ราชาสิบสองนักษัตร ศึกรวมสุโขทัย - บทที่ ๒๙ วราพญาสัตว์

.
                                                  

บทที่ ๒๙ วราพญาสัตว์

แม้เรื่องราวการกระทบกระทั่งจนถึงขั้นเกือบเอาชีวิตกันจะผ่านไปแล้ว
แต่ผู้คนในย่านร้านค้าตลาดเมืองเก่ายังคงจับกลุ่มยืนดูด้วยความสนใจใคร่รู้ พานอินจึงรีบพาทุกคนกลับไปยังบ้านนายทองเย็น พ่อค้าชาวอโยธยาที่มาตั้งรกรากค้าขายอยู่ในตลาดเก่าปตานี

“ท่านเป็นใคร และทำไมถึงรู้จักเรา”
พานอินกล่าวถามขึ้นทันทีเมื่อทุกคนเข้าไปในบ้าน ลักษณะบ้านด้านหน้าแทบจะคล้ายโรงพักสินค้าขนาดย่อมๆ เป็นลานปูนกว้างวางไว้ด้วยสินค้าหลากหลายให้ผู้คนเข้ามาเลือกซื้อ

“ข้าพเจ้าชื่อทิพากร เป็นบุตรพระเจ้าปตานีแต่หาได้มีฐานันดรศักดิ์อย่างใดไม่ จนเมื่ออาทิตย์ก่อนมีการประลองอาวุธหานักสู้ตัวแทนของเมืองปตานี ข้าพเจ้าโชคดีมีชัยชนะจึงได้รับการแต่งตั้งเป็นขุนพลฉลูนักษัตร... แต่ก็เป็นเพียงตำแหน่งลอยๆ และต้องเข้าร่วมประลองต่อสู้กับตัวแทนจาก ๑๒ เมืองนักษัตรต่อไป”

“เราก็ได้ยินเรื่องการประลองดังกล่าว วันนี้ได้ชมวิชาดาบของท่านนับว่าสมแล้วที่เป็นยอดนักสู้อันดับหนึ่งของเมืองปตานี”

“ท่านชมเชยเกินไปแล้ว.. ข้าพเจ้ามีธุระต้องไปหาครูฝึกกองช้างกองม้าที่เมืองสายบุรี มีบุคคลแนะนำข้าพเจ้าว่ากองเรือเล็กของอโยธยาอาจเดินทางไปสายบุรีและบอกให้มาพบท่านพานอินที่บ้านนายทองเย็น เพื่อขอร่วมโดยสารเรือไปด้วย อีกทั้งคนที่ข้าพเจ้าจะไปพบก็ดูแลใกล้ชิดกองช้างของพระเจ้าสายบุรี บางทีอาจเป็นประโยชน์กับท่านก็เป็นได้...”

แม้จะมีรอยยิ้มเกลื่อนบนใบหน้าของพานอิน แต่เจ้าตัวยังคงนิ่งรอคำอธิบายต่อไปของเจ้าทิพ

“ข้าพเจ้าถามไถ่จนถึงบ้านนายทองเย็นและออกเดินติดตามจนพบตัวท่าน แต่เพราะเห็นองค์ชายอัศวเมฆทรงยืนอยู่ใกล้ตัวท่านจึงจำต้องหลบซ่อนกายไว้ ด้วยเป็นคู่อริกัน สุดท้ายก็เกิดเรื่องขึ้นระหว่างองค์ชายกับท่าน ข้าพเจ้าจึงต้องออกจากที่หลบซ่อนมา”

“เราต้องขอขอบคุณท่านมาก เจ้าทิพากร ที่ช่วยเราไว้ในครั้งนี้... หาไม่เราคงต้องเดือดร้อนเป็นอันมากแน่”
“ท่านเรียกข้าพเจ้าว่า เจ้าทิพเถอะ... ท่านนี่ช่างโอ่อ่าทระนงจริงๆ ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นคนแบบท่านมาก่อน ยอมให้ตัดศีรษะแต่ไม่ยอมคุกเข่า”

เจ้าทิพกล่าวชมเชย พลางสังเกตใบหน้าของนายวาณิชหนุ่ม หน้าคมคิ้วเข้มชี้ชัน ตาโตวาวเป็นประกาย รับกับจมูกที่เป็นสันไม่ใหญ่นัก หน้าผากกว้าง โหนกแก้มดูเต็มรับกับริมฝีปากที่อิ่ม ดูไปเป็นใบหน้าที่ทั้งงาม ทั้งสง่าและแฝงพลังอำนาจให้ผู้คนระย่อ พลางคิดในใจ “มิน่า องค์ชายอัศวเมฆจึงไม่ทรงถูกชะตาเพราะดูท่าเขาไม่ใช่คนที่จะก้มหัวให้กับผู้ใด”

