หนังสือ คู่มือปฎิบัติวัดท่าซุง เล่ม 1 กสิณ 10 ตอนที่ 4.2

ต่อจาก หนังสือ คู่มือปฎิบัติวัดท่าซุง เล่ม 1 กสิณ 10 ตอนที่ 4.1 https://ppantip.com/topic/43189860

กสิณ 10 ตอนที่ 4.2

เป็นอันว่า ทุกข์มาจากความอยาก คืออยากได้สิ่งที่ไม่เป็นสาระ ไม่เป็นแก่นสาร เป็นปัจจัยของความเกิดคือ 1. อยากมีคู่ครอง 2. อยากมีลูก 3. อยากมีหลาน ให้มันเพิ่มทุกข์ขึ้นมา หรือว่าอยากจะร่ำจะรวยเป็นกรณีพิเศษ ไอ้อยากรวยด้วยสัมมาอาชีวะไม่เป็นไร หาเลี้ยงพอประทังกาย สร้างความเจริญให้แก่ฐานะ ไม่ตะเกียกตะกายเกินไปถึงกับจิตที่เรียกกันว่าโลภ คือโกงเขา นี่ถึงแม้จะหากินด้วยสัมมาอาชีวะก็ตาม ถ้าจิตมันยังติดในทรัพย์สิน ถือว่าเป็นเราเป็นของเรา โดยไม่คิดว่าถ้าเราตายแล้วก็จากกัน มันก็จิตก็เป็นทุกข์เหมือนกัน ถ้าเราคิดเสียว่าตายแล้วมันต่างคนต่างไป เมื่อเวลามีชีวิตอยู่ก็หากินมันไป กว่าจะตายได้มากได้น้อยไม่เป็นไร แต่ใจเราไม่ติดเท่านั้นเป็นพอ

หรือจิตมันอยากจะโกรธ อยากจะพิฆาตเข่นฆ่า อยากจะเป็นศัตรูกับใคร อย่างนี้มันก็เป็นอาการของความทุกข์

ทีนี้อารมณ์หลง อยากจะอยู่กับสามี อยากจะอยู่กับภรรยา อยากจะอยู่กับลูกกับหลาน อยากจะอยู่กับทรัพย์สิน ไม่อยากจะจากไป ตามสภาพของกฎธรรมดา อารมณ์อยากอย่างนี้มันก็เป็นความทุกข์ เราก็ตัดอยากมันเสีย ตัดเหตุเกิดคือความอยาก นั่นก็ได้แก่ การตัดด้วยอำนาจของกำลังความดี กำลังที่เราจะตัดตัวต้นเหตุที่มันจะเกิดเสียก่อน ต้นเหตุที่มันจะทำให้เราเกิดก็คือ

โลภะ ความโลภ เป็นรากเหง้าของความโง่
โทสะ ความใกรธเป็นรากเหง้าของความโง่อีกรากหนึ่ง
โมหะ ความหลง เป็นรากเง้าของความโง่อีกรากหนึ่ง

เมื่อเราจะถอนความเกิด เราก็ต้องถอนรากของความเกิดทิ้ง คือใช้กำลังใจสมาธิให้ทรงตัว พิจารณาดูว่าวัตถุธาตุทั้งหลาย มันไม่ใช่เป็นปัจจัยให้เราทรงความสุข ความสุขที่จะมีอยู่ได้ในปัจจุบันก็คือ การเกื้อกูลซึ่งกันและกัน และถ้าจิตใจของเราไม่ติดอยู่ในพรัพย์สินนี้จนเกินไป หมายความว่ามีชีวิตอยู่ เราจำต้องหา เราจำต้องใช้ ถ้าตายแล้วก็แล้วไป ไม่ห่วงใยในมัน

