JJNY : 5in1 แอมเนสตี้จี้สอบคดี ลิม กิมยา│วิโรจน์อัดไอเดียจ่ายเงิน│ปธ.กมธ.มั่นคงอัดรัฐ│“ทนายแจม”จี้แก้ปัญหา│ศุภณัฐแนะกฟน.

แอมเนสตี้ จี้สอบสวนคดี ลิม กิมยา โปร่งใส วอนรับรองความปลอดภัย คนวิจารณ์รบ.กัมพูชา
https://www.matichon.co.th/politics/news_4992591
 
 
แอมเนสตี้ เรียกร้องสอบสวนคดีสังหาร ลิม กิมยา โปร่งใส-เป็นกลาง วอน รบ.ไทยรับรองความปลอดภัยผู้วิจารณ์ รบ.กัมพูชา
 
จากกรณี นายลิม กิมยา นักเคลื่อนไหวและอดีต ส.ส.ฝ่ายค้าน ชาวกัมพูชา ถูกคนร้ายยิงเสียชีวิตระหว่างเดินทางมาประเทศไทย กับภรรยาชาวฝรั่งเศส ที่บริเวณเกาะกลางถนน ตรงข้ามวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ พื้นที่ สน.ชนะสงคราม โดยพบว่าคนร้ายคือ นายเอกลักษณ์ แพน้อย หรือ จ่าเอ็ม ที่ถูกให้ออกจากราชการไปเมื่อปี 2566 ต่อมาเจ้าหน้าที่สามารถจับกุมจ่าเอ็มได้แล้วช่วงค่ำวันที่ 8 มกราคมที่ผ่านมา

เมื่อวันที่ 9 มกราคม เคท ชูเอตเซ รักษาการรองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยประจำภูมิภาคของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า การเสียชีวิตของนายลิม กิมยา ถือเป็นเหตุการณ์ที่น่าหวาดหวั่น โดยเฉพาะเมื่อมองในบริบทที่เขาเป็นนักการเมืองฝ่ายค้าน ซึ่งเคยวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลกัมพูชา
 
นี่เป็นการสังหารโดยมิชอบด้วยกฎหมาย แม้ว่ายังไม่มีความชัดเจนว่าการเสียชีวิตของนายลิม กิมยา เกี่ยวข้องกับเหตุผลทางการเมืองในกัมพูชาโดยตรงหรือไม่ แต่การสังหารนี้เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ที่ทางการกัมพูชายังคงมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง โดยใช้วิธีปิดกั้นและคุกคามเสียงของพรรคฝ่ายค้าน ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงในประเทศไทย” เคท ชูเอตเซระบุ
 
กรณีนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ขอให้ทางการไทยดำเนินการสืบสวนสอบสวนเหตุการณ์นี้อย่างเร่งด่วน โปร่งใส รอบด้าน และเป็นกลาง เพื่อเปิดเผยข้อเท็จจริง และนำตัวผู้กระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม โดยต้องไม่ใช้โทษประหารชีวิต
 
พร้อมย้ำให้รัฐบาลไทยเคารพพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ รวมถึงการรับรองความปลอดภัยของบุคคลทุกคนที่อยู่ในประเทศไทย โดยเฉพาะผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลกัมพูชา เหตุการณ์นี้สะท้อนความสำคัญของการปกป้องสิทธิมนุษยชนในระดับภูมิภาค และเน้นย้ำว่าความยุติธรรมและความโปร่งใสในกระบวนการยุติธรรมเป็นสิ่งจำเป็นในการสร้างความเชื่อมั่นในระบบกฎหมายและการคุ้มครองสิทธิของทุกคน


 
วิโรจน์ อัดไอเดีย จ่ายเงินเข้ากองทุน แลกไม่เกณฑ์ทหาร ชี้ไม่ควรทำ เอาคอร์รัปชั่นขึ้นมาบนดิน
https://www.matichon.co.th/politics/news_4991945
 
‘วิโรจน์’ มอง ไม่ถูกต้อง หลัง ผบ.นรด. ผุดไอเดียจ่ายเงินเข้ากองทุน แลกไม่เกณฑ์ทหาร แนะปรับทัศนคติ ให้ความมั่นใจเป็นทหารแล้วปลอดภัย ถูกทำร้ายจนเสียชีวิต
 