“อย่างไรเสียองครักษ์ผู้นั้นคงไม่กล้าตัดศีรษะเราหรอก”
“ท่านดูวิถีดาบออกหรือ.. ว่าสิงขรสามารถยั้งวงดาบให้หยุดแค่สัมผัส”

เจ้าทิพถึงกับตะลึง เข้าใจว่ามีเพียงตนที่สังเกตดาบนั้นของสิงขรออก ดาบแม้วาดมาเร็วแต่มิแรง นั่นหมายถึงเจ้าตัวพร้อมที่จะหยุดปลายดาบไว้ทุกเมื่อ

“เราดูไม่ออกหรอก... แต่ศีรษะของเราแพงเกินไปที่องครักษ์ผู้นั้นจะกล้าตัดลงมา”

คราวนี้เจ้าทิพถึงกับต้องกลืนน้ำลายลงคอ นึกไม่ถึงว่าที่แท้ชายผู้นี้เพียงอ่านใจและเชื่อมั่นว่าจะอย่างไรสิงขรก็ไม่กล้าลงดาบ... พลันคำนึง ทำไมเขากล้าเอาศีรษะตนเองมาเดิมพันเช่นนี้... แล้วเปลี่ยนเรื่องถามไปว่า
“ท่านจะออกเรือไปสายบุรี เมื่อใดหรือ”

“แล้วท่านล่ะต้องการไปสายบุรีเมื่อใด” พานอินกลับถามย้อนมา
“สำหรับข้าพเจ้าแล้ว หากแม้นได้ไปสายบุรีเร็วเท่าใด ก็ยิ่งประเสริฐเท่านั้น”
“ถ้าเช่นนั้นพรุ่งนี้เช้า เราออกเดินทางกัน”

“แต่นายท่านวางแผนจะออกเดินทางในวันมะรืนนี้ แล้วเรายังมีเรื่องต้องกระทำอีกมากมาย” นายเรือง บริวารของพานอินกล่าวท้วงขึ้นทันที
“ไม่เป็นไร ในเมื่อธุระของคนที่ช่วยชีวิตเราเร่งด่วน เราก็จะรีบออกเดินทาง... เราจะขอเอาเรือเล็กออกไปหนึ่งลำก่อน” กล่าวแล้วรีบจัดแบ่งกำลังคนด้วยความเด็ดขาด

“นายเรือง เจ้าจงไปกับเราพร้อมพลเรือ ๑๐ คน ส่วนเจ้าอีก ๒ คนนอนรักษาตัวอยู่ที่นี่ก่อน แล้วอีก ๒ วันค่อยตามไปกับเรือเล็ก ๒ ลำพร้อมพลเรือที่เหลือ”
“ขอรับ” บริวารทั้งสามรับคำ

-----------------------------------

เมืองสายบุรีอยู่ไม่ไกลจากนครปตานี เมื่อล่องเรือเล็กไปไม่นานก็ถึงตัวเมือง หลังจากขึ้นฝั่งสอบถามถึงหมู่บ้านปฏักซึ่งเป็นหมู่บ้านชายป่าสำหรับเลี้ยงช้างเลี้ยงม้า จึงทราบว่าต้องล่องเรือเลียบฝั่งต่อลงไปทางใต้

ครั้นมาถึงท่าปฏัก จึงได้จอดทอดเรือให้บริวาร ๖ คนเฝ้าไว้ แล้วพานอิน เจ้าทิพ นายเรืองพร้อมคนติดตาม ๔ คน ต่างเดินทางขึ้นฝั่งมุ่งหน้าสู่หมู่บ้านปฏัก เดินฝ่าป่าโปร่งเข้าไปได้ราว ๕๐ เส้น (๒ กิโลเมตร) จึงเห็นเป็นลานโล่ง มีช้างและม้ามากมายอยู่รอบบริเวณ ปักป้าย “หมู่บ้านปฏัก”
ด้านในมีเพิงพักหลังเล็กหลายหลัง ตัวเพิงไม่มีฝาผนัง เปิดโล่งทั้ง ๔ ทิศสำหรับให้คนงานนั่งพักยามดูแลสัตว์ในบริเวณ หนึ่งในเพิงพักมีชาย ๒ คน แต่งชุดทหารของปตานีนั่งประจำอยู่ เมื่อทั้งสองเห็นคณะของเจ้าทิพก็เดินปรี่เข้ามา

