พระพุทธเจ้าตรัสชัดเจนถึง 3 พระสูตร ว่าจิตไม่ใช่วิญญาณในขันธ์ 5

พระพุทธเจ้าตรัสชัดเจนถึง 3 พระสูตร ว่าจิตไม่ใช่วิญญาณในขันธ์ 5 เมื่อจิตเบื่อหน่ายในขันธ์ 5 รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จิตย่อมหลุดพ้น ตั้งมั่นดำรงอยู่
ทำไมถึงหลงว่า จิต คือ วิญญาณ จิตดับ จิตสูญ???

1. พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๗  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๙
สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค

[๙๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าจิตของภิกษุคลายกำหนัดแล้วจากรูปธาตุ หลุดพ้นแล้ว
จากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น. ถ้าจิตของภิกษุคลายกำหนัดแล้วจากเวทนาธาตุ ... จาก
สัญญาธาตุ ... จากสังขารธาตุ ... จากวิญญาณธาตุ หลุดพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น. เพราะหลุดพ้นแล้ว จิตจึงดำรงอยู่ เพราะดำรงอยู่ จึงยินดีพร้อม เพราะยินดีพร้อม จึง
ไม่สะดุ้ง เมื่อไม่สะดุ้ง ย่อมดับรอบเฉพาะตนเท่านั้น ภิกษุนั้น ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว
พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.

2. อนัตตลักขณสูตร
[๒๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้ฟังแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูป ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเวทนา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสัญญา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสังขารทั้งหลาย ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมสิ้นกำหนัด เพราะสิ้นกำหนัด จิตก็พ้น เมื่อจิตพ้นแล้ว ก็รู้ว่าพ้นแล้ว อริยสาวกนั้นทราบชัดว่า  ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.
             [๒๔] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระสูตรนี้แล้ว พระปัญจวัคคีย์มีใจยินดี เพลิดเพลิน
ภาษิตของพระผู้มีพระภาค. ก็แลเมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสไวยากรณภาษิตนี้อยู่ จิตของพระปัญจวัคคีย์ พ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น.
อนัตตลักขณสูตร จบ

3. พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๗  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๙ สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค

[๙๓] พระนครสาวัตถี ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็น
ทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งใดเป็นอนัตตา เธอทั้งหลาย พึงเห็นสิ่งนั้น
ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตน
ของเรา. เวทนาไม่เที่ยง ... สัญญาไม่เที่ยง ... สังขารไม่เที่ยง ... วิญญาณไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้น เป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งใดเป็นอนัตตา เธอทั้งหลาย พึงเห็นสิ่งนั้น ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา.เมื่อเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ ทิฏฐิเป็นไปตามส่วนเบื้องต้น (อดีต) ย่อมไม่มี เมื่อทิฏฐิเป็นไปตามส่วนเบื้องต้นไม่มี ทิฏฐิเป็นไปตามส่วนเบื้องปลาย (อนาคต) ย่อมไม่มี เมื่อทิฏฐิเป็นไปตามส่วนเบื้องปลายไม่มี ความยึดมั่นอย่างแรงกล้า ย่อมไม่มี. เมื่อความยึดมั่นอย่างแรงกล้าไม่มี จิตย่อมคลายกำหนัดในรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ย่อมหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น. เพราะหลุดพ้น จิตจึงดำรงอยู่ เพราะดำรงอยู่ จึงยินดีพร้อม เพราะยินดีพร้อม จึงไม่สะดุ้ง เมื่อไม่สะดุ้ง ย่อมดับรอบเฉพาะตนเท่านั้น ภิกษุนั้น ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.

พระราชวินิจฉัยพระไตรปิฏก ของสมเด็จฌานสังวร สมเด็จพระสังฆราช ผู้เชี่ยวชาญในพระไตรปิฏกและเป็นครูของพระอภิธรรมทั่วประเทศ ระบุชัดเจน ว่า

“วิญญาณธาตุ คือ จิต หรือ ธาตุรู้
จิตโดยธรรมชาตินั้น คือ ผุดผ่องเป็นประภัสสร
วิญญาณขันธ์ คือ อาการรู้ของจิตผ่านทวารทั้ง 6 ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจครับ
ขันธ์ 5 ประกอบด้วย กาย เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอนัตตา คือ บังคับให้เป็นไปตามต้องการไม่ได้ แต่จิตพระพุทธเจ้ามิได้ทรงตรัสว่าเป็นอนัตตา แต่ตรัสว่าจิตวิมุติหลุดพ้น
จิตเมื่อปฏิบัติภาวนา อบรมจิต จิตก็จะวิมุติ หลุดพ้น
จิตวิมุติหลุดพ้นอาสวะ จิตถึงวิสังขาร คือ พระนิพพาน”

หลวงตามหาบัว ก็พูดชัดเจนว่า

อมตจิต ถ้าตายแล้วสูญมันก็สูญไปหมดแล้ว [5:37นาที]

"..ภพไหนก็ใจดวงนี้นะ ไปไหนมันตายเมื่อไหร่ใจดวงนี้ ไม่เคยตาย มีแต่ธาตุขันธ์ตาย เข้าไปอาศัยร่างใดก็เรียกว่าสัตว์ว่าบุคคลขึ้นมา ใจดวงเดียวนี้ละเข้าไป..

เรื่องที่จะรู้วิถีทางรู้จิตจริง ๆ ..วินิจฉัยใคร่ครวญด้วยจิตตภาวนาจะรู้แน่นอน นอกนั้นใครจะมีความรู้สูงต่ำขนาดไหนไม่มีทาง เป็นวิชาของกิเลสที่จะกลบความจริง ๆ คือใจดวงนี้ ให้ว่าตายแล้วสูญ ๆ ไปเท่านั้น ทั้ง ๆ ที่เจ้าของเป็นนักเกิดนักตายมันก็ปฏิเสธในเจ้าของว่าตายแล้วสูญ ๆ เพราะกิเลสพาปฏิเสธเนื่องจากเราหลงตามมัน เราก็ไม่รู้ เกิดกี่กัปกี่กัลป์ก็ปฏิเสธมาอย่างนั้น ว่าตายแล้วสูญ ๆ มันสูญยังไงพิจารณาซิ ถ้ามันสูญแล้วอะไรมีในโลกนี้ได้ มันก็สูญไปหมดแล้ว แล้วเวลานี้เต็มโลกไหม ตั้งแต่กัปไหนกัลป์ใดมันก็มีอยู่นี้..

จิตที่บริสุทธิ์เต็มที่ ท่านเรียกว่าอมตจิต อมตธรรม หรืออมตมหานิพพานคือใจดวงนี้ ที่ไม่ตายนี้แล ถึงขั้นนี้แล้วไม่ตาย เรียกว่าเที่ยงโดยถ่ายเดียว อย่างท่านว่านิพพานเที่ยงคือจิตดวงนี้ไม่มีสมมุติตัวเป็นอนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เข้าไปแทรก ปัดออกหมดแล้วเป็น อมตจิต อมตธรรมขึ้นมา ไตรลักษณ์ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เข้าไปยุ่งไม่ได้ เพราะเหล่านี้เป็นสมมุติ นั่นละท่านว่าจิตเที่ยง จิตถึงนิพพานเป็นอมตจิต นี่เรียนวิชาจิตตภาวนาเข้าไปถึงนี้จะไม่ต้องทูลถาม นอกจากกราบพระพุทธเจ้าอย่างราบ.."

โอวาทธรรม หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่