JJNY : 5in1 พริษฐ์เชื่อเป็นเรื่องปกติ│พริษฐ์หารือชูศักดิ์│ชาวไร่มันโอด│ไม่เห็นด้วยขึ้นค่าแรง│ยูเครนแฉทหารเกาหลีเหนือตาย

พริษฐ์เผย ยังไม่ทราบ พปชร. ร่วมดินเนอร์ฝ่ายค้านหรือไม่ เชื่อเป็นเรื่องปกติ แนวทางทำงานต่างกัน
https://thestandard.co/parit-comments-pprp-dinner-opposition-normal-differences/
 
 
วันนี้ (16 ธันวาคม) พริษฐ์​ วัชร​สินธุ​ สส. แบบบัญชี​รายชื่อ​ และโฆษกพรรคประชาชน​ กล่าวถึงการนัดหมายรับประทานอาหารร่วมกันของพรรคร่วมฝ่ายค้าน โดยระบุว่า พรรคร่วมเองต้องประสานทำงานกันอย่างใกล้ชิด​ เพราะพรรคที่ไม่ได้อยู่ในพรรคร่วมรัฐบาลแต่ละพรรคอาจมีอุดมการณ์​และนโยบายที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งเป็นเรื่องปกติ​ จึงต้องพูดคุยกันอย่างไม่เป็นทางการเป็นระยะ ​เพื่อให้การทำงานเชิงธุรการเกิดความราบรื่น​
 
อย่างไรก็ตาม พริษฐ์ระบุว่า ยังไม่ทราบในรายละเอียดว่าจะมีพรรคใดเข้าร่วมบ้าง แต่ก็ยึดตามพรรคที่อยู่ในวิปฝ่ายค้าน พร้อมมองว่าการที่ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ จะไม่เข้าร่วมการหารือครั้งนี้ ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะ พล.อ. ประวิตร แทบจะไม่ได้เดินทางมาประชุมสภาผู้แทนราษฎรอยู่แล้ว
 
ส่วนพรรคร่วมฝ่ายค้านและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐสามารถทำงานร่วมกันได้หรือไม่นั้น หรือจะแยกเป็นเอกเทศ พริษฐ์ระบุว่า ระบบรัฐสภา การทำงานร่วมกันของพรรคร่วมฝ่ายค้านไม่จำเป็นต้องทำงานเหมือนกัน เพราะการตัดสินใจร่วมกันของพรรคร่วมรัฐบาลจะต้องมีจุดยืนและนโยบายต้องสอดคล้องกันในระดับหนึ่ง เอกภาพค่อนข้างสูง แต่ฝ่ายค้านคือบรรดาพรรคการเมืองที่เหลืออยู่ที่ไม่ได้อยู่ในพรรคร่วมรัฐบาล เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องปกติมากที่พรรคการเมืองที่เหลืออยู่จะมีนโยบายและแนวทางที่ไม่เหมือนกัน
 
สำหรับประเด็นที่จะนำมาหารือนั้น พริษฐ์กล่าวว่า รายละเอียดขอรออย่างเป็นทางการอีกครั้งก่อน แต่ส่วนตัวคิดว่า​การทำงานของพรรคร่วมฝ่ายค้านไม่เหมือนกับการทำงานของพรรคร่วมรัฐบาลที่ต้องตกลงหารือในทุกเรื่อง​ และแต่ละพรรคมีจุดยืนไม่เหมือนกัน​ แต่ในฐานะแกนนำพรรคฝ่ายค้าน คิดว่าสิ่งที่มุ่งมั่นตั้งใจ​ การประชุมสภาจะเปิดไปจนถึงช่วงสงกรา​นต์ ซึ่งมี​ 2 เรื่องสำคัญ คือทำหน้าที่ในการตรวจสอบ​การทำงานของรัฐบาล​ และมีโควตาในการเปิดอภิปรายทั่วไปลงมติไม่ไว้วางใจ
 
พริษฐ์​กล่าวด้วยว่า​ พรรคร่วมฝ่ายค้านแต่ละพรรคย่อมได้รับการคาดหวังจากประชาชนที่จะตรวจสอบรัฐบาล​ แต่เมื่อชุดอุดมการณ์​และนโยบายไม่เหมือนกัน​ มุมมองในการตรวจสอบอาจแตกต่างกัน​บ้าง​ พร้อมกับมองว่าในฐานะพรรคแกนนำฝ่ายค้าน ย้อนดูตั้งแต่สภาชุดที่แล้วมาจนถึงสภาชุดนี้ พรรคประชาชนย้อนไปถึงพรรคก้าวไกล​ มีการปรับเปลี่ยนพรรคร่วมฝ่ายค้านมาพอสมควร ส่วนตัวคิดว่าในมุมมองของพรรคประชาชน เราก็มีสมาธิเต็มที่ในการทำหน้าที่ แต่อะไรที่ต้องร่วมมือในเชิงธุรการ ในฐานะพรรคร่วมฝ่ายค้าน เราก็ให้ความร่วมมือกัน
 


