หนังสือ คู่มือปฎิบัติวัดท่าซุง เล่ม 1 กสิณ 10 ตอนที่ 2.1

กสิณ 10 ตอนที่ 2.1

ท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลาย และพระโยคาวจรทั้งหลาย กาลเวลาที่ท่านจะสดับหรือว่าการศึกษาในพระกรรมฐานทั่ว ๆ ไป มาถึงแล้ว สำหรับการศึกษาพระกรรมฐานนี่ ผมก็จะสอนไปตามลำดับ แต่ทว่าการปฏิบัติของท่าน ก็ขอให้ปฏิบัติในพระกรรมฐานที่ท่านมีความพอใจ การศึกษาทั่ว ๆ ไปเป็นความรู้พิเศษ อันนี้ก็มีความจำเป็น เพราะว่าในกาลข้างหน้า ท่านจะได้ไม่สอนให้ชาวบ้านเขาเป็นมิจฉาทิฏฐิ

ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่า การศึกษาพระกรรมฐานไม่ครบถ้วน เรามีความรู้แค่ไหน ก็มีความเข้าใจว่า พระกรรมฐานที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนไว้แค่นั้น ถ้าหากว่าบังอิญไปพบใครเขาซึ่งปฏิบัติไม่ตรงกับอารมณ์ที่เราทำ เราก็จะไปว่าเขาทำผิดหรือว่าทำไม่ถูก หรือดีไม่ดีก็จะหาว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกตามพุทธพจน์บทพระบาลี เพราะไม่ใช่คำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุมพธเจ้า การพูดอย่างนั้นเป็นการทำลายความดีของคนอื่น ตนเองเป็นมิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นผิดเพราะรู้ไม่ครบ ถ้าบุคคลคนนั้นเป็นคนใจอ่อน เป็นพวกศรัทธาจริต ก็จะมีความคิดว่าเขาเขาเองปฏิบัติผิดแล้วกลับไปปฏิบัติใหม่ คราวนี้ใจเขาจะยุ่งจะไม่มีอารมณ์ทรงตัว นี่เลยผลความดีที่พึงได้มันก็เลยไม่ได้ เราเป็นมิจฉาทิฏฐิก็ทำให้เขาเป็นมิจฉาทิฏฐิด้วย และอาการมิจฉาทิฏฐินี่ก็จะขยายตัวออกไป หนักเข้า ๆ คำสอนขององค์สมเด็จพระจอมไตรก็จะไม่เป็นประโยชน์ กลายเป็นโทษสำหรับประชาชน

เป็นอันว่ามีโทษอย่างร้ายกาจ ฉะนั้นขอบรรดาท่านทั้งหลายจงศึกษาไว้ในกรรมฐาน 40 ให้ครบถ้วน และก็ในมหาสติปัฏฐานสูตร นอกจากนั้นจงใช้ปัญญาพิจารณา เพราะว่าคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่มีอะไรแตกต่างกัน นอกจากสำนวนเท่านั้น

สำหรับวันนี้ก็จะขอพูดถึงด้านกสิณต่อไป เรื่องฤทธิ์ เรื่องเดชของกสิณนี่ผมจะเก็บไว้สรุปทีหลัง

ความจริงการปฏิบัติกสิณนี่ไม่มีอะไรยาก เป็นของธรรมดา ๆ และก็เป็นกรรมฐานที่ใช้อารมณ์ง่ายที่สุด ผมถือว่าเป็นกรรมฐานที่ปฏิบัติง่ายที่สุด ไม่ใช่ว่าผมจะยกตนข่มท่าน ถือว่าเป็นผู้วิเศษ ไม่ใช่อย่างนั้น เพราะว่าในกสิณนี่อาศัยรูปเป็นสำคัญ จึงจัดว่าเป็นกรรมฐานที่เป็นกรรมฐานหยาบ จับง่าย สังเกตง่าย

เมื่อวานนี้ผมพูดถึง ปฐวีกสิณ เข้ามาถึงฌาน 4 วันนี้ก็จะขอพูดถึง อาโปกสิณ เตโชกสิณ วาโยกสิณ ควบไป เพราะว่ากสิณ 4 ประการนี้เป็นกสิณกลาง หมายความว่าเป็นกรรมฐานกลาง คนที่จะมีจริตอะไรก็ตามสามารถปฏิบัติได้ กับอีก 2 กสิณนั่นก็คือ อากาสกสิณ และ อาโลกกสิณ กสิณอีก 2 อย่างนี่ก็เช่นเดียวกันเป็นกรรมฐานกลาง เพราะว่าปฏิบัติได้แก่คนทุกจริต ไม่ว่าจริตอะไรทั้งหมด จะเป็นราคจริต โทสจริต โมหจริต วิตกจริต ศรัทธาจริต พุทธจริต ปฏิบัติได้เหมือนกัน

