วันไหว้ขนมผักกาด หรือ หง่วงเซียวโจ่ย

บันทึก หง่วงเซียวโจ่ย (8 เทศกาลสำคัญต้อนรับปีกระต่าย)
5 กพ. วันหง่วงเซียวหรือเทศกาลโคมไฟ จะมีการไหว้ "ขนมผักกาด" กันอีกครั้งแล้วค่ะ
ในวัน "หง่วงเซียวโจ่ย" ชาวจีนถือเป็นสาร์ทแรกหลังวันตรุษจีน...หรือจับโหง่วโจ่ยะ (วันขึ้น 15 ค่ำ) 
จึงอยากนำความสำคัญของวันนี้มาเล่าสู่กันฟังค่ะ
ตามปฏิทินจีน ปีนี้ 2566 "หง่วงเซียวโจ่ยะ"..ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 5 กุมภาพันธ์ (ปกติจะตรงกับวันมาฆบูชาของไทย) 
แต่ปีนี้ห่างกันถึงหนึ่งเดือน น่าจะเป็นเพราะตามปีปฏิทินจีนปีนี้มี 13 เดือน (ไม่แน่ใจนะคะ รบกวนผู้รู้ชี้แนะด้วยค่ะ)
ในวันหง่วงเซียว (ออกเสียงตามจีนแต้จิ๋วค่ะ)..ชาวจีน ชาวไทยเชื้อสายจีนในไทย จะจัดเตรียม 
"ขนมผักกาด หรือ ไช้เถ่าก้วย" ซึ่งถือเป็นอาหารมงคล แปลว่าความเจริญรุ่งเรือง ความโชคดี..พร้อมผลไม้ที่จะต้องมีคือ ส้ม 
เพื่อไหว้และเชิญเจ้าที่ หรือตี่จู้เอี๊ย (ที่เห็นศาลหลังแดงๆที่ชาวจีนตั้งไว้สักการะที่พื้นน่ะค่ะ) 
และปึงเถ่ากง (ศาลหลังแดงๆ เช่นกัน แต่อยู่เหนือพื้นหรือเหนือศีรษะเราน่ะค่ะ บางบ้านมี บางบ้านก็ไม่ได้ตั้งศาลปึงเถ่ากง) 
เชิญให้ท่านลงมารับประทาน
พอสายหน่อยประมาณสิบโมงถึงสิบโมงครึ่งก็จะเตรียมไช้เถ้าก้วย ซาแซ โหง่วแซ (เนื้อสัตว์สามอย่าง ห้าอย่าง) 
ซาลาเปา ส้มหรือผลไม้อื่นๆอีกชุด เพื่อไหว้และเชิญกง ม่า หรือบรรพบุรุษของเรา ลงมารับประทานร่วมกัน... .
แม่นันเห็นภาพนี้ตั้งแต่ตัวเล็กๆ ค่ะ เพียงแต่ตอนนั้นเด็กๆ ก็รู้เพียงแต่ว่าเป็นการไหว้ จุดธูปไหว้ ไหว้แล้วก็ลา 
ลาแล้วก็เผากระดาษคู่เงินทองที่เรียกว่า หงึ่งเตี๋ย..เป็นกระดาษสีขาวขุ่นๆแผ่นใหญ่ๆพับครึ่ง 
ตรงกลางจะติดกระดาษสีทองและสี่เงินแผ่นสีเหลี่ยมไว้.. ซึ่งต้องมีกระดาษคู่นี้ทุกครั้งเวลาไหว้เจ้า ไหว้บรรพบุรุษ 
พร้อมทั้งกระดาษเงินกระดาษทองรูปแบบต่างๆ มีทั้งใบเบิกทางด้วยนะคะ เป็นรูปทรงกลมๆ 
ซึ่งแม่นันมักจะถูกอาอึ้ม (คุณแม่) ใช้ให้เป็นคนหยิบมาวางแล้วก็ไหว้ เข้าใจว่าอาอึ้มคงมีอธิบายให้ฟัง แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็ค่อยๆ ลืมๆ เลือนๆ...
