JJNY : อุ๊งอิ๊งชี้ 4ปัจจัยทำท่องเที่ยวโตช้า| จิราพรเย้ยเจรจาFTA ยังไม่สำเร็จ| นิกรหนุนร่างแก้รธน.เพื่อไทย|ไม่อยู่แล้วจีน

อุ๊งอิ๊ง ชี้ 4 ปัจจัย ทำท่องเที่ยวไทยเติบโตกว่าช่วงโควิด
https://www.matichon.co.th/politics/news_3731074
  
 
อุ๊งอิ๊ง ชี้ 4 ปัจจัย ทำท่องเที่ยวไทยเติบโตกว่าช่วงโควิด อ่านเทรนด์โลกให้ขาด-สร้างแรงงานให้พร้อม-กิโยตินกฎหมาย-สร้างการตลาดให้ทั่วโลกเชื่อมั่น มั่นใจ ย้ำ จุดยืน ”เพื่อไทย” เสนอปี 70 ไทยต้องเป็นแลนด์มาร์กสำคัญของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
 
เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม พรรคเพื่อไทย (พท.) โพสต์เฟซบุ๊กแฟนเพจระบุข้อความถึงการเสวนาแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้ประกอบการท่องเที่ยวเมื่อวันศุกร์ที่ 17 ธันวาคมที่ผ่านมา ที่พรรค พท. โดยร่วมแสดงความเห็นแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยในปี 2570 โดยตั้งเป้าหมายประเทศไทยเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ว่า ใครๆ ก็บอกว่าการท่องเที่ยวเป็นเอนเจน (Engine) สำคัญที่สร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย แต่พอถึงวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 การท่องเที่ยวไทยก็ล้มลงทันที จนทุกวันนี้แม้โควิด-19 จะซาลง รัฐบาลลดมาตรการควบคุมโรคระบาด นักท่องเที่ยวทยอยเข้ามาเที่ยวกันแล้ว แต่ปัญหาหลายอย่างก็ยังคงอยู่ อนาคตการท่องเที่ยวไทยจะไปทางไหนก็ยังไม่มีทิศทางชัดเจน คือเสียงสะท้อนจากวงแลกเปลี่ยนความคิดจากภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ที่ทำให้กลับมาคิดตกตะกอนอะไรได้หลายอย่าง
 
น.ส.แพทองธาร ระบุด้วยว่า พูดกันตามจริง ในฐานะผู้ประกอบการเหมือนกัน การท่องเที่ยวบ้านเรายังไม่ฟื้น ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะตั้งแต่ก่อนโควิด-19 การท่องเที่ยวของบ้านเราไม่มีรากฐานที่แข็งแรงมากพอ เมื่อเจอ worst case scenario จึงล้มลงและยากที่จะฟื้นฟูให้เป็นเหมือนเดิม จะดีกว่าหรือไม่ ถ้ารัฐบาลในสมัยหน้ามองการณ์ไกลหรือรับมือกับสถานการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที จนไม่ทำให้ engine ที่สำคัญของ GDP ไทยต้องตกหลุมตกบ่อ ชะงักงันขนาดนี้ และจากการพูดคุยในวงนี้ทำให้รู้เลยว่าการพาให้การท่องเที่ยวไทยเติบโตมากกว่าก่อนโควิด-19 มี 4 เรื่องที่ต้องทำ ดังนี้

