JJNY : 5in1 ‘พิธา’ ยืนหนึ่ง│ก้าวไกลแจงศาลรธน.│พริษฐ์ยันส.ส.ร.มาจากลต.│ประกันสังคมก้าวหน้ามาแรง│เกาหลีใต้-จีนเผชิญหนาวจัด

ผลโพลฟันธง ‘พิธา’ ยืนหนึ่งนักการเมืองแห่งปี ‘มีลุง ไม่มีเรา’ วาทกรรมแห่งปี
https://www.dailynews.co.th/news/3021615/

สยามเทคโนโพล เผยผลสำรวจเรื่องการเมืองที่สุดแห่งปี "พิธา" นักการเมืองที่สุดแห่งปี "มีลุง ไม่มีเรา" วาทกรรมแห่งปี และประชาชนกังวลเรื่องแก้ไข ม.112 จะกลายเป็นประเด็นการเมืองไปสู่ความขัดแย้งของคนในชาติ อยากให้เร่งแก้ปัญหาปากท้องและโจรไซเบอร์มากกว่า
 
 
อาจารย์ธนกร พงษ์ภู่ อาจารย์ประจำสำนักวิจัยสยามเทคโนโพล วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม เสนอผลสำรวจ เรื่องการเมืองที่สุดแห่งปี กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 1,108 ตัวอย่างในการวิเคราะห์ทางสถิติ ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 15–23 ธันวาคม พ.ศ.2566 ที่ผ่านมา

ผลสำรวจเรื่องการเมืองที่สุดแห่งปี ความกังวลของประชาชนต่อประเด็นการเมืองสู่ความขัดแย้งของคนในชาติที่สุดแห่งปี พบว่า จำนวนมาก หรือร้อยละ 47.0 ระบุว่ามีความกังวลในประเด็นการแก้ไขกฎหมาย 112 รองลงมาร้อยละ 45.5 ระบุว่า นักโทษเทวดา ร้อยละ 42.6 ระบุว่ากระแสพรรคก้าวไกล ร้อยละ 38.0 ระบุว่า ด้อมส้ม อกหัก เพื่อไทยสลับขั้วตั้งรัฐบาล และร้อยละ 37.2 ม็อบสามนิ้ว ตามลำดับ

ที่น่าสนใจ คือ วาทกรรม คำการเมืองแห่งปี พบว่ากลุ่มตัวอย่างระบุ 5 อันดับแรก คือ “มีลุง ไม่มีเรา” ร้อยละ 52.3 “ก้าวข้าม ความขัดแย้ง” ร้อยละ 42.0 “นักโทษ เทวดา” ร้อยละ 39.3 “1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์” ร้อยละ 38.2 “มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีกินมีใช้” ร้อยละ 35.5 เป็นต้น

ประเด็นที่น่าพิจารณา คือ “นักการเมืองแห่งปี” ค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ พบว่าร้อยละ 42.1 ระบุ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ร้อยละ 34.0 ระบุ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ร้อยละ 32.8 ระบุ อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ร้อยละ 29.0 ระบุ นายเศรษฐา  ทวีสิน และร้อยละ 27.5 ระบุ นายชวน  หลีกภัย  ตามลำดับ

จากผลการสำรวจ พบประเด็นที่น่าสังเกตคือ ประชาชนมีความกังวล ต่อประเด็นการแก้ไขกฎหมาย มาตรา 112 เนื่องจากเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อน กระทบต่อความจงรักภักดีของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ โดยเห็นว่านักการเมืองควรดำเนินนโยบายที่มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาปากท้อง ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาสารเสพติด โดยเฉพาะปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือเรียกว่า “โจรไซเบอร์” ซึ่งเป็นประเด็นเร่งด่วนและมีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ ต่อปากท้องของประชาชนมากกว่า



ก้าวไกล ส่ง ‘พิธา-ชัยธวัช’ แจงศาลรธน. ปมหาเสียงแก้ 112 มั่นใจชี้แจงได้ทุกคำถาม
https://www.matichon.co.th/politics/news_4345935

ก้าวไกล ส่ง ‘พิธา-ชัยธวัช’ แจงศาล รธน. ปมหาเสียงแก้ 112 มั่นใจชี้แจงได้ทุกคำถาม ยันเสนอนโยบายภายใต้กรอบกฎหมาย
 
เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการไต่สวนของศาลรัฐธรรมนูญ ในคดีพรรค ก.ก. เสนอให้แก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่ใช้เป็นนโยบายหาเสียงของพรรค โดยจะมีการไต่สวนในวันที่ 25 ธันวาคม ว่า พรรคได้มอบหมายให้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค ก.ก. และ นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรค ก.ก. ซึ่งทั้งคู่ได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค และเลขาธิการพรรคในช่วงหาเสียงเลือกตั้งขณะนั้น
 
