JJNY : อิสราเอลโปรยใบปลิว│ยูเครนระดมชนเผ่าพื้นเมือง│‘พริษฐ์’ ไม่ติดประชามติ 2 ครั้ง│สำรวจการใช้จ่าย ต.ค. 'หยุดนิ่ง'

อิสราเอลโปรยใบปลิวในฉนวนกาซา เสนอรางวัลแลกเบาะแสตัวประกัน
https://www.pptvhd36.com/news/ต่างประเทศ/208808
 
 
กองทัพอิสราเอลเสนอความคุ้มครองและรางวัลให้ชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา แลกกับการแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับตัวประกัน
 
กองทัพอิสราเอลได้โปรยใบปลิวเข้าไปในฉนวนกาซา โดยเสนอความคุ้มครองและให้รางวัลแก่ชาวปาเลสไตน์ที่มีข้อมูลเกี่ยวกับตัวประกันที่ถูกกลุ่มติดอาวุธฮามาสจับตัวไป
 
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นเหมือนการตอกย้ำถึงความยากลำบากที่รัฐบาลอิสราเอลกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ เพราะเคยประกาศกร้าวไว้แล้วว่าจะ “บดขยี้กลุ่มฮามาส” แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องหาทางเจรจาเพื่อช่วยชีวิตตัวประกันให้ได้มากที่สุด เพราะหากใช้วิธีรุนแรงในการชิงตัวประกันก็อาจทำให้เกิดความสูญเสียยิ่งกว่าเดิม

ณ วันที่ 25 ต.ค. 2023 อิสราเอลรายงานว่า มีชาวอิสราเอลและชาวต่างชาติตกเป็นตัวประกันมากกว่า 200 คน ซึ่งมีทั้งทารก เด็ก ผู้สูงอายุ รวมถึงทหารชายและหญิง และเพิ่งได้รับการปล่อยตัวมาเพียง 4 คนเท่านั้น เป็นชาวอเมริกัน 2 คน และชาวอิสราเอล 2 คน

เชื่อกันว่า ขณะนี้ กำลังมีความพยายามเจรจาบรรลุข้อตกลงปล่อยตัวประกันโดยคนกลางอย่างกาตาร์หรืออียิปต์ และคาดว่ากลุ่มฮามาสอาจยอมปล่อยตัวประกันที่ถือสองสัญชาติอีก 50 คน
 
ที่ผ่านมา กองทัพอิสราเอลใช้วิธีการเฝ้าระวัง การโจมตีของกองกำลังพิเศษ และการสอบสวนสมาชิกกลุ่มฮามาสที่ถูกจับ เพื่อหาข้อมูลบริเวณที่ตัวประกันถูกควบคุมตัวอยู่
 
การโปรยใบปลิวนี้จะช่วยเสริมความพยายามในการค้นหาตัวประกัน แต่ก็เป็นที่น่าฉงนว่า แล้วชาวปาเลสไตน์คนไหนที่จะกล้ายอมรับข้อเสนอของอิสราเอล มีพยานรายงานด้วยว่า หลังใบปลิวโปรยลงมา มีชาวปาเลสไตน์บางคนตรงเข้าไปฉีกมันทิ้งทันที
 
สำหรับเนื้อหาในใบปลิวระบุว่า “หากความปรารถนาของคุณคือการมีชีวิตอยู่อย่างสงบสุขและมีอนาคตที่ดีกว่าสำหรับลูก ๆ ของคุณ ให้ดำเนินการด้านมนุษยธรรมทันที แบ่งปันข้อมูลที่ถูกต้องและมีค่าเกี่ยวกับตัวประกันที่ถูกจับในพื้นที่ของคุณ ... เพื่อตัวคุณและบ้านของคุณ” พร้อมทั้งมีรางวัลสำหรับผู้แจ้งเบาะแสอีกด้วย
 
