จิต วิญญาณ มโน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ
ขันธ์ ๕ เป็นอนัตตา
เห็นได้ชัดในทุติยเทศนาของพระพุทธเจ้า ที่แสดงขันธ์ ๕ ว่าเป็นอนัตตา มิใช่ตัวตน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอนัตตามิใช่ตัวตน เพราะบังคับให้เป็นไปตามปรารถนามิได้ เมื่อเป็นดั่งนี้ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จึงเป็นอนิจจะไม่เที่ยง และสิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นก็ย่อมเป็นทุกข์ คือต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป และสิ่งใดไม่เที่ยงเป็นทุกข์ สิ่งนั้นก็เป็นอนัตตา ไม่ควรที่จะยึดถือว่า นี่เป็นของเรา เราเป็นนี่ นี่เป็นตัวตนของเรา คือไม่ควรที่จะยึดถือว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นของเรา เราเป็นรูป เป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขาร เป็นวิญญาณ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอัตตาตัวตนของเรา และในท้ายเทศนาก็ได้ตรัสว่าจิตของพระเบ็ญจวัคคีย์พ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย ดั่งนี้
และในเทศนาที่ ๓ ทรงยกแสดงเป็นแม่บทว่า สิ่งทั้งปวงเป็นของร้อน อะไรเป็นของร้อน ก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และมนะคือใจ อันได้แก่อายตนะภายในทั้ง ๖ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมะคือเรื่องราว ซึ่งเป็นอายตนะภายนอก วิญญาณ สัมผัส เวทนา อันบังเกิดสืบเนื่องมาจากที่อายตนะภายในภายนอกประจวบกัน นั้นเป็นของร้อน ร้อนเพราะอะไร ร้อนเพราะไฟคือราคะ ไฟคือโทสะ ไฟคือโมหะ ร้อนเพราะชรา พยาธิ มรณะ ร้อนเพราะชาติ ชรา พยาธิ มรณะ เพราะโสกะความโศก ปริเทวะความคร่ำครวญรำพัน ทุกขะความไม่สบายกาย โทมนัสสะความไม่สบายใจ อุปายาสะความคับแค้นใจ และในท้ายพระสูตรก็ตรัสว่าจิตของภิกษุพันรูป ที่เรียกว่าเป็นปุราณชฎิล เป็นชฎิลเก่า ก็พ้นจากอาสวะดั่งนี้
ไม่ตรัสว่าจิตเป็นอนัตตา
เป็นอันว่าได้ทรงจำแนกเอาไว้ชัดเจน วิญญาณก็ดี มโนก็ดี เป็นข้อที่พึงพิจารณาว่าเป็นอนัตตา หรือโดยไตรลักษณ์ และเมื่อเป็นของร้อน แต่ว่าจิตนั้นมิได้ตรัสรวมเข้าด้วย แต่ว่าตรัสว่าเมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนานี้ จิตของพระเบ็ญจวัคคีย์ และของพระปุราณชฎิลพันรูป ก็พ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะฉะนั้น จิตจึงเป็นสิ่งสำคัญดังกล่าว
