เรื่องของสังฆทานที่มีผลมาก และเรื่องของผ้าเช็ดธุลี

คำว่า "สังฆทาน"  มาจากคำสองคำรวมกันคือ  "สังฆะ" (หมายถึงหมู่ คือหมู่ของพระอริยบุคคล ๔ จำพวก, และยังหมายถึงหมู่ของภิกษุที่ได้รับการอุปสมบทอย่างถูกต้องตามพระวินัยด้วย) +  "ทาน" (เจตนาเป็นเครื่องสละหรือบริจาค และยังหมายถึงไทยธรรม คือวัตถุที่จะพึงถวายด้วย)

ดังนั้น สังฆทานจึงเป็นการถวายไทยธรรมมุ่งตรงต่อสงฆ์ (มุ่งตรงต่อพระอริยสงฆ์) โดยไม่มีการเจาะจง ซึ่งควรที่จะได้ทราบการจำแนกทานในพระศาสนานี้ โดยประเภทใหญ่ๆ มี ๒ ประเภท คือ 

ประเภทที่หนึ่ง:  การให้เจาะจงบุคคล (ปาฏิปุคคลิกทาน) ๑ การให้ไม่เจาะจงบุคคล ให้แก่คณะสงฆ์ (สังฆทาน)
การให้ทานแบบเลือกบุคคลผู้รับทาน ไม่ใช่สังฆทาน

ประเภทที่สอง: การให้โดยไม่เลือกหรือไม่เจาะจงผู้รับ ให้ทั้งคณะ แม้ว่าจะมีตัวแทนของคณะมาเพียงรูปเดียว ก็เป็นสังฆทาน

เพราะฉะนั้นแล้ว สังฆทาน จึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนของพระภิกษุ เพราะสังฆทาน เป็นการให้ทานมุ่งตรงต่อพระอริยสงฆ์ ซึ่งแสดงถึงจิตใจที่ประกอบด้วยความนอบน้อมเคารพยำเกรงต่อสงฆ์เป็นอย่างยิ่ง จะมีพระภิกษุผู้รับกี่รูปก็ตาม ในสมัยนี้ ก็สามารถที่จะทำสังฆทานได้ ถ้ามีความเข้าใจอย่างถูกต้อง

ฟังคลิปเสียง >>> https://www.dhammahome.com/cd/topic/14/4

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

อ. สุจินต์ : เพราะฉะนั้นถ้าจิตผ่องใส ปราศจากอกุศล มีผลมาก มีผลมากตั้งแต่เริ่มให้ เพราะว่าเป็นจิตผ่องใส และก็เมื่อจิตที่ผ่องใสเป็นเหตุ ผลที่จะได้รับก็ต้องเป็นผลที่ดีกว่า แต่ว่าไม่ใช่ไปติดอยู่ที่ผล เพราะว่าบางคนพอทราบว่าจะมีผลมากอย่างนั้นๆ ก็พยายามที่จะให้เป็นอย่างนั้นๆ แต่ก็ทำไม่ได้

