"เช็งเม้ง" เทศกาลแห่งความรื่นรมย์


"เช็งเม้ง" เทศกาลแห่งความรื่นรมย์ (เทศกาลที่ 3 ประจำปี 2567)

"เช็งเม้ง หมายถึงช่วงเวลาแห่งความแจ่มใสรื่นรมย์ (มิน่าพวกเราถึงได้มีความสุขมากๆในวันนี้) แต่สิ่งหนึ่งที่สังเกตได้ คือแต่ละปีสมาชิกในครอบครัวที่เคยมากราบไหว้จะลดน้อยลงทุกที โดยเฉพาะหลานลูกหลานที่ทยอยเติบโตขึ้น เริ่มติดเรียน ติดงาน บางคนมีครอบครัวก็แยกย้ายกันไป ปัจจุบันเหลือแต่เราพี่น้อง แต่แม่นันยังดีใจที่อาตั่วตี๋โซ้ยตี๋ที่เราพาเค้ามาไหว้กงม่าตั้งแต่ขวบปีแรกจนปีนี้อาตั่วตี๋ 24 แล้ว แถมอาสาผลัดกันขับรถพาพ่อแม่มา.. ฮอเสียะ”
เวลาผ่านไปเร็วมากนะคะ เหมือนเพิ่งผ่านตรุษจีนไปเมื่อวานนี้เอง เทศกาลเช็งเม้ง ก็เวียนมาให้ลูกหลานได้แสดงความกตัญญูอีกครั้งแล้ว

พอใกล้เช็งเม้ง (4, 5 เมย.) แม่นันเชื่อว่าหลายๆบ้านเริ่มเล็งปฏิทินกันแล้วใช่มั้ยคะ ว่าเช็งเม้งปีนี้จะเดินทางกันวันไหนดี ปกติครอบครัวใหญ่ของแม่นันจะดูวันสะดวกของพี่น้องเป็นหลัก และเดินทางกันประมาณเสาร์หรืออาทิตย์สุดท้ายของเดือนมีนาคมค่ะ
การเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับของลูกหลานจีนจริงๆ เริ่มไหว้กันได้ตั้งแต่วัน "ชุงฮุง" (วันเริ่มไหว้บรรพบุรุษ) ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นวันที่ประตู 3 ภพเปิด (ตามปฏิทินปีนี้ "ชุงฮุง"ตรงกับวันที่ 20 มีนาคม 67) ลูกหลานสามารถเริ่มเดินทางไปทำความสะอาด (เฉี่ยพุ้ง/เส่าหม้อ 扫墓 sǎo mù) และไปไหว้ได้จนถึงวันเชงเม้ง (ไว้จะนำประวัติวันชุงฮุงมาแบ่งปันกันค่ะ)
ตามแผ่นป้าย คุณพ่อกิมเฮง แซ่ลี่ (อาป๊ะของแม่นัน) มาจาก ตำบลเชียะกัง นครโผวเล้ง เมืองเก๊กเอี๊ย ในมณฑลกวางตุ้ง ( 廣東省揭陽市普寧市赤崗鎮赤崗山村 ) เป็นเขตที่มีคนแซ่ลี่อาศัยอยู่อย่างหนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่งในแถบโผวเล้งค่ะ ปีนี้แม่นันกำลังวางแผนไปเที่ยวบ้านเมืองที่อาป๊ะจากมาค่ะ
วันเช็งเม้ง วันสำคัญมากวันหนึ่งของครอบครัวคนจีน อาป๊ะ (คุณพ่อ) จากแม่นันไปตั้งแต่แม่นันมีอายุเพียงสี่ขวบ อาตั่วแจ้เล่าให้ฟังว่า สมัยที่อาป๊ะเสีย เมื่อเสร็จพิธีกงเต็กแล้ว ลูกหลานได้ทำพิธีฝังศพท่านที่สุสาน (ฮวงซุ้ยหรือฮวงจุ้ย) ในจังหวัดนครปฐม สมัยก่อนบรรพบุรุษที่ถูกฝังใหม่ๆจะต้องรอเวียนมาบรรจบครบสามปีก่อน ลูกหลานถึงจะไปกราบเคารพศพในวันเช็งเม้งที่สุสานได้ ดังนั้นการไปเช็งเม้งครั้งแรกของแม่นันก็น่าจะเป็นตอนเจ็ดขวบ.. และครอบครัวเราก็ไปเช็งเม้งกันทุกปีตั้งแต่นั้นมา ซึ่งการไปเช็งเม้งที่สุสานในความรู้สึกของเด็กๆมันช่างเป็นอะไรที่ตื่นเต้น สนุกสนานมากวันหนึ่ง พวกเราจะตื่นแต่เช้าโดยไม่ต้องมีใครปลุกเลย เพราะเมื่อถึงฮวงจุ้ยของอาป๊ะแล้วพวกเราก็จะได้ปีนป่ายไปบนหลุมฝังศพเพื่อนำกระดาษสีสายรุ้งและธงเล็กๆสีต่างๆขึ้นไปปัก เหมือนเรากำลังตกแต่งบ้านคุณพ่อของเราเอง แถมก่อนกลับพวกเราก็จะได้เผากระดาษเงินกระดาษทองไปให้ท่านใช้อีก
 คุณพ่อกิมเฮง แซ่ลี้
 