แต่ความท้าทายที่สุดของอิสราเอลในการช่วยเหลือตัวประกันคือ โครงสร้างอุโมงค์ใต้ดินอันสลับซับซ้อนของกลุ่มฮามาส ที่เชื่อว่าซ่อนอยู่ใต้ฉนวนกาซา
โยเชเวด ลิฟชิตซ์ วัย 85 ปี หนึ่งในตัวประกันชาวอิสราเอลสองคนที่ได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันจันทร์ (23 ต.ค.) กล่าวว่า เธอถูกตีด้วยไม้ขณะถูกพาตัวออกจากบ้านในชุมชนเกษตรกรรมใกล้กับฉนวนกาซา และถูกพาตัวไปยังอุโมงค์ที่ซับซ้อนเหมือนใยแมงมุม
 
คำให้การของเธอยืนยันถึงความท้าทายของความพยายามช่วยเหลือตัวประกันที่เหลือ
 
อิสราเอลมีแผนที่จะเปิดฉากการจู่โจมภาคพื้นดินในฉนวนกาซาเพื่อปล่อยตัวประกันและกวาดล้างกลุ่มฮามาส รวมถึงที่ผ่านมาก็ใช้การโจมตีทางอากาศและการตัดน้ำ-ไฟ-เชื้อเพลิงของกาซา เพื่อกดดันให้มีการปล่อยตัวประกัน
 
กลุ่มฮามาสพยายามชี้แจงเหตุผลของการจับตัวประกัน โดยบอกว่า ต้องการแลกตัวพวกเขากับชาวปาเลสไตน์บางส่วนหรือทั้งหมดที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำอิสราเอล
 
คาเลด เมชาล ผู้นำกลุ่มฮามาสคนสำคัญบอกว่า ตัวประกันจะได้รับการปล่อยตัวหากอิสราเอลหยุดทิ้งระเบิดในฉนวนกาซา “ให้พวกเขาหยุดการรุกรานนี้ แล้วคนกลางในการไกล่เกลี่ย เช่น กาตาร์ อียิปต์ รวมถึงประเทศอาหรับบางประเทศ และประเทศอื่น ๆ จะหาทางที่จะปล่อยพวกเขา และเราจะส่งพวกเขาไปที่บ้านของพวกเขา
 
เขาเสริมว่า “เราต้องการหยุดการโจมตีแบบสุ่ม การทำลายล้างทั้งหมด การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เพื่อที่ฮามาสจะได้นำพวกเขาออกจากที่ของพวกเขา และส่งมอบให้กับกาชาดหรือใครก็ตาม
 
เรียบเรียงจาก The Guardian



ยูเครนระดมชนเผ่าพื้นเมืองไซบีเรีย ตั้งหน่วยต่อต้านปูติน
https://www.pptvhd36.com/news/ต่างประเทศ/208796

ยูเครนตั้งหน่วยทหารใหม่จากชนพื้นเมืองไซบีเรีย โดยจัดตั้งขึ้นเพื่อต่อต้านประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน และกองทัพรัสเซีย
 
สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานเมื่อวานนี้ (24 ต.ค.) ว่า ที่นอกกรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครน มีพลเมืองชาวรัสเซีย 20 คนกำลังฝึกซ้อมยิงปืนไรเฟิลจู่โจม และปืนกล โดยคนเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของกองพันไซบีเรีย ซึ่งเป็นหน่วยทหารน้องใหม่ของกองพันนานาชาติของยูเครน
 
ทั้งนี้สมาชิกของกองพันไซบีเรีย ซึ่งมี 50 นาย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่ได้รับคัดเลือกมาจากชนเผ่าพื้นเมืองในภูมิภาคไซบีเรีย ของรัสเซีย

หนึ่งในทหารอาสาสมัครวัย 29 ปี บอกว่า เขาได้เข้าร่วมกองทัพยูเครนเพื่อต่อสู้กับลัทธิจักรวรรดินิยมของรัสเซียทั้งในยูเครน และในบูเรียเตีย ซึ่งเป็นหนึ่งในเขตการปกครองของรัสเซีย และเป็นบ้านเกิดของเขา ที่ถูกทำลายทั้งวัฒนธรรม ภาษา และประเพณี นับตั้งแต่พระเจ้าซาร์ ได้เข้าไปยังอาณานิคมของพวกเขา
 
