หนังสือ คู่มือปฎิบัติวัดท่าซุง เล่ม 2 อนุสสติ 5 ตอนที่ 4.1

อนุสสติ 5 ตอนที่ 4.1

ท่านพระโยคาวจรทั้งหลาย สำหรับวันนี้จะขอเป็นวันสรุปอนุสสติ คำว่า อนุสสติ นี่แปลว่า การตามระลึกนึกถึงอารมณ์ 10 ประการ คือ
1.ระลึกนึกถึงความดีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรียกว่า พุทธานุสสติ
2. ระลึกนึกถึงความดีของพระธรรม เรียกว่า ธัมมานุสสติ
3. ระลึกนึกถึงความดีของพระอริยสงฆ์ เรียกว่า สังฆานุสสติ
4.ระลึกนึกถึงความดีของศีลที่องค์สมเด็จพระมหามุนีทรงสอนเรียกว่า สีลานุสสติ
5. ระลึกนึกถึงความดีของทานการบริจาดที่เราสละไปแล้ว เพื่อหวังการเกื้อกูลบุคคลอื่นให้มีความสุข ไม่มีอารมณ์ผูกพัน ไม่หวังการตอบสนองอย่างนี้ เรียกว่า จาคานุสสติ
6.ระลึกนึกถึงคุณธรรมที่ทำบุคคลให้เป็นเทวดา คำว่า เทวดา แปลว่า ประเสริฐ คำว่า ประเสริฐ ก็คือความดีไม่มีที่ติ เรียกว่า เทวตานุสสติ
7.ระลึกนึกถึงความตายที่มันจะเข้ามาถึง ซึ่งเป็นของที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ เรียกว่า มรณานุสสติ
8.ระลึกนึกถึงกายว่ามันสักแต่ว่ากายคือเป็นธาตุ 4 ประชุมกันแบ่งเป็น อาการ 32 มีการสลายตัวไปในที่สุด เรียกว่า กายคตานุสสติ
9.ระลึกนึกถึงลมหายใจเข้าออกให้สติทรงอยู่ เรียกว่า อานาปานุสสติ
10. ระลึกนึกถึงพระนิพพานเป็นอารมณ์ อย่างนี้เรียกว่า อุปสมานุสสติ

เป็นอันว่าอนุสสติทั้ง 10 ประการนี้ ถ้าท่านทั้งหลายจะถามผมว่า เราควรจะทรงอนุสสติอะไรดีจึงจะเป็นการสมควร ถ้าจะให้ผมตอบ ผมก็ขอตอบกับท่านทั้งหลายว่า อนุสสติทั้ง 10 นี้จำเป็นจะต้องทรงทั้งหมด เพราะว่าเป็นของดีทั้งหมด

การนึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นของดี นึกถึงพระพุทธเจ้าจงอย่านึกถึงแต่ความดีที่พระองค์ทรงปฏิบัติอย่างเดียว จงพากันนึกถึงขันธ์ 5 รององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสียด้วย ที่พระองค์ทรงบำเพ็ญบารมีมานาน เพื่อจะรวบรวญปัญญาความรู้ขององค์สมเด็จพระพิชิตมารมาสอนพวกเรา เมื่อถึงที่สุดแล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่สามารถจะรักษาขันธ์ 5 ให้คงอยู่ ในที่สุดองค์สมเด็จพระบรมครูก็ต้องเสด็จดับขันธ์เข้าสู่พระนิพพาน มองดูขันธ์ 5 ขององค์สมเด็จพระพิชิตมาร เป็น อนิจจัง หาความเที่ยงไม่ได้ ทุกขัง ถ้ายึดมันก็ทุกข์ อนัตตา ในที่สุดก็สลาย องค์สมเด็จพระจอมไตรทรงเป็นอัจฉริยมนุษย์ ขันธ์ 5 ของพระองค์ยังพังได้ แล้วก็ของเราล่ะ มันจะอยู่ได้ยังไง มันจะเป็นเรา เป็นของเราได้ยังไง นี่คิดไว้อย่างนี้ด้วยใช้ปัญญาพิจารณา ถ้าจะสรุปลงมาว่า ผลอะไรที่จะพึงได้จากการทรงอนุสสติทั้ง 10 ประการ

