จิต หรือ วิญญาณธาตุ โดยธรรมชาติมีสภาพรู้ สักแต่ว่ารู้

จิต หรือ วิญญาณธาตุ โดยธรรมชาติมีสภาพรู้ สักแต่ว่ารู้
อาการรู้ของจิตผ่านทวารทั้ง 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ เรียกว่า วิญญาณขันธ์ ตัวนี้แหละที่ทำให้จิตหลงเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร เพราะจิตไปหลงรู้ในขันธ์

การภาวนา โดยการตั้งสติระลึกรู้ลมหายใจหรืออานาปานสติ โดยระลึกรู้ลมหายใจกระทบจุดใด จุดหนึ่งของร่างกาย หรือการภาวนาพุทโธๆๆๆๆ หรือการเพ่งกสิณ เป็นการกระตุ้นอาการรู้ของจิตผ่านทวารทั้ง 6 (วิญญาณขันธ์) ให้เด่นชัดขึ้นมา

จิตอยู่ที่ไหน??? รู้ลมกระทบกายที่ไหน หรือ รู้คำภาวนาพุทโธ ที่ไหนจิตก็อยู่ที่นั่น

พยายามตั้งสติระลึกรู้อยู่จุดเดิมซ้ำๆ ให้ตั้งมั่นได้นาน จิตจะเริ่มสงบเป็นสมาธิ เกิดอาการปีติขึ้นที่กาย เช่น ขนลุก ขนพอง น้ำตาไหน ตัวโยก ตัวขยาย ซาบซ่านทั้งกาย เป็นเพราะจิตไประลึกที่กาย (ฌาน 2) ให้กลับมาระลึกรู้จุดเดิม

เมื่อจิตสงบลงไปอีกขั้น จิตจะเปลี่ยนฐานมาที่ใจ ปรติที่เกิดขึ้นที่กายจะเปลี่ยนเป็นสุขที่ใจ สุขแบบหาที่ใดในชีวิตมาเปรียบไม่ได้เลย เป็นสุขที่ไม่เคยเกิดขึ้นในชีวิต มีเงินพันล้านก็ไม่สุขเท่าสุขในสมาธิ อย่ายึดติดสุข กลับมาระลึกรู้จุดเดิม

เมื่อทิ้งสุขได้ จิตจะดำดิ่งสู่ความสงบ จิตจะทิ้งกายจนหมดสิ้น ความรู้สึกทางกาย ลมหายใจ (กาย) สุข ทุกข์ (เวทนา) ความทรงจำ (สัญญา) ความคิดปรุงแต่ง (สังขาร) และวิญญาณขันธ์ คืออาการรู้ผ่านทวารทั้ง 6 จะดับลงหมดสิ้น เป็นการหลุดพ้นจากขันธ์ 5 ชั่วขณะ

จิตจะปรากฏให้เห็นเด่นชัด ผ่องใส ส่องสว่างเป็นประภัสสร ท่ามกลางความว่าง ไร้ทุกข์ ไร้สุข ไร้ความความรู้สึกทางกายและลมหายใจ ไร้ความคิดปรุงแต่งใดๆ ความว่างนั้นไร้สมมุติปรุงแต่ง ไร้กว้าง ไร้ยาว ไร้กาลเวลา จิตตั้งมั่นเด่นชัด คือ เอกัคตา ไร้สุข ไร้ทุกข์และความคิดปรุงแต่ง มีความเป็นกลางอย่างยิ่ง คือ อุเบกขา

เมื่อพบจิตแล้วต้องพิจารณา (วิปัสสนา) ถึงความไม่เที่ยงของ ขันธ์ 5 กาย เวทนา สัญญา สังขารและวิญญาณ ล้วนไม่ใช่เรา ไม่ใช่จิต ขันธ์ 5 เป็นไปตามกฏไตรลักษณ์ ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา จิตจะเกิดปัญญาสว่างไสว รู้แจ้งในรูปนาม ว่าไม่ใช่จิต จิตเบื่อหน่ายในขันธ์ 5 จิตวิมุติหลุดพ้นจากกิเลส ตัณหาหยุดการเวียนว่าย ตายเกิดในวัฏสงสาร
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่