ทั้งนี้เป็นที่เลื่องลือว่า ยูเครนได้จัดหากำลังทหารจำนวนมากจากชนเผ่าพื้นเมืองในรัสเซีย เพื่อเข้าร่วมทำสงครามต่อต้านรัสเซีย
 
แม้ว่าในหน่วยทหารกลุ่มคน บางคนไม่ได้มาจากไซบีเรีย แต่ก็มาจากส่วนอื่นๆของรัสเซีย และคนกลุ่มนี้ได้เข้าร่วมทัพยูเครน เนื่องจากได้รับแรงผลักดันมาจากความต้องการของตัวเองในการเข้าร่วมต่อสู้กับรัสเซีย เพื่อยูเครน และเป็นการแสดงความสามัคคีร่วมกับชาวไซบีเรียเพื่อต่อสู้กับจักรวรรดินิยมของรัสเซีย



‘พริษฐ์’ ไม่ติดประชามติ 2 ครั้ง ชี้ ส.ส.เคยเห็นชอบ ไม่มีเหตุผลให้เปลี่ยนจุดยืน
https://www.matichon.co.th/politics/news_4249879

‘พริษฐ์’ ชี้ รับได้หากต้องทำประชามติ 2 ครั้ง ลั่น แม้แก้รธน.ทั้งฉบับ แต่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ เชื่อ เวลาผ่านไปไม่ถึงปี ไม่มีเหตุผลอะไรให้คนเคยเห็นชอบเปลี่ยนจุดยืน ขณะที่ ส.ส.พปชร. ขอเวลาให้รัฐบาลดำเนินการก่อน ไม่ควรทำข้ามหัวสร้างความสับสน ด้าน ‘ขัตติยา’ หวั่น ถูกส.ว.ขวางหากใช้กลไกสภาฯ มั่นใจอนาคตพูดได้เต็มปากได้รธน.เต็มใบ
 
เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 25 ตุลาคม ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม ภายหลังเปิดให้สมาชิกหารือปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนแล้ว เข้าสู่การพิจารณาญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเห็นชอบและแจ้งให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการให้มีการออกเสียงประชามติเพื่อสอบถามความเห็นของประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) เป็นผู้เสนอ

นายพริษฐ์ กล่าวเสนอญัตติว่า พรรค ก.ก. ขอยืนยันว่าการแก้ไขรายมาตราอย่างเดียวไม่เพียงพอ ต่อการแก้ไขปัญหาทั้งหมด แต่เราจำเป็นต้องมีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีปัญหาขาดความชอบธรรมทั้งที่มา กระบวนการ เนื้อหา อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีการท้วงติงว่าการจัดทำประชามติอย่างน้อย 2 ครั้ง คือ ก่อนและหลังยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยหลังยกร่าง หลายฝ่ายไม่ได้ทักท้วง แต่ที่ยังมีข้อถกเถียงกันคือก่อนยกร่างรัฐธรรมนูญจะต้องดำเนินการกี่ครั้ง
 
นายพริษฐ์ กล่าวอีกว่า การจะมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) จะต้องเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน โดยเพิ่มเรื่องนี้เข้าไป ซึ่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256(8) กำหนดไว้ว่าการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นจะต้องจัดทำประชามติ 1 ครั้งเสียก่อนตั้ง สสร. ซึ่งตรงนี้ตรงกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่มีบางฝ่ายตีความว่าจะตั้งทำประชามติก่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ดังนั้น จึงกลายเป็นข้อถกเถียงว่าก่อนที่จะมี สสร.นั้นจะต้องทำประชามติ 1-2 ครั้ง ซึ่งในทางการเมือง พรรค ก.ก. ยอมได้หากจะมีการทำประชามติอีก 1 ครั้งรวมเป็น 2 ครั้งก่อนที่จะมีสสร.
 
