สี่นี้โป๊ยโจ่ยะ (时年八节) 8 เทศกาลสำคัญในหนึ่งปี และขนมแบบฉบับแต้จิ๋ว

สี่นี้โป๊ยโจ่ยะ (时年八节) 8 เทศกาลสำคัญในหนึ่งปี และขนมแบบฉบับแต้จิ๋ว
อีกเพียงเดือนเศษๆก็จะผ่านพ้นปี 2567 หมดวันไหว้ขนมบัวลอยในวันที่ 21 ธ.ค.ที่จะถึงนี้ สารทต่างๆก็จะเริ่มทยอยเข้ามาพร้อมขนมฉบับแต้จิ๋วอีกครั้ง 
ขนมหลายอย่างเริ่มลดน้อยถอยลงให้เราได้โหยหา บางอย่างก็ยังพอมีสูตรให้สานต่อ แม่นันว่าหมดรุ่นพวกเรา ขนมโบราณพวกนี้ก็คงจะสูญหายไปเป็นแน่แท้

เช้านี้แม่นันจึงอยากมาชวนคุยเรื่อง 8 เทศกาลในหนึ่งปีและสารพัดขนมของจีนแต้จิ๋ว “ก้วย กอ เปี้ยะ ทึ้ง” ที่จะต้องเตรียมไหว้ในแต่ละเทศกาล พอใกล้วันจริง เราค่อยมาเจาะลึกถึงขนมแต่ละประเภทที่ต้องไหว้กันค่ะ

8 เทศกาลสำคัญในรอบปีปฏิทินจีน ประกอบด้วยสารทใหญ่ๆ 8 สารท (ไม่รวมถึงเทศกาลยิบย่อยในแต่ละฤดูกาล)

พุทธศักราช 2568/คริสต์ศักราช 2025 (ปีมะเส็ง)
- สารทที่ 1 ตรุษจีน (春节) ชุงโจ่ยะ วัน 1 ค่ำ เดือน 1 วันขึ้นปีใหม่ของจีน ตรงกับวันที่ 29 ม.ค. 2568
- สารทที่ 2 หง่วงเซียวโจ่ยะ (元宵节) วัน 15 ค่ำ เดือน 1 เทศกาลประทีปโคมไฟ ถือเป็นคืนเพ็ญแรกของปี ตรงกับวันที่ 12 ก.พ. 2568
- สารทที่ 3 วันเช็งเม้ง (清明节) วัน 7 ค่ำ เดือน 3 วันแสดงความกตัญญู ลูกหลานชาวจีนจะเดินทางไปไหว้บรรพบุรุษที่สุสาน ตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม 
ตรงกับวันที่ 4 เม.ย. 2568
- สารทที่ 4 วันไหว้บ๊ะจ่าง (端午节) โหงวหว่วยโจ่ยะ วัน 5 ค่ำ เดือน 5 ตรงกับวันที่ 31 พ.ค. 2568
- สารทที่ 5 วันสารทจีน (中元节) ชิกหว่วยปั่ว วัน 15 ค่ำ เดือน 7 สารทกลางเดือนเจ็ด เทศกาลไหว้ดวงวิญญาณบรรพชน และดวงวิญญาณไร้ญาติ 
ตรงกับวันที่ 6 ก.ย. 2568
- สารทที่ 6 วันไหว้พระจันทร์ (中秋节) ตงชิวโจ่ยะ วัน 15 ค่ำ เดือน 8 ตรงกับวันที่ 6 ต.ค. 2568
- สารทที่ 7 วันไหว้ขนมบัวลอย(冬节)ตังโจ่ยะ วัน 2 ค่ำ เดือน 11 ตรงกับวันที่ 21 ธ.ค. 2568
- สารทที่ 8 วันไหว้สิ้นปี (过年节) ก๊วยหนี่โจ่ยะ ปีนี้ตรงกับวัน 29 ค่ำ เดือน 12 จันทรคติจีน ตรงกับวันที่ 16 กพ. 2569

ชาวแต้จิ๋วจะไหว้เจ้าและไหว้บรรพชนกันในวันเทศกาลเหล่านี้ ซึ่งเป็นประเพณีปฏิบัติที่ยึดถือสืบต่อกันมาช้านาน ของไหว้ก็ไม่พ้นพวกหมู ห่าน เป็ดไก่ ผลไม้ และที่ขาดไม่ได้คือขนมประเภทต่างๆ

