ราชาสิบสองนักษัตร ศึกรวมสุโขทัย - บทที่ ๔๑ หิงสาอาตมันแห่งไทรบุรี

.
                                                  

บทที่ ๔๑ หิงสาอาตมันแห่งไทรบุรี

พุทธศักราช ๑๙๑๖ ปีฉลู เบญจศก เดือน ๔ ขึ้น ๔ ค่ำ

ท่าเรืออ่าวปตานีในยามบ่ายคล้อยคลาคล่ำด้วยผู้คน ยิ่งใกล้ถึงวันพิธีชุมนุมสิบสองนักษัตรบรรดาผู้คนจากเมืองต่างๆ พากันเดินทางมายังปตานีมากขึ้น ส่วนใหญ่มักใช้เส้นทางบกตัดมาริมฝั่งอ่าวสยามแล้วค่อยล่องเรือสู่อ่าวปตานี

ราชสำนักของแต่ละเมืองล้วนส่งทูตมาแจ้งกำหนดการเดินทางเพื่อความสะดวกในการต้อนรับ การเปลี่ยนถ่ายขบวนจากเรือเดินทะเลสู่กองเรือเล็กล่องแม่น้ำปตานี และขึ้นบกที่ท่าพระวัง ส่วนเรือสินค้าและเรือโดยสารทั่วไปต้องเทียบท่ารายงานตัวที่ท่าเรืออ่าวปตานีก่อน จึงสามารถเดินทางต่อโดยเลือกใช้เส้นทางบกหรือล่องเรือเล็กไปขึ้นฝั่งที่ท่าพระวัง

“ท่านคือเจ้าทิพากร ขุนพลฉลูนักษัตรใช่หรือไม่”
เจ้าพนักงานท่ากล่าวอย่างตื่นเต้นดีใจกับชายหนุ่มอ่อนวัยที่กำลังต่อแถวรายงานตัวเพื่อเข้าเมือง

“ใช่แล้ว เราคือเจ้าทิพ”
ผู้ถูกถามคือเจ้าทิพ ซึ่งไม่คุ้นกับการถูกเรียกนามเต็ม

“ท่านขุนพลสิงหลสั่งให้พวกเราคอยรอรับท่าน... ตอนนี้เกิดเรื่องใหญ่แล้ว ท่านต้องรีบไปพบท่านขุนพลโดยด่วน”
สีหน้าของเจ้าพนักงานท่าพลอยทำให้เจ้าทิพเริ่มกังวลขึ้นมา
“มีเรื่องใดเกิดขึ้นหรือ”

“ท่านขุนพลสิงหลจะต่อสู้กับหิงสาอาตมันในวันพรุ่งนี้... ท่านรีบไปพบท่านขุนพลในเมืองเถิด พวกเราจัดม้าให้ท่านไว้แล้ว”

เรื่องที่เจ้าทิพได้ยินต่อมา คือการพิพาทกันของสองขุนศึกต่างเมือง...
เมื่อราชสำนักไทรบุรีเข้าเมืองปตานีมาในวันวาน ขุนพลสิงหลได้เข้าไปหาหิงสาอาตมันและกล่าวโทษเรื่องที่มาล่อลวงบุตรชายของท่านคือสิงขร แล้วหลอกเอาเคล็ดวิชาอาวุธประจำเมืองปตานีที่พระมหาเถรศรีศรัทธาประทานให้ไป ทั้งสองถกเถียงกันจนในที่สุดนัดต่อสู้กันในวันพรุ่งนี้

เมืองไทรบุรีเป็นเมืองนักษัตรเมืองเดียวที่เดินทางมาปตานีโดยขบวนช้างม้า แม้จะมีอีก ๓ เมืองนักษัตรที่อยู่ฝั่งตะวันตกของคาบสมุทร แต่เมืองกระบุรีก็ใช้ทางบกมาลงเรือที่เมืองชุมพร เมืองตะกั่วป่ามาลงเรือที่เมืองสะอุเลา (บริเวณอำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในปัจจุบัน) และเมืองตรังมาลงเรือที่เมืองพัทลุง ดังนั้นเรื่องราวข้อพิพาทที่เกิดขึ้นกับขุนพลเมืองไทรบุรีจึงไม่เป็นที่รู้แจ่มชัดทีเดียวนักของบรรดาเจ้าพนักงานท่าเพราะไม่มีกองเรือของเมืองไทรบุรีทอดสมออยู่ที่อ่าวปตานีให้สอบถาม

เจ้าทิพห้อม้ามาถึงบ้านขุนพลสิงหลในยามเย็น...

