ที่มาของขนม "จูชังเปี้ย"

"จูชังเปี้ย" ขนมเค็มๆหวานๆที่ทำให้คิดถึงทุกครั้งเมื่อใกล้เทศกาลเชงเม้ง
ความตั้งใจของแม่นันที่ซื้อ “จูชังเปี้ย” เตรียมไว้ไหว้บรรพบุรุษที่สุสานเมื่อ 27 มีค. ที่ผ่านมา เป็นอันต้องตกไปอยู่ในท้องของพวกเรา 
เพราะเปลี่ยนสถานที่ไหว้เป็นที่บ้านแทนในวันที่ 5 เมย.ที่จะถึงนี้ นอกจากขนมผักกาดที่จะทำไปไหว้เป็นปกติแล้ว 
แม่นันว่าจะแวะเยาวราชอีกครั้งเพื่อซื้อ "จูชังเปี้ย" ไปไหว้อาป๊ะอาอึ้มที่บ้านสามพรานค่ะ
แม่นันข้องใจอยู่นานเหมือนกันค่ะว่า ทำไมถึงเรียกขนมประเภทนี้ว่า “จูชังเปี้ย” คำว่า “จู” มีส่วนเกี่ยวข้องยังไงกับขนม 
เพิ่งมากระจ่างเมื่อได้พบบทความของ อจ.Nirandorn Narksuriyan ที่เขียนไว้นานแล้วว่า 
สำเนียงแต้จิ๋วธรรมดาควรจะเรียกว่าขนมชนิดนี้ว่า “จือชังเปี้ย” เพราะคำว่า “จือ” มาจาก จาก “จือมั้ว” 芝麻 ซึ่งก็คือ “อิ่วมั้ว” 油麻 หรือเมล็ดงานั่นเอง 
เมล็ดงาไม่ว่าจะเป็นงาขาวหรืองาดำ คนแต้จิ๋วในเมืองไทย มักเรียกว่า “อิ่วมั้ว” 油麻 นอกจากชื่อ “อิ่วมั้ว” หรือ “จือมั้ว” แล้ว 
ยังมีชื่ออื่นอีก เช่น “จี* มั้ว” 脂麻 “โอวมั้ว” 乌麻, “เก๋าสัก” 狗虱 เป็นต้น 
สรุปก็คือ จูชังเปี้ย หรือจือชังเปี้ย มีเมล็ดงาเป็นส่วนประกอบสำคัญ
ส่วนคำว่า “ชัง” 葱 คำนี้ใครๆ ก็รู้จัก ชัง หมายถึงต้นหอม กล่าวกันว่าเจ้าตำรับจูชังเปี้ยที่แท้ 
จะผสมต้นหอมสับลงไปในเนื้อไส้ของขนม ทำให้จูชังเปี้ยมีรสชาติชวนรับประทาน ในประเทศจีน 
ต้นหอมเป็นพืชผักที่ทนร้อนทนหนาวได้ดี แต่ช่วงที่งอกงามจริงๆ คือช่วงที่มีอากาศเย็นสบาย (凉爽的气候) 
นั่นคือช่วงกลางฤดูใบไม้ผลิ ประมาณเดือนสามทางจันทรคติของจีน ซึ่งเป็นช่วงก่อนหน้าเช็งเม้งเล็กน้อย
จูชังเปี้ย น่าจะเริ่มจากชาวแต้จิ๋วแถบเตี่ยเอี๊ย 潮阳 คนเตี่ยเอี๊ยมีสำเนียงแต้จิ๋วที่แปลกกว่าแถบอื่นๆ เสียงสระ(สะ-หระ)อือ 
จะออกเสียงเป็นสระอู ตัวอย่างเช่นเลี้ยงหมู “ฉี่ตือ” 饲猪 จะพูดว่า “ฉี่ตู” หรือกินปลา “เจียะฮื้อ” 食鱼 จะพูดว่า “เจียะฮู้” 
พอมาทำขนม “จือชังเปี้ย” 芝葱饼 เลยเรียกด้วยสำเนียงของตัวเองว่า “จูชังเปี้ย” คนแต้จิ๋วแถบอื่นๆ 
พอได้กินขนมชนิดนี้ ก็ติดใจซื้อตามๆ กัน แถมรับเอาชื่อเรียกมาด้วย ถ้าให้เปลี่ยนมาเรียก “จือชังเปี้ย” คงไม่สนิทปากแล้วค่ะ 
เพราะแม่นันสนิทกับ “จูชังเปี้ย” มาครึ่งชีวิตละ

