JJNY : ปชน.จี้เร่งล่ามือยิงอดีตส.ส.ฝ่ายค้านกัมพูชา│ภัทรพงษ์อัดแก้ฝุ่นล่าช้า│เข้าสภาไม่ตรวจอาวุธ│จี้ยกเลิกรับซื้อไฟฟ้า

ปชน. จี้ รัฐบาลเร่งล่ามือยิง อดีตส.ส.ฝ่ายค้านกัมพูชา ลบครหาไทยเป็นทางผ่านอาชญากร
https://www.matichon.co.th/politics/news_4989202
 
 
‘ปิยรัฐ’ จี้ รัฐบาลเร่งล่า มือยิง ‘อดีตส.ส.ฝ่ายค้านกัมพูชา’ กลางกรุงฯ ชี้ นานาชาติจับตาเรื่องนี้อยู่ ควรลบข้อครหาประเทศไทยเป็นทางผ่านอาชญากร
 
เมื่อวันที่ 8 มกราคม เวลา 09.30 น. นายปิยรัฐ จงเทพ ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคประชาชน ได้แถลงถึงกรณีที่หลายสำนักข่าวรายงานตรงกันว่าเมื่อช่วงเย็นวานนี้ (7 ม.ค.) เวลาประมาณ 18.00 น. นายลิม กิมยา (LIM Kim Ya) อดีต ส.ส.ฝ่ายค้านจากพรรคสงเคราะห์ชาติ กัมพูชา (Cambodia National Rescue Party หรือ CNRP) และเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมือง วัย 74 ปี ถูกยิงด้วยอาวุธปืน ได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ บริเวณเกาะกลางถนน ตรงข้ามวัดบวรนิเวศวิหาร เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

หลัง นายลิม กิมยา พร้อมภรรยาและผู้ติดตามได้เดินทางเข้ามายังประเทศไทยในฐานะนักท่องเที่ยวโดยปัจจุบันเขามีสัญชาติฝรั่งเศส เชื้อชาติกัมพูชา และยังคงมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยมีจุดยืนอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลโดยเฉพาะกับ สมเด็จฯ ฮุนเซน อดีตนายกรัฐมนตรีของราชอาณาจักรกัมพูชามาโดยตลอด
 
ดังจะเห็นว่าศาลกัมพูชาเคยมีคำสั่งตัดสินยุบพรรค NRP ของเขาในวันที่ 16 พ.ย.2560 จากข้อกล่าวหาว่ามีการวางแผนสมคบคิดกับต่างชาติในการโค่นล้มรัฐบาลของ สมเด็จฯ ฮุน เซน คำตัดสินของศาลมีผลให้สมาชิกพรรค CNRP ทั้งหมด 118 คนถูกห้ามยุ่งเกี่ยวกับการเมืองนาน 5 ปี และส่งผลให้การเลือกตั้งทั่วไปในปี 2561 พรรครัฐบาลที่นำโดยสมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาในขณะนั้น ลงเลือกตั้งโดยไร้คู่แข่งหลัก
 
ตนจึงอยากขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทย ในฐานะสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของ UN ต้องเร่งกอบกู้ความเชื่อมั่นด้านความมั่นคง ปลอดภัยและความยุติธรรมกลับมาสู่สายตา กลับมาสู่ความรู้สึกของคนไทยและชาวโลกโดยเร็วที่สุด อย่าให้สังคมโลกจะมองประเทศไทยของเราเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน ว่าเป็นศูนย์กลางของเหล่าแก๊งอาชญากร ใครจะอุ้มฆ่า ใครจะลอบสังหาร ใครจะลักพาตัวหลอกล่อไปเพื่อการค้ามนุษย์หรือใครจะส่งยาเสพติดไปที่ไหนๆ ต้องผ่านประเทศไทยก่อน ตนก็ไม่อยากให้เกิดขึ้น รัฐบาลควรเร่งเอาจริงเอาจังกับการปราบปรามขบวนการอาชญากรเหล่านี้ให้สิ้นชาก และติดตามจับกุมคนร้ายมาลงโทษโดยเร็วที่สุด
 
เมื่อถามว่า คิดว่ามีมูลเหตุจากความขัดแย้งทางการเมืองหรือไม่ นายปิยรัฐกล่าวว่า ก็เป็นเรื่องที่หลายฝ่ายตั้งคำถาม แต่เราเองก็ไม่กล้าฟันธงไปเช่นนั้น เนื่องจากเขาเองก็เคยถูกข่มขู่จากฝั่งรัฐบาลของประเทศของเขา ทั้งนี้ทั้งนั้น เราคงไม่เข้าไปยุ่งกับกระบวนการยุติธรรมที่กำลังสืบสวนอยู่ แต่การเร่งจับกุมและได้มาซึ่งผู้ต้องหา จะเป็นการดีที่สุดที่จะนำมาสู่การสอบสวนในอนาคต ก็หวังว่าเรื่องนี้จะเป็นเพียงการก่อเหตุที่ไม่เกี่ยวข้องกับการจงใจเข้ามาสังหารในประเทศไทย
 