#
และจิตนี้ ยังได้ตรัสเอาไว้ว่า ทุรังคมัง เที่ยวไปไกล เอกะจรัง เที่ยวไปผู้เดียว อสรีรัง ไม่มีสรีระรูปร่างสัณฐาน คูหาสยัง มีคูหาคือถ้ำเป็นที่อาศัย ตามที่ตรัสเอาไว้นี้เมื่อมากำหนดพิจารณาดูจิตของตนก็จะเห็นได้ ว่าเที่ยวไปไกล คือคิดไปนั่นคิดไปนี่ได้ไกลมาก คิดไปถึงดวงอาทิตย์ก็ได้ คิดถึงดวงจันทร์ก็ได้ ถึงดวงดาวดวงใดดวงหนึ่งก็ได้ ในโลกนี้ก็คิดไปถึงที่นั่นที่นี่ได้ทั่วโลกทั้งนั้น และก็เที่ยวไปผู้เดียวหรือเที่ยวไปดวงเดียว ไม่มีสรีระคือรูปร่างสัณฐาน แต่ว่ามีคูหาเป็นที่อาศัย มีคูหาก็คือมีถ้ำเป็นที่อาศัย คูหาคือถ้ำนี้พระอาจารย์ท่านอธิบายรวมกันไปว่ามีกายนี้เป็นที่อาศัยไปทีเดียว และพระอาจารย์ผู้อธิบายในภายหลังที่ท่านอธิบายตามความเข้าใจของท่านเอง ว่าจิตนี้อาศัยอยู่ที่หทัยวัตถุคือที่หัวใจของทุก ๆ คนที่เต้นตุบ ๆ อยู่ทุกเวลานี้ ว่าจิตอาศัยอยู่ที่นี่ แต่ก็ไม่มีพุทธพจน์ตรัสแสดงเอาไว้ ตรัสเอาไว้ว่ามีคูหาคือมีถ้ำเป็นที่อาศัยเท่านั้น
และเมื่อวิทยาในปัจจุบันเจริญมาถึงเพียงนี้ ดังที่ได้มีแสดงถึงระบบประสาททั้ง ๕ กับระบบมันสมองที่ประสานกัน และที่ตั้งของมันสมองอยู่ในกะโหลกศีรษะ ผู้ที่เป็นนักคิดในปัจจุบันจึงมีความเห็นว่าจิตน่าจะอาศัยอยู่กับมันสมอง และภายในกะโหลกศีรษะนี้ รูปร่างก็เป็นคูหาคือเป็นถ้ำอยู่แล้ว ตามบาลีที่ว่ามีคูหาที่แปลว่าถ้ำ คือถ้ำในภูเขาเป็นที่อาศัย แต่พระอาจารย์ท่านต้องการที่จะอธิบายว่าอาศัยอยู่ที่กายนี้ คูหาคือถ้ำก็หมายถึงกายนี้จึงไม่มีผิด เป็นการที่แสดงรวมทั้งหมด และตามที่ได้แสดงมานี้แม้ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติโดยตรง แต่ว่าเมื่อรู้ถึงสมมติบัญญัติศัพท์ธรรมะในพุทธศาสนา ก็จะทำให้มีความเข้าใจ และทำให้ไม่สงสัย
พระราชนิพนธ์ เรื่อง จิต วิญญาณ มโน ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วัดบวรนิเวศวิหาร
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ
ขันธ์ ๕ เป็นอนัตตา
เห็นได้ชัดในทุติยเทศนาของพระพุทธเจ้า ที่แสดงขันธ์ ๕ ว่าเป็นอนัตตา มิใช่ตัวตน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอนัตตามิใช่ตัวตน เพราะบังคับให้เป็นไปตามปรารถนามิได้ เมื่อเป็นดั่งนี้ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จึงเป็นอนิจจะไม่เที่ยง และสิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นก็ย่อมเป็นทุกข์ คือต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป และสิ่งใดไม่เที่ยงเป็นทุกข์ สิ่งนั้นก็เป็นอนัตตา ไม่ควรที่จะยึดถือว่า นี่เป็นของเรา เราเป็นนี่ นี่เป็นตัวตนของเรา คือไม่ควรที่จะยึดถือว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นของเรา เราเป็นรูป เป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขาร เป็นวิญญาณ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอัตตาตัวตนของเรา และในท้ายเทศนาก็ได้ตรัสว่าจิตของพระเบ็ญจวัคคีย์พ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย ดั่งนี้