คำว่าอนุสสตินี่ปฏิบัติง่าย ๆ นะขอรับ ท่านไม่ให้เคร่งเครียดอะไรนัก ใช้อารมณ์สบาย ๆ ให้จิตใจมันทรงตัว นึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ศีลคุมศีล คุมจาคะ คุมหิริ โอตตัปปะ รับรู้มีความรู้สึกว่าจะตาย เห็นว่าร่างกายเป็นธาตุ 4 อาการ 32 อานาปาฯนี้ทรงสติสัมปชัญญะให้ทรงตัว อานาปาฯนี้ดีมาก เพราะว่าสามารถคุมจิตให้ทรงตัว ที่เรียกว่า สมาธิ แล้วก็เป็นการระงับกายสังขาร คือ ระงับทุกขเวทนา สำหรับอุปสมานุสสติทำจิตให้เป็นสุข สุขที่สุดคืออารมณ์รักพระนิพพาน

ทีนี้เราก็มานั่งไล่กันดูว่าอนุสสติทั้ง 10 ประการ ให้ผลประการใด นึกถึงพระพุทธเจ้า นึกถึงพระธรรม นึกถึงพระอริยสงฆ์ มีศีลบริสุทธิ์ 4 ประการนี้ ถ้าจิตทรงตัว นึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ เราก็นึกถึงพระวรกายขององค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดา ว่าเป็นอนิจจังนะ ความจริงพระองค์เป็นพระพุทธเจ้า ไม่น่าจะนิพพานเพราะเป็นอัจฉริยมนุษย์ แต่ในที่สุดร่างกายก็เป็นร่างกาย เป็นกฎธรรมดาของมัน ห้ามปรามไม่ได้ เกิดขึ้นในเบื้องต้น แล้วก็สลายตัวไปในที่สุด

นี่ร่างกายของเราก็ต้องพังอย่างนี้ มันจะพังก็ขอให้ทรงความดี คือยืดอำนาจของพุทธานุสสติกรรมฐานเป็นอารมณ์ ขอเกาะชายสังฆาฏิของพระพุทธเจ้าไว้ รักเคารพพระพุทธเจ้า ไม่สงสัยในคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือรักพระธรรม รักแล้วก็ปฏิบัติตาม นึกถึงความดีของพระอริยสงฆ์ ที่ธรรมะที่สมเด็จพระพุทธองค์ทรงสอน พระสงฆ์ก็กรุณา พระอริยสงฆ์รุ่นแรกกรุณารวบรวมเข้าไว้แล้ว พระสงฆ์ทั้งหลายก็นำมาสอนตาม

อนุสสติ 4 ประการนี้ถ้าทรงตัวอยู่ องค์สมเด็จพระบรมครูทรงเรียกว่าท่านผู้นั้นเป็นพระโสดาบันกับพระสกิทาคามี ถ้าจิตทรงตัวจริง ๆ นะ หมายความว่าจิตทรงตัวจริง ๆ ไม่ปรามาสพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีศีลบริสุทธิ์ และรู้ว่าขันธ์ 5 คือร่างกายมันจะต้องตาย อย่างนี้ชื่อว่าเราสามารถทำลายสังโยชน์ 3 ไปเสียได้แล้วก็เป็นอะไรล่ะ ก็เป็นพระโสดาบันกับพระสกิทาคามี นี่ไม่ยากเลยนะขอรับ

สำหรับจาคานุสสตินี้ จาคานี้มีกำลังใหญ่ จาคะ แปลว่า เสียสละ อยากจะเอาพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาพูดกับท่าน ผมซึ้งใจในพระราชดำรัสมาก เพราะคนที่จะคิดอย่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผมไม่เคยได้ยินที่ไหน

"คำว่า จาคะ ถ้าเสียสละยังมีกำลังยึด ถ้าตัดคำว่า เสีย ออกไป เหลือแต่สละอารมณ์ยังติด ต้องใช้คำว่า ละ"

แหม ตัวนี้ ถ้า ละ เหลือ ละ ตัวเดียวแหละท่านเอ๋ย ตัวนี้ตัวเดียวไปนิพพาน เราก็เล่นกันง่าย ๆ เอาง่าย ๆ ดีกว่า จาคะเราควรสละอะไร สละสิ่งของภายนอกก็ควรทำ เป็นการเพาะกำลังใจให้มีกำลัง ในด้านการสละ