1. อ่านเทรนด์โลกให้ขาด แต่เดิมภาพรวมตลาดการท่องเที่ยวไทยพึ่งตลาดจีนกว่า 60% แต่พอมีนโยบาย Zero-Covid ก็ทำให้นักท่องเที่ยวจีนไม่สามารถมาเที่ยวเมืองไทยได้ การท่องเที่ยวไทยก็ล้มลงทันที การท่องเที่ยวบ้านเราจะทำแบบนั้นไม่ได้แล้ว เราควรมองเทรนด์ผู้บริโภคให้ขาด ทุกวันนี้คนเราหันมาสนใจดูแลตัวเองกันมากขึ้น ธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมีการเติบโตสูงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2020 ตัวเลขจาก Global Wellness Institute ประเมินว่า ตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของโลกมีแนวโน้มเติบโตจาก 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2020 เป็น 11 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2025 ขณะที่ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 15 ของตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของโลกในปี 2020 และมีแนวโน้มว่าจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เห็นตัวเลขอย่างนี้แล้วก็น่าสนใจ เพราะตลาดนี้ผู้บริโภคส่วนใหญ่แล้วเป็นกลุ่มที่มีกำลังทรัพย์และอิสระทางเวลา ถ้าประเทศไทยสามารถปักหมุดเรื่องนี้ เท่ากับเราสามารถกำลังดึงนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงเข้ามา
 
2. สร้างแรงงานให้พร้อม ไทยเรามีแรงงานด้านการท่องเที่ยวประมาณ 1.4 ล้านคน แต่ช่วงโควิด-19 ทำให้ต้องลดพนักงานลง พอประเทศเปิด ธุรกิจท่องเที่ยวเริ่มเข้าที่เข้าทาง แรงงานไทยเราก็กลับเข้าสู่ระบบไม่ทัน ตั้งแต่กลุ่มอาชีพสายบริการ การโรงแรม จนไปถึงธุรกิจการบิน ถ้าไทยจะปักหมุดเรื่องการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพให้อยู่ในใจคนทั่วโลก การส่งเสริมและสนับสนุนภาคการศึกษาเพื่อเตรียมแรงงานให้พร้อมสำหรับธุรกิจนี้ หรือจะเป็นการเจรจากับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้แรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศเพิ่มขึ้นในบางสาขางานของอุตสาหกรรมนี้ที่หาแรงงานได้ยากจริงๆ ก็น่าจะนับเป็นอีกหนึ่งยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวที่น่าสนใจ 
 
3. กิโยตินกฎหมาย กฎหมายไทยเราซับซ้อนมากเกินไป แต่ละหน่วยงานมีระเบียบของตัวเอง บางระเบียบก็ขัดแย้งกัน เช่น เรามี พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรงแรมที่ดูแลเรื่องมาตรฐาน แต่ พ.ร.บ.นี้กลับอยู่ในอำนาจมหาดไทย ขณะที่เรื่องโฮมสเตย์ กลับอยู่ในอำนาจของกรมการท่องเที่ยว ส่วนเรื่องการทำแพเป็นเรื่องของกรมเจ้าท่า การอนุญาตให้ตั้งที่พักในอุทยานแห่งชาติ ก็เป็นอำนาจของกรมอุทยานฯ ฉะนั้นแล้ว กฎหมายอะไรที่ล้าสมัย ไม่ตอบโจทย์ยุคสมัย ก็ควรยกเลิกหรือแก้ไขได้แล้ว เพราะว่าไปแล้ว กฎหมายนอกจากทำหน้าที่ควบคุมระเบียบสังคมแล้วควรเอื้ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการทำธุรกิจด้วยหรือไม่
 
4. สร้างการตลาดทำให้คนทั่วโลกเชื่อมั่นและมั่นใจอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย แต่เดิม Sea Sand Sun ของบ้านเราเป็นที่นิยมชมชอบอยู่แล้ว แต่ถ้าเราเพิ่มมูลค่าของการท่องเที่ยวให้มากกว่าแค่เรื่องธรรมชาติ แต่เป็น “ธรรมชาติ+สุขภาพ+วิทยาศาสตร์” แล้วใส่ความคิดสร้างสรรค์ในการเพิ่มความรับรู้ของนักท่องเที่ยวผ่านหลายช่องทางของการสื่อสาร จะสร้างมูลค่าได้เพิ่มอีกมาก ทั้งหมดนี้ไม่ได้พูดแค่ในฐานะผู้ประกอบการ แต่อยากลองแชร์ไอเดียในฐานะคนหนึ่งคนที่อยากเห็นการท่องเที่ยวของประเทศไทยดีขึ้นทั้งระบบด้วย เพราะทุกคนในระบบตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ต่างก็จะมีชีวิตที่ดีขึ้นด้วย ทั้งนี้ แน่นอนว่า การจะผลักดันเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีการศึกษา พูดคุย จนเกิดความร่วมมือในระดับวงกว้างกับทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน มหาวิทยาลัย เอ็นจีโอ และประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการยกระดับการท่องเที่ยวทั้งระบบ และร่วมกันกำหนดว่าการท่องเที่ยวไทยควรไปในทิศทางใด