อย่างในเรื่องของสังฆทาน ที่จะได้ยินได้ฟังบ่อยๆ ว่า สังฆทานมีผลมาก คนก็เลยอยากได้ผลของสังฆทาน เลยทำสังฆทาน อย่างนั้นจะมีผลไหม จะมีผลมากไหม เพราะว่าอยากได้ผล โดยที่ไม่เข้าใจเลยว่า สังฆทาน หมายความถึงการถวายแด่ภิกษุ ซึ่งเรามีความนอบน้อมต่อท่าน เหมือนกับท่านเป็นพระอริยสงฆ์ เพราะฉะนั้นจิตใจของคนที่จะถวายสังฆทานต้องเป็นผู้ที่มีปกติมีจิตใจนอบน้อมต่อสงฆ์ เพราะเห็นว่าท่านเป็นผู้ที่ได้บวช แล้วก็พยายามประพฤติปฏิบัติตามพระวินัย ท่านจะประพฤติได้หรือไม่ได้นั้นเป็นเรื่องส่วนตัวของท่าน แต่ว่าโดยฐานะที่ท่านได้สืบทอดพระพุทธศาสนา หลังจากที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงวางพระวินัยบัญญัติไว้ เพราะฉะนั้นเราก็มีความนอบน้อมต่อท่านเสมอกับท่านเป็นพระอริยบุคคล ขณะนั้นจิตใจของเราจะบริสุทธิ์ผ่องใส ไม่อย่างนั้นเราก็จะดูว่าพระรูปนี้ก็แปลกๆ ทำอะไรก็ไม่ทราบ ใจของเราก็เลยที่จะมีศรัทธาก็เลยไม่มีศรัทธา แต่พระก็คือผู้ที่บวชในพระศาสนา ท่านจะดีจะชั่วเป็นเรื่องของบุคคล ท่านไม่สามารถจะทำให้ศรัทธาของเราด้อยลง เพราะเหตุว่าเรามีความมั่นคงต่อพระศาสนา

เพราะฉะนั้นเรามีความนอบน้อมแต่พระภิกษุเสมอกับท่านเป็นพระอริยบุคคล จิตของเราไม่หวั่นไหวเลย เพราะฉะนั้นเราก็ไม่ได้ไปทำเพราะเราหวังผลมาก แต่เราทำด้วยความนอบน้อม แต่ตรงกันข้ามคนที่ไม่มีความเข้าใจ อยากจะได้ผลของสังฆทาน เลยทำสังฆทานโดยที่ไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้นจิตใจของเขามุ่งหวังแต่ผล ขณะนั้นก็เป็นโลภะ ผลก็ต้องน้อย เพราะว่าเป็นอกุศลไม่ใช่กุศล

ผู้ฟัง : เมื่อตอนต้นอาจารย์พูดถึงผ้าเช็ดธุลี เข้าใจว่าอาจจะยังมีบางท่านที่ยังไม่เข้าใจคำนี้

อ. สุจินต์ : ถ้าใช้คำว่า ผ้าขี้ริ้ว เข้าใจไหม

ผู้ฟัง : อยากจะขอความกรุณาอาจารย์ช่วยเล่าว่า ทำไมถึงได้เกิดมีการให้ประพฤติตนดุจผ้าเช็ดธุลี แล้วได้ผลประโยชน์อย่างไร และอีกเรื่องหนึ่งก็คือว่ามองไปในลักษณะที่ว่า ถ้าจะเป็นผ้าเช็ดธุลี เท่าที่เคยได้รับคำสั่งสอนมาว่าเราคงจะต้องลดมานะแล้วทำให้นึกถึงคำว่ามานะด้วยก็เลยอยากจะขอความกรุณาอาจารย์ช่วยกรุณาชี้แจงเรื่องคำว่า มานะ ด้วย