และในเทศนาที่ ๓ ทรงยกแสดงเป็นแม่บทว่า สิ่งทั้งปวงเป็นของร้อน อะไรเป็นของร้อน ก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และมนะคือใจ อันได้แก่อายตนะภายในทั้ง ๖ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมะคือเรื่องราว ซึ่งเป็นอายตนะภายนอก วิญญาณ สัมผัส เวทนา อันบังเกิดสืบเนื่องมาจากที่อายตนะภายในภายนอกประจวบกัน นั้นเป็นของร้อน ร้อนเพราะอะไร ร้อนเพราะไฟคือราคะ ไฟคือโทสะ ไฟคือโมหะ ร้อนเพราะชรา พยาธิ มรณะ ร้อนเพราะชาติ ชรา พยาธิ มรณะ เพราะโสกะความโศก ปริเทวะความคร่ำครวญรำพัน ทุกขะความไม่สบายกาย โทมนัสสะความไม่สบายใจ อุปายาสะความคับแค้นใจ และในท้ายพระสูตรก็ตรัสว่าจิตของภิกษุพันรูป ที่เรียกว่าเป็นปุราณชฎิล เป็นชฎิลเก่า ก็พ้นจากอาสวะดั่งนี้
ไม่ตรัสว่าจิตเป็นอนัตตา
เป็นอันว่าได้ทรงจำแนกเอาไว้ชัดเจน วิญญาณก็ดี มโนก็ดี เป็นข้อที่พึงพิจารณาว่าเป็นอนัตตา หรือโดยไตรลักษณ์ และเมื่อเป็นของร้อน แต่ว่าจิตนั้นมิได้ตรัสรวมเข้าด้วย แต่ว่าตรัสว่าเมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนานี้ จิตของพระเบ็ญจวัคคีย์ และของพระปุราณชฎิลพันรูป ก็พ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะฉะนั้น จิตจึงเป็นสิ่งสำคัญดังกล่าว
#
และจิตนี้ ยังได้ตรัสเอาไว้ว่า ทุรังคมัง เที่ยวไปไกล เอกะจรัง เที่ยวไปผู้เดียว อสรีรัง ไม่มีสรีระรูปร่างสัณฐาน คูหาสยัง มีคูหาคือถ้ำเป็นที่อาศัย ตามที่ตรัสเอาไว้นี้เมื่อมากำหนดพิจารณาดูจิตของตนก็จะเห็นได้ ว่าเที่ยวไปไกล คือคิดไปนั่นคิดไปนี่ได้ไกลมาก คิดไปถึงดวงอาทิตย์ก็ได้ คิดถึงดวงจันทร์ก็ได้ ถึงดวงดาวดวงใดดวงหนึ่งก็ได้ ในโลกนี้ก็คิดไปถึงที่นั่นที่นี่ได้ทั่วโลกทั้งนั้น และก็เที่ยวไปผู้เดียวหรือเที่ยวไปดวงเดียว ไม่มีสรีระคือรูปร่างสัณฐาน แต่ว่ามีคูหาเป็นที่อาศัย มีคูหาก็คือมีถ้ำเป็นที่อาศัย คูหาคือถ้ำนี้พระอาจารย์ท่านอธิบายรวมกันไปว่ามีกายนี้เป็นที่อาศัยไปทีเดียว และพระอาจารย์ผู้อธิบายในภายหลังที่ท่านอธิบายตามความเข้าใจของท่านเอง ว่าจิตนี้อาศัยอยู่ที่หทัยวัตถุคือที่หัวใจของทุก ๆ คนที่เต้นตุบ ๆ อยู่ทุกเวลานี้ ว่าจิตอาศัยอยู่ที่นี่ แต่ก็ไม่มีพุทธพจน์ตรัสแสดงเอาไว้ ตรัสเอาไว้ว่ามีคูหาคือมีถ้ำเป็นที่อาศัยเท่านั้น
และเมื่อวิทยาในปัจจุบันเจริญมาถึงเพียงนี้ ดังที่ได้มีแสดงถึงระบบประสาททั้ง ๕ กับระบบมันสมองที่ประสานกัน และที่ตั้งของมันสมองอยู่ในกะโหลกศีรษะ ผู้ที่เป็นนักคิดในปัจจุบันจึงมีความเห็นว่าจิตน่าจะอาศัยอยู่กับมันสมอง และภายในกะโหลกศีรษะนี้ รูปร่างก็เป็นคูหาคือเป็นถ้ำอยู่แล้ว ตามบาลีที่ว่ามีคูหาที่แปลว่าถ้ำ คือถ้ำในภูเขาเป็นที่อาศัย แต่พระอาจารย์ท่านต้องการที่จะอธิบายว่าอาศัยอยู่ที่กายนี้ คูหาคือถ้ำก็หมายถึงกายนี้จึงไม่มีผิด เป็นการที่แสดงรวมทั้งหมด และตามที่ได้แสดงมานี้แม้ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติโดยตรง แต่ว่าเมื่อรู้ถึงสมมติบัญญัติศัพท์ธรรมะในพุทธศาสนา ก็จะทำให้มีความเข้าใจ และทำให้ไม่สงสัย