ซึ่งเราได้เตรียมข้อมูลอย่างละเอียดรอบด้าน และพร้อมที่จะชี้แจงทุกคำถาม โดยทางพรรคพร้อมพิสูจน์ความบริสุทธิ์ผ่านกระบวนการยุติธรรม และเรายืนยันว่า ทุกอย่างที่ดำเนินการไป รวมถึงการเสนอให้แก้ไข ม.112 นั้น แม้จะมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในนโยบายนี้ แต่เรายืนยันว่า เป็นการเสนอนโยบายอยู่ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ และภายใต้กรอบของกฎหมายทุกประการ
 


พริษฐ์ ยัน รัฐธรรมนูญฉบับปชช. ที่ตรงไปตรงมาที่สุดคือ ส.ส.ร.ต้องมาจากการเลือกตั้ง
https://www.matichon.co.th/politics/news_4345928

‘พริษฐ์’ ยืนกราน ส.ส.ร.ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ชี้ แม้บางส่วนจะถูกแต่งตั้งจากรัฐสภา แต่ ส.ว.ชุดหน้าไม่ได้มาจาก ปชช.อยู่ดี แนะ จัดเลือกตั้ง ส.ส.ร. 3 ประเภท กันข้ออ้างต้องมีผู้เชี่ยวชาญร่วมด้วย ลั่น หากยังไม่ลงตัว ให้ชงคำถามในการทำประชามติครั้งแรก
 
เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายนิกร จำนง ประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เกี่ยวกับแนวทางในการทําประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ชี้แจงว่าไม่ต้องกังวลเรื่องการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพราะที่มาจะมาจากประชาชนโดยจะไม่มีรัฐบาลแต่งตั้ง ทางพรรคมองอย่างไร ว่า
 
ตนและพรรค ก.ก. ยืนยันเหมือนเดิมว่า หากเราต้องการการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้มีความชอบธรรม มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด ส.ส.ร.ก็ควรมาจากการเลือกตั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ ตนไม่แน่ใจว่า ฝ่ายอื่นๆ นิยามคำว่ามาจากประชาชนอย่างไร แต่สำหรับพรรค ก.ก. การที่จะทำให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มาจากประชาชนอย่างตรงไปตรงมามากที่สุด คือมาจากการเลือกตั้ง นี่คือจุดยืนของเรา
 
นายพริษฐ์กล่าวต่อว่า ที่เรายืนยืนยันว่า ส.ส.ร.ควรมาจากการเลือกตั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ เราไม่ได้มีข้อกังวลที่จำกัดเพียงว่า ส.ส.ร.บางส่วน จะมาจากการแต่งตั้งหรือการคัดเลือกของรัฐบาลเท่านั้น แต่หากมาจากการแต่งตั้งของรัฐสภา ส่วนหนึ่งของรัฐสภาคือสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ถึงแม้จะไม่ใช่ ส.ว. 250 คนในชุดปัจจุบัน ที่ถูกแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่ ส.ว.อีก 200 คนในชุดถัดไป ก็ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่เป็นวิธีการให้ผู้สมัครคัดเลือกกันเอง หากนายนิกรพยายามจะชี้แจงว่า ส.ส.ร.ไม่ได้มาจากการแต่งตั้งของรัฐบาล แต่มาจากการแต่งตั้งของรัฐสภา เราก็ยังมีความกังวลอยู่ดี

นายพริษฐ์กล่าวว่า หากใครมีข้อกังวลว่า ส.ส.ร.ควรมีพื้นที่ให้กับผู้เชี่ยวชาญ ผู้มีประสบการณ์ หรือกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลาย เรามองว่าเราสามารถออกแบบระบบเลือกตั้ง ที่เปิดพื้นที่ให้กับคนกลุ่มต่างๆ ได้ โดยยังคงหลักการว่า ให้ ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ซึ่งมีหลายทางเลือก แต่อีกทางเลือกหนึ่ง คือการใช้ระบบเลือกตั้งที่ประชาชนมีบัตรเลือกตั้ง 3 ใบ เพื่อเลือกตั้ง ส.ส.ร. ทั้ง 3 ประเภท 3 ใบเลือกตั้ง ประเภทที่ 1 ส.ส.ร. การเลือกตั้งตัวแทนพื้นที่ โดยกำหนดได้ว่าจะใช้อะไรเป็นเขตเลือกตั้ง
 