อ. สุจินต์ : เป็นเรื่องของภาษาไทยกับภาษาบาลีที่ปนกันมาตลอด แล้วเราก็ใช้ในความหมายของภาษาไทยว่า มานะ คงจะหมายความถึงสิ่งที่ดี เป็นความอดทน เป็นวิริยะเป็นอะไรก็ตาม ซึ่งเราคิดว่าควรจะมี แต่ว่าในภาษาบาลี ลักษณะของมานะเป็นสภาพธรรมที่ทะนงตน สำคัญตน หรือเราจะใช้คำว่า หยิ่ง เย่อหยิ่ง ลำพองก็ได้ มานะนี่ละเอียดมาก ผู้ที่จะดับหรือละมานะได้เป็นพระอรหันต์ ถ้าเป็นเพียงพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ยังละมานะไม่ได้ เพราะฉะนั้นแสดงให้เห็นว่า มานะต้องละเอียดมากจริงๆ และเราก็เห็นแต่เฉพาะมานะใหญ่ๆ หมายความว่า คนนั้นเป็นคนหยิ่ง เป็นคนทะนงตน หรือเวลาที่เราเกิดมีความรู้สึกสำคัญตัวขึ้นมา ขณะนั้นเราไม่เคยรู้จักหน้าตาของสภาพธรรมนี้เลยว่า นี่แหละมานะ ที่ชื่อว่ามานะ นี่แหละตัวนี้ล่ะ แต่ว่าก็คงจะเกิดกับหลายเหตุการณ์ ถ้าสมมติว่า เราไปที่แห่งหนึ่ง แล้วก็ไม่มีใครต้อนรับเราเลย ทั้งๆ ที่เขาก็น่าจะต้อนรับเรา ไม่เอาใจใส่เราเลย อาจจะนั่งคอยอาหารอยู่ตั้งนาน โต๊ะอื่นเขาก็ได้รับประทานหมดแล้ว หรืออะไรอย่างนี้ เราจะมีความรู้สึกว่า เขาไม่เห็นว่าเราเป็นคนสำคัญเลยหรือยังไง บางคนก็อาจจะคิดอย่างนั้นใช่ไหม แล้วก็มีกิริยาอาการซึ่งผิดปกติขึ้นมาเลย หมายความว่าไม่มีความที่มั่นคงที่จะเป็นผ้าเช็ดธุลี แต่ว่าเกิดมีความรู้สึกไม่สบายใจอึดอัด และมีกิริยาอาการของมานะแสดงออกมา นี้ก็จะได้เห็นว่า ก่อนนี้เราไม่เคยสังเกตตัวนี้เลย แต่เวลานี้ให้ทราบว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งทำให้เราลำบากใจ สำคัญตนแล้วก็เดือดร้อน เวลาที่มีมานะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นอันนี้ก็เป็นศัพท์ภาษาธรรม ซึ่งต่างกับในภาษาไทย และสำหรับเรื่องผ้าเช็ดธุลีหรือผ้าขี้ริ้ว ก็เป็นผ้าที่ไม่มีราคา หมายความว่าคนอื่นจะเหยียบย่ำยังไงก็ได้ เมื่อเราไม่มีความสำคัญตน แต่ถ้าเรามีความสำคัญตนแล้ว สำคัญไปหมดเลยทุกอย่าง ชื่อเรียกไม่ถูกก็ไม่ได้ ต้องเรียกให้ถูก

มีคนหนึ่งที่ เขาบริจาคเงิน แล้วก็บังเอิญผู้ประกาศ ก็ประกาศไม่ถูก ตั้งแต่นั้นมาเขาไม่บริจาคอีกเลย เพราะเขาบอกว่า ประกาศชื่อเขาไม่ถูก แสดงให้เห็นว่า แม้แต่เพียงชื่อ ก็มีความสำคัญถึงขนาดนั้น นี้แสดงให้เห็นว่าเราติดอะไรบ้าง ติดเสียง แล้วก็ติดชื่อ แล้วก็คิดว่าเป็นชื่อนั้นมีความสำคัญมากมาย แต่ความจริงเป็นแต่เพียงชื่อ ความสำคัญควรจะเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต ถ้าเป็นอกุศลจิตแล้วไม่ดี ไม่ว่าจะอยู่กับใคร จะเป็นท่านผู้หญิง หรือว่าจะเป็นเจ้าคุณ หรือจะเป็นใครก็ตาม อกุศลก็คืออกุศล ถ้าเป็นกุศลไม่ว่าจะเกิดกับเด็กเล็ก ผู้ใหญ่ยังไง สภาพที่ดีงามก็ยังคงเป็นสภาพที่ดีงาม ซึ่งทุกคนก็ต้องชอบชื่นชมในสภาพที่ดีงามนั้น

