คัมภีร์สัมโมหวิโนทนี จะอ่านจบ 316 หน้า หรือ ทิ้งกลางคัน

กระทู้สนทนา
สัมโมหวิโนทนี อรรถกถาพระวิภังคปกรณ์ แปล
(หน้า1/316)
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
อารัมภกถา
พระสัมพุทธเจ้าเป็นนาถะ ทรงเห็นสัจจะทั้ง 4 ทรงประกาศพระธรรมสังคณีปกรณ์เป็น 4 กัณฑ์แล้ว ทรงประกอบด้วยพุทธธรรม 18 ประการ แนะนำโลก เป็นพระบรมศาสดา ได้ทรงแสดงพระวิภังคปกรณ์อันใดไว้ด้วยอำนาจวิภังค์ 18 มีขันธวิภังค์เป็นต้น ในลำดับแห่งพระธรรมสังคณีปกรณ์นั้น บัดนี้ ลำดับแห่งการสังวรรณนาพระวิภังคปกรณ์นั้นถึงพร้อมแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจักได้สะสางนัยอรรถกถาเก่าๆ เรียบเรียงอรรถกถาพระวิภังคปกรณ์นั้นขึ้น ขอท่านทั้งหลายจงตั้งใจทำความเคารพพระสัทธรรม ฟังอรรถกถาพระวิภังคปกรณ์นั้นเทอญ.

1.ขันธวิภังคนิเทศ
(1) วรรณนาสุตตันตภาชนีย์
(1) คำว่าขันธ์ 5 คือ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ นี้ ชื่อสุตตันตภาชนีย์ (คำที่พึงจำแนกโดยนัยพระสูตร) ในขันธวิภังค์อันเป็นวิภังค์แรกแห่งพระวิภังคปกรณ์.

(หน้า2/316)
คำว่า 5 ในข้อว่า ขันธ์ 5 นั้น เป็นคำกำหนดจำนวน. ด้วยคำว่า 5 นั้น พระผู้มีพระภาคย่อมทรงแสดงว่า ขันธ์มีไม่ต่ำกว่านั้น ไม่สูงกว่านั้น. คำว่า ขันธ์ เป็นคำแสดงไขข้อความอันท่านกำหนดไว้.

อธิบายอรรถแห่งขันธศัพท์
ในขันธวิภังค์นั้น ศัพท์ว่า ขันธ นี้ใช้ในฐานะมากด้วยกัน คือ ในฐานะว่ากอง ในฐานะว่าคุณ ในความเป็นคำบัญญัติ ในความเป็นคำติดปาก.

จริงอยู่ ชื่อว่า ขันธ์ โดยฐานะว่ากอง เช่นในประโยคเป็นต้นว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนการที่จะถือเอาประมาณน้ำในมหาสมุทร ว่ามีน้ำเท่านี้อาฬหก¹ หรือว่ามีน้ำเท่านี้ร้อยอาฬหก หรือว่ามีน้ำเท่านี้พันอาฬหก หรือว่ามีน้ำเท่านี้แสนอาฬหก ไม่ใช่ทำได้ง่าย แท้ที่จริง น้ำในมหาสมุทรย่อมถึงการนับว่า อุทกขันธ์กองน้ำใหญ่อันใครๆประมาณไม่ได้นับไม่ได้ทีเดียว" ดังนี้.² เพราะว่า น้ำมิใช่นิดหน่อย น้ำจำนวนมากทีเดียว เขาจึงเรียกว่า อุทกขันธ์ กองน้ำ. อนึ่ง ธุลีมิใช่นิดหน่อย เขาจึงเรียกว่า รชักขันธ์ กองธุลีโคมิใช่มีประมาณน้อย เขาจึงเรียกว่า ควักขันธ์ กองโค กำลังพลมิใช่มีประมาณน้อย เขาจึงเรียกว่า พลขันธ์ กองพล บุญมิใช่มีประมาณน้อย เขาจึงเรียกว่า บุญขันธ์ กองบุญ. ที่จริง ธุลีจำนวนมากทีเดียว เขาจึงเรียกว่า รชักขันธ์ กองธุลี โคเป็นต้นจำนวนมากทีเดียว เขาจึงเรียกว่า ควักขันธ์ กองโค พลขันธ์ กองพล บุญขันธ์ กองบุญ.

อนึ่ง ชื่อว่าขันธ์ โดยฐานะว่าคุณ เช่นในประโยคเป็นต้นว่า "สีลขันธ์ คุณคือศีล สมาธิขันธ์ คุณคือสมาธิ" ดังนี้.

อนึ่ง ชื่อว่า ขันธ์ โดยความเป็นคำบัญญัติ เช่นในคำนี้ว่า "พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นทารุขันธ์ (ขอนไม้) ท่อนใหญ่ ลอยมาตามกระแสแม่น้ำคงคา" ดังนี้.³
1.คำว่า อาฬหก เป็นชื่อกำหนดนับในมาตราตวงของชมพูทวีป ซึ่งกำหนดไว้ดังนี้ 4 มุฏฐิ (กำมือ) = 1 กุฑวะ (ฟายมือ) 2 กุฑวะ = 1 ปัตถะ (กอบ) 2 ปัตถะ = 1 นาฬี (ทะนาน) 4 นาฬี = 1 อาฬหก.
2.องฺ. จตุกฺก. 21/71
3.สํ. สฬายตนวคฺค. 18/226