“ท่านคือทหารของปตานีที่มาคอยดูแลท่านวรา ใช่หรือไม่... เราถือหนังสือของขุนพลสิงหลมาจากนครปตานี ขอพบกับหัวหน้าของพวกท่านด้วยเถิด” เจ้าทิพแจ้งความตามที่ขุนพลสิงหลสั่งไว้

เมื่อได้เจอตัวหัวหน้าทหารที่เฝ้าควบคุมวราแล้ว จึงมอบหนังสือของท่านขุนพลให้อ่าน จนเข้าใจคำสั่งเป็นอย่างดี
“เราจะพาท่านไปพบกับวรา แต่ท่านวราคุ้มดีคุ้มร้าย ท่านต้องระวังตัวไว้บ้างนะ”

แล้วจึงพาทั้งหมดไปยังเรือนไม้หลังหนึ่ง ยกเรือนสูง ตีฝาผนังด้วยปีกไม้ มุงหลังคาด้วยหญ้าแฝก บันไดที่เจ้าทิพและพานอินเดินขึ้นไปก็เป็นปีกไม้หงายส่วนเนื้อไม้ขึ้น ส่วนนายเรืองและบริวารที่เหลือนั่งรอที่แคร่ใต้ถุนเรือน

เมื่อขึ้นไปบนเรือนจึงเห็นชายอายุราว ๔๐ กว่าปี นุ่งผ้าคาดหยักรั้งเพียงผืนเดียวไม่ใส่เสื้อ นอนหลับอยู่บนพื้นกลางเรือนซึ่งยกระดับสูงกว่าพื้นชานสักครึ่งเข่า หนวดยาวปิดถึงริมฝีปากบน เคราครึ้มตลอดวงหน้า ลักษณะรูปร่างใหญ่ล่ำสัน ตัวดำเป็นมันเลื่อมทั้งผิวกายและผิวหน้า

“พวกเจ้าขึ้นมาบนเรือนข้าทำไม” เจ้าตัวถามขึ้นทั้งที่เปลือกตายังปิดสนิทอยู่
“ข้าพาชายผู้หนึ่งมาหาท่าน เขามาจากปตานี ในหนังสือของขุนพลสิงหลระบุว่าพระเจ้าปตานีมีรับสั่งให้ท่านสอนชายผู้นี้ให้มีความเชี่ยวชาญ ชำนาญการบังคับม้าและช้าง ส่วนคนอื่นๆ เป็นชาวอโยธยา มาเพื่อหาซื้องาช้างและหนังสัตว์”

วรายังคงนอนหลับตาไม่แยแส “อ้างรับสั่งขององค์เหนือหัว แต่ไม่มีหนังสือพระราชโองการ” พูดแค่นั้นแล้วอาการก็เหมือนจะนอนหลับต่อไป
“แต่ท่านขุนพลสิงหลมีหนังสือมาจริงๆ”
วรายังคงนิ่งไม่ไหวติง

“ท่านไม่คิดจะรับสิ่งนี้ไว้หรือ”
เสียงเจ้าทิพกล่าว พร้อมหยิบวัตถุสิ่งหนึ่งออกจากร่วมผ้า นิ้วชี้และนิ้วโป้งคีบไว้แล้วดีดหมุนลงบนพื้น ไม่ไกลจากใบหูของวรา
เสียงควงหมุนติ้วดังขึ้น แล้วค่อยแกว่งโยกไปมา..ช้าลงๆ

“ธำมรงค์คชบาลหลวง” วราอุทานขึ้น ลืมตาเบิกโพลงมองเพดาน ใช้มือขวาตะปบแหวนที่กลิ้งหมุนอยู่ก่อนที่ใกล้จะหยุดล้มลง
วรายกตัวขึ้นนั่ง ชักมือที่กำมาจดจ่อที่ใบหน้า ก่อนจะค่อยคลายมือออก เพ่งตาดู

“แหวนนี้เราได้รับพระราชทานพร้อมแต่งตั้งเป็นนายกองฝึกม้าและช้างของกองทัพ” เสียงพึมพำคล้ายกล่าวกับตัวเอง
“ทรงขนานนามเราว่า วราพญาสัตว์... แล้วทำไมจึงทรงโหดร้ายกับข้าพระองค์ถึงเพียงนี้”
เสียงวราตะโกนลั่นขึ้นในตอนท้าย คล้ายคลุ้มคลั่ง