เพราะฉะนั้น ลักษณะของผ้าเช็ดธุลีนั่นหมายความว่า ในความรู้สึกของเราเอง เราไม่ได้เป็นคนสำคัญอะไร ดีกว่าที่เราจะคิดว่าเราเป็นคนสำคัญไหม คือขอให้เปรียบเทียบเริ่มที่จะพิจารณาว่าอะไรดี ถ้าเรามีความสำคัญในตัว ซึ่งมันไม่มีอะไร ท่านอุปมาเหมือนกับลูกโป่ง ลอยขึ้นไปได้สูงมากเลย ยิ่งจะใส่อะไรอัดเข้าไป ก็ยิ่งลอยขึ้นไปได้มาก ข้างในไม่มีอะไรเลย เพราะฉะนั้นนี่คือความมานะ ความสำคัญตน ให้เราเป็นอะไรก็ได้ เรียกชื่ออะไรก็ได้ เราก็พลอยลอยขึ้นไปตามชื่อซึ่งตั้งตามคำที่เรียก แต่ไม่มีอะไรเลย ขันธ์ทุกขันธ์เกิดแล้วก็ดับไป เราเมื่อกี้นี้อยู่ที่ไหน เมื่อกี้นี้ เดี๋ยวนี้อยู่ตรงนี้ใช่ไหม เมื่อกี้นี้อยู่ที่ไหนตัวเราที่เราคิดว่าเรานั่งอยู่ตรงนี้ เมื่อกี้นี้ไม่มีแล้ว มีตัวนี้ มีรูปนี้ มีนามนี้ ซึ่งเกิดดับเร็วมากทุกขณะ เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้ว ก็เป็นแต่เพียงชื่อที่เรียกให้เข้าใจกัน เพราะฉะนั้นจะเรียกว่าอะไรก็ไม่สำคัญ ถ้าเราหมดความสำคัญในตัวเราที่จะทำให้เป็นคนทะนงตน เราจะมีความสบาย ใครจะเรียกเราอย่างนั้นก็ได้ ไม่เรียกเราอย่างนั้น เราก็เป็นตัวเรา ไม่เห็นจะเดือดร้อน เรียกผิดก็ผิด เรียกถูกก็ถูก ทำไมจะต้องมีความสำคัญถึงขนาดนั้น

เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผ้าเช็ดธุลีก็คือว่า ในความรู้สึกของเรา ไม่ได้มีความสำคัญในตน หรือว่าความทะนงตนว่า เราต้องเป็นอย่างนั้น เราต้องเป็นอย่างนี้ เพราะจริงๆ แล้วคือสภาพธรรมซึ่งเกิดแล้วก็ดับไป ไม่มีใครเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง เมื่อกี้นี้ทุกคนได้ยินเสียง ขณะนี้ก็กำลังได้ยินทีละคำผ่านไปๆ เสียงไม่ใช่สิ่งที่ใครจะเก็บห่อเอาไว้เป็นของเรา หรือได้ยินเมื่อกี้นี้ ก็หมดไปจริงๆ เราอยู่ที่ไหน ถ้ามีความรู้สึกสุขซักนิดนึง ก็หมดไปอีกแล้ว ถ้าอาหารนี่จะอร่อยมาก ประเดี๋ยวเดียวก็หมดแล้ว ไม่มีอะไรซึ่งจะคงอยู่ได้แน่นอนเลย เพราะฉะนั้นของเราจริงๆ ให้ดูมาว่าตั้งแต่เกิด มีอะไรเป็นของเราจริงๆ บ้าง

ความสนุกสนานตั้งแต่เด็กสนุกมาก ผ่านไปหมด เหลือแต่ความจำ ซึ่งความจำ ถ้าไม่คิดถึงก็ไม่มีเรื่องนั้น ก็ไม่มีเลยในความจำของเรา ทุกวันก็ผ่านไปๆ หมดไป เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะสุขจะทุกข์ ก็เพียงชั่วขณะที่เกิด แล้วก็หมด เพราะฉะนั้นถ้าเห็นความจริงอย่างนี้จริงๆ แล้ว เราจะมีความสำคัญในขันธ์ไหน ในรูปขันธ์ เกิดแล้วก็ดับไป ในเวทนาขันธ์ ความรู้สึกเกิดแล้วก็ดับไป ในสัญญาความจำ ถ้าเราไม่จำเรื่องนั้นเรื่องนี้ เราก็ไม่คิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ เรื่องนั้นเรื่องนี้เขาหมดไป ตอนที่เรื่องนั้นเกิดขึ้นแล้วก็รู้สึกว่าสำคัญเหลือเกิน แต่พอไม่นึกถึง หายไปได้ยังไงเรื่องที่ว่าสำคัญ ไม่เห็นจะเดือดร้อนอีกต่อไป เพียงไม่คิดถึงเท่านั้น ก็หมดความสำคัญไปแล้ว

เพราะฉะนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างก็เป็นเพียงชั่วขณะจิต ที่เรามีชีวิตอยู่ในโลกทีละขณะๆ และตราบใดที่ยังอยู่ เราก็ไปยึดถือว่าเป็นเรา เป็นใครก็ตามแต่ จากโลกนี้ไปแล้วก็จะเป็นคนนั้นอีกต่อไปไม่ได้ จะต้องเกิดใหม่แล้วก็เป็นคนใหม่ทันที เพราะฉะนั้นความเป็นผ้าเช็ดธุลีก็คือว่า ไม่เดือดร้อน แล้วก็ไม่มีความสำคัญที่จะไปคิดเบียดเบียน หรือว่าจะไปโกรธ ไปเกลียด ไปชังใคร ซึ่งมีการกระทำซึ่งไม่ถูกใจเรา หรืออาจจะว่าไม่ดีต่อเราก็ได้ คือว่าไม่ว่าใครจะทำอะไร เราก็สามารถที่จะมีจิตใจที่สม่ำเสมอ แล้วก็ไม่หวั่นไหว ไม่เดือดร้อน นั่นคือความหมายของผ้าเช็ดธุลี

ซึ่งผู้ที่ประกาศตนว่าท่านเป็นเสมือนผ้าเช็ดธุลี เดาได้ไหมว่าใคร แต่ถ้ายังไม่ได้ฟังพระธรรม จะนึกไม่ถึงเลยว่า ผู้ที่ประกาศว่าท่านเป็นเสมือนผ้าเช็ดธุลีนั่นก็คือพระอัครสาวก ท่านพระสารีบุตร ซึ่งเป็นผู้เลิศในทางปัญญา นอกจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ไม่มีใครที่จะมีปัญญาเท่ากับท่านพระสารีบุตร คือปัญญาของท่านพระสารีบุตรมากทีเดียว เป็นอัครสาวก แต่ว่าที่เทียบกับพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมไม่ได้แน่นอน บารมีที่บำเพ็ญมาที่จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ากับพระสารีบุตรนั้นก็ห่างไกลกัน

สำหรับพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นี้ ซึ่งเป็นผู้ยิ่งด้วยปัญญานั้น ทรงบำเพ็ญพระบารมี ๔ อสงไขยแสนกัปป์ ท่านพระสารีบุตรบำเพ็ญพระบารมี ๑ อสงไขยแสนกัปป์ แต่ว่าท่านเป็นผู้ที่ประกาศ บรรลือสีหนาทว่า ในความรู้สึกของท่าน ท่านเป็นเสมือนผ้าเช็ดธุลี และเราไม่มีปัญญาอย่างท่านพระสารีบุตร และเราก็ไม่อยากจะเป็นผ้าเช็ดธุลี แต่ว่าถ้าเรามีปัญญาจริงๆ เราก็อยากจะเป็นผ้าเช็ดธุลีแน่ๆ คือสบาย ไม่หวั่นไหว ใครจะทำอะไรก็เป็นเรื่องของเขา เราก็มีจิตที่สม่ำเสมอ เป็นมิตรกับเขาได้ ไม่มีศัตรูเลย ถ้าเราไม่เป็นศัตรูใคร ต่อให้คนนั้นเป็นศัตรูกับเรา เราก็ยังคงไม่มีศัตรูอยู่นั่นเอง เราไม่ได้เป็นศัตรูกับเขา
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่