(หน้า3/316)
ชื่อว่า ขันธ์ โดยความเป็นคำติดปาก เช่นในประโยคเป็นต้นว่า ซึ่งได้แก่ จิต มโนมานัส ฯลฯ วิญญาณ วิญญาณขันธ์ ดังนี้.¹

ขันธ์นี้นั้น ในที่นี้ท่านประสงค์เอาโดยฐานะว่ากอง. เพราะเหตุที่อรรถของขันธ์นี้ คืออรรถว่าก้อน ว่ากลุ่ม ว่าแท่ง ว่ากอง ฉะนั้น พึงทราบว่า ขันธ์ทั้งหลายมีลักษณะเป็นกอง แม้จะกล่าวว่า มีอรรถว่าส่วน ก็ใช้ได้. เพราะในโลก คนทั้งหลายที่กู้หนี้เขาแล้วถูกเขาทวง ย่อมพูดว่า ข้าพเจ้าจะใช้ให้สองขันธ์ (คือสองส่วน) สามขันธ์ (คือสามส่วน) ดังนี้ เหตุนั้นแม้จะกล่าวว่า ขันธ์ทั้งหลายมีลักษณะเป็นส่วนๆก็ใช้ได้. โดยประการนี้ กองรูป ส่วนรูป จึงชื่อว่า รูปขันธ์ ในสุตตันตภาชนีย์นี้. กองเวทนา ส่วนเวทนา ชื่อว่า เวทนาขันธ์ เพราะฉะนั้นพึงทราบความแห่งสัญญาขันธ์เป็นต้น โดยนัยนี้.

ด้วยอธิบายเพียงเท่านี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงประมวลรูปทั้งหมด ซึ่งได้แก่กองรูปมีประเภทอย่างนี้ คือ ส่วนแห่งรูป 25 และส่วนแห่งรูป 96 ที่ทรงจำแนกไว้ในโอกาส 11 มีเป็นรูปอดีต รูปอนาคต และรูปปัจจุบันเป็นต้น ด้วยพระดำรัสว่า "มหาภูตสี่ และรูปอาศัยมหาภูตสี่" ดังนี้เป็นต้นนั้น² แล้วทรงแสดงว่า ชื่อ รูปขันธ์. อนึ่ง ทรงประมวลเวทนาทั้งหมดซึ่งได้แก่กองเวทนาอันเป็นไปในภูมิสี่ ที่ทรงจำแนกไว้ในโอกาส 11 นั้นแล ด้วยพระดำรัสว่า"สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา" ดังนี้เป็นต้นนั้น แล้วทรงแสดงว่า ชื่อ เวทนาขันธ์ อนึ่ง ทรงประมวลสัญญาทั้งหมด ซึ่งได้แก่กองสัญญาอันเป็นไปในภูมิสี่ ที่ทรงจำแนกไว้ในโอกาส 11 นั้นแล ด้วยพระดำรัสว่า "สัญญาเกิดแต่จักขุสัมผัส ฯลฯ สัญญาเกิดแต่มโนสัมผัส" ดังนี้เป็นต้นนั้น แล้วทรงแสดงว่า ชื่อ สัญญาขันธ์. อนึ่ง ทรงประมวลเจตนาทั้งหมด ซึ่งได้แก่ กองเจตนาอันเป็นไปในภูมิสี่ที่ทรงจำแนกไว้ในโอกาส 11 นั้นแล ด้วยพระดำรัสว่า "เจตนาเกิดแต่จักขุสัมผัสฯลฯ เจตนาเกิดแต่มโนสัมผัส" ดังนี้เป็นต้นนั้น แล้วทรงแสดงว่าชื่อ สังขารขันธ์. อนึ่ง ทรงประมวลจิตทั้งหมด ซึ่งได้แก่กองจิตอันเป็นไปในภูมิสี่ ที่ทรงจำแนกไว้ในโอกาส 11 นั้นเหมือนกัน ด้วยพระดำรัสว่า "จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ
1.อภิ. วิ. 35/193 ฯ
2.อภิ. สงฺ. 34/184 ฯ

(หน้า4/316)
กายวิญญาณ มโนธาตุ มโนวิญญาณธาตุ ดังนี้เป็นต้นนั้น แล้วทรงแสดงว่า ชื่อ วิญญาณขันธ์.

อีกอย่างหนึ่ง ในขันธ์ 5 นี้ รูปที่เกิดแต่สมุฏฐานสี่แม้ทั้งหมด ชื่อ รูปขันธ์ เวทนาที่เกิดกับจิต 89 ดวง มีกุศลจิต 8 ฝ่ายกามาวจรเป็นต้น ชื่อ เวทนาขันธ์ สัญญา ชื่อ สัญญาขันธ์ ธรรมมีผัสสะเป็นต้น ชื่อ สังขารขันธ์ จิต 89 ดวง ชื่อ วิญญาณขันธ์ พึงทราบกำหนดข้อธรรมในขันธ์ 5 แม้อย่างนี้ด้วยประการฉะนี้.

1.นิเทศรูปขันธ์
(2)บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเพื่อจะทรงแสดงจำแนกรูปขันธ์เป็นต้นนั้น จึงตรัสบทวิภังค์เป็นอาทิว่า ตตฺถ กตโม รูปกฺขนฺโธ (ในขันธ์ 5 นั้น รูปขันธ์เป็นไฉน).

วินิจฉัยในบทวิภังค์นั้นดังนี้- บทว่า ตตฺถ แปลว่า ในขันธ์ 5 นั้น.<!--/data/user/0/com.samsung.android.app.notes/files/clipdata/clipdata_bodytext_241217_082301_530.sdocx-->
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่