JJNY : โรมบี้ทักษิณ│กมธ.มั่นคง ขอฟัง MOU 44 รอบด้าน│หุ้นเดลต้ากดดันดัชนีร่วง│แฉ เกาหลีเหนือส่ง“อาวุธ-ทหาร”ช่วยรัสเซีย

โรม บี้ ทักษิณ เข้าแจงกมธ.ปมชั้น14 ปัดวิจารณ์ ‘ปู’กลับบ้าน ย้ำรับไม่ได้ถ้าใช้วิธีพิสดาร
https://www.khaosod.co.th/update-news/news_9514847
 
 
โรม บี้ ทักษิณ เข้าแจง กมธ.มั่นคง พิสูจน์ความบริสุทธิ์ ปมชั้น 14 ชี้ถ้ามาแล้วตอบได้ จะเป็นผลบวก ปัดวิจารณ์ “ยิ่งลักษณ์” กลับบ้าน หากใช้วิธีพิสดารก็รับไม่ได้
 
เมื่อเวลา 09.40 น. วันที่ 21 พ.ย. 2567 ที่รัฐสภา นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์กรณีเชิญนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจงต่อที่ประชุมกมธ. ในวันพรุ่งนี้ (22 พ.ย.)
 
โดยนายรังสิมันต์ กล่าวว่า บุคคลที่เชิญจะมาหรือไม่นั้น จะทราบในเช้าวันพรุ่งนี้ว่า สุดท้ายแล้วจะมีใครมาบ้าง แต่ไม่ว่าจะมาหรือไม่มา แต่ข้อวิจารณ์ของสังคมได้เกิดขึ้นแล้ว
 
ฉะนั้น การที่บุคคลที่เชิญแล้วไม่มา ตนอยากให้ฝ่ายต่างๆ ที่ถูกเชิญพิจารณาด้วยข้อเท็จจริงว่า การไม่มาหมายความว่าคุณไม่มีโอกาสชี้แจง แต่หากคุณมา แสดงว่าคุณมั่นใจว่าสิ่งที่คุณทำเป็นการกระทำที่ถูกต้อง ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการกระทำที่อยู่บนวิสัยที่ไม่ได้มีมาตรฐานพิเศษเหนือกว่าใคร
ตนจึงคิดว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกังวล ในการที่คุณมาบอกกับกมธ.ว่า สิ่งที่คุณทำไปถูกต้องอย่างไร หรือกรณีของนายทักษิณที่กมธ.เชิญ ซึ่งสังคมคิดว่านายทักษิณป่วยจริงหรือไม่ การมาชี้แจงถือเป็นโอกาส จะได้ลบข้อครหา ข้อวิจารณ์ต่างๆ ที่สังคมมีต่อนายทักษิณ
 
ตนคิดว่าหลายคำถามที่เราถามอยู่บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และพื้นฐานหลักกฎหมาย ดังนั้น ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกังวลเลยว่า กมธ.จะเล่นการเมืองหรือไม่ กลั่นแกล้งกันหรือไม่
 
ต่อให้คุณเชื่อแบบนั้น ถ้าคุณตอบคำถามได้ ผู้ที่ต้องการกลั่นแกล้งคุณก็จะถูกสะท้อนกลับไปที่ตัวเขาเอง สุดท้ายสังคมก็จะเชื่อในข้อเท็จจริงที่ฝ่ายรัฐบาลพยายามอธิบาย มันก็จะจบอยู่ตรงนั้น ยืนยันว่าอยากให้มองเป็นโอกาส และถ้าสุดท้ายเขาเหล่านั้นไม่มา ข้อวิจารณ์ต่างๆ ก็เหมือนสังคมจะได้รับคำตอบแล้วว่า เรื่องชั้น 14 ความจริงคืออะไร” นายรังสิมันต์ กล่าว
 
เมื่อถามว่าการประชุมในครั้งนี้ จะไม่คว้าน้ำเหลวเหมือนครั้งที่ผ่านมาหรือไม่ นายรังสิมันต์ กล่าวว่า การประชุมรอบที่แล้ว ตนไม่คิดว่าเป็นเรื่องคว้าน้ำเหลว แต่เราได้ข้อเท็จจริงหลายอย่าง และเชื่อว่าเป็นข้อเท็จจริงที่หลายฝ่ายไม่เคยทราบมาก่อน เช่น การพิจารณาใช้เวลาตัดสินใจเพียง 4 นาที , การที่ไม่มีแม้กระทั่งหมอที่มาดูอาการของนายทักษิณ สิ่งเหล่านี้ตนคิดว่าไม่คว้าน้ำเหลว
 
