ขนม "ก้วยก้วย" ต้อนรับ 8 เทศกาลจีนปีมะโรง 2567

"สี่-นี้-โป่ย-โจ่ย" ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับ 8 เทศกาลในปีมะโรง 2567 กันค่ะ
เวลาติดปีกจริงๆค่ะ เผลอแพร็บเดียวเข้าปีใหม่แล้ว สารทต่างๆก็จะเริ่มทยอยเข้ามาพร้อมขนมโบราณโบราณตามเทศกาล ขนมหลายอย่างเริ่มลดน้อยถอยลงให้เราได้โหยหา บางอย่างก็ยังพอมีสูตรให้สานต่อพอหายคิดถึง แม่นันว่าหมดรุ่นพวกเรา ขนมโบราณพวกนี้ก็คงจะสูญหายไปเป็นแน่แท้

แม่นันมาชวนคุยเรื่องประเพณีวัฒนธรรมของไหว้ของชาวจีนแต้จิ๋วกันค่ะ สารพัด "ก้วย" ที่จะต้องเตรียมไหว้แต่ละเทศกาลมีอะไรบ้าง พอใกล้วันจริง เรามาเจาะลึกอาหาร/ขนมแต่ละประเภทที่ต้องไหว้กันดีมั้ยคะ

ก่อนจะมาคุยเรื่อง “ก้วย” ที่เป็นของไหว้กัน เรามาดูว่าในปีหนึ่งๆ ชาวจีนมีเทศกาลอะไรบ้างที่ต้องไหว้เจ้า ไหว้บรรพชนกัน ซึ่งชาวแต้จิ๋วมีคำกล่าวคำหนึ่งที่คนเฒ่าคนแก่พูดกันติดปากว่า

"สี่-หนี่-โป่ย-โจ่ย" ซึ่งแยกได้เป็นสองคำ คือ สี่นี้ กับ โป่ยโจ่ย

สี่นี้ แปลว่า (วัน) ส่งท้ายปีเก่า หมายถึง ปีที่จะลาลับไป ดังนั้น สี่นี้ จึงหมายถึงวันก่อนวันปีใหม่ (จีน) หรือวันก่อนวันตรุษจีน (Chinese New Year’ eve)
ส่วนโปยโจ่ย หมายถึง แปดเทศกาลสำคัญในรอบปี ตามปีปฏิทินจีน ได้แก่ (แม่นันเทียบปฏิทินจีนปี 2567 ให้แล้วค่ะ (ผิดพลาดประการใด รบกวนท่านผู้รู้ชี้แนะด้วยนะคะ)

1 ชุงโจ่ย 1 ค่ำ เดือน 1 (10 กพ. 67) หมายถึงวันขึ้นปีใหม่ของจีน หรือวันตรุษจีนนั่นเอง โดยชาวแต้จิ๋วมักเรียกกันว่า “ก้วยนี้”
2 หง่วงเซียว 15 ค่ำ เดือน 1 (24 กพ. 67) วันหง่วงเซียวนี้ ถือเป็นสารทแรกหลังจากตรุษจีน
3 วันเชงเม้ง 26 ค่ำ เดือน 2 (4 เมย. 67) ลูกหลานชาวจีนจะทยอยไปไหว้บรรพบุรุษที่สุสานตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม
4 โหง่วเหว่ยโจ่ย 5 ค่ำ เดือน 5 (10 มิย. 67) วันไหว้ขนมบ๊ะจ่าง
5 ชิกเหว่ยปั่ว 15 ค่ำ เดือน 7 (18 สค. 67) วันสารทจีน หมายถึงสารทกลางเดือนเจ็ด
6 ตงชิว 15 ค่ำ เดือน 8 (17 กย. 67) ไหว้พระจันทร์
7 ตังโจ่ย 21 ค่ำ เดือน 11 (21 ธค. 67) วันไหว้ขนมบัวลอย
8. หยิเก๋าแม้/ซาจับแม้ วันส่งท้ายปีเก่าของจีน ซึ่งอาจเป็นวันที่ 29 หรือวันที่ 30 เดือน 12 ตามปฏิทินทางจันทรคติของจีน