พริษฐ์เข้าหารือชูศักดิ์ เห็นตรงกันแก้ประชามติ 2 ครั้ง เชื่อหาก ครม. ยื่นร่างประกบฝ่ายค้าน โอกาสสำเร็จยิ่งเพิ่ม
https://thestandard.co/thai-referendum-amendment-political-negotiation/

วันนี้ (16 ธันวาคม) ชูศักดิ์​ ศิรินิล​ รัฐมนตรี​ประจำ​สำนักนายก​สำนักนายกรัฐมนตรี​ กล่าวภายหลังการหารือกับ พริ​ษฐ์​ วัชร​สินธุ​ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร โดยที่ประชุมมีมติว่า​พริษฐ์​หารือร่วมกับประธานสภาผู้แทน​ราษฎร​ถึงการทำประชามติเพียง 2 ครั้งก็เพียงพอ พร้อมเชิญตัวแทนรัฐบาลเข้าหารือด้วย​ หากทำประชามติ 2 ครั้งได้ การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเสร็จภายในรัฐบาลนี้ ตนเองจึงรับปากว่าจะไปร่วมหารือ​ 
 
นอกจากนี้จะหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ว่าจะเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้งหรือไม่​ หลังจากที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรเคยไม่บรรจุเข้าวาระ​ แต่เมื่อพริษฐ์​ชวนให้รัฐบาลเสนอร่างประกบ จึงบอกว่าขอไปหารือก่อน
 
ส่วนการทำประชามติ 2 ครั้งจะขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ชูศักดิ์​กล่าวว่า เดิมมติ ครม. จะให้ทำประชามติ 3 ครั้ง แต่เมื่อเรื่องมาถึงขนาดนี้การทำประชามติ 3 ครั้งคงไม่ทัน​ จึงเกิดความคิดว่าจะทำอย่างไรให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จได้ภายในรัฐบาลชุดนี้ 
 
“เพราะฉะนั้นอย่าถามว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะเป็นเรื่องของความเห็น​ อย่างไรก็ตาม ประเด็นอยู่ที่ว่าประธานสภาผู้แทนราษฎรจะบรรจุร่างหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นก็จะนำไปสู่การทำประชามติ 2 ครั้งได้” ชูศักดิ์กล่าว
 
ด้านพริษฐ์​กล่าวว่า​ หลังจากเปิดประชุมสภาเมื่อวันที่ 12 ธันวาคมที่ผ่านมา ตนเองและ สส. พรรคประชาชน เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม แก้ไขมาตรา 256 และหมวด 15/1 ให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) มาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งมี 2 ด่านที่ต้องฝ่าให้ได้​ หากทั้งรัฐบาลและ ครม. ให้ความร่วมมือมากเท่าใด โอกาสที่จะประสบความสำเร็จก็จะมีมากขึ้น 
 
โดยด่านแรกคือทำอย่างไรให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรยอมบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าวาระ ซึ่งเมื่อยื่นไปอีกครั้ง โดยภายใน 15 วัน​หรือภายในวันที่​ 27 ธันวาคม​ ประธานสภาผู้แทนราษฎรจะต้องมีการหารือกับผู้เสนอ และวินิจฉัยว่าจะบรรจุร่างฯ ฉบับนี้หรือไม่​ หากทำได้การเดินหน้าจัดทำประชามติก็จะสามารถทำได้ ผมจึงมาขอความร่วมมือจากรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือในด่านแรก” พริษฐ์กล่าว
 
พริษฐ์​เผยว่า​ ได้หารือกับ พงศ์เทพ​ เทพกาญจนา​ ที่ปรึกษาด้านนโยบายของนายกรัฐมนตรี​ ซึ่งพงศ์เทพ​ก็จะร่วมหารือในครั้งดังกล่าวด้วย​ และโดยส่วนตัวมองว่านอกจากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาชนแล้ว หากมีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยหรือร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของ ครม. เข้ามาประกบก็จะทำให้มีน้ำหนักมากขึ้น​ ซึ่งหากผ่านด่านแรกได้แล้วก็จะเข้าสู่วาระการพิจารณาของสภาผู้แทน​ราษฎร​ และเชื่อว่ารัฐบาลจะมีบทบาทสำคัญต่อ สส. ฝั่งรัฐบาล และ สว. เพื่อให้แนวทางดังกล่าวผ่านทั้ง 3 วาระ​ 
 