เหมือนที่พรรคเพื่อไทยเสนอไว้ว่าในปี 2570 การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทยจะต้องกลายเป็นแลนด์มาร์กที่สำคัญของโลก สร้างงานสร้างรายได้มากกว่า 3 ล้านล้านบาท และเทศกาลต่างๆ ในไทย เช่น สงกรานต์หรือลอยกระทง จะต้องถูกนักท่องเที่ยวต่างชาติปักหมุดไว้ในปฏิทินของตน แค่คิดอยู่ในหัวยังตื่นเต้นเลย ยังไงก็ขอบคุณทุกคนในวง ที่มาบอกเล่าประสบการณ์ แลกเปลี่ยนความคิด และแชร์แง่มุมต่างๆ ให้ฟังกันอีกครั้ง เป็นวันที่ได้รับอาหารสมองมากมายเลย” น.ส.แพทองธาร ระบุ



จิราพร เย้ย รบ.ประยุทธ์ เจรจา FTA ไทย-อียู ยังไม่สำเร็จแน่ ไล่พ้นนายกฯ ให้คนมีฝีมือทำแทน
https://www.matichon.co.th/politics/news_3731083
 
จิราพร เย้ย รบ.ประยุทธ์ เจรจา FTA ไทย-อียู ยังไม่สำเร็จแน่ ไล่พ้นนายกฯ ให้คนมีฝีมือทำแทน
  
เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางไปร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหภาพยุโรป สมัยพิเศษ ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ว่า แม้ในการประชุมครั้งนี้ ไทยได้ลงนามในกรอบความตกลงความเป็นหุ้นส่วน และความร่วมมือรอบด้านระหว่างสหภาพยุโรป และรัฐสมาชิกกับราชอาณาจักรไทย (Thai EU Partnership and Cooperation Agreement หรือ Thai-EU PCA) ซึ่งอ้างว่าจะเป็นพื้นฐานที่นำไปสู่การจัดทำ FTA ไทย-สหภาพยุโรป แต่ข้อเท็จจริงคือ หากประเทศไทยยังบริหาร โดยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ การเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป ไม่มีทางจะสำเร็จได้อย่างที่กล่าวอ้างแน่นอน
 
น.ส.จิราพร กล่าวต่อว่า ไทยเริ่มเจรจาจัดทำ FTA ไทย-สหภาพยุโรป ในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แต่สหภาพยุโรปขอระงับการเจรจาในปี 2557 เนื่องจากมีการทำรัฐประหารโดย พล.อ.ประยุทธ์ ในขณะที่ประเทศสมาชิกอาเซียนอย่างสิงคโปร์ และเวียดนาม ที่เริ่มการเจรจาในเวลาใกล้เคียงกับไทยสามารถเจรจาแล้วเสร็จ และใช้ประโยชน์จาก FTA เรียบร้อยแล้ว ทำให้ไทยเสียโอกาสมหาศาล
 
แม้ต่อมารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จะใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 สืบทอดอำนาจผ่านการเลือกตั้งที่ประชาชนตั้งข้อกังขามากมาย แต่ได้พิสูจน์ความด้อยประสิทธิภาพของ พล.อ.ประยุทธ์ชัดเจนแล้ว เพราะหลังการเลือกตั้งผ่านไปเกือบ 4 ปี ก็ยังไม่สามารถผลักดันการเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป ให้เกิดขึ้นได้ แทนที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จะให้ความสำคัญกับการผลักดันการเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป อย่างจริงจัง ซึ่งไทยจะสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ได้มากกว่า แต่ตลอดหลายปีที่ผ่านมา กลับไปทุ่มสรรพกำลัง และงบประมาณไปกับความตกลง CPTPP ทั้งๆ ที่ไทยอาจได้ไม่คุ้มเสีย และมีเสียงคัดค้านอย่างหนักจากหลายฝ่าย จนสุดท้ายการเจรจาก็ยังไม่เกิดขึ้น
 