วันเทศกาลสำคัญเหล่านี้เป็นไปตามประเพณีปฏิบัติของชาวแต้จิ๋ว ซึ่งส่วนมากก็ตรงกับที่ชาวจีนส่วนใหญ่ยึดถือกัน มีที่ต่างกันหรือขาดไป ก็เป็นเพียงส่วนน้อย แต่อย่างไรก็ดี ชาวแต้จิ๋วในไทยมีวันเทศกาลน้อยวันกว่าที่บอกมา วันเทศกาลที่เกือบหายไปก็มี หง่วงเซียว (เทศกาลโคมไฟ) ส่วนตังโจ่ย (วันไหว้ขนมบัวลอย) ที่เพิ่งผ่านพ้น พบว่ายังมีบางบ้านให้ความสำคัญอยู่ แต่ก็กำลังเลือนหายไปเช่นกัน

ชาวแต้จิ๋วจะไหว้เจ้าและไหว้บรรพชนกันในวันเทศกาลเหล่านี้ ซึ่งเป็นประเพณีปฏิบัติที่ยึดถือสืบต่อกันมาช้านาน ของไหว้ก็ไม่พ้นพวกหมูห่านเป็ดไก่ ผลไม้ และที่ขาดไม่ได้คือ “ก้วย” บางกลุ่มบางชนิด (รวมทั้งขนมที่ทำจากแป้งข้าวเจ้าข้าวเหนียวอื่นที่ไม่เรียกว่าก้วยด้วย) เรามาดูกันว่า ในแต่ละเทศกาล ชาวแต้จิ๋วใช้ “ก้วย” อะไรบ้างไหว้เจ้า

พอใกล้วันที่ 24 เดือนสิบสองตามปฏิทินจีน ชาวแต้จิ๋วจะเริ่มโม่ข้าวเป็นแป้ง เรียกว่า บีซูหรือบีโข่ย เพื่อใช้ทำ “ก้วย” สารพัดชนิด เตรียมไว้สำหรับไหว้เจ้าในแบบฉบับของชาวแต้จิ๋วเอง

วันจีน 24 ค่ำ เดือน 12 เป็นวันที่เทพเจ้าทุกองค์ (บ้างว่าเฉพาะเทพเจ้าเตาไฟองค์เดียว) บนโลกมนุษย์จะกลับขึ้นไปสวรรค์ (ไปรายงานความดีความชั่วในรอบปีของมนุษย์) เรียกว่า วัน "ซิ้งเจียที" ซึ่งแม้จะไม่จัดเป็นวันเทศกาลสำคัญอะไร แต่เมื่อเทพเจ้าจะกลับสวรรค์ ก็ต้องมีพิธีไหว้ส่งกัน ซึ่งเราจะไหว้ส่งเจ้าพร้อมกันในวันที่ 3 กพ. 67 นี้
ของไหว้ที่จัดมาไหว้จะต่างกันตามแต่ว่ามาจากหมู่บ้านตำบลไหน ส่วนมากแล้วจะใช้แค่น้ำตาลทรายหรือโอวทึ้งหนึ่งจาน (ขึ้นอยู่กับบรรพบุรุษแต่ละบ้านเริ่มต้นมาอย่างไร) บ้างมีข้าวต้มหวาน (ใส่น้ำตาล) บ้างไหว้ด้วยขนมกอลอจี๊ แต้จิ๋วจะออกเสียง "กอหล่อจี๊" ขนมหวานที่ทำจากแป้งข้าวเหนียว ทอดน้ำมัน คลุกน้ำตาลถั่วและงาคั่ว ชาวแต้จิ๋วจากหมู่บ้านสิ่งจั๊ว หมู่บ้านออกัก และหมู่บ้านโจ่ยเจียม พวกเขาจะไหว้ด้วย "อั่งถ่อก้วย" ขนมในกลุ่มขนมกุ้ยช่ายที่บางคนเรียกก๋วยท้อ ฮวกก้วย ขนมฟู อิ่วจุยก้วย ทำจากแป้งข้าวเหนียว เป็นลูกกลมข้างในกลวง ลักษณะคล้ายขนมไข่หงส์
บางปีแม่นันก็ทำ "อิ่วก้วย" ขนมโบราณแสนอร่อยไหว้ส่งเจ้าขึ้นสวรรค์ด้วยค่ะ  เทพเจ้าได้ทานอิ่วก้วยของแม่นันแล้วต้องให้พรไม่หยุดแน่ๆเลยค่ะ อิอิ
ไหว้ส่งเทพเจ้ากลับสวรรค์แล้ว อีกหนึ่งสัปดาห์ ก็จะต้องไหว้เจ้ากันในวันตรุษจีน (ก่อนวันจริง 1 วัน) ของไหว้ประเภท “ก้วย”ต้องนี่เลยค่ะ "อั่งถ่อก้วย" ของกินรูปผลท้อแบนดูคล้ายรูปหัวใจ เนื้อก้วยสีแดงออกชมพู ไส้ที่ใส่ก็มี กุยช่าย ข้าวเหนียวผัดถั่วลิสงพริกไทย เผือก ถั่วเขียวบด เป็นของกินอยู่ในกลุ่มขนมกุ้ยช่าย หรือที่แต้จิ๋วออกเสียง "กูช้ายก้วย" นั่นเอง แต่เมื่อจะเอามาไหว้เจ้า ก็ต้องทำให้สวยงาม ด้วยการอัดใส่พิมพ์ขึ้นรูปคล้ายผลท้อ ผสมสีแดงในเนื้อแป้งที่เป็นเปลือกเพื่อสื่อถึงความมีสิริมงคล