เมื่อวันที่ 9 มกราคม ที่รัฐสภา นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน กล่าวถึงกรณีที่ พล.ท.ทวีพูล ริมสาคร ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (ผบ.นรด.) มีแนวความคิดว่าหากใครที่ไม่ต้องการเป็นทหารเกณฑ์ ก็ให้จ่ายเงินเข้ากองทุนเพื่อนำไปสนับสนุนพลทหารแทนนั้น มองว่า เป็นแนวความคิดที่ไม่ถูกต้อง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การจ่ายเงินเพื่อไม่ต้องเกณฑ์ทหาร มีมาโดยตลอดในสังคมไทย ซึ่งถือเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าข่ายผิดกฎหมายและทุจริตคอร์รัปชั่น ดังนั้นการจะนำพฤติกรรมทุจริตคอร์รัปชั่นแบบนี้ขึ้นมาอยู่บนดินให้ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง จึงไม่ควรทำ

อีกทั้งมองว่า พล.ท.ทวีพูล ยังติดอยู่ในกรอบเดิมๆ คือต้องการให้มีตัวเลขกำลังพลจากการเกณฑ์ทหารอยู่ที่ปีละ 90,000 นาย ซึ่งเป็นความคิดที่ผิด ควรจะต้องมีการพิจารณาตามกรอบและบริบทของสังคมในขณะนั้นว่ามีความต้องการกำลังพลมากน้อยแค่ไหน อย่างเช่นก่อนหน้านี้ทีดีอาร์ไอ เคยมีความเห็นว่าควรลดปริมาณทหารเกณฑ์ลงอย่างน้อย 50% เพื่อให้เหมาะสมกับภารกิจและบริบทของสังคมรวมถึงงบประมาณที่มี
 
ขณะเดียวกันรัฐบาลควรแก้ไขปัญหา คนไม่อยากเป็นทหาร ด้วยการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้กับประชาชนว่า เข้าเป็นทหารแล้วจะถูกรังแก ทำร้าย จนถึงขั้นบาดเจ็บหรือเสียชีวิต อย่างที่เป็นข่าวมาก่อนหน้านี้ อีกทั้งต้องทำให้มั่นใจว่า หากมีผู้บังคับบัญชา หรือใครที่กระทำความผิด จะต้องได้รับการลงโทษ ตามกฎหมาย เพราะที่ผ่านมาคนทำผิดไม่เคยถูกลงโทษเลย



ปธ.กมธ.มั่นคง อัดรัฐ ไม่ชัดเจนสักเรื่อง หลังเรียกแจง ปม 4 ลูกเรือประมง-ว้าแดง ยันแก๊งคอล
https://www.matichon.co.th/politics/news_4992338

‘โรม’ เผยหลังเรียกหน่วยงานเข้าแจง ‘กมธ.ความมั่นคงฯ’ ปม ‘เรือประมงไทย-ว้าแดง-คอลเซ็นเตอร์’ มอง ไม่มีความชัดเจนสักเรื่อง จี้ ‘รัฐบาล’ เร่งวางมาตรการในอนาคต
 
เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2568 ที่รัฐสภา นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยผลการประชุมวาระพิจารณา กรณี 4 ลูกเรือประมงไทย, ว้าแดง และปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ อาชญากรรมข้ามชาติ และยาเสพติด ว่า กรณี 4 ลูกเรือประมงไทย ตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจน ว่าสุดท้ายแล้ว 4 ลูกเรือประมงไทยที่ถูกควบคุมตัว สุดท้ายจะได้กลับมาประเทศไทยเมื่อไหร่ เนื่องจากเราเองพยายามพูดคุยว่ารัฐบาลจะมีแนวทางเจรจาอย่างไร แต่ต้องยอมรับตรงๆ ว่าไม่มีข้อมูล หรือข้อเท็จจริงอะไรที่จะนำไปสู่การสร้างความสบายใจให้กับทุกฝ่ายได้

นายรังสิมันต์กล่าวต่อว่า ตนเข้าใจว่า บางคนมีคำถามถึงกรณีลูกเรือไทยที่ถูกตัดสิน โดยทางการเมียนมานั้น เราได้ให้ความช่วยเหลืออย่างไรบ้างในด้านกฎหมาย ซึ่งวันนี้ได้ข้อมูลเพิ่มเติมมาว่า ไม่มีการให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายใด ซึ่งเข้าใจว่าทางการไทยไม่ทราบมาก่อนว่าในวันที่มีคำพิพากษาจะเป็นวันดังกล่าว ทำให้ไม่มีการเตรียมความพร้อมอะไร
 
ส่วนเรื่องการประท้วง ที่เคยมีการให้ข้อมูลจาก นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมนั้น ก่อนหน้านี้เราให้ข้อมูลไปแล้วว่าไม่มีการประท้วงไป จึงได้ถามถึงแนวทางว่าสรุปแล้วจะมีหรือไม่มี เพราะสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ค่อนข้างชัดเจนว่ามีการกระทำที่ค่อนข้างรุนแรงอย่างมาก
 
