกายเรานี้ ทรุดโทรมลงไปๆ เช่นเดียวกับดอกบัว เศร้าหมองและในที่สุดกลีบก็ร่วงลง เหมือนกับคนแก่ที่มีร่างกายค้อมไปข้างหน้า หลังงอ หูก็ฝ้า ตาก็ฟาง ผมก็หงอก ฟันก็หัก หนังก็เหี่ยวย่น ทุกสิ่งทุกอย่างในร่างกายที่เห็นว่าเป็นของดี ของสดใส มันไม่มีแล้วสำหรับคนแก่ ชีวิตร่างกายของเรามันเป็นอย่างนี้ ไม่มีอะไรเป็นที่พึ่ง ไม่มีอะไรเป็นสรณะ แล้วก็ลืมตามาดูอีกที

ตอนนี้สมเด็จพระชินสีห์ทรงเนรมิตให้ก้านบัวหัก ดอกบัวหล่นป่นปี้ไปหมด เธอเห็นภาพที่องค์สมเด็จพระบรมสุคตทรงเนรมิตดอกบัวอย่างนั้น ก็มานึกถึงกายว่าร่างกายนอกจากแก่ ไม่ช้ามันก็ตาย เมื่อเธอพิจารณาไปก็คิดว่า ร่างกายไม่มีความหมายสำหรับเรา ดอกบัวที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทานเป็นดอกบัวทองคำ เป็นภาชนะที่มีความแข็ง ในไม่ช้ามันก็สลายตัวได้ฉันใด ร่างกายเราก็มีสภาพฉันนั้น ฉะนั้นเราจะไม่ติดในร่างกายนี้ต่อไป ท่านก็ทำใจเห็นว่าร่างกายไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา คือไม่สนใจในร่างกาย ร่างกายมันจะเป็นอย่างไรก็ช่าง เมื่อสภาพมันเป็นอย่างนี้ ทำจิตของท่านนี้จับภาพกสิณกับพิจารณาร่างกายควบกัน ไม่ช้าไม่นาน ท่านก็ได้สำเร็จอรหัตตผลพร้อมไปด้วยปฏิสัมภิทาญาณ

นี่สำหรับตัวอย่างในการเจริญพระกรรมฐานกองใดกองหนึ่ง ก็เป็นพระอรหันต์ได้ ถ้าทำเป็น สำหรับท่านทั้งหลายชอบสีอะไร สีแดง สีเขียว สีเหลือง หรือว่า สีขาว จะทำกองไหนมันก็มีสภาพเหมือนกัน กสิณไม่มีอะไรยาก เป็นของง่ายๆ เป็นกรรมฐานหยาบ ชอบกองไหนชอบสีอะไรเพ่งสีนั้น แล้วก็ทำตัวอย่าง... อย่างพระลูกชายนายช่างทอง หลับตาไปก็นึกเห็นภาพ สีอะไรนึกถึงสีนั้น นึกถึงชื่อนั้นจนกระทั่งสีนั้นทรงตัว ไม่ต้องลืมตามาดูใหม่ จะนั่งอยู่ จะเดินอยู่ จะนอนอยู่ นึกขึ้นมาเมื่อไร เห็นภาพนั้นติดตาทันที อย่างนี้เรียกว่า อุคคหนิมิตเบื้องต้น ถ้าสีนั้นค่อยคลายจากสีเดิม จากเหลือง จากแดง จากเขียว มาเป็นเหลืองอ่อนๆ จนกระทั่งเป็นสีขาว จนกระทั่งเป็นประกายสีขาวแท่งทึบใหญ่ จะบังคับให้อยู่สูงก็ได้ อยู่ต่ำก็ได้ บังคับให้เล็กก็ได้ บังคับให้ใหญ่ก็ได้ อย่างนี้ชื่อว่าถึงอุปจารสมาธิเต็มภาคภูมิ ถ้าสีนั้นกลายเป็นประกายพรึก สีกสิณนี้เหมือนกัน จะเป็นกสิณกองไหนก็เหมือนกัน ทำไปแล้วสีต้องเป็นประกายพรึกหมด ถ้าเป็นประกายพรึกแสดงว่าจิตเข้าถึงฌาน ขณะที่เพ่งสีกสิณที่เป็นประกายพรึกนั้น แต่ปรากฎว่าไม่รู้ว่าหายใจหรือเปล่า มีสภาพเหมือนไม่หายใจ ใจสว่างโพลง จิตไม่รับสัมผัสภายนอก หูไม่ได้ยินเสียง ยุงจะกินริ้นจะกัดไม่รู้ แต่ความจริงพระเจริญกรรมฐานนี่ยุงไม่กินริ้นไม่กัด ถ้าจิตเป็นฌานนะ ยุง ริ้น ไม่ทำแน่ ท่านก็ควรพิสูจน์ดู