นอกจากอั่งถ่อก้วยแล้ว ยังต้องมี "ตีก้วย" หรือขนมเข่ง ทำจากแป้งข้าวเหนียวผสมน้ำตาลทราย นึ่งสุก ก๊าก้วย ทำจากแป้งข้าวเจ้าผสมน้ำตาล หมักด้วยเชื้อยีสต์หรือผงฟู เรียกก๊าบ้อ ลักษณะเป็นก้อนกลมแบน เนื้อฟูแน่นมีรูพรุน มีสองชนิด คือชนิดหน้าผิวเรียบ กับชนิดหน้าแตก มักนิยมเรียกชนิดหน้าแตกว่า ฮวกก้วย และไช้เถ่าก้วย เรียกกันทั่วไปว่า ขนมผักกาด ทำจากแป้งข้าวเจ้าผสมหัวไช้เท้าขูดเส้น ปรุงเครื่อง นึ่งสุก ของไหว้ทั้งสามชนิดนี้ รวมเรียกว่า ซาเจงโจ๊ย หมายถึงขนมนึ่งครบสามอย่าง
มีขนมเข่งแล้วก็ต้องมี "ชือคักก้วย" ขนมเทียนใส่ใบชือขัก (หรือหญ้านางนวล) ของไหว้ที่ขาดไม่ได้เลยในช่วงตรุษจีนนี้  
ถัดจากวันตรุษจีนมา 15 วัน เป็นวันหง่วงเซียว หรือวันเทศกาลโคมไฟ แม้ในอดีต ชาวแต้จิ๋วที่เมืองจีนจะเคยไหว้เจ้ากัน ก้วยที่เป็นของไหว้ ก็เป็นชุดเดียวกับที่ใช้ไหว้ในวันไหว้ช่วงตรุษจีน แต่ส่วนใหญ่ชุมชนชาวจีนในไทย จะนึกถึงการไหว้ด้วยไช้เถ่าก้วย หรือขนมผักกาดก่อน

เทศกาลถัดจากนี้ คือเทศกาลเชงเม้ง ซึ่งตกราววันที่ 4, 5 หรือ 6 ของเดือนเมษายน “ก้วย” ที่ไหว้ในเทศกาลนี้ มีฮวกก้วย แบะก้วย ทำจากแป้งข้าวสาลีผสมน้ำตาลทรายขาวหรือน้ำตาลทรายแดง (โอวทึ้ง) นวดปั้นเป็นก้อนกลมหรือเป็นแผ่นก็ได้ นึ่งหรือทอดในน้ำมันให้สุก และจูชังเปี้ย ซึ่งปีหนึ่งจะได้ทานเพียงครั้งเดียว แม่นันชอบมาก ซึ่งในปีนี้จะเปิดให้สั่งจองกันด้วยค่ะ