“พระองค์โปรดให้พระราชทานแหวนวงนี้คืนแก่ท่าน พร้อมรับสั่งว่าเมื่อท่านฝึกฝนข้าพเจ้าจนมีความสำเร็จเป็นราชาสิบสองนักษัตร เมื่อนั้นพระองค์จะทรงเรียกตัวท่านกลับไปยังปตานี”

วราหันมามองเจ้าทิพ สำรวจจ้องมองตั้งแต่ศีรษะถึงปลายเท้า
“ถ้าอย่างนั้น เจ้าก็คือขุนพลฉลูนักษัตร.. คนใหม่”

“ใช่ ข้าพเจ้าคือขุนพลฉลูนักษัตรที่มีความสามารถจำกัดเรื่องการบังคับม้าและช้าง ขุนพลสิงหลจึงขอให้พระองค์ทรงอนุญาตให้ข้าพเจ้ามาฝึกวิชากับท่าน และจะขอพระราชทานอภัยโทษให้ท่านหากข้าพเจ้ามีชัยชนะในพิธีชุมนุมสิบสองนักษัตร”
“หึ คิดจะหลอกลวงเราหรือ”

“ข้าพเจ้าเป็นคนถือสัจจะ เรื่องนี้ไม่พูดจาหลอกลวงท่านเด็ดขาด อีกอย่างแหวนวงนี้ก็เป็นประจักษ์พยานอยู่... หากท่านสอนข้าพเจ้าแล้ว แต่ข้าพเจ้าไร้ความสามารถ ผลที่ตามมาไม่เป็นดังที่คาดไว้... ถามว่าตัวท่านมีอะไรต้องสูญเสียหรือ”

วรามองหน้าเจ้าทิพแน่วนิ่ง... แสยะยิ้ม ด้วยสีหน้าน่าเกลียด

“ไม่มี เราไม่มีอะไรต้องสูญเสียอีกแล้ว”
พลันระเบิดเสียงหัวเราะดังลั่นขึ้น จนหัวหน้าทหารที่พาเจ้าทิพขึ้นเรือนมาถึงกับสะดุ้งกายถอยหนี

----------------------------------

แสงอาทิตย์ลาลับ ลานโล่งซึ่งรายรอบด้วยเพิงพักและแนวป่าโปร่งยามนี้มีกองไฟจุดสุมขึ้น
เจ้าทิพ พานอินและคนอื่นๆ ต่างนั่งล้อมรอบกองไฟหน้าเพิงที่พักของตน เสียงกิ่งไม้แห้งปะทุไฟผสานกับเสียงหรีดหริ่งเรไรจากแนวป่า แม้ชวนให้วังเวงแต่เจ้าทิพกลับรู้สึกอบอุ่นใจ

“ข้าพเจ้าต้องขอขอบคุณท่านพานอินอย่างมากที่เร่งเดินทางมาหมู่บ้านปฏัก ทั้งที่ท่านเองก็ยังมิเสร็จธุระที่เมืองปตานี” เจ้าทิพกล่าวด้วยน้ำใสใจจริง ตนนั้นนอกจากพราหมณ์กุณฑกัญจกับพระคลังนายท่าเมืองนครฯ แล้ว ก็แทบไม่เคยได้ร่วมเดินทางไกลไปกับผู้ใดมาก่อนเลย ครั้งนี้ได้เดินทางร่วมกับพานอินที่อายุอานามมากกว่าตนไม่กี่ปี จึงรู้สึกอบอุ่นด้วยน้ำมิตรไมตรี

“อย่ากล่าวมากความเลย เราเดินทางมากับท่าน กลับเป็นโชคดีที่ไม่ต้องเสียเวลาไปเสาะหางาช้าง วราเองก็รับปากแล้วจะให้คนจัดหางาช้างมาให้เราเลือกชม” กล่าวแล้วก็พลิกเนื้อไก่ป่าที่เสียบไม้ย่างไฟไปมา แล้วหยิบออกมาหนึ่งไม้ยื่นให้เจ้าทิพ “ชิ้นนี้คงจะสุกแล้ว”

เจ้าทิพรับมา พร้อมกล่าวขอบคุณ อันที่จริงทุกคนได้รับอาหารเย็นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่บริวารของพานอินได้ไปเสาะแสวงหาไก่ป่ามาปิ้งย่างให้เจ้านายของตนกิน