และต่อไปเวลากลางวันกลางคืนก็ตาม ถ้าท่านไปทางไหน จิตของท่านไม่ทิ้งอุปจารสมาธิหรือปฐมฌาน หรือว่าทุติยฌาน ฌานที่ 2 ยุงมันไม่ชอบ ยุงไม่ชอบกัด ยุงมันเกลียดคนใจดี เป็นอันว่าเป็นเครื่องพิสูจน์จิตของตน ในเมื่อจิตเข้าถึง ทรงจิตจับประกายพรึกสว่างไสว ในใจสว่างโพลง แล้วก็มีอารมณ์คล้ายกับไม่รู้สึกว่าหายใจ นั่นคือฌาน 4 ถ้าทรงอยู่ได้อย่างนี้ก็ดี ทำได้ไม่ถึงนึกถึงสีได้ก็ใช้ได้ และก็ใช้จิตใจพิจารณาถึงขันธ์ 5 ตามที่กล่าวมาแล้วในเรื่องของพระลูกชายนายช่างทอง เรื่องพระโสดาบัน สกิทาคามี พระอนาคามี ไม่มีความหมาย กลายเป็นพระอรหันต์ไป

แต่ว่าตอนนี้เราพูดกันถึงสกิทาคามี ผมก็พูดไปยังงั้นแหละ พระองค์ไหนที่จะทรงจิต หรือคนใดที่จะทรงจิตเป็นพระโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี อรหันต์ ไล่เบี้ยไปตามนี้ไม่มีในประวัติศาสตร์ เป็นแต่เพียงว่าท่านทรงพระโสดาบันแล้ว บางท่านก็เป็นอนาคามีเลย บางท่านก็เป็นอรหันต์ไปเลย แต่ไหนๆ พูดกันถึงพระสกิทาคามีก็พูดกันอีกสักหน่อย

เวลาที่เราจับกสิณ 4 กอง กองใดกองหนึ่ง คือสีแดง สีเขียว สีเหลือง สีขาว ถ้าอารมณ์จิตของเราเป็นสมาธิถึงอุปจารสมาธิ กำลังความโกรธมันก็ลด ถ้าจิตเข้าถึงฌาน ความโกรธมันก็คลานต้วมเตี้ยมๆ ไม่มีกำลังเพราะฌานมีกำลังใหญ่ ทำลายกำลังความโกรธได้ดี แต่ทว่าไม่สามารถจะฆ่าให้ตาย ฉะนั้นในเมื่อจิตของเราจับฌานในกสิณส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือสมาธิส่วนใดส่วนหนึ่งได้ เราก็ไปจับสักกายทิฐิเข้ามาพิจารณาควบคู่กันไป ขณะที่เพ่งถึงภาพกสิณ จงอย่าใช้สักกายทิฐิเข้ามาควบ มันจะยุ่ง จับกสิณให้มันทรงตัว จะสีตามเดิมก็ตาม สีกลายก็ตาม สีประกายพรึกก็ตาม สำหรับสมาธิได้แค่ไหนพอใจแค่นั้น อย่าทำจิตให้มันวุ่นวาย

