Do and Don’t ของคนวัยทอง

Do and Don’t ของคนวัยทอง  
 
     ยิ่งอายุมากขึ้น ร่างกายก็ยิ่งต้องการการดูแลมากขึ้น โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป นอกจากโรคภัยไข้เจ็บที่จะถามหาแล้ว อีกหนึ่งภาวะที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ ภาวะวัยทองหรือวัยหมดประจำเดือน ซึ่งภาวะนี้สามารถเกิดได้กับทั้งผู้หญิงและผู้ชาย แต่ในผู้หญิง อาการจะแสดงออกมากกว่า 
     ภาวะวัยทองคือ ภาวะที่ร่างกายผลิตฮอร์โมนเพศได้น้อยลง ดังนั้น ร่างกายจึงมีการเปลี่ยนแปลงและเสื่อมสภาพอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคต่างๆ ได้ง่ายขึ้น เช่น โรคหัวใจ 💓 โรคกระดูกพรุน 🦴 และโรคความดันโลหิตสูง 🩸 เป็นต้น 
     ซึ่งเดี๋ยววันนี้ เราจะไปทำความรู้จักกับภาวะวัยทองพร้อมๆ กัน รวมถึงข้อควรทำและไม่ควรทำสำหรับผู้หญิงที่เข้าสู่วัยทอง และเคล็ดลับในการดูแลตัวเองเมื่อต้องเข้าสู่วัยนี้ด้วย 
 
ภาวะวัยทองคืออะไร❓
     อย่างที่พี่หมอเกริ่นไว้ข้างบนว่า ภาวะวัยทอง คือ ภาวะที่ร่างกายผลิตฮอร์โมนเพศได้น้อยลง ดังนั้น สตรีวัยทอง (Menopause) ก็คือ ผู้หญิงที่ไม่มีประจำเดือนอีกต่อไป เนื่องจากรังไข่หยุดสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน ส่งผลให้เกิดอาการต่างๆ ตามมา เช่น ร้อนวูบวาบตามเนื้อตัว อารมณ์แปรปรวน นอนไม่หลับ ร่างกายเสื่อมสภาพลง ทำให้มีโอกาสที่น้ำหนักจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคกระดูกพรุน และโรคเรื้อรังอื่นๆ ตามมา เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง และโรคสมองเสื่อม เป็นต้น 
     ซึ่งแพทย์จะวินิจฉัยว่าเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนก็ต่อเมื่อ ประจำเดือนไม่มาครบ 1 ปีไปแล้ว ทั้งนี้ วัยหมดประจำเดือนสามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่อายุ 45 – 55 ปี โดยมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 51 ปี นอกจากนี้ ยังรวมถึงผู้หญิงที่ได้รับการผ่าตัดรังไข่ทั้งสองข้างออกก่อนอายุครบ 45 ปีด้วย 
 
วัยหมดประจำเดือน แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่
     · ก่อนหมดประจำเดือน (Perimenopause) เป็นช่วงเริ่มต้นของการหมดประจำเดือน ส่งผลให้ประจำเดือนมาไม่ปกติประมาณ 2-3 ปี บางคนอาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ร้อนวูบวาบ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ และอารมณ์แปรปรวน 
     · หมดประจำเดือน (Menopause) นับตั้งแต่หมดประจำเดือนเป็นเวลา 1 ปี 
     · หลังหมดประจำเดือน (Postmenopause) หลังหมดประจำเดือนมาแล้ว 1 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่สรีระมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดและเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ 
อาการของผู้หญิงวัยทอง 
     อาจเกิดขึ้นในช่วงหลายเดือนหรือหลายปีก่อนเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ซึ่งอาการทางกายและจิตใจ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของประจำเดือนอาจแตกต่างกันไปในแต่ละคน โดยมีอาการในระยะสั้น ดังนี้ 
    📌 ประจำเดือนมาไม่ปกติ
    📌 ช่องคลอดแห้ง แต่ถ้ามีเลือดออกจากช่องคลอดหลังวัยหมดประจำเดือน ควรรีบไปพบแพทย์ทันที 
    📌 ร้อนวูบวาบตามเนื้อตัว หรือหนาวสั่น
    📌 มีเหงื่อออกตอนกลางคืน
    📌 นอนไม่หลับ หรือมีปัญหาในการนอน
    📌 อารมณ์แปรปรวน 
    📌 น้ำหนักเพิ่มขึ้น เนื่องจากการเผาผลาญน้อยลง 
    📌 ผมร่วง ผมบาง ผิวแห้ง เต้านมหย่อนยาน 
อาการและความเสี่ยงในระยะยาวของผู้หญิงวัยทอง
    ⚠️ โรคหัวใจและหลอดเลือด เมื่อระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง ความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดจะเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนช่วยลดไขมันไม่ดี (LDL) ในเลือดได้ ดังนั้น สตรีวัยทองจึงควรดูแลตัวเองมากขึ้น โดยการออกกำลังกายอย่างเป็นประจำสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม อาหารมันๆ และเบเกอรี่ พยายามควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ 
    ⚠️ โรคกระดูกพรุน ภาวะวัยทองทำให้กระดูกเปราะและอ่อนแอ ซึ่งในช่วงแรกของวัยหมดประจำเดือน คุณผู้หญิงอาจสูญเสียความหนาแน่นของกระดูกอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มีความเสี่ยงที่กระดูกจะหักได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะกระดูกสันหลัง สะโพก และข้อมือ 
    ⚠️ ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เนื่องจากเนื้อเยื่อของช่องคลอดและท่อปัสสาวะสูญเสียความยืดหยุ่น บางรายอาจรู้สึกอยากปัสสาวะบ่อยขึ้น ฉับพลัน และรุนแรง ส่งผลให้มีโอกาสติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะมากขึ้น 
    ⚠️ ช่องคลอดแห้ง เกิดการอักเสบของช่องคลอด มดลูก รวมถึงช่องคลอดหย่อนยาน ความต้องการทางเพศลดลง 
    ⚠️ น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ผู้หญิงหลายคนน้ำหนักเพิ่มขึ้นในระหว่างช่วงวัยหมดประจำเดือนและวัยหลังหมดประจำเดือน เนื่องจากระบบเผาผลาญทำงานน้อยลง 
 