ยิ่งวิวัฒนาการใหม่ๆ ถูกรับและซึมซับเข้ามา อดีตก็ค่อยๆ เลือนไปตามกาลเวลา...
ปัจจุบันนี้คงมีแต่บ้านอาหยี่แจ้ (พี่สาวคนที่สอง) ที่ยังคงรักษารูปแบบการไหว้แบบเต็มไว้ 
พออาแจ้เล่าไปลึกๆ แม่นันก็ยิ่งมองเห็นภาพที่เค้าเล่าชัดขึ้นเรื่อยๆ ค่อยๆ อ๋อ..ค่อยๆ อ๋อ..ว่าที่แท้แล้วมันมีความหมายอย่างนี้นี่เอง...
สิงโตน้ำตาล
เจดีย์น้ำตาล
ในวันนั้นนอกจากมีการไหว้ขนมผักกาดและอื่นๆ แล้ว.. ยังมีการเตรียมสิงโตน้ำตาล (ถึ่งไซ) 1 คู่ 
หรือเจดีย์น้ำตาล (ถึ่งถะ) เป็นน้ำตาลทราย นี่ล่ะค่ะแต่ขึ้นรูปเป็นตัวสิงโตหรือเจดีย์สูงหลายๆชั้น) 
ขนาดความใหญ่ก็จะประมาณหนึ่งฟุตขึ้นไปจนถึงตัวโตๆเท่าขนาดจริงก็มีค่ะ ซึ่งจะต้องไปเช่าซื้อจากศาลเจ้าไต่ฮงกง..
โดยจะนำมาเป็นคู่ (ตัวผู้และตัวเมียถ้าเป็นสิงโต แต่ถ้าเป็นเจีดีย์ก็เป็นคู่เหมือนกันค่ะ) 
โดยเตรียมนำมาวางไว้ที่ข้างๆ ตี่จู้เอี๊ย (ศาลเตี้ยสีแดงที่พื้นน่ะค่ะ) ข้างละตัว
ซึ่งความเชื่อในการอัญเชิญสิงโตคู่ หรือเจีดีย์คู่มาไว้ที่บ้านแล้วจะนำมาซึ่งความโชคดี ร่ำรวยเงินทอง สมหวังทุกประการ 
เช่นหากใครยังไม่มีบุตรก็ทำการอธิษฐานขอพรจากไต่ฮงกง ก็จะสมหวังในเร็ววัน และหรืออื่นๆ ตามที่เราจะอธิษฐาน... 

พอพูดถึงเรื่องการอธิษฐานก็ทำให้นึกขึ้นได้ว่าเวลาไหว้เจ้าที่บ้านหรือศาลเจ้าที่ไหนก็ตามของชาวจีน..
