JJNY : 5in1 15 องค์กรนศ.แถลงร่วม│‘ชูศักดิ์’ชี้ศาลรธน.มีปัญหา│เล็งใช้ม.152เปิดอภิปราย│ดร.ธนพรเตือนการเมือง│จับตาโอเปกพลัส

15 องค์กรนักศึกษา แถลงการณ์ร่วม 'ประยุทธ์' ได้ไปต่อ ฟาดแรง 'นายกฯเถื่อน'
https://www.khaosod.co.th/politics/news_7295056
 
 
15 องค์กรนักศึกษา แถลงการณ์ร่วม ปม ‘ประยุทธ์’ ได้ไปต่อ ฟาดแรง ‘นายกฯเถื่อน’ ลั่นไม่เห็นด้วย ใช้กฎหมายที่ไม่เป็นไปตามหลักการ
 
กรณี ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยความเป็นนายกฯของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังไม่สิ้นสุดลง และให้กลับมาปฏิบัติหน้าที่ เมื่อวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา
ต่อเรื่องดังกล่าว วันที่ 1 ต.ค.65 นักศึกษาจากหลายสถาบัน ออกแถลงการณ์ร่วมองค์กรนักศึกษา เรื่อง คำวินิจฉัย “นายกเถื่อน” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สรุปใจความได้ว่าตามคําวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2565 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ พล.อ.ประยุทธ์ สามารถดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรี ต่อไปได้ แม้ว่าจะดํารงตําแหน่งครบ 8 ปีไปแล้ว
 
ซึ่งหมายความว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะสามารถดํารงตําแหน่งถึงวันที่ 5 เมษายน พ.ศ.2568 หรือดํารงตําแหน่ง ต่อเนื่องถึง 10 ปี 7 เดือน และ 12 วัน
 
องค์กรนักศึกษาทั้ง 15 องค์กร ไม่เห็นด้วยต่อการใช้กฎหมายที่ไม่เป็นไปตามหลักการ และไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนไทย ถือเป็นการย่ำยีวงการนิติศาสตร์ ทำให้หลักคิดที่ควรยึดถือกลับบิดเบี้ยว
 
ทั้งนี้ตอนท้ายแถลงการณ์ได้มีการลงชื่อ องค์กรนักศึกษา 15 องค์กร ที่ออกมาแสดงออกในครั้งนี้
  

 
‘ชูศักดิ์’ ชี้ ศาล รธน.มีปัญหาเชิงเหตุผล ข้องใจ ไม่รับฟังบันทึก กรธ. ทั้งที่สะท้อนเจตนาชัด
https://www.matichon.co.th/politics/news_3593717

‘ชูศักดิ์’ ชี้ ศาล รธน. มีปัญหาเชิงเหตุผล ตีความ ‘ประยุทธ์’ เป็นนายกฯ ปี’60
 
เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะกรรมการด้านกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เริ่มนับในปี 2560 ว่า คําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีปัญหาในเชิงเหตุผล ที่ตนเห็นว่าเป็นปัญหา ดังนี้ 

1. พล.อ.ประยุทธ์ดํารงตําแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 อยู่ในวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 และเป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวยาวต่อเนื่องไปจนมีการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2562 การนับระยะเวลา 8 ปี ของการดํารงตําแหน่งนายกฯ ศาลรัฐธรรมนูญยอมรับว่าต้องนับตอนเป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 แต่ให้นับตั้งแต่ วันที่ 6 เมษายน 2560 เท่ากับศาลรัฐธรรมนูญตัดตอนการดํารงตําแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เป็น 2 ส่วน คือก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ไม่นับระยะเวลาการดํารงตําแหน่งตามมาตรา 158 วรรคสี่ แต่หลังรัฐธรรมนูญ 2560 ใช้บังคับ ให้นับระยะเวลาตามมาตรา 158 วรรคสี่ ทั้งๆ ที่เป็นพระบรมราชโองการฉบับเดียวกัน
 
นายชูศักดิ์กล่าวต่อว่า 

2. การปฏิเสธไม่ยอมรับฟังบันทึกความเห็นของกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มีความเห็นชัดเจนว่าต้องนับรวมระยะเวลาการดํารงตําแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ ก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ด้วย ซึ่งความเห็นดังกล่าวเป็นหลักฐานชัดเจน เป็นเอกสารราชการ ทําขึ้นตามกระบวนการของการยกร่างรัฐธรรมนูญ แสดงให้เห็นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ที่ต้องการจํากัดระยะเวลาการดํารงตําแหน่งของนายกฯ ไม่ให้เกิน 8 ปี ก็เพื่อมิให้มีการผูกขาดอํานาจทางการเมืองยาวนานเกินไปผลของการตีความเช่นนี้จะทําให้พล.อ.ประยุทธ์ เพียงคนเดียวที่จะถูกบังคับเวลาตามรัฐธรรมนูญ 2560 แต่สวนทางกับข้อเท็จจริงที่สามารถดํารงตําแหน่งได้เกินกว่า 8 ปี
 
“ผลจากคําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แม้ในทางกฎหมายจะถือว่าเป็นที่สุดผูกพันทุกองค์กร แต่ผมเห็นว่ามีปัญหาในเชิงเหตุผล ขณะที่ความสง่างามของการดํารงตําแหน่งนายกฯ ซึ่งเป็นผู้นําฝ่ายบริหาร เป็นผู้ใช้อํานาจอธิปไตย 1 ใน 3 อำนาจ ย่อมเป็นปัญหา เพราะเห็นได้ว่ามีตุลาการถึง 3 ท่าน เกือบครึ่งหนึ่งของศาลรัฐธรรมนูญ ที่เห็นว่าความเป็นนายกฯ ของพล.อ.ประยุทธ์ได้สิ้นสุดลงแล้วตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2565” นายชูศักดิ์กล่าว



ฝ่ายค้าน เล็งใช้ ม.152 เปิดอภิปรายตรวจสอบรบ. เดินหน้าขอทำประชามติให้ ส.ส.ร.ยกร่างรธน.ทั้งฉบับ
https://www.matichon.co.th/politics/news_3593370

‘ฝ่ายค้าน’ เล็งใช้ ม.152 เปิดอภิปรายตรวจสอบรัฐบาล พร้อมเดินหน้าขอทำประชามติ ให้ ‘ส.ส.ร.’ ยกร่าง รธน. ทั้งฉบับ
 
เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในฐานะประธานวิปพรรค ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่พรรคร่วมฝ่ายค้านเตรียมยื่นขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 เป็นการหวังผลในทางการเมืองอย่างไร ว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านได้หารือกันเบื้องต้นว่าในสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งหน้า กลไกที่เหลือให้ตรวจสอบรัฐบาลได้คือ การอภิปรายแบบไม่ลงมติ ตามมาตรา 152  เป็นการหารือเพื่อให้พรรคร่วมฝ่ายค้านเตรียมพร้อมไว้ก่อน เราใช้กลไกของรัฐธรรมนูญ ตามสถานการณ์ ปัญหาของประเทศ และเสถียรภาพทางการเมือง เพื่อนำความทุกข์ร้อนของประชาชนมาอภิปรายในสภา โดยเรายังไม่ได้ประสานไปยังวิปรัฐบาล แต่ตนคิดว่า วิปรัฐบาลน่าจะทราบอยู่แล้วว่า จะมีการอภิปรายฯ เกิดขึ้นในสมัยประชุมถัดไป เพียงแต่จะเกิดขึ้นช่วงไหนเท่านั้นเอง
 
เมื่อถามว่า จะถูกมองว่าเล่นเกมการเมืองมากเกินไปหรือไม่ นายพิจารณ์ กล่าวว่า ตนคิดว่าไม่ใช่เรื่องของการเล่นเกมการเมือง แต่เป็นกลไกที่พรรคร่วมฝ่ายค้านทำหน้าที่ตรวจสอบ และให้การเสนอแนะกับรัฐบาล ซึ่งหากมองอย่างเป็นกลาง ก็จะเป็นผลดีด้วยซ้ำ ที่นำปัญหาของประชาชนมาสะท้อนให้เห็นในสภา ทั้งนี้ สิ่งที่สำคัญและค้างคาจากสมัยประชุมที่แล้วคือ ญัตติที่พรรค ก.ก. เสนอขอให้มีมติให้ฝ่ายบริหารทำประชามติ เพื่อถามประชาชนว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดย สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) หรือไม่ อีกช่องทางหนึ่งที่พรรค ก.ก. กำลังรณรงค์อยู่คือ แคมเปญรีเซ็ตประเทศไทย ผ่านการล่ารายชื่อประชาชน 5 หมื่นรายชื่อเพื่อขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ


 
สัมภาษณ์พิเศษ : ดร.ธนพร เตือนการเมืองหลังประยุทธ์รอด อย่ามองโลกสวย ลากยาวเลือกตั้ง
https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_3594176

สัมภาษณ์พิเศษ : ดร.ธนพร ศรียากูล นายกสมาคมรัฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ วิเคราะห์ผลกระทบ ศาลรธน. ตัดสิน ประยุทธ์รอดไปต่อ 3 ฉากทัศน์ เตือนอย่ามองโลกสวยเกินเหตุ ฝันหวานถึงคูหาเลือกตั้ง ตราบใดที่ฝ่ายอำนาจนิยม ยังหาคนแทนประยุทธ์ไม่ได้ ด้านมืดการเมือง ต่อท่ออำนาจยาวนานที่สุด วิเคราะห์การจัดการในศาลรัฐธรรมนูญ  ติดตามรายละเอียดจากคลิปด้านล่างนี้
 
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่