การรักษาภาวะวัยทอง มีอยู่ด้วยกันหลายวิธี ได้แก่ 
     1.  การใช้เจลหล่อลื่น เพื่อรักษาอาการช่องคลอดแห้ง 
     2.  การใช้ยาคุมกำเนิดแบบฮอร์โมน เพื่อลดอาการ้อนวูบวาบ อารมณ์แปรปรวน รวมถึงช่องคลอดแห้ง 
     3.  การใช้ยาแก้ปวด เพื่อบรรเทาอาการปวดต่างๆ เช่น ปวดข้อ ปวดศีรษะ 
     4.  การใช้ยาลดอาการซึมเศร้า เพื่อลดอาการร้อนวูบวาบ ซึ่งสำหรับคนที่ไม่มีภาวะซึมเศร้าก็สามารถใช้ได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์เท่านั้น  
     5.  การให้ฮอร์โมนทดแทน เป็นวิธีการรักษาเพื่อช่วยปรับระดับฮอร์โมนในร่างกาย ซึ่งการรักษาด้วยวิธีนี้มีหลายรูปแบบ ทั้งแบบยาเม็ด แผ่นแปะผิวหนัง ครีมทาเฉพาะที่ และแบบฝังหลอดยาไว้ใต้ผิวหนัง อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลพบว่า การใช้ฮอร์โมนบำบัดอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคบางชนิดได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ เช่น โรคหัวใจ โรคลิ่มเลือดอุดตัน โรคตับ โรคมะเร็งเต้านม รวมถึงผู้ที่มีระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง ดังนั้น การรักษาด้วยวิธีนี้จึงจำเป็นต้องทำโดยแพทย์เท่านั้น  ซึ่งการให้ฮอร์โมนทดแทนมีด้วยกัน 2 แบบ ได้แก่ 
          - การให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนร่วมกับโปรเจสเตอโรน เหมาะสำหรับผู้ที่ยังมีมดลูกอยู่
          - การให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนเพียงอย่างเดียว เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่มีมดลูกแล้ว 
 
เคล็ดลับดูแลตัวเองของผู้ที่เข้าสู่วัยทอง 
    ☑️ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยเน้นการบริหารกล้ามเนื้อบริเวณอุ้งเชิงกรานและกระชับช่องคลอด
    ☑️ สร้างนิสัยการนอนที่ดีและพักผ่อนให้เพียงพอ 
    ☑️ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นอาหารประเภทผัก ผลไม้ และธัญพืชแบบเต็มเมล็ด
    ☑️ งดสูบบุหรี่และหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ 
    ☑️ หาวิธีจัดการกับอารมณ์และความเครียดของตัวเอง เช่น การนั่งสมาธิ 
    ☑️ ถ้ามีปัญหา อย่าเก็บไว้คนเดียว ควรพูดคุยกับเพื่อน คนรัก หรือคนที่มีประสบการณ์การเข้าสู่วัยทอง เพื่อปรึกษาและแลกเปลี่ยนวิธีในการดูแลตัวเอง
    ☑️ หากิจกรรมที่น่าสนใจหรืองานอดิเรกใหม่ๆ ทำ 
    ☑️ ตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพและตรวจคัดกรองเบื้องต้นในระหว่างและหลังวัยหมดประจำเดือน เช่น ตรวจความหนาแน่นของกระดูก ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านม เป็นต้น 
 
     แม้วัยทองจะถือเป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของร่างกาย เพราะถือเป็นการก้าวผ่านจากวัยเจริญพันธุ์เข้าสู่ผู้สูงวัยอย่างแท้จริง แต่ก็ไม่ต้องกังวลใจจนเกินไปนะครับ เพราะถ้าเราดูแลเอาใจใส่สุขภาพตัวเองเป็นอย่างดี ตามที่พี่หมอแนะนำไป เราก็จะสามารถก้าวเข้าสู่วัยทองได้แบบสบายๆ แน่นอนครับ 💕 💕 💕
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่