นายรังสิมันต์ยกตัวอย่างจากการที่หน่วยงานมาให้ข้อมูลถึงแนวทางมาตรการในอนาคต จะต้องมีการป้องกันอย่างไร โดยเฉพาะ กรณีหากมีเรือประเทศอื่นที่เป็นเรือของพลเรือนล้ำมาเช่นเดียวกันกับกรณีข้างต้น มาตรการของทางการไทยคือ ไม่ยิงเรือพลเรือน แต่วิธีปฏิบัติจารีตระหว่างประเทศเช่นนี้ ทำให้กลายเป็นว่าประเทศอื่นยิงเรือพลเรือนของเราได้ ขณะที่เราไม่มีมาตรการเชิงลึก หรือกดดันใดในกรณีนี้เลย
 
นายรังสิมันต์จึงถามไปอีกว่า กระทรวงการต่างประเทศจะมีการประท้วงไปยังทางการเมียนมาหรือไม่ และได้รับคำตอบว่า ยังไม่มีแนวทาง ซึ่ง กมธ.ก็ได้ให้ข้อคิดเห็นว่า ควรมีมาตรการเชิงรุก และกระทรวงต่างประเทศควรประท้วงไป เพราะพฤติกรรมที่เกิดขึ้นมีความรุนแรง และมีข้อคิดเห็นอีกหลายอย่างว่า ประเทศไทยมีแต้มต่อ มีไพ่หลายอย่างที่จะนำมาใช้ในการต่อรองได้ก็ควรที่จะใช้ เพื่อให้ 4 คนนี้สามารถกลับสู่มาตุภูมิได้
 
นายรังสิมันต์ให้ความเห็นส่วนตัวว่า ต้องบอกว่ารัฐบาลไทยของเราเสียเหลี่ยมทางการเมืองในเรื่องนี้ การให้สัมภาษณ์จากกระทรวง และการส่งสัญญาณเป็นระยะ ว่าเรื่องนี้ควรจะใจเย็นนั้น เราต้องตั้งต้นว่า เราเป็นประเทศประชาธิปไตย สื่อมวลชนมีสิทธิทำข่าว ประชาชนมีสิทธิแสดงความคิดเห็น เรามีสิทธิที่จะเป็นทุกข์เป็นร้อนต่อพลเมืองของเรา การจะให้คนในประเทศห้ามพูด เพราะรัฐบาลเมียนมาต้องการเช่นนั้นเช่นนี้ไม่ได้ สิ่งสำคัญคือ รัฐบาลไทยมีหน้าที่ปกป้องพลเรือนของเรา และยังอยากได้คำตอบ เพราะวันนี้เข้าใจว่า หน่วยงานที่เขาชี้แจงไม่ได้รับอำนาจในการตอบอย่างตรงประเด็นนัก
 
ขณะที่ กรณีว้าแดง ก็ยังไม่มีคำตอบเช่นเดียวกันว่า สุดท้ายแล้วจะมีการถอนทัพออกจากประเทศไทยเมื่อไหร่ สิ่งที่เราเห็นและประชาชนกังวล คือเรื่องหมุดโกดังเก็บยาเสพติดในแผนที่ ซึ่งเราพยายามสอบถามว่า มีข้อเท็จจริงอย่างไร แต่หน่วยงานก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่ามีจริงหรือไม่
 
นายรังสิมันต์ชี้ว่า ปัญหานี้ยังมีประเด็นที่ต้องพิจารณามากขึ้นอีก เพราะบริเวณดังกล่าวเป็นบริเวณป่าต้นน้ำ ซึ่งมีความสำคัญ เนื่องจากแม่น้ำดังกล่าวจะไหลลงสู่แม่น้ำปาย ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวของประเทศไทย และยังได้รับรายงานอีกว่า ปกติเมื่อก่อนชาวบ้านสามารถข้ามแม่น้ำได้ แต่ปัจจุบันไม่สามารถทำได้ เนื่องจากทางว้าไม่อนุญาต หมายความว่าว้ากำลังมีปฏิบัติบางอย่างหรือไม่ จึงเป็นปัญหาความมั่นคงที่ยังตอบไม่ได้ ว่าสุดท้ายจะมีการดำเนินการอย่างไร ทั้งยังมีข้อสงสัยว่า แหล่งน้ำนี้อาจจะเป็นแหล่งน้ำในการผลิตยาเสพติดอีกด้วย
 
สำหรับปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ คำตอบที่ตนตอบได้คงจะเป็นลักษณะคล้ายเดิม คือไม่มีความชัดเจนว่า จะเอาอย่างไร ได้รับเพียงข้อมูลเพิ่มเติมว่ามี 40 แห่ง จากข้อมูลเดิม 35 แห่ง หมายความว่ามีเพิ่มมา 5 แห่ง หากรวมกันทั้งหมดรอบประเทศของเรา จะมีถึง 75 แห่ง คือ เมียนมา 40 แห่ง 
สปป.ลาว 5 แห่ง กัมพูชา 30 แห่ง ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มหาศาล ที่ยังไม่สามารถตอบได้ว่า จะมีแนวทางในการปราบปราม และแก้ปัญหานี้อย่างไร
 
ทั้งนี้ ผู้ที่มาตอบคำถาม โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง ในภาพรวมเราได้รับความร่วมมือจากหน่วยงาน หากให้ตนมองในฐานะหน่วยงาน เขาก็พยายามทำเต็มที่ แต่สิ่งที่ขาดหายไปคือระดับนโยบาย ว่าตกลงแล้ว รัฐบาลจะมีแนวนโยบายอย่างไร ย้ำว่า หัวต้องขยับก่อน หากรัฐบาลไม่มีนโยบายในเรื่องนี้ ก็จัดการไม่ได้ หากหัวไม่ขยับ ก็ไม่สามารถเดินหน้าต่อได้ ขณะที่กองทัพก็ย้ำว่า พร้อมปฏิบัติการ และควรทำภายใต้กรอบที่กระทรวงการต่างประเทศมี หากจะยกระดับการเจรจาต่อรอง ก็ต้องใช้กลไกที่มากกว่ากระทรวงการต่างประเทศ ดังนั้น รัฐบาลโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี ควรดำเนินการให้เกิดการบูรณาการ ซึ่งตนยังไม่เห็นในจุดนี้

ส่วนที่มีการเปรียบเทียบระหว่างกรณี 4 ลูกเรือประมงไทยกับนักแสดงชาวจีนจนมีข้อเสนอว่า ทางการไทยควรจะติดต่อไปยังศูนย์กลางอำนาจของเมียนมา แต่เราไม่รู้ว่า ความสัมพันธ์ของรัฐบาล และมิน อ่อง ลาย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา ดีเท่ายุคของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือไม่ นายรังสิมันต์กล่าวว่า ตอบไม่ได้ว่าดีหรือไม่ดี เชื่อว่าในทุกระดับของกองทัพน่าจะมีการติดต่ออยู่ น.ส.แพทองธารเคยพบมิน อ่อง ลายด้วย วันนี้เรารู้ว่ารัฐบาลเมียนมาต้องการเงิน เพื่อไปรบกับชมกลุ่มน้อย รัฐบาลไทยจึงอำนวยความสะดวก การขึ้นทะเบียนแรงงานจะต้องมีสถานเอกอัครราชทูตเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งขั้นตอนนี้จะสร้างรายได้ให้รัฐบาลทหารเมียนมากว่า 1 หมื่นล้านบาท กรณีนี้ชัดเจนว่ารัฐบาลไทยน่าจะมีสายสัมพันธ์ที่ดี เพราะอำนวยความสะดวกให้กับรัฐบาลเมียนมา เรามีกลไกหลายอย่างที่จะต่อรอง อยู่ที่ว่ารัฐบาลไทยจะทำหรือไม่

ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า คนมีสีในประเทศประเทศไทยได้ผลประโยชน์จากการส่งต่อนายซิงซิงไปให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ จึงอยากให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนปัจจุบัน ตรวจสอบองค์กรตัวเองให้เรียบร้อย ช่วยปัดกวาดให้เรียบร้อย ส่วนตัวเชื่อว่าคนมีสีเข้าไปเกี่ยวข้องแน่นอน

เมื่อถามว่า ประเด็นเกี่ยวกับคอลเซ็นเตอร์ จะมีในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลด้วยหรือไม่ นายรังสิมันต์ระบุว่า วิธีการของตนคือจะพยายามไม่พูดเยอะ  เพราะจะได้เห็นกัน แต่ทุกเรื่องสามารถอยู่ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ทั้งสิ้น เพราะไม่ได้ขึ้นอยู่แค่ฝ่ายค้านอย่างเดียว แต่อยู่ที่พฤติกรรมของรัฐบาล หากรัฐบาลมีแนวทางที่ชัดเจน สามารถสร้างความไว้วางใจได้ คงไม่เหมาะสมที่ฝ่ายค้านจะอภิปรายเรื่องนั้น
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่