การลงนามกรอบข้อตกลง PCA ไม่ใช่เครื่องยืนยันว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์จะสามารถผลักดันให้เกิด FTA ไทย-สหภาพยุโรป ได้สำเร็จ เพราะวันนี้ได้พิสูจน์แล้วว่า มือไม่ถึงในเรื่องการค้าระหว่างประเทศ ตั้งแต่แถลงนโยบายในปี 2562 ผ่านมาเกือบ 4 ปี ยังไม่สามารถรื้อฟื้นการเจรจากับสหภาพยุโรป ที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ริเริ่มไว้ได้ การทำรัฐประหารของ พล.อ.ประยุทธ์ ทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสมหาศาลในการแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในเวทีโลก ต้นทุนที่ประเทศต้องจ่ายให้กับความไร้ประสิทธิภาพของ พล.อ.ประยุทธ์สูงเกินกว่าที่จะประเมินได้ จึงควรถอยให้รัฐบาลที่มีฝีมือเข้ามาบริหารประเทศแทน” น.ส.จิราพร กล่าว
 


นิกร หนุน ร่างแก้รธน.เพื่อไทย เชื่อ ผ่านยาก เหตุต้องใช้เสียง 84 ส.ว.ร่วมด้วย
https://www.khaosod.co.th/update-news/news_7419257

นิกร หนุน ร่างแก้รธน.เพื่อไทย ชี้ ผ่านยาก เหตุ มีเงื่อนไข 84 ส.ว.ต้องร่วมด้วย แนะ ยึดบรรหารโมเดล-นำประเด็นหาเสียง ให้ประชาชนสนับสนุน ก่อนแก้ทั้งฉบับ
 
เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2565 นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวถึงกรณีพรรคเพื่อไทย เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยประเด็นการเสนอชื่อบุคคลให้สภาฯ เลือกเป็นนายกฯ และตัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ ว่า หากทันเสนอให้รัฐสภาพิจารณา ตนพร้อมจะลงมติสนับสนุน แต่กังวลว่าจะทำได้เพียงเสนอ แต่ไม่สามารถทำได้สำเร็จ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญทำให้แก้ไขได้ยาก ต้องมีเสียงส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ 84 เสียงร่วมเห็นชอบด้วย 
 
นายนิกร กล่าวต่อว่า ประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญ พรรคชาติไทยพัฒนากำหนดไว้เป็นนโยบายที่จะหาเสียงเลือกตั้งกับประชาชน เพื่อให้เป็นพลังในการสนับสนุนให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้สำเร็จ เหมือนสมัยที่นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย เคยดำเนินการ โดยเริ่มจากการหาเสียงกับประชาชนเพื่อให้เป็นพลังสนับสนุน จากนั้นหลังเลือกตั้งจึงขับเคลื่อนแก้ไข และได้มาเป็นรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540
 
นายนิกร กล่าวว่า โดยประเด็นที่พรรคชาติไทยพัฒนาจะขับเคลื่อน คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ประชาชนมีส่วนร่วมยกร่าง และประเด็นที่พรรคเพื่อไทยเสนอนั้น ถือเป็นประเด็นสำคัญที่จะต้องแก้ไขด้วยเช่นกัน
  
ประเด็นที่พรรคเพื่อไทยเสนอ อาจจะเสนอเพื่อบอกกับประชาชนไว้ในช่วงเลือกตั้ง แต่อาจหวังผลไม่ได้ สู้ประกาศกับประชาชนและให้ประชาชนสนับสนุน เพื่อเป็นพลังที่นำไปสู่การแก้ไขทั้งฉบับ” นายนิกร กล่าว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่