ประเภทที่ 2 ส.ส.ร. ที่เป็นตัวแทน ผู้เชี่ยวชาญ ผู้มีประสบการณ์ หรือฝ่ายวิชาการ โดยเปิดโอกาสว่า หากใครสนใจจะสมัครเป็น ส.ส.ร. และมีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์ตามที่ถูกกำหนด ก็สามารถสมัครเพื่อให้ประชาชนเลือก ผ่านการเลือกตั้งประเภทที่ 2 ได้
 
ประเภทที่ 3 การเลือกตั้ง ส.ส.ร. ประเภทตัวแทนกลุ่มความหลากหลาย ประชาชนที่สนใจสมัครเป็นตัวแทน ส.ส.ร. ประเภทที่ 3 ก็สามารถสมัครเข้ามาได้ โดยระบุว่า ตนเองเป็นตัวแทนของกลุ่มความหลากหลายในด้านไหน โดยวิธีนี้จะทำให้มี ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมด ตนจึงย้ำว่า ไม่ควรใช้เหตุผลว่า ส.ส.ร.ต้องมีกลุ่มผู้เชี่ยวชาญผู้มีประสบการณ์ หรือกลุ่มผู้มีความหลากหลายมาเป็นข้ออ้างว่า ส.ส.ร.จะมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์ไม่ได้
 
ตนย้ำว่า เรื่องแนวคิด ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ไม่ได้เป็นแนวคิดที่ใหม่และผูกขาดจากการเสนอจากพรรคก้าวไกลเพียงอย่างเดียว ในปี 2563-2564 รัฐสภาได้การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับ ส.ส.ร.ในวาระที่สอง ก็มีการลงมติเกินกึ่งหนึ่งว่า ส.ส.ร.ควรมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ซึ่งนายนิกรก็เคยเป็นหนึ่งใน ส.ส.ที่อยู่ในรัฐสภาชุดนั้นเช่นกัน” นายพริษฐ์กล่าว
 
นายพริษฐ์กล่าวอีกว่า แต่หากเรายังเห็นต่างกันจริงๆ ในเรื่องนี้ เราเสนอว่า ควรให้ประเด็นนี้เป็นหนึ่งในคำถามรองที่ถูกถามในการจัดทำประชามติครั้งแรก นอกเหนือจากคำถามหลัก หากประชาชนลงความเห็นไปในทิศทางใดผ่านการทำประชามติ ตนเชื่อว่าสมาชิกรัฐสภาทุกคน ก็พร้อมเดินหน้าต่อตามเสียงของประชาชน



ผลเลือกตั้งไม่ทางการ บอร์ดสปส. ประกันสังคมก้าวหน้า มาแรง ยึด 6 ที่นั่ง
https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_8024479

ผลเลือกตั้งบอรด์ประกันสังคม ออกมาอย่างไม่เป็นทางการแล้ว พบกลุ่มประกันสังคมก้าวหน้า มาแรง ยึด 6 ที่นั่ง จากทั้งหมด 7 ที่ รอประกาศทางการอีกครั้ง
 
วันที่ 24 ธ.ค.2566 ที่ศูนย์อำนวยการจัดการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม สำนักงานใหญ่ประกันสังคม จ.นนทบุรี ผู้สื่อข่าวรายงานผลการนับคะแนนเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดประกันสังคม) อย่างไม่เป็นทางการ ณ เวลา 18.00 น.
 
โดยการนับคะแนนผู้แทนฝ่ายนายจ้าง นับแล้วร้อยละ 50 โดย 7 อันดับแรก ได้แก่ 1.นางวิภาพรรณ มาประเสริฐ 2.ดร.มนตรี ฐิรโฆไท 3.นางสิริวรรณ ร่มฉัตรทอง 4.นายสมพงศ์ นครศรี 5.นายสุวิทย์ ศรีเพียร 6.น.ส.เพชรรัตน์ เอกแสงกุล และ 7.นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย
 
ส่วนผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง นับคะแนนแล้วร้อยละ 14 โดย 7 อันดับแรก ได้แก่ 1.นายษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี 2.นายชลิต รัษฐปานะ 3.นายธนพงษ์ เชื้อเมืองพาน 4.นายศิววงศ์ สุขทวี 5.น.ส.นลัทพร ไกรฤกษ์ 6.นางลักษมี สุวรรณภักดี โดยทั้งหมดเป็นกลุ่มประกันสังคมก้าวหน้า และ 7.นายปรารถนา โพธิ์ดี ซึ่งมีตำแหน่งเป็นประธานเครือข่ายพนักงานราชการไทย
 
อย่างไรก็ตามการนับคะแนนยังดำเนินต่อไป โดยจะเป็นผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการจนกว่าจะมีการประกาศรายชื่อคณะกรรมการประกันสังคมอย่างเป็นทางการ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่