จิตจะคิดอย่างนี้ได้ก็ต้องอาศัยใจที่มีความดี คือมุ่งการให้ทาน สงเคราะห์บุคคลอื่นให้มีความสุข ตานฐานะที่เราจะพึงเกื้อกูลได้ จนกว่ากำลังใจของเรามีความชุ่มชื่นพอใจในการสงเคราะห์ อนุคราะห์ เมื่อมีทรัพย์สินพอจะสงเคราะห์ อนุเคราะห์ได้ เห็นใครมีความลำบาก จะเป็นคนหรือจะเป็นสัตว์ก็ตามไม่เลือกฐานะ เราพร้อมให้ด้วยจิตชื่นบาน จิตใจของเรานี้นั้น ก็คิดไว้เสมอว่าการให้เป็นปัจจัยของความสุข เขามีความสุขเราก็มีความสุข ไม่หวังผลในการตอบแทน จิตใจเมื่อคิดถึงการให้เมื่อไรใจก็สบาย อารมณ์ชื่นบาน อย่างนี้ที่เราตัดรากเหง้าความโง่ ตัวอันดับแรกได้แล้ว

ประการที่ 2 องค์สมเด็จพระประทีปแก้วสอนให้ตัดความโกรธ เราก็มานั่งพิจารณาว่า ความโกรรมันมีโทษ ไม่ใช่มีคุณ สร้างศัตรูนี่เราไม่ได้สร้างมิตร ต่อนี้ไปเราจะคิดให้อภัยแก่คนที่ทำความผิดรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เขาด่าเราเราก็เฉย เขานินทาเรา เราก็เฉย เขาชมเรา เราก็เฉย เฉยเพราะอะไร ก็เพราะรู้ตัวอยู่เสมอว่า การว่า การนินทา การชม มันไม่มีผลทำให้เราดีหรือเราชั่ว เราจะดีหรือจะชั่วก็เพราะว่า ไม่สนใจในถ้อยคำ 2 ประการนี้ เพราะว่าเราเป็นคนดี เขาติว่าเราชั่ว เราก็ไม่ได้ชั่วไปตามคำเขาพูด ถ้าเราชั่ว เขาชมเราว่าดี เราก็ไม่ได้ดีไปตามคำเขาพูด เราก็วางเฉยในอารมณ์เสีย มีความ รู้สึกว่า วาจาชมก็ดี ติก็ดี เป็นสิ่งที่ไร้สาระ และเราก็ให้อภัยแก่คนที่กล่าว เพราะคนที่กล่าวนั้นเป็นคนรู้เท่าไม่ถึงการณ์ มันไม่ได้เกิดประโยชน์คำชมหรือคำติของเขา ไม่ได้เกิดประโยชน์กับเขา แล้วก็ไม่ได้เกิดประโยชน์กับเรา เราก็เฉย เฉยต่ออารมณ์ให้อภัย นึกก็อ๋อ คนโง่นี่ ช่างเขาเถอะ

มาตัวหลังได้แก่ความหลงในชีวิต หลงในร่างกาย หลงในทรัพย์สินทั้งหลาย หลงในสิ่งที่เนื่องถึงกัน เราก็มานั่งพิจารณาว่ากายนี้ ซึ่งเป็นร่างกายที่เราอาศัย ที่เรายึดถือว่าเป็นเราเป็นของเรา มันจริงไหม มันเป็นเรา เป็นของเราจริงหรือเปล่า เนื้อแท้จริง ๆ มันไม่ใช่เรา มันไม่ใช่ของเรา พระพุทธเจ้าท่านว่าอย่างนั้น ร่างกายนี่ท่านบอกว่าเป็นแต่เพียงธาตุ 4 เขามาประชุมกันคือ ธาตุน้ำ ธาตุดิน ธาตุลม ธาตุไฟ แล้วในที่สุดแยกเป็นอาการ 32 มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เป็นตัน ร่างกายทั้งคนและสัตว์เต็มไปด้วยความสกปรก ไม่มีความจีรังยั่งยืน ร่างกายเป็นโรคนิธัง เป็นรังของโรค ปภังคุณัง ต้องเปื่อยเน่าตายเป็นธรรมดา และมันก็แสนจะสกปรก เราทำไมจึงจะสนใจกับร่างกายนี้ที่มันกำลังจะตาย มันกำลังจะพัง เราจะไม่สนใจในร่างกายของเรา ไม่สนใจในร่างกายของบุคลอื่น และไม่สนใจในวัตถุธาตุใด ๆ สิ่งที่เราสนใจนั่นก็คือ พระนิพพาน จิตเราคิดอย่างนี้