ในเมื่อท่านทั้งหลายทรงอารมณ์ได้อย่างนี้แล้ว เมื่อจิตสบายตามปกติเป็นที่พอใจ คลายอารมณ์มานิดหนึ่ง คิดพิจารณาถึงขันธ์ 5 กับภาพกสิณ ในเมื่อเราพิจารณาขันธ์ 5 ภาพกสิณก็หาย ที่เอาขันธ์ 5 กับกสิณเข้ามาประกอบกัน นั่นก็คือนึกว่าภาพกสิณนี่เดิมทีเป็นสีแดง ผมเอาสีเดียวนะ กี่สีก็เหมือนกัน พูดเสียเวลา แล้วต่อมาก็กลายเป็นสีเหลือง เหลืองอ่อนๆ แล้วแดงก็ค่อยๆ จางแล้วกลายเป็นเหลืองเข้ม เข้มแล้วก็อ่อน อ่อนแล้วก็ขาว ขาวแล้วก็ใส แต่พอเราขยับใจนิดเดียว ภาพกสิณก็หายไป ภาพกสิณกับร่างกายของเราก็มีสภาพเหมือนกัน ภาพกสิณนี่กลายสีได้ แสดงว่าภาพกสิณนั้นเป็นของไม่เที่ยง ถ้ามันเที่ยง สีมันจะต้องปรากฎตามเดิม เหมือนกับร่างกายของเราที่มันมีความไม่เที่ยง มันทรุด มันโทรม มันเปลี่ยน มันแปลงไปได้ตามปกติ

นี่มาตอนหลังที่เราทิ้งภาพกสิณ ภาพกสิณหายไป เรามาเทียบกับร่างกายของเรามันก็มีสภาพเช่นเดียวกัน ว่าร่างกายของเรานี้ ในที่สุดมันก็สลายตัวแบบเดียวกับภาพกสิณ ฉะนั้น เราจะไปสนใจเรื่องโทสะความโกรธเพื่อประโยชน์อะไร เราโกรธเขามันเป็นปัจจัยของความทุกข์ เพราะอะไร เพราะคนโกรธไม่มีความสุข มีแต่ความทุกข์อย่างเดียว เราโกรธเขาเพื่ออะไร เขาทำไม่ชอบใจเรา เราอยากจะฆ่าเขา แล้วถ้าเราไม่ฆ่าเขา เขาจะตายหรือไม่ตาย เขาก็ตาย ถ้าเราอยากจะประทุษร้ายเขาให้มีความเจ็บช้ำทางกาย เราก็คิดว่าถ้าเราไม่ประทุษร้ายเขา ร่างกายเขาจะโทรมหรือไม่โทรม แล้วมันก็โทรม แล้วจะทำร้ายเขาทำไม

เป็นอันว่า ประโยชน์แห่งความโกรธมันไม่มี คนโกรธทำลายชีวิตและร่างกายของตนเอง ทำลายปัญญาของตนเอง ยิ่งโกรธมากเท่าใด กินไม่ได้นอนไม่หลับ ร่างกายก็ทรุดโทรม จิตใจก็มีความวุ่นวาย มันก็มีแต่ความเร่าร้อน ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “โทสัคคิ” ไฟ คือ โทสะ มันมาเผาผลาญร่างกายให้พินาศไป ใจก็ไม่เป็นสุข กายก็ไม่เป็นสุข โกรธเขาทำไม โกรธเขามันดีตรงไหน คนที่โกรธคนได้ก็คือคนบ้า ถ้าเราโกรธคนอื่นเมื่อไร เราก็นึกไว้ในใจว่า นี่เรามันบ้าพอตัว บ้ามาก ความโกรธไม่ได้มีประโยชน์ คนมันตายด้วยกันหมด ทำไมจึงต้องโกรธ คนที่เกิดมาในโลกนี้ก็มีกิเลส คนที่มีกิเลสจิตมันเศร้าหมอง จิตมันมืด มีแต่ความโง่ เพราะเขาโง่ เขาจีงสร้างอารมณ์ที่ไม่ชอบใจให้ใจเราให้โกรธ ในเมื่อเขาทำลายความดีของเขา ทำไมเราต้องทำลายความดีของเราด้วย เขาอยากจะเลวก็ปล่อยให้เขาเลวไปแต่ผู้เดียว เราไม่ยอมเลวเดียว ใครอยากประกาศเป็นศัตรูก็ให้เขาประกาศแต่ผู้เดียว เราไม่ประกาศตนเป็นศัตรูกับเขา ใจเราก็เป็นสุข อันนี้จิตเป็นสุขด้วยอำนาจของกำลังฌาน