แต่จาคะตัวนี้ เราควะจะสละอารมณ์อย่างหนึ่งที่เป็นเครื่องเกาะ นั่นก็คือ กามฉันทะ เพราะว่ากามฉันทะ เรารักคน รักสัตว์ รักวัตถุด้วยอำนาจกามารมณ์ แล้วก็ความนิยมในการรัก มันเกิดประโยชน์อะไรบ้าง รักกันจะตายพอแต่งงานเข้าหน่อย ประเดี่ยวเดียวก็ทะเลาะกัน มันดีหรือ เวลาก่อนจะแต่งงานกันก็เลือกสวยเลือกงาม แต่ไอ้ความสวยความงามนี่มันคงตัวหรือเปล่า มันทรุมโทรมไปทุกวัน แล้วในที่สุดต่างคนก็ต่างจากกันไปด้วยความตาย สุขใด ๆ ที่จะมาจากการแต่งงานไม่มีเลย หาสุขจริง ๆ ไม่ได้ อยู่คนเดียวสบาย จะไปไหนก็ได้ ทำอะไรก็ได้ หลับเมื่อไร ดื่นเมื่อไร กินมาก กินน้อย ขี้เกียจ ขยัน ไม่มีใครเขาบ่น แต่พออยู่ด้วยกัน 2 คน ขี้เกียจไม่ได้ต้องเพิ่มภาระการงานให้มากขึ้น นี่มันมุ่งตรงนี้ เมื่ออยู่ด้วยกันจะมีความดี ชื่นบานหรรษาตลอดกาลตลอดสมัยก็หาไม่ เดี๋ยวก็ขัดคอกัน ข่าวสารมีอยู่เสมอ ยิงกันตายบ้าง ติดตะรางบ้าง เดินขึ้นสถานีตำรวจขอหย่าจากกันบ้าง

นี่มันเป็นเรื่องของกามตัณหา ที่มีความปรารถนาในจิต เราไม่คิดถึงความเป็นจริง ถ้าบรรดาชายและหญิงมีความรู้สึกอย่างนี้ อยู่เสียคนเดียวสบาย ตัดกำลังใจคือสละความรักให้มันสลายตัวไป อยู่คนเดียวดีกว่า มันเป็นสุข ถ้าจิตเราละกามฉันทะตัวนี้ได้ โดยอาศัยจาคะ สละ ตัดทิ้งไปเลย ละเสียเลย อารมณ์ไม่ติด

แล้วก็จิตมีอภัย ก็คือความเมตตาปรานีตัวนี้น่าจะมาจากศีล และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเรามีศีล ก่อนจะมีศีลมันมีเมตตา ถ้าศีลเคร่งเครียดขึ้นมา ทรงอารมณ์เมตตามันก็สูง กรุณาก็สูง การให้อภัยกับคนที่สร้างความชั่ว ทำตัวไม่เป็นมิตร จิตที่จะคิดเป็นศัตรูไม่มี อันนี้ผมว่าถ้าทรงอาการ 2 ประการนี้ได้ความเป็นอนาคามีก็มาได้ ถ้าฉลาดนะขอรับ ถ้าขี้เกียจก็ตามใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าก้าวมาถึงเทวตานุสสติแล้วไซร้ จะเข้าถึงอนาคามีได้อย่างเป็นสุข เพราะเทวตานุสสตินี่อายความชั่ว กลัวความชั่ว ความชั่วที่จะมีมาได้นั่นคือปัจจัยของความทุกข์ อะไรก็ตามถ้ามันเป็นปัจจัยของความทุกข์ อาการอย่างนั้นเราเรียกกันว่า ความชั่ว

แล้วไอ้ความรักในเพศ มันเป็นปัจจัยของความสุขหรือความทุกข์ แล้วการโกรธ พยาบาท คิดพิฆาตเข่นฆ่า เป็นศัตรูซึ่งกัน มันเป็นปัจจัยของความสุขหรือความทุกข์ มันเป็นความทุกข์ เพราะมันเป็นความไม่ดี มันเป็นความชั่ว อารมณ์เข้าถึงเทวตานุสสติกรรมฐานเพียงเท่านี้ ใจก็เป็นสุข การทรงความเป็นอนาคามี ผมว่าพระอรหันต์ยังได้เลย นี่ย่อไว้ว่าเท่านี้ก็เป็นพระอนาคามีได้

มีต่อ หนังสือ คู่มือปฎิบัติวัดท่าซุง เล่ม 2 อนุสสติ 5 ตอนที่ 4.2 https://ppantip.com/topic/43279531
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่