บทสวดอนัตตลักขณสูตร พร้อมคำแปล

อนัตตลักขณสูตร เป็นพระสูตรที่พระบรมศาสดาทรงแสดงต่อปัญจวัคคีย์ หลังปฐมเทศนา คือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เมื่อสดับฟังแล้ว ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ก็บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์พร้อมกัน นับเป็นพระอรหันต์กลุ่มแรกในพระพุทธศาสนา

สาระสำคัญแห่งอนัตตลักขณสูตร

1. ขันธ์ 5 คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ เป็นอนัตตา เพราะเสื่อมสลายไปตามเหตุปัจจัย ตามกาลเวลา ไม่สามารถขอร้องขันธ์ 5 ได้ว่า จงเป็นอย่างนี้เถิด หรือ ไม่สามารถห้ามปรามขันธ์ 5 ได้ว่า อย่าเป็นอย่างนั้นเลย แต่ถ้าขันธ์ 5 เป็นอัตตา จะไม่เสื่อมไปตามเหตุปัจจัย หรือ ไม่เสื่อมไปตามกาลเวลา เป็นอย่างไร ย่อมเป็นอย่างนั้นตลอดไป หรือ ใครๆก็ขอร้องได้ว่า จงเป็นอย่างนี้

2. เมื่อพระพุทธเจ้าทรงวางหลักในการพิจารณาขันธ์ 5 เป็นอนัตตาให้พระปัญจวัคคีย์เข้าใจประจักษ์อย่างลึกซึ้งชัดเจนแล้ว จึงทรงสนทนาเชิงปุจฉาวิสัชชนากับพระปัญจวัคคีย์ โดยทรงถามขึ้นว่า …

“รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ เที่ยง หรือ ไม่เที่ยง”
พระปัญจวัคคีย์ทูลตอบว่า “ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า”

ตรัสถามต่อไปว่า “สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้น เป็นทุกข์ หรือ เป็นสุขเล่า”
พระปัญจวัคคีย์ทูลตอบว่า “เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า”

พระองค์ตรัสถามต่อไปว่า “สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือ จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตนของเรา”
พระปัญจวัคคีย์ทูลตอบว่า “ไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า”

บทสนทนานี้ชี้ให้เห็นว่า ไม่ควรยึดถือขันธ์ 5 คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ว่า เป็นของเรา เป็นเรา เป็นตนของเรา เพราะ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ แปรปรวนไปตามเหตุตามปัจจัย

3. พระพุทธเจ้าทรงตรัสชี้ให้เห็นว่า ขันธ์ 5 คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ไม่ว่า จะเป็นอดีต อนาคต และ ปัจจุบัน ภายใน หรือ ภายนอก หยาบ หรือ ละเอียด เลว หรือ ประณีต ไกลหรือใกล้ทั้งหมด เป็นสักแต่ว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ พระองค์ทรงตรัสให้พระปัญจวัคคีย์พิจารณา รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ แต่ละขันธ์ ๆ ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่ใช่เรา นั่นไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนของเรา

พระอริยเจ้าทั้งหลายเข้าถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง จึงพบว่า ไม่มีอะไรเกิดและไม่มีอะไรตาย มีแต่ความเปลี่ยนแปลงและผลจากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ชั่วขณะเท่านั้น ท่านจึงเข้าถึงอมตะ คือ ความไม่ตาย เพราะความไม่เกิด นำมาซึ่งความไม่ตาย

4. บทสุดท้ายแห่งอนัตตลักขณสูตร พระพุทธเจ้าทรงชี้ให้เห็นลักษณะของจิตของพระอริยสาวกผู้หลุดพ้นไว้ว่า...

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้ฟังแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูป เวทนา สัญญา สังขารและวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่ายย่อมสิ้นกำหนัด เพราะสิ้นกำหนัด จิตก็พ้น เมื่อจิตพ้นแล้ว ก็รู้ว่าพ้นแล้ว อริยสาวกนั้นทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ลักษณะจิตหลุดพ้นจะมี 3 ลักษณะใหญ่ๆคือ

       - นิพพิทา แปลว่า หน่ายในขันธ์ทั้ง 5
       - วิราคะ แปลว่า คลายกำหนัด ถอนความยึดมั่นในขันธ์ทั้ง 5 ออกมาได้ทั้งหมด
       - วิมุตติ แปลว่า หลุดพ้น สรุปสั้นๆสุดๆว่า หน่าย คลายกำหนัดแล้วจึงหลุดพ้น

ที่มา :-
http://live.siammedia.org/index.php/article/dharma/10957
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่