ต่อมาจับจิตจะเป็นสุขใหญ่ ว่าร่างกายของเราก็ดี ของเขาก็ดี ของสัตว์ทั้งหลายก็ดี วัตถุอื่นใดก็ดี ไม่เป็นที่น่าชื่นชมสำหรับเรา เพราะ 1. มันเป็นอนิจจัง หาความเที่ยงไม่ได้ 2. ทรงอยู่ ก็ประกอบไปด้วยความทุกข์ 3. ในที่สุดมันก็สลายตัว

สภาวะมันเป็นอย่างนี้ ทำไมเรายังจะถือรักในร่างกายของเขา เราจะถือโลภอยากได้ทรัพย์สินของเขา เราจะถือโกรธเพื่อต้องการประหัตประหารเขา แล้วมันมีประโยชน์อะไร เราจะอยู่ไปกี่วันไม่ช้าเราก็พลันตาย ดีไม่ดีเราอาจจะตายเดี๋ยวนี้ ฉะนั้นนับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปขึ้นชื่อว่าความโกรธ คิดประทุษร้ายจะไม่มีสำหรับเรา ใครเขาจะทำอย่างไรก็ช่างเขา ใช้คาถาภาวนาไว้บทหนึ่ง ใครเขาชมเราว่าดี เราก็นึกว่าช่างมัน เจ้านี่จะมาหลอกใช้ ใครเขาว่าเราชั่ว เราก็ถือว่าช่างมัน ถือว่าความดี หรือความชั่วมันอยู่ที่เราเท่านั้น เราอย่าดิ้นรนจนเกินไป เมื่อเราระงับใจได้อย่างนี้แสดงว่าอารมณ์แห่งพระสกิทาคามีของท่านเข้ามาอีกขั้นหนึ่ง คือระงับความโกรธให้มีกำลังน้อย

แต่ทว่าเรื่องราวของการระงับความโกรธนี่ยังไม่หมด จะพูดต่อไปอีกจุดหนึ่งก็คือ พรหมวิหาร 4 แต่ทว่าเวลานี้ดูเวลามันหมดเสียแล้วนี่ท่าน ผมเข้าใจว่าคำอธิบายเพียงเท่านี้ก็สามารถจะทำให้ท่านทั้งหลายผู้ทรงความดี คนดีนะจะจำได้ แล้วก็คนดีจะปฏิบัติได้ แต่คนที่ปฏิบัติไม่ได้อย่ามาคุยให้ผมฟังนะว่าเป็นคนดี ประเดี๋ยวผมจะหาว่าเลวกว่าสัตว์เดรัจฉาน เพราะของแค่นี้ทำกันไม่ได้ จะทำอะไรได้

เอาละ ต่อไปนี้ขอให้บรรดาท่านทั้งหลายพยายามตั้งกายให้ตรง ดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก ใช้คำภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะถึงวาระที่ท่านเห็นว่าสมควร ควรจะเลิก สวัสดี

ลิงค์ทั้งหมด https://ppantip.com/profile/8483559#topics

แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่