พอเข้าวันที่ 5 เดือนห้าจีน ก็จะเป็นเทศกาลไหว้บ๊ะจั่งกัน คนจีนแต้จิ๋วเรียกเทศกาลนี้ตามวันเดือนว่า “โหง่วเหว่ยโจ่ย”
ของไหว้นอกจากบ๊ะจั่งแล้ว ยังมีกีจั่ง หรืออีกชื่อว่า กีก้วยด้วย ทำจากแป้งข้าวเหนียวแช่น้ำด่าง (กี) จนเม็ดข้าวเหนียวนุ่ม ห่อด้วยใบไผ่เป็นลูกบ๊ะจ่างเล็กๆ ใช้เชือกมัดไห้เป็นพวง นำไปต้มให้สุก ได้กีจั่งสีเหลืองสวยคล้ายบ๊ะจ่างลูกจิ๋ว จิ้มกินกับน้ำตาลโอวทึ้ง อร่อยเป็นที่สุด ปีนี้ให้ความหวังว่าอาจจะได้ทานกันอีกปี (แอบดีใจไว้ก่อนนะคะแฟนๆ)

ถัดมาเป็นเทศกาลสารทจีน (วันที่ 15 เดือนเจ็ดจีน) จะไหว้ด้วยฮวกก้วย หรือขนมฟูหน้าแตก
และที่ขาดไม่ได้คือขนมเทียนใส่ใบชือขัก หรือที่จีนแต้จิ๋วเรียก "ชือคักก้วย" 

เผลอแผล็บเดียว เรามาถึงเทศกาลตงชิว หรือวันไหว้พระจันทร์กันแล้ว เทศกาลนี้จะไหว้ “บีกอ” หรือ “เเปะกอ” คือขนมโก๋ ซึ่งเป็นขนมที่ทำจากแป้งข้าวเหนียว ขนม "เหล็กเต่ากอ" ที่ทำจากถั่วเขียว กรรมวิธีแบบโบราณจะยุ่งยากมาก แต่หอมอร่อยอย่างที่สุด อัดใส่พิมพ์เป็นรูปทรงต่างๆ
และหง่วยเปี้ย (ขนมไหว้พระจันทร์) ที่โบราณมากๆก็จะเป็นไส้ "โหงวยิ้ง" หรือธัญพืชหลากหลายขนิดซึ่งหาทานยาก

ราววันที่ 21-22-23 วันใดวันหนึ่งในเดือนธันวาคม จะเป็นเทศกาล "ตังโจ่ย" แม้ของไหว้จะเป็น อี่เกี้ย (อี๊กลมๆเล็กๆ) ไม่ใช่ “ก้วย” แต่ก็เป็นขนมที่ทำจากแป้งข้าวเหนียว เรียกว่า "อี๊" คนไทยเราเรียกว่าขนมบัวลอย เป็นบัวลอยลูกเล็กๆ ไม่มีไส้ โบราณจะปั้นเป็นสีขาวและสีชมพู ต้มน้ำใส่น้ำตาลทราย ผสมสีแดงเพื่อความเป็นสิริมงคล เรียกว่า "อี่ทึง"

แล้วปฏิทินก็วนกลับมาถึงวันที่ 24 เดือนสิบสองตามปฏิทินจีน วันที่ชาวแต้จิ๋วส่งเทพเจ้ากลับสวรรค์อีกครั้ง ซึ่งชาวแต้จิ๋วก็จะเริ่มโม่แป้ง ทำ “ก้วย” สารพัดชนิด เตรียมไว้ไหว้เจ้ากันต่ออีกปี และจะวนเวียนเช่นนี้ไปเรื่อยๆตราบเท่าที่ชาวแต้จิ๋วยังคงเคารพในตัวเทพเจ้าทั้งหลาย และนั่นก็หมายความว่า “ก้วย” ที่มาจากต้นน้ำธัญญพืชของเหล่าเกษตรกร จะยังอยู่คู่กับประเพณีและวิถีชีวิตของชาวแต้จิ๋วต่อไปด้วย

อ่านแล้วเหนื่อยมั้ยคะ แม่นันอ่านไป พิมพ์ไป ดูปฏิทินจีนของปีนี้ประกอบไป ตาลายค่ะ หวังว่าจะเป็นประโยชน์ในการเตรียมของไหว้ในแต่ละสารทนะคะ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่