สำหรับกสิณอีก 4 คือ โลหิตกสิณ ปีตกสิณ นีลกสิณ โอทาตกสิณ อันนี้เป็นกสิณเฉพาะ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าเฉพาะบุคคลที่มีโทสจริต เป็นการแก้โทสจริต อันนี้ขอให้ท่านทั้งหลายจำไว้ด้วย สำหรับอนุสสติที่ผ่านมานั้นก็ ผมไม่ได้บอกไว้ แต่ว่าตำราอื่นมีแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องบอก

สำหรับ อาโปกสิณ เขาใช้น้ำเป็นพื้นฐาน การดูน้ำตามแบบของท่าน ให้มีขอบเขต ต้องขันลูกเท่านั้นใหญ่เท่านี้ แต่เวลาผมทำผมเอง ผมไม่มีล่ะ ขันลูกเล็กขันลูกใหญ่ผมไม่เข้าใจ ดีไม่ดีก็นั่งดูน้ำในบ่อ ดูน้ำในแม่น้ำ ก็ให้มันติดตาติดใจมันก็หมดเรื่อง เมื่อใจจับน้ำให้มันเป็นน้ำ เอาขันน้ำเข้ามาตั้งไว้ข้างหน้า ลืมตาดูน้ำ จำสภาวะน้ำให้ได้ แล้วก็หลับตานึกถึงน้ำ สภาพของน้ำนี่นึกไป มันก็ปฏิบัติตามแบบก่อนนั่นแหละ ลืมตามั่งหลับตามั่ง ว่ากันไป อันดับแรกจิตจะจับน้ำ เห็นสภาพน้ำมีความรู้สึก สภาพน้ำเหมือนน้ำเดิม น้ำสีอะไรขุ่นหรือใสจะมีสภาพแบบนั้น เมื่อจับไป ๆ จิตมีสมาธิมากขึ้น จะเห็นเป็นน้ำใส ไงขึ้นทุกที ๆ จนกระทั่งใสที่สุด เรียกว่าอารมณ์ใสสะอาดที่สุด อย่างนี้เป็น อุปจารสมาธิ

แล้วก็ทำเช่นเดียวกัน บังคับเป็นน้ำใหญ่บ้างเล็กบ้าง สูงบ้าง ต่ำบ้าง เหมือนปฐวีกสิณ จนกระทั่งน้ำนั้นกลายเป็นแก้วประกายพรึก นึกเห็นน้ำแพรว ความจริงนี่อย่างนี้มันก็ดี เล่นง่าย ๆ ท่านอยากจะเล่นอะไรก็เล่นให้มันสักอย่างหนึ่ง หรือไม่อย่างนั้นก็เล่นดะซะก็ยังได้ ไปนั่ง ๆ เห็นภาพพระก็จับภาพพระ นึกอยู่ในใจแล้วก็เห็นภาพพระ หลับตาเห็น มันเห็นยากก็ลืมตาจ้องให้มันสบาย ๆ ว่า พระเขาทำได้ยังไง ลักษณะเป็นยังไง นี่เดี๋ยวผมจะพาท่านเป๋ไป แต่ผมน่ะมันเล่นดะแบบนี้ล่ะ อะไรก็ตามเห็นเข้าแล้วจับให้มันติดใจอยู่เสมอ มันเป็นการคล่องตัว

ทีนี้เรามาจับเฉพาะจุด เฉพาะน้ำ มันก็เป็นของไม่ยาก น้ำใส พอน้ำใส พอเริ่มเป็นประกายแพรวพราว ตอนเป็นประกายนี้จะเข้าใจเหมือนปฐวีกสิณเพราะเริ่มเป็นณาน แล้วต่อไปก็จับระดับอาการของปฐวีกสิณที่บอกมาแล้วมันก็เป็นณาน 4 อันนี้ผมจะไม่อธิบายให้มันซ้ำ ให้มันเสร็จ มันยุ่งยากไป

ทว่ากสิณนี่ถ้าทำได้อย่างใดอย่างหนึ่งทำให้คล่อง เมื่อได้แล้วนะ อย่าประมาทได้อย่างใดอย่างหนึ่ง อย่างได้ปฐวีกสิณให้มันได้เสียจริง ๆ คือ ตั้งเวลา หัดตั้งเวลา หัดทรงเวลา จะทำเวลานี้ จะเลิกเวลานั้น เราหลับเวลานี้ เราจะตื่นเวลานั้น เอาจิตจับเข้าไว้ มันจะตื่นตามเวลา ทำมันให้คล่อง เหนื่อย ๆ มาจับภาพกสิณปั๊ปให้มันอยู่ทันที กสิณกองใดกองหนึ่งก็ตาม ถ้ายังไม่คล่อง อย่าทำกองที่ 2 ต่อไป คำว่าคล่องนี่ต้องนึกปั๊บ จับภาพได้ทันที โดยไม่เสียเวลาแม้แต่ 1 วินาที