ส่วนการหารือกับประธานสภาผู้แทนราษฎรจะเกิดขึ้นเมื่อใดนั้น ต้องอยู่ที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้กำหนด แต่หากไม่มีข้อติดขัดอะไรร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะถูกบรรจุทันที​ แต่เนื่องจากเรื่องนี้มีข้อขัดแย้ง จึงคาดว่าจะต้องมีการหารือก่อนบรรจุวาระ



ชาวไร่มันสำปะหลัง โอดปีนี้ขาดทุนยับ ราคาดิ่งเหลือกิโล 1.30 บาท วอนรัฐช่วยเหมือนชาวนา
https://www.matichon.co.th/region/news_4955934

จังหวัด​อุทัยธานี ชาวไร่มันสำปะหลัง​โอด ราคาดิ่งเหลือกิโลละ 1.30 บาท ปีนี้ขาดทุนยับ อยากให้รัฐช่วยเหมือนชาวนาบ้าง
 
เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ที่ จังหวัด​อุทัยธานี​ เกษตรกรชาวไร่มันสำปะหลังโอดหนัก หลังราคามันสำปะหลัง​ปีนี้ตกฮวบเหลือแค่ กิโลกรัม​ละ 1.30 บาท ซึ่งถือเป็นราคาที่ต่ำสุดในรอบ 20 ปี โดยผู้สื่อข่าว ลงพื้นที่ไปยังบ้านถ้ำสนามบินสนามบิน หมู่ที่ 8 ตำบลเขากวางทอง อำเภอหนองฉาง จังหวัดอุทัยธานี ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ทำไร่มันสำปะหลังเพื่อส่งขายกันเป็นหลัก
 
โดย นายขวัญเมือง (สงวนนามสกุล) อายุ 53 ปี หนึ่งในเกตรกรที่ปลูกมันสำปะหลังไว้กว่า 20 ไร่ เปิดเผยว่า ในขณะนี้นั้นราคามันหัวสำปะหลังสดนั้นตกต่ำอย่างมาก โดยลานตากมันต่างๆ รับซื้อเพียงกิโลกรัมละ 1.30 บาท เท่านั้นนับว่าในรอบ 20 ปี ตั้งแต่ปลูกมันเลยก็ว่าได้ที่ราคาตกต่ำแบบนี้ ซึ่งเมื่อปีที่แล้วนั้นราคาที่ลานตากรับซื้อถึงกิโลกรัมละ 2.50 บาท
 
พอมาปีนี้ถึงกับท้อถอยไม่อยากทำไร่มันสำปะหลังต่อด้วยซ้ำไป โดยบริเวณบ้านถ้ำสนามบินแห่งนี้นั้นมีไร่มันสำปะหลังกว่า 1,000 ไร่ ซึ่งผู้ที่ปลูกมันนั้นเริ่มบ่นตามๆกัน ซึ่งในการลงทุนทำไร่มันสำปะหลังต่อ 1 ไร่ นั้นจะใช้เงินประมาณ 7,000-8,000 บาท พอมาคำนวนเงินที่ลงทุนกับราคามันที่ขายไปนั้น ทำให้ขาดทุนอย่างแน่นอน
 
ซึ่งหวังจะนำเงินที่ได้มาก้อนนี้ไปใช้หนี้ ธกส.ที่กู้ยืมมาลงทุนมาทำไร่กัน แต่พอมาเจอราคาแบบนี้อาจจะต้องมีหนี้เพิ่มกันไปอีก ที่ผ่านมาก็ต้องเจอกับปัญหาเรื่องแล้งและโรคที่มาทำให้มันสำปะหลังนั้นตายบ้างแต่ก็ทนสู้เรื่อยมาแต่พอมาเจอราคาแบบนี้แทบจะแย่กันเป็นแถว ซึ่งหากราคายังตกต่ำแบบนี้ก็ต้องปรับเปลี่ยนไร่มันสำปะหลังไปปลูกอย่างอื่นที่ดีกว่าอย่างแน่นอน ซึ่งอยากให้ทางรัฐบาล​มีการช่วยเหลือเยียวยา​ชาวไร่ เหมือนกับที่ช่วยชาวนาบ้าง นายขวัญเมืองฯ กล่าว



