จู่ชังเปี้ยแบบที่เรากินกันในประเทศไทย มีต้นกำเนิดมาจากตำบลฮ้อเพ้ง อำเภอเตี่ยเอี๊ยง ใช่ไหมครับ?

รบกวนสอบถามครับ

เข้าใจว่าขนมเปี๊ยะต้นหอม หรือที่เรียกว่า ชังเปี้ย (ในภาษาแต้จิ๋ว) หรือ ฉงปิ่ง (葱饼) ในภาษาจีนกลาง เป็นขนมที่ถือกำเนิดแพร่หลายในมณฑลฮกเกี้ยนและแถบเขตแต้จิ๋วมาแต่โบราณ ทว่าชังเปี้ยที่ขายในฮกเกี้ยนจะหน้าตาไม่เหมือนขนมจู่ชังเปี้ยที่ขายในบ้านเราเลย ของทางฮกเกี้ยนหน้าตาไปคล้ายกับโรตีหรือนานแบบอินเดียแล้วผสมต้นหอมในแป้งมากกว่า ตามแบบในภาพ



ทีนี้ผมก็เข้าใจว่าแผ่นดินจีนนั้นกว้างใหญ่ ขนมอบทำด้วยแป้งผสมต้นหอมมันก็มีหลากหลายสูตร ตั้งแต่เป็นของคาวใส่เนื้อสัตว์ยันเป็นขนมหวานใส่ถั่วกวนเผือกหอมตามแต่ละท้องถิ่น ขนมชังเปี้ยแบบฮกเกี้ยนตามภาพบนผมก็ไม่เคยเห็นในบ้านเรามาก่อน

แรกๆผมจึงคิดเอาเองว่าน่าเป็นขนมที่พัฒนาขึ้นในไทยหรือเปล่าโดยลูกหลานชาวจีนอพยพที่เอามาดัดแปลงทำเป็นไส้ทุเรียน ไส้เผือก ไส้ถั่วดำ ไส้กุ้งผสมมันหมู และยุคใหม่มีขนาดไส้ชาเขียว ไส้คัสตาด ไส้เม็ดถั่ว ด้วย

พอดีไปเจอบทความหนึ่งเขียนเกี่ยวกับการนำเที่ยวเมืองซานโถว ปรากฎว่ามีการแนะนำร้านขนมในตำบลฮ้อเพ้ง (เหอผิง) อำเภอเตี่ยเอี๊ยง (เฉาหยาง) จังหวัดซัวเถา (เมืองซานโถว) ด้วย ซึ่งร้านที่ว่านี้อ้างว่าเป็นต้นตำหรับขนมจู่ชังเปี้ยหน้าตาแบบที่เห็นในบ้านเราเลย

https://www.sohu.com/a/214667261_677041

บทความนี้เขียนว่า ขนมจู่ชังเปี้ย เป็นขนมขึ้นชื่อของตำบลฮ้อเพ้ง และถูกใช้ไหว้ในเทศกาลเชงเม้งมาแต่ครั้งราชวงศ์หมิง ซึ่งคนตำบลนี้พอไหว้ขนมดังกล่าวเสร็จก็จะเอาไปแจกจ่ายให้ญาติพี่น้องกินกันเป็นมงคล เป็นสัญลักษณ์ว่าบรรพบุรุษจะคุ้มครองลูกหลานให้เติบโตแข็งแรงอยู่เย็นเป็นสุข

ในตำบลนี้มีร้านขนมชื่อว่า เบ๊อ่วงฮั้ง 马旺合 เค้าเคลมว่าทำขนมตัวนี้มาสองร้อยกว่าปีแล้ว ดูจากสูตรและส่วนผสมเหมือนขนมจู่ชังเปี้ยไส้แบบมาตรฐานที่ขายในบ้านเรายังกับแกะ 



เจ้าของร้านแกให้ข้อมูลว่า ขนมจู่ชังเปี้ยที่ร้านแกทำนี้ เดิมทีเป็นสูตรมาจากคนตระกูลเฮ้ง ซึ่งน่าจะคิดค้นสูตรขึ้นในยุคปลายราชวงศ์หมิง โดยแรกเริ่มมีเฉพาะแบบกรอบ (ชังเปี้ยแบบกรอบที่เรากินๆกัน) ต่อมาค่อยประยุกต์กลายเป็นชังเปี้ยแบบนิ่มโดยการผสมมันหมูลงไปในแป้งและไส้เพิ่มในภายหลัง (เขาบอกว่าช่วงต้นราชวงศ์ชิง) 



เจ้าของร้านแกเล่าว่า สูตรจู่ชังเปี้ยที่ขายกันในแถบอาเซียน น่าจะเผยแพร่ไปจากชังเปี้ยของตำบลฮ้อเพ้งในช่วงรัชกาลกวางสูเมื่อร้อยกว่าปีก่อนครับ ปัจจุบันในตำบลฮ้อเพ้งและตำบลใกล้เคียงยังมีร้านที่ผลิตจู่ชังเปี้ยขายนับเป็นสิบๆร้านเลย

จึงน่าจะเป็นหลักฐานได้ว่า ขนมจู่ชังเปี้ยทั้งแบบนิ่มและกรอบ คงแพร่หลายมาจากตำบลนี้ แล้วคนจีนที่อพยพมาไทยเมื่อร้อยปีก่อนก็นำสูตรติดตัวมาเปิดร้านขนมขายต่อในไทย ทำการประยุกต์พัฒนาเป็นไส้ต่างๆที่ไม่ปรากฏในสูตรดั้งเดิมที่จีน แต่ก็ยังคงรักษาเอกลักษณ์การใช้ในเทศกาลเช็งเม้ง และสูตรขนมส่วนใหญ่เอาไว้เช่นเดิม
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่