ทั้งนี้ ย้ำว่า สสร.จะต้องมาจากการเลือกตั้ง 100% ส่วนข้อกังวลที่ห่วงว่าจะไม่มีผู้เชี่ยวชาญเข้ามายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น สสร.สามารถเปิดให้มีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาแนะนำ ให้คำปรึกษาได้ ขณะที่ข้อกังวลว่าการยกร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐและการปกครองนั้น ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 255 ของรัฐธรรมนูญห้ามไว้ว่าการกระทำนั้นไม่สามารถทำได้อย่างแน่นอน
 
นายพริษฐ์ กล่าวด้วยว่า คำถามที่เรานำเสนอเพื่อใช้สำหรับถามในการทำประชามติ เป็นคำถามที่ทุกพรรคการเมืองสภาฯ ชุดที่แล้ว นำเสนอไว้ก่อนแล้ว ไม่ใช่คำถามใหม่ เพราะเคยเสนอโดย นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ก.ก. และนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์  ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย (พท.) และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง มาแล้วเมื่อปี 2565 และยิ่งกว่านั้นญัตติคราวที่แล้ว เดือนพฤศจิกายน 2565 ได้รับมติเอกฉันท์ท่วมท้นจากทุกพรรคการเมืองหลัก
 
ดังนั้น ส.ส.ทุกคนที่เคยให้ความเห็นชอบ ตนเชื่อว่าเวลาผ่านไปยังไม่ถึงหนึ่งปี คงไม่มีเหตุผลที่จะทำให้ส.ส.เปลี่ยนจุดยืน แต่หากจะเปลี่ยนจุดยืน ตนก็หวังว่าส.ส.เหล่านั้นจะรับผิดชอบอภิปรายต่อสภาฯ ว่าทำไมจุดยืนถึงเปลี่ยนแปลงไป
 
จากนั้น นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่ต้องคำนึงว่าการแก้ไข้ต้องแก้ให้เหมาะสมกับเวลา และสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งญัตติที่เพื่อนสมาชิกเสนอให้แก้ไขได้ทั้งฉบับ แน่นอนว่ารวมถึงหมวด 1 และหมวด 2 ตน และพรรคพลังประชารัฐยืนยันมาตลอด ว่าหากเป็นการแก้ไขดังกล่าวพรรคจะไม่ร่วมแก้ไขอย่างแน่นอน เรามีจุดยืนชัดเจนที่จะไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด 1 และหมวด 2
 
นอกจากนี้ ตนยังเห็นความตั้งใจจริงของรัฐบาลที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ในอนาคตอย่างจับต้องได้เป็นรูปธรรม เราจึงควรให้เวลารัฐบาล และอนุกรรมการทั้งสองคณะที่ตั้งขึ้น หากกระบวนการไม่คืบหน้า ตนจะเป็นคนหนึ่งที่ใช้กลไกรัฐสภามาทวงถามเร่งรัดรัฐบาล และคณะอนุกรรมการทั้งสองคณะ ถ้าตนเห็นชอบญัตติในวันนี้จะเป็นการข้ามหัวรัฐบาล และอนุกรรมการทั้งสองคณะที่กำลังทำงานอยู่ จึงขอย้ำว่าขอให้เวลารัฐบาลได้ทำงานด้านการเมืองคือการพิจารณาการทำประชามติพร้อมกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาปากท้องให้ประชาชน ที่วันนี้มีความคืบหน้าแล้วหลายนโยบาย
 
ผมยืนยันว่ายังเชื่อมั่น และยังให้เวลารัฐบาล ว่าในอนาคตอันใกล้การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะถูกแก้ไขอย่างแน่นอน และเพื่อไม่ให้เกิดความสับสน หากเรารับญัตติของนายพริษฐ์จะเป็นการทำงานซ้ำซ้อน จึงคิดว่าวันนี้ยังไม่ถึงเวลา” นายอรรถกร กล่าว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่