เมื่อถามว่า จากกรณีที่มีผู้เชื่อมโยงว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นในรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ซึ่งมีบิดาเป็นนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมีความสัมพันธ์อันดีกับสมเด็จฯ ฮุน เซน จะกระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือไม่ นายปิยรัฐกล่าวว่า รัฐบาลควรตอบคำถามเรื่องนี้ให้ชัด และรัฐบาลคงไม่ทำให้เป็นไฟลามทุ่ง เป็นน้ำผึ้งหยดเดียว ตนเชื่อว่า เรื่องนี้ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลพรรคใดก็แล้วแต่ ไม่ควรจะทำให้เป็นเรื่องปกติ ก็เชื่อได้ว่ารัฐบาลไทยจะพิสูจน์ข้อครหานี้ได้ หากมีการจับกุมได้เร็วที่สุด ก็จะคลายข้อสงสัยนี้ไปได้
 
เมื่อถามว่า เหตุที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบอย่างไรกับประเทศไทยนั้น นายปิยรัฐกล่าวว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องเฉพาะกัมพูชา แต่จะเกี่ยวข้องกับฝรั่งเศสด้วย เพราะนายลิม ถือสัญชาติฝรั่งเศสด้วย และเชื่อว่า ทั้งยุโรป และสหประชาชาติ จะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพราะทั่วโลกจับตาอยู่แล้วว่า พรรคฝ่ายค้านของกัมพูชา กำลังถูกเล่นงานจากรัฐบาลกัมพูชา จึงถือเป็นเรื่องท้าทายของรัฐบาลไทย
 
ด้าน นายจุลพงศ์ อยู่เกษ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวถึงบทบาทของนายลิม หากเทียบกับประเทศไทย ก็จะเทียบได้กับนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี และหวังว่า ต่างชาติจะไม่มองประเทศไทย เป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน แต่เรื่องดังกล่าวถือเป็นเรื่องไม่ปกติ เพราะการสังหารในย่านบางลำภู กรุงเทพฯ เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น และหวังว่า รัฐบาลจะเร่งจัดการในเรื่องนี้
 

 
ภัทรพงษ์ อัดรบ.แก้ปัญหาฝุ่นล่าช้า บอกเตรียมการตั้งแต่ปีก่อน จริงๆ มีแค่หนังสือขอความร่วมมือ
https://www.matichon.co.th/politics/news_4989200

‘ภัทรพงษ์’ ติงมาตรการรัฐล่าช้า ไม่ทันการณ์ แก้ปัญหาฝุ่น นายกฯอ้างเตรียมการตั้งแต่ปีก่อน ความจริงมีแค่หนังสือขอความร่วมมือ พร้อมย้ำข้อเสนอควรเร่งดำเนินการ อย่าปล่อยความไม่เข้าใจของรัฐบาลทำลายปอดประชาชน
 
เมื่อวันที่ 8 มกราคม นายภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคประชาชน กล่าวว่า ฝุ่นพิษอ่วม การเผาภาคการเกษตรพุ่ง มาตรการรองรับจากภาครัฐล่าช้า ทั้งที่ตัวเลขพื้นที่เผาไหม้ภาคเกษตรในปี 2567 เพิ่มขึ้นจากปี 2566 กว่า 6.8 ล้านไร่ ข้อมูล ข้อเสนอแนะฝ่ายค้านอภิปรายให้รัฐบาลทราบและมีเวลาเตรียมรับมือแต่เนิ่นๆ แต่รัฐบาลกลับไม่ดำเนินการ อ้างว่าเตรียมแผนการตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่เห็นเพียงแค่หนังสือขอความร่วมมือ รัฐบาลจะรับผิดชอบต่อผลกระทบจากฝุ่นพิษครั้งนี้อย่างไร

นายภัทรพงษ์กล่าวว่า จากค่า PM2.5 ที่สูงในเกณฑ์อันตรายต่อสุขภาพอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ภาคกลาง สอดคล้องกับพื้นที่เผาไหม้ที่หนาแน่นในโซนภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคอีสาน ซึ่งหากนับตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2567 ที่ผ่านมา ถึงวันที่​ 6 ม.ค.2568 มีการตรวจพบจุดความร้อนกว่า 8,000 จุดทั่วประเทศ โดยพบเป็นพื้นที่เกษตรกว่า 85%
 