หากว่าท่านทำได้อย่างนี้ล่ะก็ คำว่า สุกขวิปัสสโก ที่ผมอกไว้ไม่มีความหมาย ไม่มีความหมายเพราะอะไร เพราะว่าท่านจะขยับไปอีกนิดเดียว สมมุติว่าท่านได้กสิณกองใดกองหนึ่งโดยเฉพาะ ท่านก็จับขยับไปจับอรูปฌานเลย พอได้อรูปฌานแล้ว จิตน้อมลงมาหาวิปัสสนาญาณ คนที่ได้สมาบัติ 8 คือได้อรูปฌาน 4 แล้วมาจับวิปัสสนาญาณนี่ ถ้าใครเป็นอรหันต์เกิน 7 เดือน ฝึกไปในด้านวิปัสสนาญาณ ผมว่าแย่เต็มที แย่มาก ไม่ถึงหรอกครับ ถึงหรือไม่ถึงสุดแล้วแต่ใจของเรานั้นบางทีก็ไปติดอยู่ในฌานเท่านั้นละไม่ไปไหน ถ้าเอาจริง ๆ ล่ะก็ อารมณ์ของสมาบัติ อรูปฌานนั้น มันคล้ายคลึงกับอารมณ์ของพระอรหันต์มาก

ทีนี้ผมขอพูดเรื่องอาไปกสิณ สำหรับอาโปกสิณนี่ ก็ทำอย่างปฐวีกสิณ เอาน้ำมาตั้ง หลับตา ลืมตาดูไปตามแบบของปฐวีกสิณ จนกระทั่งมีประกายทำได้มีสภาพเหมือนกัน เขาเรียกว่าได้ฌาน 4 ได้ฌาน 4 ก็หัดเข้าฌานออกฌานให้มันคล่อง ถ้าได้ปฐวีกสิณคล่องแล้ว กสิณอีก 9 ข้อ ผมว่าทำอย่างละไม่เกิน 3 วัน ก็ได้หมด มีสภาพเหมือนกัน

สำหรับ เตโชกสิณ เตโชกสิณนี่ถ้าให้ดูไฟ ดามแบบให้จับเจพาะจุดดวงไฟเท่านั้น อย่างเราดูเทียนนี่ อย่าไปดูตัวเทียน จับเฉพาะแสงไฟ แต่ทว่าเรื่องของการปฏิบัติจริง ๆ มันก็ไม่แปลก เมื่อจับแสงไฟ จงอย่าดูเปลวที่หายไป จับเจพาะจุดไฟว่าสีมันเป็นอะไร สำหรับอาโปกสิณ ให้ภาวนาว่า อาโปกสิณัง จะลืมเสียแล้ว สำหรับ เตโชกสิณ นี่ ภาวมาว่า เตโชกสิณัง จับภาพแสงไฟ ไฟนี่ต่อไปจะกลายแสงเป็นสีอ่อนลง แล้วก็มาเหลืองน้อย ๆ แล้วในที่สุดก็จะกลายเป็นขาว ขาวแล้วก็จะเป็นประกายเหมือนกัน สภาพที่ปฏิบัติก็เช่นเดียวกับปฐวีกสิณ

ทีนี้สำหรับ วาโยกสิณ นี่ยุ่งหน่อย วาโยกสิณการดูลมนี่จะดูที่ไหน ท่านให้ดูความไหวของใบไม้หรือว่ากิ่งไม้ที่ลมพัดมา จับภาพนั้นให้ติดใจ เห็นอาการไหวแบบไหนจับภาพนั้นไว้ แล้วก็ทำใจให้นึกถึงภาพอาการไหวของกิ่งไม้ หรือใบไม้ไว้เสมอ ที่ถูกลมพัด จนกระทั่งอาการอย่างนั้นทรงตัว เมื่ออาการอย่างนั้นทรงตัว ไอ้ไบไม้ก็ดี หรือว่ากิ่งไม้ก็ดีที่มันไหวไปไหวมา มันอาจจะเป็นสีอะไรก็ได้ แต่ว่าทำไป ๆ มันก็กลายเป็นสีขาว แล้วก็กลายเป็นสีประกายพรึกตามเดิม นี่ก็มีสภาพเหมือนกัน จนกระทั่งเข้าถึงฌาน 4 ตามที่บอกมา นี้บางทีท่านจะสงสัย ว่าไอ้ดูลมนี่เขาดูกันยังไง วาโยกสิณ นี่ เขาภาวนาว่า วาโยกสิณัง