พอใกล้วัน 24 ค่ำ เดือน 12 ตามปฏิทินจีน ชาวแต้จิ๋วจะเริ่มโม่ข้าวเป็นแป้ง เรียกว่า บีซู หรือบีโข่ยะ เพื่อใช้ทำ “ก้วย” สารพัดชนิด เตรียมไว้สำหรับไหว้เจ้าในแบบฉบับของชาวแต้จิ๋วเอง
วัน 24 ค่ำ เดือน 12 วันส่งเจ้าขึ้นสวรรค์ (ซิ้งเจี่ยที) เป็นวันที่เทพเจ้าทุกองค์ (บ้างว่าเฉพาะเทพเจ้าเตาไฟองค์เดียว) บนโลกมนุษย์จะกลับขึ้นไปสวรรค์ เพื่อไปรายงานความดีความชั่วของมนุษย์ต่อองค์เง็กเซียนฮ่องเต้ ของไหว้ในวันส่งเจ้าขึ้นสวรรค์นี้ จะต่างกันตามแต่ว่ามาจากหมู่บ้านตำบลไหน ส่วนมากแล้วจะใช้แค่น้ำตาลทรายหรือโอวทึ้งหนึ่งจาน (ขึ้นอยู่กับบรรพบุรุษแต่ละบ้านเริ่มต้นมาอย่างไร) บ้างมีข้าวต้มหวาน (ใส่น้ำตาล) บ้างไหว้ด้วยขนมกาลอจี๊ ขนมหวานที่ทำจากแป้งข้าวเหนียว คลุกน้ำตาลถั่วและงาคั่ว ปีนี้แม่นันว่าจะไหว้ส่งเจ้าด้วยขนมโบราณ “หนึ่งเปี้ย” ที่ทำจากแป้งข้าวเหนียว ตัวไส้เป็นไส้หวาน (ถั่วกวน งาดำ) ทอดในน้ำมัน มีลักษณะนิ่มๆหนึบๆ คนไทยจะเรียกขนมชนิดนี้ว่า “อิ่วก้วย” บางคนติดใจในรสชาติถึงขนาดลืมความมันเลี่ยนของตัวขนมไปเลย
ไหว้ส่งเจ้ากลับสวรรค์แล้ว อีกหนึ่งสัปดาห์ ก็จะต้องไหว้เจ้ากันในวันตรุษจีน (วันไหว้ปีนี้ตรงกับ 28 ม.ค.2568) “ฮวกก้วย” ขนมมงคลต้อนรับเทศกาลแรก
ของปี ทำจากแป้งข้าวเจ้า หมักด้วยยีสต์และน้ำเชื่อม 
"อั่งถ่อก้วย" ของกินรูปผลท้อแบนดูคล้ายรูปหัวใจ เนื้อก้วยสีแดงออกชมพู ไส้ที่ใส่ก็มี ไส้กูช่าย ไส้ข้าวเหนียวผัดถั่วลิสงใส่พริกไทยหอมๆ เป็นของกินอยู่ในกลุ่มขนม "กูช้ายก้วย" นั่นเอง และของกินอื่นๆที่มีความหมายเป็นมงคล
ถัดจากวันตรุษจีนมา 15 วัน เป็นวันหง่วงเซียว (คืนเพ็ญแรกของปี หรือจับโหง่วแม๊ จีนแต้จิ๋วในไทยนิยมไหว้ “ไช้เถ่าก้วย” หรือขนมผักกาดในวันหง่วงเซียว เพราะถือเป็นขนมมงคลที่มีความหมายดี ทำให้เจริญก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ นอกจาก “ไช้เถ่าก้วย” แล้ว ขนมมงคลอื่นๆที่นิยมนำมาไหว้ก็มี ฮวกเปา ก๊าเปา และผลไม้ต่างๆ
เทศกาลถัดจากนี้ คือเทศกาลเช็งเม้ง ซึ่งตกราววันที่ 4, 5 หรือ 6 ของเดือนเมษายน ของไหว้ในเทศกาลนี้เป็นอาหารคาวหวาน ที่บรรพบุรุษชื่นชอบและเคยทำให้ลูกหลานกิน ไช้เถ่าก้วย (ขนมผักกาด) ไช้เปา บ๊ะเปา (ซาลาเปาไส้ผัก ไส้หมู) และขนมที่ขาดไม่ได้ในเทศกาลเช็งเม้งคือ “จูชังเปี้ย"