ปิดไปเยอะแล้ว! เจ้าของบริษัทผลิตอาหารยักษ์ใหญ่ชื่อดัง ไม่เห็นด้วยรัฐบาลเตรียมปรับขึ้นค่าแรง
https://www.dailynews.co.th/news/4193249/

ซีอีโอ บริษัทอาหารทะเลส่งออกรายใหญ่ ติดอันดับ 10 ใน จ.ตรัง ยันไม่เห็นด้วยรัฐบาล "นายกฯ อิ๊งค์" เตรียมปรับขึ้นค่าแรงงาน แนะควรมีความเข้มแข็งในการบริหารบ้านเมืองมากนี้

เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 67 ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก นายบุญชู ศัยศักดิ์พงษ์ ซีอีโอ บริษัทตรังผลิตภัณฑ์อาหารทะเล จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบกิจการส่งออกอาหารทะเลแช่แข็งรายใหญ่ของ จ.ตรัง ติดอันดับ 10 จาก 16 อันดับของภาคใต้ มีมูลค่ากว่า 2 พันล้านบาท โดยทางบริษัทฯ ส่งอาหารทะเลแปรรูปไปในหลายประเทศ เช่น ประเทศจีน ญี่ปุ่น ส่วนใหญ่จะเป็นกุ้ง ที่รับซื้อภายในจังหวัดและต่างจังหวัด เนื่องจากขณะนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งลดลงเป็นอย่างมาก มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย ที่ผ่านมา จ.ตรัง มีการเลี้ยงกุ้งประมาณ 6 แสนตันต่อปี แต่ในขณะนี้มีเพียง 2 แสน 7 หมื่นตันต่อปี และมีทีท่าว่าจะลดลงอีก
 
ในขณะที่กุ้งของเกษตรกรที่จับมาจำหน่ายก็มีตัวเล็กลง เพราะว่าเกษตรกรต้องรีบจับมาขาย เพื่อป้องกันการขาดทุน ส่วนที่ส่งออกอีกชนิดก็จะเป็นเนื้อปลาแซลมอน ซึ่งเนื้อปลาแซลมอนต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ มีต้นทุนที่ค่อนข้างสูง ซึ่งการส่งออกอาหารทะเลแช่แข็งนั้น ตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปีไปจนถึงปีหน้า ก็ถือว่ายังทรงตัวอยู่ได้ ปัจจัยหลักๆ นั้นมาจากปัญหาทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะที่ประเทศญี่ปุ่นนั้นประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ ทำให้กำลังซื้อลดลงไปบ้าง
 
ส่วนของการปรับค่าแรง 400 บาท หรือมีบางกระแสต่อไปจะปรับค่าแรงถึง 700 บาทนั้น ในปัจจุบันนี้มองว่ายังไม่สมควรที่จะมีการปรับขึ้นค่าแรง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจยังไม่ดี การบริหารงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลยังไม่เห็นเป็นรูปธรรม ประชาชนก็ขาดกำลังซื้อ เงินในกระเป๋าของประชาชนแทบจะไม่เหลือ เพียงแค่กระแสการปรับค่าแรงก็ส่งผลให้ราคาสินค้าบางชนิดมีการปรับขึ้นไปรอกันแล้ว อีกทั้งการปรับค่าแรงยังส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ ซึ่งก็มีหลายโรงงานแล้วที่ประกาศปิดโรงงาน ทำให้พนักงานตกงานจำนวนมาก อีกทั้งประชาชนผู้บริโภคเองก็ได้รับผลกระทบหากมีการปรับค่าแรง สินค้าก็ต้องแพงขึ้นไปอีก ส่วนตัวมองว่านายกรัฐมนตรีควรมีความเข้มแข็งในการบริหารบ้านเมืองมากนี้
 
เพราะว่าที่ผ่านมาประชาชนนั้นในระดับรากหญ้าหรือระดับกลาง มีรายได้ลดลงอย่างมาก เมื่อประชาชนไม่มีรายได้เพิ่มขึ้น การจับจ่ายซื้อสินค้าก็ลดลงตามไปด้วย ดังนั้นนายกรัฐมนตรีต้องเร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโดยเร็ว และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในการแก้ปัญหา ก่อนที่ประชาชนจะมีความลำบากไปมากกว่านี้ และขาดความเชื่อมั่นในการบริหารงานรัฐบาล ที่ไม่สามารถช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการได้.
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่