การเผาไหม้ภาคการเกษตรเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ถูกรัฐบาลพรรคเพื่อไทยมองข้ามมาโดยตลอด เห็นได้อย่างชัดเจนจากที่พรรคเพื่อไทยได้อ้างไว้ในวันที่ 11 ก.ย.2567 ว่า ‘แก้ต้นตอ PM2.5 ภายในประเทศ ลดการเผาได้อย่างชัดเจน’ ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วตัวเลขพื้นที่เผาไหม้ของปี 2567 ภายใต้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยนั้นมีตัวเลขสูงถึง 19.5 ล้านไร่ มากกว่าปี 2566 ที่มีพื้นที่เผาไหม้อยู่ที่ 11.3 ล้านไร่ อยู่กว่า 8.2 ล้านไร่ พื้นที่เผาไหม้ที่เพิ่มขึ้นขนาดนี้ แต่ยังกล่าวอ้างว่าลดการเผาได้อย่างชัดเจน อดสงสัยไม่ได้ว่าไม่มีความรู้กันจริงๆ หรือตั้งใจบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อให้ได้มาซึ่งผลงานที่ไม่มีอยู่จริงกันแน่” นายภัทรพงษ์กล่าว
 
นายภัทรพงษ์กล่าวด้วยว่า จากการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวานนี้ (7 ม.ค.) นายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่า รัฐบาลได้เตรียมมาตรการตั้งแต่ปีที่แล้ว ยิ่งทำให้ตนกังวลใจมากขึ้น เพราะกับตัวเลขค่าฝุ่นพิษที่เรากำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะฝุ่นพิษที่มาจากการเผาภาคการเกษตรแสดงให้เห็นว่ามาตรการที่นายกรัฐมนตรีพูดถึงแทบไม่เกิดผลใดๆ เลย และจากสิ่งที่ได้เสนอแนะให้รัฐบาลอย่างชัดเจนไปแล้ว เริ่มตั้งแต่เรื่องง่ายๆ ในเรื่องการบูรณาการฐานข้อมูลร่วมกันของทุกหน่วยงานเพื่อให้เราสามารถตรวจสอบย้อนกลับ และวางแผนในการจัดการกับการเผาได้แม่นยำมากขึ้น มาตรการการสนับสนุนเกษตรกรที่ไม่เผาทั้งกับนาข้าว อ้อย และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รวมไปถึงมาตรการการห้ามนำเข้าสินค้าเกษตรที่มาจากการเผา ซึ่งในวันนี้นายกรัฐมนตรีก็ได้มีการสั่งการ แต่ก็ไม่เห็นความคืบหน้า หรือความชัดเจนในการออกประกาศกฎหมาย หรือระเบียบใดๆ ที่เกี่ยวข้องเลย
 
นายภัทรพงษ์กล่าวว่า ข้อเสนอแนะให้บูรณาการข้อมูลของทุกหน่วยงานร่วมกันที่เคยนำมายกเป็นตัวอย่างให้กับรัฐบาลอย่างชัดเจนก็ยังถูกเพิกเฉย ปัจจุบันข้อมูลของรัฐบาลยังคงขาดการบูรณาการ ทั้งๆ ที่เรามีข้อมูลพื้นที่เพาะปลูกเกษตรกรรม หรือ AGRI-MAP ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ข้อมูลพื้นที่เพาะปลูกอ้อยของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย และข้อมูลพื้นที่เผาไหม้ Burnscar ของ GISTDA ที่สามารถนำมารวมกันแล้วนำเสนอต่อประชาชนให้ทราบได้โดยทั่วกันว่าพื้นที่เผาไหม้ในแต่ละวันเกิดขึ้นจากพื้นที่อะไร ปริมาณกี่ไร่ และรัฐบาลมีมาตรการกับพื้นที่เหล่านั้นอย่างไรบ้าง
 
อีกประเด็นที่มาตรการของรัฐบาลไม่เกิดผลสัมฤทธิ์เลยคือการเผานาข้าว หากเราตรวจสอบภาพถ่ายทางดาวเทียมจะพบว่าพื้นที่เผาไหม้ส่วนใหญ่ ณ ตอนนี้คือนาข้าว จนถึงวันนี้เราก็ยังไม่มีมาตรการสนับสนุนการทำนาข้าวแบบไม่เผา หรือส่งเสริมเกษตรกรชาวนาที่ใส่ใจต่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม แม้กระทั่งโครงการอุดหนุนชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ยังไม่มีเงื่อนไขด้านการเผาด้วยซ้ำไป สิ่งที่ทำได้กลับไม่ทำ ในเรื่องของการเผาไหม้ในพื้นที่นาข้าว รัฐบาลเพิกเฉยในการแก้ปัญหาอย่างชัดเจน” นายภัทรพงษ์กล่าว
 