ผมยังยืนยันว่าการไม่ได้คำตอบก็คือคำตอบอย่างหนึ่ง ฉะนั้น เมื่อคุณคิดว่าวิธีการที่จะทำให้กมธ.ไม่ได้รับคำตอบหรือไม่ให้ความร่วมมือ วิธีการเหล่านี้ มันคือคำตอบของประชาชน และคือคำตอบที่สังคมจะได้รับจากผู้มีอำนาจ ตนเชื่อว่าคำตอบที่ประชาชนได้รับ ไม่ได้เป็นผลดีต่อผู้มีอำนาจเลย ดังนั้น ควรใช้วิธีและโอกาสนี้ให้เป็นประโยชน์สูงสุดต่อการสร้างความเชื่อมั่นของระบบยุติธรรม” นายรังสิมันต์ กล่าว
 
เมื่อถามว่านายทักษิณมีเหตุผลอะไรที่จะต้องมาชี้แจงกับกมธ. เพราะกมธ.ไม่สามารถให้คุณให้โทษกับนายทักษิณได้ นายรังสิมันต์ กล่าวว่า กมธ.ให้คุณให้โทษกับนายทักษิณไม่ได้ แต่ตนคิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อนายทักษิณเอง ต้องยอมรับว่าวันนี้สังคมวิจารณ์เรื่องชั้น 14 เยอะมาก จากทุกฝ่ายและทุกทิศทุกทาง และนายทักษิณก็พูดเองว่าอยู่ในสถานะของการเป็นผู้ครอบครองรัฐบาล ครอบครองนายกรัฐมนตรี
 
ดังนั้น นายทักษิณก็จะเป็นตัวแปรสำคัญของความเป็นอยู่ของรัฐบาลนี้ไม่มากก็น้อย ถ้าทำให้สถานการณ์ทางการเมืองที่มีข้อวิจารณ์ต่อนายทักษิณและต่อรัฐบาลให้เบาลง การมาชี้แจงกมธ.ของนายทักษิณ ก็จะช่วยรัฐบาลได้
 
สมมติว่าคุณทักษิณบริสุทธิ์ใจ มั่นใจว่าตัวเองไม่ได้ทำอะไรผิดพลาด ไม่ได้ใช้บารมี พูดง่ายๆ คือป่วยจริงๆ ผมคิดว่ามันก็จะจบ และประชาชนก็จะไว้วางใจรัฐบาลมากขึ้น วันนี้เราต้องยอมรับว่า ปัญหาอย่างหนึ่งที่เป็นปัญหารากฐานสำคัญ คือ ประชาชนจำนวนมากไม่ไว้วางใจรัฐบาล ซึ่งจะทำให้สุดท้ายรัฐบาลทำอะไรไปก็จะมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ตลอด เพราะคุณเริ่มต้นจากการสร้างความไม่ไว้วางใจที่ทำให้เรื่องชั้น 14 กลายเป็นเรื่องพิศวง
 
พวกเราประชุมมา 55 ครั้ง เราไม่เคยได้รับบรรยากาศการพิจารณาที่ดูยากขนาดนี้มาก่อน พอคุณทำให้เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องพิศวงและเป็นเรื่องต้องห้าม เป็นเรื่องที่ไม่สามารถพิจารณาได้ สุดท้ายความไว้วางใจที่ประชาชนมองรัฐบาลก็จะมองว่า รัฐบาลพยายามปกปิดอะไรบางอย่าง” นายรังสิมันต์ กล่าว
 
เมื่อถามว่าการไม่มาชี้แจงกมธ. จะทำให้การกลับบ้านของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ จะยากขึ้นหรือไม่ นายรังสิมันต์ กล่าวว่า เรื่องนี้ยังไกลไปที่จะพูด และวันนี้เราไม่ได้มองถึงการกลับบ้านของน.ส.ยิ่งลักษณ์ เรามองเฉพาะการที่นายทักษิณไปอยู่ชั้น 14 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และถูกต้องหรือไม่ มาตรฐานแบบนี้จะถูกปรับใช้กับนักโทษคนอื่นที่มีปัญหาสุขภาพ อาจจะร้ายแรงหรือพอกับนายทักษิณได้หรือไม่
 