ถ้าอารมณ์มันจะเฟื่อง เราก็เลิกคิดเสีย จับภาพกสิณเป็นอารมณ์ให้จิตเป็นสุข ถ้าจิตเป็นสุขคือจิตมีอารมณ์สนิทดีแล้ว สบายใจ เราก็พิจารณาใหม่ ทำไปอย่างนี้สลับกันไป สลับกันมา ไม่ช้ามรรคผลมันก็เกิด แต่อย่าลืมนะ ต้องมีทั้ง ฉันทะ มีความพอใจ มีวิริยะ มีความเพียร มีจิตตะ มีจิตใจจดจ่ออยู่ในอารมณ์ที่เราคิดทั้ง 2 ประการ ทั้งกสิณและวิปัสสนาญาณ แล้วใช้ปัญญาพิจารณาว่า เราพิจารณาถูกหรือผิด สลับกันไปสลับกันมาอย่างนี้เป็นของไม่ยาก แล้วก็พิจารณาใจของเราว่า เรามีความผูกพันในร่างกายของเราหรือเปล่า เรามีความผูกพันร่างกายคนอื่นหรือเปล่า เรามีความผูกพันในวัตถุธาตุทั้งหลายหรือเปล่า ถ้าความผูกพันไม่มีเมื่อไร เป็นอรหันต์เมื่อนั้น มันก็ไม่ยากนี่
 
ถ้าเราจะใคร่ครวญดู ดูว่า เอ๊ะ! นี่เราผูกพันในร่างกายหรือเปล่า ถ้ามันยังห่วงจุดใดจุดหนึ่งหรือห่วงทรัพย์สิน ห่วงคนนั้นคนนี้แสดงว่าใช้ไม่ได้ ยังไกลต่อความดี ถ้าคิดดูว่ากายของเรามันยังพัง แล้วเราจะไปห่วงกายของใคร เราจะห่วงวัตถุอะไร ถ้ากำลังใจตัดได้อย่างนี้ก็แสดงว่าหมดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหาน เป็นพระอรหันต์เนื้อแท้จริง ๆ มันไม่ยาก

