วิญญาณ มโน และจิต ใน ๒ ปิฎก

เมื่อจะจัดเข้าขันธ์ ๔ หรือว่าจัด ๕ เข้าในหมวดเจตสิก,
วิญญาณ จัดเข้าในหมวด จิต,
เวทนา สัญญา สังขาร ๓ นี้เป็นเจตสิก,
เจตสิกทั้งปวงนี้ เมื่อย่นย่อลงแล้ว
ก็ย่นย่อลงในเวทนา ในสัญญา ในสังขารทั้งหมด

และตามนัยในพระอภิธรรมนี้
วิญญาณ ในขันธ์ ๕ มนะ ในอายตนะภายใน
และ จิต ที่กล่าวถึงในที่ทั้งปวง จัดเข้าในหมวดจิตทั้งหมด

เพราะฉะนั้น หลักการจัดหมวดจิตในพระอภิธรรม
จึงต่างจาก หลักของการแสดงจิต มโน และวิญญาณ
ในสุตตันตะ หรือในพระสูตร

ในพระสูตรนั้น จิตมีความหมายอย่างหนึ่ง
วิญญาณมีความหมายอย่างหนึ่ง
มโนมีความหมายอย่างหนึ่ง ดังที่แสดงแล้วใน
อนัตตลักขณสูตร และใน อาทิตตปริยายสูตร

กล่าวโดยย่อ ใน อนัตตลักขณสูตร

วิญญาณนั้นเป็นขันธ์ ๕ ข้อหนึ่ง
ซึ่งตกในลักษณะของไตรลักษณ์
คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
ดั่งที่ในพระสูตรนั้นสอนให้รู้ว่าวิญญาณเป็นอนัตตา

ใน อาทิตตปริยายสูตร
มนะเป็นอายตยะภายในข้อหนึ่ง
ที่ท่านสอนให้พิจารณาว่าเป็นของร้อน,
ร้อนเพราะไฟคือ ราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้น

คราวนี้ ใครเป็นผู้พิจารณาวิญญาณว่าเป็นอันตตา
พิจารณามนะก็นับว่าเป็นของร้อน,
ต้องมีผู้พิจารณาอีกผู้หนึ่ง
ไม่ใช่วิญญาณพิจารณาวิญญาณเอง
หรือมนะพิจารณามนะเอง,

ในตอนท้ายของพระสูตรทั้งสองนี้
ก็แสดงว่าจิตพ้นจากอาสวกิเลส,
แต่ว่าไม่ได้แสดงว่าวิญญาณพ้นหรือมนะพ้น,
จะแสดงอย่างนั้น ก็ย่อมไม่ได้

เพราะเมื่อวิญญาณเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะเป็นผู้พ้นกิเลส,
และมนะก็เป็นของร้อนเพราะไฟกิเลส
ก็ไม่อยู่ในฐานะที่เป็นผู้พ้น
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่