จำไม่ได้ว่ากี่ปีให้หลังเราจึงได้ย้ายศพอาป๊ะมาอยู่ที่สุสานหงส์ซัว บ้านบึง หลังจากอาแน (คุณแม่ใหญ่ ภรรยาหลวงของอาป๊ะ) และอาอึ้ม (คุณแม่) เสียชีวิตตามไปเมื่อยี่สิบสี่ปีที่แล้ว เราจึงได้นำศพท่านมาฝังไว้ที่เดียวกัน (ลูกหลานจีนมักจะซื้อที่ขนาดใหญ่ขึ้นเผื่อไว้ค่ะ) บางตระกูลถึงกับซื้อที่ดินใหญ่มาก เผื่อไว้สำหรับตัวเองและลูก สะใภ้ เขย ทุกคนเลยทีเดียว
ทุกปีเมื่อเรากำหนดวันเดินทางไปสุสานของที่บ้านได้แล้ว สิ่งแรกที่อาโหง่วแจ้ต้องดูแลคือ ติดต่อคนทำความสะอาดสุสานของที่นั่น แจ้งว่าเราจะเดินทางไปวันไหน เพื่อให้เค้าเตรียมกางเต๊นท์ ทำความสะอาด (บ้าน) หรือบนหลุมฝังศพและบริเวณโดยรอบให้สะอาด แต่ไม่ทันได้โทรหรอกค่ะ สองสามีภรรยา (คนทำความสะอาด) จะโทรมาถามล่วงหน้าแล้ว ทั้งสองทำอย่างนี้ มาตลอดหลายสิบปีค่ะ สองปีหลังเจอแต่ภรรยาซึ่งชราลงไปมาก

เมื่อไปถึงสุสานหงส์ซัว..การไหว้ก็จะมีลำดับก่อนหลัง จะต้องไหว้ศาลแป๊ะกงม่า (ศาลตายาย) ที่ตั้งอยู่บริเวณด้านล่างก่อนขึ้นสุสานค่ะ

การเตรียมของไหว้บรรพบุรุษ เราจะต้องเตรียมของคาวหนึ่งชุดไว้ไหว้วิญญาณที่ดูแลที่แห่งนี้ด้วย จะอยู่มุมขวาของประตูทางเข้าบ้านหลังนี้ จากนั้นลูกหลานก็จะจุดธูปไหว้ขอเชิญดวงวิญญาณบรรพบุรุษให้ลงมารับประทานอาหารคาวหวานชุดใหญ่ที่ลูกหลานเตรียมมาให้ มีแต่อาหารมงคลเต็มไปหมด ชุงฉ่าย ไช้เถ่าก้วย ซาลาเปา สิ่วท้อ ชาหมี่เตี๊ยว เป็ดไก่ ผลไม้ ขนมนมเนย และที่ขาดไม่ได้เลย..ขนมไฮไลท์ของเทศกาลเช็งเม้งคือ “จูชังเปี้ย หรือจือชังเปี้ย” ซึ่งจะมีทำกันเพียงปีละครั้ง อร่อยมากๆ เค็มๆหวานๆ อร่อยจนแม่นันเองยังต้องรอที่จะได้กินทุกเช็งเม้ง (เจ็กนี้เจ็กฉื่อ = ปีละหนึ่งครั้ง) 
จูชังเปี้ย ขนมเค็มๆหวานๆที่จะได้ทานเพียงปีละครั้ง 

มีการอธิฐาน ขอพร ขอความโชคดีให้แก่ลูกหลาน ให้ถูกล็อตเตอรี่ชุดใหญ่ๆ ขอพรเป็นภาษาจีนกันเสียงดัง สนุกสนาน.ต้องบอกว่าพวกเราพี่น้องสนุกกันจริงๆค่ะ (หลายๆบ้านคงเป็นเหมือนกัน เค้าถึงเรียกว่าวันรื่นรมย์ไงคะ) .