ที่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสมาตั้งหลายหนทั้ง 84,000 พระธรรมขันธ์ ก็ต้องการเอาจิตตรงนี้ อย่าลืมว่า องค์สมเด็จพระภควันต์ เวลาที่พระองค์จะทรงบรรลุอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณ เวลานั้นองค์สมเด็จพระพิชิตมารไม่ห่วงใยในชีวิตและเลือดเนื้อ ในที่สุดก็ได้บรรลุมรรคผล เป็นอันว่า การที่จะเป็นพระอริยเจ้าของทุก ๆ คนอยู่ในสังโยชน์ข้อที่ 1 เท่านั้น คือมาพิจารณาเห็นว่าสภาพร่างกายที่เรียกกันว่าขันธ์ 5 คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เอาร่างกายก็แล้วกัน เห็นว่าร่างกายนี้ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเราเท่านี้พอ พยายามมองเห็นมันให้ได้ ถ้าใจมันกระสับกระส่ายไม่มั่นคงเลิกคิด จิตจับกสิณ พอมีกสิณ มีทรงตัวดี แล้วก็กลับมาคิดกันใหม่ จนกระทั่งกำลังใจเห็นร่างกายของเราก็ดี ร่างกายของบุคคลอื่นก็ดี วัตถุธาตุทั้งหลายก็ดี ไม่เป็นสาระ ไม่เป็นแก่นสาร จิตใจมีความรักพระนิพพานเป็นอารมณ์ ไม่สงสัยในคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีศีลบริสุทธิ์ จิตหมดจากความกำหนัดยินดีในเพศตรงกันข้าม อารมณ์จะโกรธ ชาวบ้านชาวเมือง คิดจะฆ่าใครไม่มี อารมณ์ที่จะหลงในรูปฌาน และอรูปฌานก็ไม่มี การถือเนื้อถือตัวว่าเราดีกว่าเขา เราเสมอเขา เราเลวกว่าเขาก็ไม่มี อารมณ์จิตเป็นสุข อารมณ์ที่ซ่านคิดว่าการเป็นเทวดาหรือพรหมยังดีอยู่ไม่มี จิตรักพระนิพพานเป็นอารมณ์ แล้วในที่สุดจิตของเราก็มีความมั่น มีความรู้สึกว่ามนุษย์โลก เทวโลก และพรหมโลกไม่มีความหมาย คือไม่เป็นปัจจัยแห่งความสุข เราไม่รักมนุษย์โลก เทวโลก และพรหมโลก จิตเราต้องการคือพระนิพพาน อารมณ์ใจของเราในเวลานั้น แล้วก็ตลอดเวลาไม่ใช่เฉพาะเวลาคิด ตลอดวันทั้งวัน คืนทั้งคืนมีอารมณ์เป็นสุข มีจิตเบา จิตมันเบาหวอง ไม่มีอะไรหนัก แล้วก็ไม่มีความหนักแม้แต่นิดหนึ่งที่จะคิดว่า ถ้าเราทำตนอย่างนี้ใครเขาจะเกลียด หรือว่าใครเขาจะรัก อารมณ์อย่างนี้ไม่มีในจิต คิดว่าอย่างเดียวว่าสิ่งใดที่เป็นปัจจัยให้เกิดความสุข คือตัดโลภะ ความโลภ โทสะ ความโกรธ โมหะ ความหลง กิจนั้นเป็นกิจที่เรามีความมุ่งหมายอย่างเดียว อารมณ์ที่มีความสำคัญก็คือ จิตใจไม่ผูกพัน ไม่ยึดเหนี่ยวร่างกายเป็นสำคัญ ถ้าเราวางร่างกายของเราเสียได้เมื่อไร ร่างกายของบุคลอื่น วัตถุธาตุทั้งหลายไม่มีความหมาย

เอาล่ะ บรรดาพระโยคาวจรทั้งหลาย เรื่องของสังโยชน์เราก็พูดกันมามาก แล้วก็มีพระตัวอย่างพระลูกชายนายช่างทองเป็นสำคัญ สำหรับเรื่องเรื่องกสิณนี้ถ้าเราจะพูดกันไปนาน มันก็จะยืดเยื้อ พูดไปมันก็มาลงตรงนี้ แต่ขออย่าลืมว่าถ้าจิตของเราดี เข้าถึงฌาน 4 เรื่องความเป็นพระอรหันต์เป็นไม่ยาก ถ้าจิตนั้นไม่สามารถจะทรงฌาน 4 ได้ เราก็ใช้การเพ่งกสิณ กับการพิจารณาสลับกันไป ถ้าว่าใจของท่านทั้งหลายทรงอยู่ในอิทธิบาททั้ง 4 ประการ หวังว่าทุกคนจะเป็นพระอรหันต์ได้ภายใน 7 วัน ถ้าหากว่ามีกำลังจิตแก่กล้า ถ้ากำลังใจอ่อนก็เป็นอรหันต์ได้ภายใน 7 เดือน ถ้าอย่างกำลังอ่อนเต็มทีแต่ทรงอิทธิบาท 4 ได้ครบ ก็เป็นพระอรหันต์ได้ภายใน 7 ปี เป็นอันว่าความดีส่วนนี้เป็นของไม่ยาก

เอาละบรรดาท่านสาวกขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาค เวลาหมดแล้ว ต่อนี้ไป ขอท่านทั้งหลายตั้งกายให้ตรง ดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ใช้คำภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะเห็นเวลานั้นสมควรจะเลิก สวัสดี

ลิงค์ทั้งหมด https://ppantip.com/profile/8483559#topics

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่