“บางทีข้าพเจ้าควรจะต้องรีบย้อนกลับไปปตานี เพื่อปรึกษากับท่านขุนพลสิงหลอีกครั้ง” เจ้าทิพกล่าว พลางทอดถอนใจ แล้ววางไม้เสียบไก่ป่าที่รับมาลงบนใบตองรอง ไม่มีใจจะกิน
“วราไม่มีทีท่าจะสอนวิชาแก่ข้าพเจ้า อีกทั้งเรื่องการจะได้รับอภัยโทษและคืนกลับนครปตานีก็ไม่ใยดีอีกด้วย...”

“ท่านพอจะเล่าเรื่องให้เราฟังถึงความนัยได้หรือไม่ ทำไมวราจึงกลายมาเป็นคนโทษอยู่ที่สายบุรี และดูเหมือนจะมีเรื่องแค้นเคืองกับราชสำนักปตานีอยู่”
เจ้าทิพมองใบหน้าคมคายของสหายใหม่ แล้วจึงบอกเล่าเรื่องทั้งหมดให้ฟัง...


“ในใจของท่านคงแค้นเคืองวราอยู่บ้างสิ”

เจ้าทิพหันไปมองนายวาณิชหนุ่ม ที่กำลังเพ่งพินิจมายังตนคล้ายจะอ่านทะลุไปถึงจิตใจของตน
“ใช่... ถ้าพิธีไม่ถูกทำลาย ชีวิตข้าพเจ้าคงไม่เป็นเช่นนี้... ที่สำคัญพระมารดาของข้าพเจ้าคงไม่ต้องโทมนัสตลอด ๙ ปีและสิ้นพระชนม์ในที่สุด”

“แต่ก็ยังไม่มีใครรู้ความจริงของเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อสิบกว่าปีก่อน แล้วท่านไปแค้นเคืองวราจะถูกต้องหรือ”
เมื่อเห็นเจ้าทิพนิ่งไม่ตอบคำ พานอินจึงกล่าวต่อว่า
“อันที่จริงท่านเองก็ไม่ต้องการที่จะเรียนวิชากับวรา คนที่ท่านเชื่อว่าเป็นเจ้าของงูเห่าและเป็นสาเหตุแห่งความวิบัติในชีวิตของท่าน”

คราวนี้เจ้าทิพกล่าวสวนขึ้นด้วยความพลุ่งพล่าน
“ชีวิตของเราแม่ลูกวิบัติเพราะคำทำนายของพราหมณ์กุณฑกัญจ แล้วยังต้องทนร่ำเรียนวิชาจากเขา ข้าพเจ้าก็ฝืนใจอยู่มากแล้ว ครั้งนี้พอรู้ว่ามีอีกหนึ่งคนที่ทำลายชีวิต แต่ยังต้องมาฝากตัวร่ำเรียนวิชาอีก... หึ ท่านว่ามันน่าอดสูหรือไม่...”
กล่าวแล้วซบหน้าลงบนสองมือที่กำหมัดแน่น ยันศอกอยู่บนเข่า

ครู่หนึ่งจึงรู้สึกถึงอ้อมแขนที่วางพาดมาบนบ่าของตน พร้อมน้ำเสียงอบอุ่นราวพี่สอนน้อง...

เจ้าทิพ... ท่านลองดูกองไฟเบื้องหน้า ว่ามันต่างกับไฟที่ลุกไหม้ในจิตใจของท่านอย่างไร... ไฟเบื้องหน้าให้ความร้อนและแสงสว่าง จะมากหรือน้อยก็อยู่ที่เชื้อไฟที่เราควบคุมมัน แต่ไฟแค้นในใจของท่านให้สิ่งใดที่เป็นประโยชน์บ้าง นอกจากคอยปิดบังดวงจิตให้มืดมิด และร้อนรนอยู่ในกองทุกข์... ความเศร้า ความผิดหวัง ความอาฆาตพยาบาทคือเชื้อที่ท่านคอยสุมเข้าไปตลอดเวลา หากท่านหยุดเติมเชื้อไฟ จิตใจของท่านก็จะสงบเยือกเย็น บางทีท่านอาจจะเห็นทางเดินแห่งโอกาสข้างหน้า ซึ่งแต่เดิมเคยถูกแสงจ้าของเพลิงอาฆาตบดบังอยู่

(มีต่อ)
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่