นายภัทรพงษ์กล่าวด้วยว่า รองจากนาข้าวก็คือไร่อ้อยกับการเผาอ้อย หรืออ้อยไฟไหม้ในปีนี้ที่ไร้มาตรการชัดเจนจากรัฐบาลอีกเช่นเคย เปิดหีบมาได้เพียงหนึ่งเดือน ปริมาณอ้อยไฟไหม้เข้าหีบไปแล้วเกือบ 4 ล้านตัน เทียบเป็นพื้นที่เผาไหม้กว่า 400,000 ไร่ แม้ว่าเราจะเห็นทางสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ออกมาแอ็กชันมากขึ้น มีการส่งหนังสือขอความร่วมมือให้โรงงานไม่รับอ้อยไฟไหม้ในช่วงปีใหม่ แต่ก็ทำอย่างกระชั้นชิดจนเกินไป เพราะถ้าต้องตัดอ้อยสด เกษตรกรต้องหาแรงงานไว้ล่วงหน้า ความล่าช้าของรัฐบาลทำให้การเตรียมการไม่ทัน ผลสัมฤทธิ์จึงไม่เป็นไปตามเป้าหมาย และมีการประกาศรายชื่อโรงงานที่ไม่ให้ความร่วมมือ อันนี้เป็นเรื่องที่ดีครับ สอดคล้องกับบทลงโทษที่ทางพรรคประชาชนได้เขียนไว้ในร่างพ.ร.บ.ฝุ่นพิษและการก่อมลพิษข้ามพรมแดน (อากาศสะอาด) ที่กำหนดให้รัฐต้องประกาศรายชื่อผลิตภัณฑ์และผู้ประกอบการที่ก่อให้เกิดฝุ่นพิษ
 
นายภัทรพงษ์กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลยังขาดคือมาตรการสนับสนุนชาวสวนที่ตัดอ้อยสด และมาตรการการปรับโรงงานที่รับอ้อยเผา ในส่วนของมาตรการสนับสนุน ทราบรายละเอียดจากทาง สอน.แล้วว่าฤดู 67/68 นี้จะปรับจากการสนับสนุน 120 บาทต่อตัน เป็น 69+51 บาทต่อตัน โดยแบ่งเป็น 69 บาทต่อตันอุดหนุนให้กับชาวสวนที่ตัดอ้อยสดทันที และ 51 บาทต่อไร่ใช้อุดหนุนในส่วนของใบอ้อยเพื่อป้องกันการตัดอ้อยสดแต่ไปแอบเผาใบอ้อยในภายหลัง โดยแบ่งเป็นก้อน 51 บาทนี้เป็น 3 ส่วน 1ส่วนให้กับโรงงานไฟฟ้าชีวมวลที่รับใบอ้อยเข้าเป็นเชื้อเพลิงและอีกสองส่วนให้กับเกษตกรชาวสวนตัดอ้อยสดที่ไม่เผาใบอ้อยในภายหลัง ฟังดูเป็นมาตรการที่ดีใช่ไหมครับ แต่ เรามี “แต่” ตัวโตๆ
 
แต่ที่ 1 อ้อยเปิดหีบมากว่าหนึ่งเดือนแล้ว มาตรการสนับสนุนนี้ ยังไม่ผ่านมติครม.หรือแม้กระทั่งถูกบรรจุเข้าที่ประชุมครม.เลย (ฤดูเก็บเกี่ยวอ้อย 66/67 ผ่านมติครมตั้งแต่ช่วงต้นเดือนธ.ค.66)
 
แต่ที่ 2 ยังคงมีชาวสวนตัดอ้อยสดที่ยังไม่ได้รับเงินสนับสนุนชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดของปี 65/66 และปี 66/67 อยู่อีกจำนวนหนึ่งเลย ผมก็ชักไม่แน่ใจครับว่าสาเหตุที่ล่าช้ามาจากการตัดงบในการใช้หนี้ธ.ก.ส. 31,000 ล้านบาทมาทำ digital wallet หรือไม่ เพราะใน 31,000 ล้านบาทมีโครงการชำระต้นทุนสนับสนุนตัดอ้อยสด ลด PM2.5 กว่า 800 ล้านบาทเลยทีเดียว
 
แต่ที่ 3 มาตรการปรับอ้อยไฟไหม้ ที่จะปรับอ้อยไฟไหม้ตันละ 130 บาท หากมีอ้อยไฟไหม้มากกว่า 25% ที่ปัจจุบันระเบียบนี้ก็ยังไม่ประกาศใช้เลย เพิ่งจะปิดรับฟังความคิดเห็นร่างระเบียบนี้ไปเมื่อ 13 ธ.ค. 67 ที่ผ่านมานี้เอง แล้วเราไม่สามารถปรับย้อนหลังได้นะครับ เพราะระเบียบนี้จะมีผลบังคับใช้หนึ่งวันหลังจากที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่