ปีนี้ไม่ได้ไปกราบท่านทั้งสามที่สุสาน คิดถึงบรรยากาศล้อมวงทานข้าวค่ะ เหมือนได้นั่งทานกับอาป๊ะอาอึ้มและอาแน (คุณพ่อคุณแม่) ด้วย 
เด็กๆได้ไปไหว้อากงอาม่ากันตั้งแต่พวกเค้ายังตัวเล็กๆ พวกเราพี่น้องไปกันตั้งแต่ยังสาวๆ ปีนี้อาตั่วแจ้ก็ปาเข้าไป 75 แล้ว 
แม่นันถึงจะเป็นน้องคนเล็กก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าพวกอาแจ้เลย
เชงเม้งเป็นเทศกาลที่สอนลูกหลานหลายๆเรื่อง ตั้งแต่เรื่องความรักฉันท์ครอบครัว 
ทุกคนต่างดีใจที่จะได้มาพบกันในวันนี้ มิน่าล่ะแม่นันถึงรู้สึกอย่างนี้ตั้งแต่ยังเด็กๆค่ะ เราจะมีความสุขมากที่จะได้ไปไหว้เชงเม้งที่สุสาน
อีกหนึ่งบทคำสอนก็คือ เจี๊ยะโหล่วเกี๊ย (ขออนุญาติเดินผ่านทาง) เป็นอีกความนอบน้อมของคนเป็นที่มีต่อคนตายค่ะ
ทุกครั้งเมื่อไหว้แป๊ะกงม่า (ศาลตายาย) บริเวณด้านล่างเสร็จ ลูกหลานจะต้องเดินทางต่อขึ้นไปบนสุสานของบรรพบุรุษ 
ระหว่างทางเดินเราต้องผ่านสุสานเพื่อนบ้านของอากงม่าเราเยอะแยะไปหมด เราควรจะบอกกล่าว(ด้วยปากเปล่า) 
กับเจ้าของสุสานอื่นๆที่เราเดินผ่านว่า "ขอเรายืมเดินผ่านทางท่าน" ตอนเด็กๆแม่นันก็งงๆว่าพวกผู้ใหญ่บ่นอะไรงุ้งงิ้ง งุ้งงิ้งตามหลังเรามา 
ที่แท้ "เจี๊ยะโหล่วเกี๊ย" (ขออนุญาติเดินผ่านทาง) นี่เอง

และบทสุดท้ายตอนลากลับ บรรพบุรุษจะรับรู้ถึงร่องรอยการมาไหว้ของลูกหลานคือ เมื่อยกอาหารลาเรียบร้อยแล้ว 
ลูกหลานจะแกะหอยแครงหรือที่คนจีนเรียกว่า "ฮัม" และอาหารทีมีเปลือกอื่นๆ ทานกันตรงนั้น 
แล้วโยนเปลือกลงบริเวณด้านหลังแท่นที่เรากราบไหว้ ให้บรรพบุรุษรับรู้ว่าปีนี้ลูกหลานได้มากราบไหว้แล้วนะ 
บางครอบครัวของตระกูลติดธุระมาพร้อมกันไม่ได้ ก็จะมาก่อนล่วงหน้าหนึ่งหรือสองวัน 
เมื่อลูกหลานที่เหลือมาถึงเห็นเศษเปลือกหอยโยนไว้ ก็จะเข้าใจได้โดยทันทีว่าบ้านนั้นมาถึงก่อนหน้านี้แล้ว 
ปัจจุบันลดน้อยจนไม่ค่อยเห็นแล้วค่ะ แต่ความเชื่อยังมีอยู่แน่นอน
**ความหมายของการนำหอยแครง鳥蛤 (เตี่ยจิวอ่านออกเสียง 蛤 ฮัม หรือ กับ/กัก) มาเซ่นไหว้บรรพบุรุษนั้นเรียกว่า 
"骨肉相见หรือ肉与骨相遇 (กุ๊กเน็ก เซียงเกี่ยง หรือ เน๊กอุ่ยกุก เซียงหงอ = กระดูกกับเนื้อมาพบกัน
เปลือกหอยแครง (กุก骨กระดูก) = ผู้ล่วงรับ,
เนื้อหอยแครง (เน็กหรือบะ肉) =ลูก, หลาน, เหลนที่มีชีวิตอยู่ (ที่มาเซ่นไหว้ในวันนี้)
หอยแครง(ฮัม)มีองค์ประกอบคือ..
1)เปลือกหอยมีลักษณะแข็ง (เปรียบเหมือนบ้าน การโอบกอด) = กุก骨: บรรพบุรุษผู้วายชนน์ปกป้อง คุ้มครองเหล่าลูกหลาน
2)เลือดหอยแครง : สายเลือดแห่งตระกูลแซ่ (姓氏族血脉)
3)เนื้อหอย肉 : ลูก หลาน เหลน**
แค่สามบทคำสอนก็ลึกซึ้งกับประเพณีไหว้เชงเม้งมากค่ะ

บทความ

บทความ สี่หนี่โป่ยโจ่ยะ แปดเทศกาลจีนในปี 2565 (เช็ควันตรงให้เรียบร้อยค่ะ)
**ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติม (ความหมายของ ฮัม) จากคุณ @Komes Kun กลุ่มจีนโบราณ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่