หรือจือชังเปี้ย ซึ่งในหนึ่งปีจะได้ทานเพียงครั้งเดียว มีรสชาติเค็มหวานอร่อยอย่างลงตัว ทำจากส่วนผสมคาวหวาน รวมทั้งงาขาวและต้นหอม มีทั้งแบบนิ่มและแบบกรอบ
เข้าวัน 5 ค่ำ เดือน 5 จะเป็นเทศกาลไหว้บ๊ะจ่าง คนจีนแต้จิ๋วเรียกเทศกาลนี้ตามวันเดือนว่า “โหงวหว่วยโจ่ยะ” ของไหว้นอกจากบ๊ะจ่างแล้ว ยังมีกีจ่าง (ขนมจ้างด่าง) ทำจากแป้งข้าวเหนียวแช่น้ำด่าง (กี) จนเมล็ดข้าวเหนียวนุ่ม ห่อด้วยใบไผ่คล้ายบ๊ะจ่างลูกเล็กๆ ใช้เชือกมัดให้เป็นพวง นำไปต้มให้สุกกลายเป็นกีจ่างสีเหลืองสวย จิ้มกินกับน้ำตาลโอวทึ้ง
ถัดมาเป็นเทศกาลสารทจีน (วัน 15 ค่ำ เดือน 7) ของไหว้จะเป็นอาหารมงคลคาวหวาน ชือคักก้วย ตีก้วย (ขนมเทียน ขนมเข่ง) ในบางจังหวัดยังคงมีทำ “ชือคักก้วย” แบบโบราณ ซึ่งในตัวแป้งจะผสมด้วยมันเทศ พร้อมอาหารคาวหวานอีกชุดจัดให้ดวงวิญญาณเร่ร่อน
เข้าวัน 15 ค่ำ เดือน 8 จะเป็นเทศกาลไหว้พระจันทร์ (ตงชิวโจ่ยะ) เทศกาลนี้จะไหว้ “เเปะกอ” ขนมโก๋ ซึ่งเป็นขนมที่ทำจากแป้งข้าวเหนียว ขนม "เหล็กเต่ากอ" ที่ทำจากแป้งถั่วเขียว กรรมวิธีแบบโบราณจะยุ่งยากมาก แต่หอมอร่อยที่สุด อัดใส่พิมพ์เป็นรูปทรงต่างๆ
และ “โหง่วหยิ่งเปี้ย” ขนมไหว้พระจันทร์ไส้ธัญพืชและส่วนผสมคาวหวานนับสิบชนิด ที่มีรสชาติอร่อยลงตัว ปัจจุบันหาทานยาก
ราววันที่ 21-22-23 วันใดวันหนึ่งในเดือนธันวาคม จะเป็นเทศกาลไหว้ขนมบัวลอย (ตังโจ่ยะ) อี่เกี้ย (อี๊ แปลว่า กลม) ทำจากแป้งข้าวเหนียว ปั้นเป็นลูกกลมๆเล็ก สีขาว สีชมพู ต้มใส่น้ำเชื่อมผสมสีแดงเพื่อความเป็นสิริมงคล การได้กินบัวลอยในเทศกาลตังโจ่ยะ ถือได้ว่ามีอายุเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งปี
แล้วปฏิทินก็จะวนกลับมาถึงวัน 24 ค่ำเดือน 12 ตามปีปฏิทินจีน วันที่ชาวจีนแต้จิ๋วจะไหว้ส่งเทพเจ้ากลับสวรรค์อีกครั้ง ซึ่งชาวแต้จิ๋วก็จะเริ่มโม่แป้ง ทำ “ก้วย” สารพัดชนิด เตรียมไว้ไหว้เจ้ากันต่ออีกปี และจะวนเวียนเช่นนี้ไปเรื่อยๆตราบเท่าที่ชาวแต้จิ๋วยังคงเคารพในตัวเทพเจ้าทั้งหลาย และนั่นก็หมายความว่า “ก้วย” ที่มาจากต้นน้ำธัญญพืชของเหล่าเกษตรกร จะยังอยู่คู่กับประเพณีและวิถีชีวิตของชาวแต้จิ๋วต่อไปด้วย

ขอบคุณข้อมูลดีๆ และข้อมูลประกอบการเขียนบทความ: อจ.จักรกฤษณ์ เกษกาญจนานุช คุณจักสรณ์ วรางค์ศรีศิริ MGR ปฏิทินจีน myhora
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่