เมื่อพิธีไหว้เสร็จสิ้น จะต้องมีการยกอาหารคาวหวานขึ้นลา ประมาณว่าบรรพบุรุษได้รับอาหารคาวหวานเรียบร้อยแล้ว เรา..ลูกหลานก็จะยกกระดาษเงินกระดาษทอง ยกอาหารทุกจานหรือแตะบนขอบจานอาหารแต่ละจานต่อๆกัน พร้อมบอกลา และแน่นอนขอพรอีกไม่รู้จบ “หนูทำจานนี้มา..หนูทำจานนั้นมา..อาป๊ะอาอึ้มต้องให้หนูเยอะๆนะคะ” ขำขำค่ะ อาหารที่ถูกลาแล้วลูกหลานก็จะทานต่อได้
การบอกลาอีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้บรรพบุรุษรับรู้ได้จากร่องรอยการมาไหว้ของลูกหลานคือ เมื่อยกอาหารลาเรียบร้อยแล้ว ลูกหลานจะแกะหอยแครงหรือที่คนจีนเรียกว่า "ฮัม" และอาหารทีมีเปลือกอื่นๆ ทานกันตรงนั้น แล้วโยนเปลือกลงบริเวณข้างๆแท่นที่เรากราบไหว้ ให้บรรพบุรุษรับรู้ว่าปีนี้ลูกหลานได้มากราบไหว้แล้วนะ บางครอบครัวของตระกูลติดธุระมาพร้อมกันไม่ได้ ก็จะมาก่อนล่วงหน้าหนึ่งหรือสองวัน เมื่อลูกหลานที่เหลือมาถึงเห็นเศษเปลือกหอยโยนไว้ ก็จะเข้าใจได้โดยทันทีว่าบ้านนั้นมาถึงก่อนหน้านี้แล้ว ปัจจุบันลดน้อยจนไม่ค่อยเห็นแล้วค่ะ แต่ความเชื่อยังมีอยู่แน่นอน
**ความหมายของการนำหอยแครง 鳥蛤 (เตี่ยจิว/แต้จิ๋ว อ่านออกเสียง 蛤 ฮัม หรือ กับ/กัก) มาเซ่นไหว้บรรพบุรุษนั้นเรียกว่า "骨肉相见หรือ 肉与骨相遇 (กุ๊กเน็ก เซียงเกี่ยง หรือ เน๊กอุ่ยกุก เซียหงอ = กระดูกกับเนื้อมาพบกัน
เปลือกหอยแครง (กุก骨กระดูก) = ผู้ล่วงลับ,
เนื้อหอยแครง (เน็กหรือบะ肉) =ลูก, หลาน, เหลนที่มีชีวิตอยู่ (ที่มาเซ่นไหว้ในวันนี้)
骨肉相见 กุ๊กเน็กเซียงเกี่ยง = เนื้อและกระดูกมาพบกัน

หอยแครง(ฮัม) มีองค์ประกอบคือ..
1) เปลือกหอยมีลักษณะแข็ง (เปรียบเหมือนบ้าน การโอบกอด) = กุก骨: บรรพบุรุษผู้วายชนน์ปกป้อง คุ้มครองเหล่าลูกหลาน
2) เลือดหอยแครง : สายเลือดแห่งตระกูลแซ่ (姓氏族血脉)
3) เนื้อหอย肉 : ลูก หลาน เหลน**
เมื่อลาแล้ว ลูกหลานก็จะนำกระดาษเงินกระดาษทอง บ้างมีรองเท้า รถยนต์ ทีวี พัดลมจำลอง ทำมาจากกระดาษมาเผาส่งไปให้บรรพบุรุษได้ใช้ ได้อำนวยความสะดวก โดยจะต้องเผากระดาษที่เรียกว่าอ่วงแซจี๊ก่อน หรือเรียกกันจนติดปากว่าใบเบิกทาง ตามด้วยเงินทอง ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ แล้วจึงจบลงด้วยการจุดประทัด ถือว่ายิ่งจุดเยอะยิ่งดีจะได้ดังไปถึงสวรรค์บอกให้บรรพบุรุษได้รับรู้ว่าลูกหลานมาถึงแล้วนะ ปัจจุบันลดไปเยอะแล้วค่ะ ถึงกับมีการจุดประทัดดิจิตอลส่งเสียงดังไปถึงสวรรค์แปดชั้นฟ้า

ปีนี้ได้กำหนดวันไปไหว้เชงเม้งกันรึยังคะ เดินทางปลอดภัยและดูแลสุขภาพกันด้วยนะคะ

.
ขอบคุณผู้ใหญ่ใจดี คุณพลพัธน์ ภาษิตา ศิลปี และเพื่อนผปค (ผู้ถอดคำแปลบนแผ่นป้ายให้)
ขอบคุณ คุณKomes Kun กลุ่มจีนโบราณ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม (ความหมายของ ฮัม)
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่