เมื่อถามว่ามองอย่างไรที่นายทักษิณระบุว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะกลับบ้านในวันสงกรานต์ปีหน้า นายรังสิมันต์ กล่าวว่า เรื่องนี้ตนไม่อยากทำนายอะไรมาก เพราะเราอยู่บนพื้นฐานทางการเมืองที่ไม่แน่นอน ดังนั้น ต้องรอดูตามข้อเท็จจริงว่าสุดท้ายแล้ว จะมีกลไกทางกฎหมายอย่างไร ถ้าน.ส.ยิ่งลักษณ์กลับมาก็ต้องดูว่าใช้วิธีการอะไร
 
ตนคิดว่าปัญหาการเมืองไทยมี และปัญหาที่เกิดขึ้นกับครอบครัวนายทักษิณ ซึ่งความไม่ชอบธรรมก็มี แต่วิธีการที่จะแก้ปัญหาเรื่องนี้ ไม่ได้กลายเป็นนายทักษิณและครอบครัวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของความชอบธรรม หรือปัญหาทางการเมืองที่สับสนอยู่
 
ดังนั้น วิธีการที่ดีที่สุดในเวลานี้ คือ ต้องพยายามหาทางออกและแก้ปัญหาทางการเมือง แต่ขณะเดียวกันการใช้วิธีพิสดารที่จะทำให้ตัวเองสามารถกลับประเทศได้ ก็คงเป็นวิธีการที่เราไม่สามารถยอมรับได้


 
กมธ.มั่นคง ขอฟังข้อมูลปม MOU 44 รอบด้าน เล็งใช้กลไกสภาเดินหน้าตรวสอบ
https://www.matichon.co.th/politics/news_4911409

กมธ.มั่นคง ขอฟังข้อมูลปม MOU 44 รอบด้าน หลังหลายฝ่ายมีความเห็นต่าง  โรม ยันยึดประโยชน์ประเทศชาติเป็นหลัก เล็งใช้กลไกสภาเดินหน้าตรวสอบ เหตุเรื่องรื้อรังมานาน
 
เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน  ที่รัฐสภา นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.) ความมั่นคงฯ กล่าวว่า ที่ประชุมวันนี้ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับข้อพิพาทเรื่องพื้นที่ไทย-กัมพูชา และบันทึก ความเข้าใจ MOU 44 โดยเน้นการฟังเป็นหลัก ซึ่งกมธ.ฯ ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เพราะเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอย่างยาวนาน อีกทั้งเป็นผลประโยชน์ต่อประเทศชาติ มีหลายฝ่ายมองเรื่องนี้แตกต่างกันไป แต่การประชุมวันนี้ยังไม่นำไปสู่การตัดสินใจอะไร เน้นไปที่ข้อมูลเป็นหลัก
 
นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า ยื่นยันว่าเรื่องนี้ กมธ.ฯได้ศึกษารายละเอียด ทั้งบันทึกข้อตกลง และรับฟังความเห็นของนักวิชาการ ซึ่งตนเข้าใจในข้อกังวลของฝ่ายต่างๆ ที่มองว่าข้อตกลงนี้อาจทำให้ไทยเสียประโยชน์ แต่ก็ต้องยอมรับความจริงว่ามีข้อโต้แย้งว่าไม่เป็นเช่นนั้น ดังนั้นจึงใช้การประชุมวันนี้รับฟังข้อมูล และเห็นสอดคล้องกับทุกคนว่าถึงอย่างไรเกาะกูดก็เป็นของไทย แต่เรื่องนี้มีประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อเกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อน ผลประโยชน์ด้านพลังงานว่าสุดท้ายแล้ว จะมีความชัดเจนในเรื่องนี้อย่างไร
 