สำหรับ โลหิตกสิณ ไอ้โลหิตนี้ไม่ใช่ดูเลือด โลหิต นี่เขาแปลว่า สีแดง สีแดงนี่เราจะเอาสีน้ำมันหรือว่าสีน้ำ หรือผ้าเป็นสีแดงก็ได้ไว้สำหรับดู เวลาภาวนาก็ภาวนาว่า โลหิตกสิณัง ภาวนาช้า ๆ สบาย ๆ ทำให้จิตเป็นสุข เมื่ออารมณ์เป็นสมาธิ สีแดงมันก็กลายเป็นสีเหลือง สีเหลืองอ่อนลงไป ๆ ก็กลายเป็นสีขาว ตอนนี้ก็เป็นอุปจาระ ถ้าเป็นสีประกายพรึกก็เป็นฌาน ผมจะขอพูดตัดไปเลย มันเสียเวลาเปล่า ๆ ถ้าจะมานั่งอธิบายมันก็ช้ำ ๆ ซาก ๆ กับปฐวีกสิณ

สำหรับ ปีตกสิณ ปีตกสิณนี่เป็นกสิณสีเหลือง จับสภาพสีเหลืองเหมือนกัน เวลาภาวนา ภาวนาว่า ปีตกสิณัง มันแปลว่ากสิณสีเหลือง หรือว่านิมิตสีเหลืองนั่นเอง สภาพสีเหลืองเป็นอุปจารสมาธิต้นมันก็เหลือง ใหม่ ๆ มันคงไม่ค่อยเหลือง ทว่าถ้าได้กสิณ อย่างปฐวีกสิณถ้าได้มาก่อนแล้ว จับแป๊บเดียวได้เลย แล้วต่อไปก็เป็นสีขาวเป็นอุปจารสมาธิปลาย ในที่สุดก็เป็นประกายพรึกเหมือนกัน

สำหรับ นีลกสิณ เป็นกสิณสีเขียว กสิณสีเขียวนี่ เวลาภาวนา ภาวนาว่า นีลกสิณัง ผมไม่อธิบายดีกว่าเพราะว่าทำเหมือน ๆ กันแหละ

สำหรับ โอทาตกสิณ เป็นกสิณสีขาว อันนี้ขาวอยู่แล้ว จับภาพขาวให้ขาว มันขาวกว่าเดิม ให้ขาวมีสภาพคล้ายกับสีขาวเคลือบแก้ว อันนี้เป็นอุปจารสมาธิขั้นอันดับสุด ถ้าเป็นประกายออกมาก็ชื่อว่าเป็น อัปปนาสมาธิ เป็นฌาน

สำหรับ อากาสกสิณ อากาสกสิณนี่เรามองหาช่องว่าง คือความเวิ้งว้างของอากาศ จิตจับสภาพของอากาศให้ทรงตัว คือว่าจับจุดใดจุดหนึ่ง ให้มันมีความรู้สึกว่ามันไม่มีอะไรทั้งหมด คือหาอะไรไม่ได้ ในเมื่อหาอะไรไม่ได้แล้ว ก็ถือว่าเป็น อากาศกสิณ เวลาภาวนา ภาวนาว่า อากาสกสิณัง เมื่อหลับตาลงไปปั้ปนึกถึงกระโถนวางข้างหน้า จิตตั้งว่ากระโถนนี้ต่อไปมันก็มีการสลายตัว ไม่มีอะไรทรงอยู่ มันก็มีสภาพว่าง แล้วไอ้ภาพ กระโถนหายไป มีแต่อารมณ์ว่า อากาสกสิณ นี่จับอารมณ์ว่างอย่างเดียว คำว่าอาการ ว่างอย่างเดียวไม่มีภาพปรากฏ แล้วไอ้คำว่าไม่มีสภาพปรากฎนี่ ถ้าคุณจะถามว่า อุปจารสมาธิมันเกิดขึ้นยังไง ก็หมายความว่าถ้าเวลาที่เราจับอากาศนี่ อากาศแท้ ๆ มันหายากที่ตาเราผ่าน มองไปบนฟ้า ไอ้ตามันก็ไปจับเมฆ มองไปข้างหน้าก็ไปชนนั่นชนนี่ แต่ว่าจิตเราไม่คิด ไม่ติดในภาพนั้นจิตถือว่าเป็นอารมณ์ว่าง

มีต่อ หนังสือ คู่มือปฎิบัติวัดท่าซุง เล่ม 1 กสิณ 10 ตอนที่ 2.2 https://ppantip.com/topic/43177577
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่