หากต้องการจะรู้ความน่าจะเป็นว่าพรที่ขอจะได้หรือไม่ก็สามารถทำได้โดยการเสี่ยงทายด้วยการโยนปวย หรือปัวะปวย (แผ่นไม้คู่ทำนาย)

สำหรับการปัวะปวย (โยนแผ่นไม้คู่ทำนาย) แม่นันอยากเล่าให้ฟังค่ะ แม่นันจำได้สมัยเด็กๆ 
เวลาไปไหว้เจ้ากับอาอึ้มที่ไหนก็แล้วแต่ แม้กระทั่งในบ้าน อาอึ้มก็จะปัวะปวยทุกครั้ง ซึ่งตรงนี้แม่นันจำได้ไม่ลืม 
(เพราะการโยนปวย แผ่นไม้คู่ทำนาย..สำหรับเด็กแล้วมันสนุกมาก) ก่อนอาอึ้มจะโยนปวย หรือปัวะปวย อาอึ้มก็จะอธิฐานงึมงัม งึมงัม 
ซึ่งแม่นันก็ได้ยินทุกครั้งล่ะค่ะว่าอาอึ้มอธิฐานว่าอะไร ก็งึมงัมเสียงดังปานนั้น (55 นินทาแม่ตัวเอง) 
ยกตัวอย่าง..บางครั้งมีคนในบ้านเจ็บป่วย ก็จะนั่งคุกเข่าหน้าตี่จู๋เอี๊ย (ศาลหลังแดงๆเล็กๆที่ตั้งอยู่พื้นบ้าน) 
แล้วก็อธิฐานว่า "ถ้าคนๆนี้จะหายป่วยในเร็ววันขอให้ "เซ้งปวย" คือขอให้แผ่นไม้ที่โยนลงมาให้ "คว่ำอัน หงายอัน" 
แสดงว่าเทพเจ้าเห็นด้วย คนๆนี้หายแน่ แต่ถ้า "เชี้ยปวย" คือโยนแล้วแผ่นไม้ "หงายทั้งสองอัน" 
แสดงว่าเทพเจ้าไม่เห็นด้วย หรือกำลังหัวเราะหึหึอยู่ (เพราะ "เฉี่ย" แปลว่า "หัวเราะ") แต่ถ้า "อุ่งปวย (หรืออุ๊งปวย)" 
คือโยนแล้วแผ่นไม้ "คว่ำทั้งสองอัน" แสดงว่าธรรมดาๆ ไม่มีอะไร เทพเจ้าเฉยๆ ให้เราตั้งคำถามคำตอบที่อยากได้ใหม่ 
เพื่อความสบายใจอะไรประมาณนี้น่ะค่ะ เรียกว่าพยายามอธิฐานเข้าข้างตัวเองให้ได้ 
เช่น ถ้าหากวันนั้นอาอึ้มโยนปวยแล้วออกมาเป็น "เชี้ยปวย" คือเทพเจ้าไม่เห็นด้วย 
อาอึ้มก็จะงึมงัมใหม่ว่า "ถ้าปวยที่โยนใหม่ออกมาเป็น "คว่ำหรือหงายทั้งสองอัน" แสดงว่าจากหนักก็จะกลายเป็นเบา 
ทีนี้ไม่ว่าปวยจะออกมาลักษณะไหน อาอึ้มก็สบายใจ.. แล้วก็จะหันมา "โน้วอ่า เหล่าเอี๊ย ปอห่อ เหลี่ยว" (ลูกจ๋า..เจ้าท่านให้สิ่งที่เราขอแล้ว)

กลับมาเรื่องสิงโตน้ำตาลคู่นำโชคกันต่อดีกว่าค่ะ ชาวจีนอย่างเราก็จะอัญเชิญมาไว้ที่บ้าน โดยวางไว้ข้างตี่จู๋เอี๊ยข้างละตัว 
ซึ่งจะวางไว้เป็นปี ข้ามปี หรือนานแค่ไหนก็ได้ สามารถกำหนดเวลาลาได้ อย่างของบ้านอาหยี่เจ้บางครั้งก็ลาเมื่อถึงวันชิวอิก (วันพระจีน) 
ในเดือนถัดไป หรือบางครั้งก็ข้ามปีก่อนที่จะอัญเชิญคู่ใหม่มาไว้ที่บ้าน วิธีการลาก็ลาเหมือนลาอาหารที่เราไหว้ทั่วไป แล้วก็นำมาทุบให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย แล้วเก็บใส่โหลไว้ บางบ้านก็นำมาเคี่ยวให้เป็นน้ำตาลแล้วนำไปประกอบอาหารต่อ ก็แล้วแต่สะดวกค่ะ...
ค่ะ และนี่คือเรื่องราวสั้นๆเกี่ยวกับการเตรียมของไหว้ในวัน "หง่วงเซียวโจ่ย" ค่ะ 
ช่วงนี้แม่นันก็เริ่มเตรียมทำขนมผักกาดอีกครั้ง เพื่อให้ทันไหว้ "หง่วงเซียว" ของแฟนๆค่ะ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่