เมื่อถามว่ามีประชาชนเข้าชื่อเรียกร้องให้รัฐบาลมีการยกเลิก MOU 44 นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ยังตอบไม่ได้ว่าจะมีผลกระทบแง่บวก แง่ลบ อย่างไร เพราะวันนี้จุดยืนของกมธ.ฯ คือ การรับฟังข้อมูล แต่ข้อเสนอถึงขั้นยกเลิก MOU หรือไม่ ต้องคุยกันในกรรมาธิการ ซึ่งจะต้องรับฟังและหาข้อมูลให้มากที่สุด โดยต้องไม่ใช้อารมณ์ความรู้สึก ทุกอย่างต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลข้อเท็จจริงที่ไม่ได้มองเฉพาะเขตแดน แต่มองไปถึงการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวที่จะนำไปสู่การจัดสรรผลประโยชน์ ของฝ่ายต่างๆ ด้วย ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่สามารถมองข้ามได้
 
เมื่อได้ข้อมูลออกมาแล้ว เชื่อว่าจะได้ประโยชน์ในการทำหน้าที่ตรวจสอบต่อไป และอยู่ในวิสัยที่เพื่อน ส.ส. สามารถตั้งกระทู้ถามในสภาได้ หรือนำไปหารือกับรัฐบาลได้ รวมถึงการเสนอยุติในประเด็นที่เกี่ยวข้อง และขอยืนยันว่าส่วนตัวมีจุดยืนในการรักษาผลประโยชน์ของประเทศ แต่ต้องยึดข้อมูลเป็นสำคัญ และเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่เรื้อรังมานาน โดยที่ฝ่ายต่างๆ มีจุดยืนแตกต่างกัน ซึ่งพวกผมในฐานะ ส.ส. และกมธ.ฯ ก็มีมีความจำเป็นที่จะต้องตรวจสอบและรับฟัง ขอให้รออีกนิด เพื่อจะใช้กลไกของกรรมาธิการและสภาในการแสวงหาข้อมูลข้อเท็จจริง”นายรังสิมันต์ กล่าว



หุ้นเดลต้ากดดันดัชนีร่วงทันที 16.23 จุด ตั้งแต่เปิดตลาด
https://www.dailynews.co.th/news/4103081/
 
ตลาดหุ้นไทยเช้านี้เปิดลบ 16.23 จุด กดดันจากหุ้น DELTA ที่ติด Cash Balance
 
เปิดตลาดหุ้นไทยภาคเช้าของวันที่ 21 พ.ย. 67 ดัชนีเปิดที่ 1,446.25 จุด ลดลง 16.23 จุด มูลค่าการซื้อขาย 4,898.67 ล้านบาท โดย บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ กล่าวว่า หุ้นไทยวันนี้ คาด SET เคลื่อนไหวภายในกรอบ โดยกรอบบนยังถูกจำกัดบริเวณแนวต้าน 1,465-1,470 จุด โดยมีปัจจัยกดดันจากหุ้น DELTA ที่ติด Cash Balance ส่วนกรอบล่างมีแนวรับบริเวณ 1,445-1,450 จุด คาดยังรองรับได้ จากแรงหนุนกลุ่มพลังาน หลังราคาน้ำมันดิบเริ่มฟื้นตัว ทั้งนี้ ในภาพรวมมองดัชนียังมีสัญญาณที่ดี โดยหากทะลุ 1,470 จุด จะเป็นบวกต่อ และมีแนวต้านถัดไปที่ 1,480 จุด

นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย ) กล่าวว่า เดลต้าเป็นตัวที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยผันผวนในเชิงบวกและเชิงลบในช่วงนี้ มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดอยู่ในระดับ 2 ล้านล้านบาท มีอิทธิพลกับการเคลื่อนไหวของดัชนี 1 บาท เท่ากับ 1 จุด 1% เท่ากับ 2 จุด ฉะนั้น การเคลื่อนไหวของเดลต้าอาจจะทำให้ดัชนีผันผวน แต่ข้อดีคือจากมูลค่าหลักทรัพย์ 2 ล้านล้านบาทนั้น เงินที่ไหลออกจากเดลต้าจะต้องเข้าไปอยู่ในกลุ่มตลาดตัวอื่น ซึ่งจะได้เห็นว่ามีเม็ดเงินที่กระจายเข้ามาในหุ้นแอดวานซ์ กัลฟ์ อินทัช ซึ่งเป็นสามตัวที่นำตลาดในช่วงที่ผ่านมา ควบคู่กับเดลต้า.
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่