“เกิดเรื่องใดขึ้นหรือท่านขุนพล” เจ้าทิพถามขึ้นทันทีที่เจอหน้า
“เจ้าคงได้ยินเรื่องที่เราจะประลองต่อสู้กับหิงสาอาตมันแล้วสิ...”
“ข้าพเจ้าอยากทราบจากปากของท่านมากกว่า ว่าเรื่องราวเป็นมาอย่างไร”

เมื่อเชื้อเชิญให้นั่งบนเรือนแล้ว ขุนพลใหญ่แห่งปตานีจึงเล่าว่า
“เรื่องนี้ เป็นแผนของเราแต่แรกที่จะประลองหยั่งเชิงฝีมือการต่อสู้ของหิงสาอาตมัน ผู้เป็นอาจารย์ของกัมพะทมิฬคู่แข่งของเจ้า... เราทำทีเป็นขัดเคืองใจเรื่องของสิงขร แล้วสุดท้ายท้าทายให้ยุติเรื่องราวบาดหมางโดยการประลองดาบ และให้จบกันที่ ๓ แผล”
“๓ แผล... หมายความเช่นไร”

“ความแค้นระหว่างบุคคล ในเมื่อไม่สามารถไกล่เกลี่ยกันได้ แต่ก็ไม่สามารถทำร้ายอีกฝ่ายให้บาดเจ็บสาหัสเพราะจะลุกลามกลายเป็นชนวนบาดหมางระหว่างราชสำนักไป มีเพียงแต่อาศัยการต่อสู้แล้วยุติเพียงแค่ ๓ แผล จากนั้นเลิกรากันไป”

“ท่านตั้งใจจะทดสอบดูว่าหิงสาอาตมันได้เรียนรู้เคล็ดวิชาของพระมหาเถรศรีศรัทธาไปมากน้อยแค่ไหน”

“ถูกต้อง เรายอมรับว่ากังวลใจเรื่องกัมพะทมิฬคู่ต่อสู้ของเจ้ามาก... มีแต่หลอกให้ตัวอาจารย์เปิดเผยวิชาออกมา เจ้าจึงจะมีเปรียบ รู้ตื้นลึกในกระบวนวิชาของฝ่ายนั้น”

เจ้าทิพมองขุนพลสิงหลแน่วนิ่ง นึกไม่ถึงท่านจะเสียสละตนกระทำเรื่องที่เสี่ยงต่ออันตรายและชื่อเสียงของท่านขนาดนี้ หิงสาอาตมันคืออดีตขุนพลมะโรงนักษัตรที่ต่อสู้ก่ำกึ่งกับวายุราชา จนสุดท้ายต้องตัดสินโดยการยืนบนตะพองช้างที่ถูกปิดตาแล้วยิงธนูเข้าหากัน

แต่ขุนพลสิงหลคือคนที่พ่ายแพ้ต่อวายุ... พ่ายแพ้ตั้งแต่ก่อนที่วายุจะได้ศึกษาวิชาสลายธาตุในหอคัมภีร์พระมหาเถรศรีศรัทธา แล้วไปต่อสู้กับหิงสาอาตมัน...

“แต่...ถ้าท่านเกิดพ่ายแพ้ไป จะมิเป็นการเสื่อมเสียเกียรติภูมิของท่านหรอกหรือ” เจ้าทิพกล่าวออกไปด้วยท่าทีระมัดระวัง มิให้เป็นการสบประมาทใดๆ

ขุนพลใหญ่หัวเราะ ออกมา
“ไม่มีใครจะสมหวังไปทุกประการ อยากได้สิ่งหนึ่งก็ต้องวางลงอีกสิ่งหนึ่ง... ชื่อเสียงเราวางลงได้ ขอให้แลกมากับชัยชนะของเจ้ากับตำแหน่งราชาสิบสองนักษัตร เพื่อสิทธิ์ในการตามหาและครอบครององค์ตุมพะทะนานทองของนครปตานี”

เจ้าทิพก้มลงกราบขุนพลใหญ่ด้วยความตื้นตันในการเสียสละ มิรู้จะพูดสิ่งใดได้

“เราเป็นห่วงแต่เจ้าจะกลับมาไม่ทันการณ์ จึงได้นัดวันประลองให้ช้าที่สุด ตอนนี้เจ้าก็กลับมาแล้ว” พลางตบบ่าชายหนุ่ม ยิ้มให้ด้วยความพอใจ “เจ้าล่ะ ไปฝึกกับวราเป็นอย่างไรบ้าง...”
เจ้าทิพแม้อยากเล่าความจริง แต่จำต้องปดไปว่าไม่ได้วิชามากนัก ด้วยวราเกิดรู้ความจริงขึ้นมาว่าตนเป็นใครจากสิทธาที่เดินทางไปป่าปฏัก...

“ข้าได้แผลนี้...” พลางแสดงรอยแผลใหญ่ที่ชายโครงข้างขวาให้ดู “ตอนที่ไปต้อนโขลงช้างเถื่อนกับวราและผู้คนในหมู่บ้านปฏัก แต่แล้วมีชาวบ้านคนหนึ่งพลัดตกจากคอช้างบ้านที่ขี่ไล่ต้อน จะถูกช้างเถื่อนแทงทำร้าย ข้าพเจ้ารีบกระโดดลงไปช่วย จึงถูกงาช้างแทงเอาเป็นแผลฉกรรจ์ ตอนนี้พอจะหายดีแล้วเพียงแต่ยังเจ็บปวดเวลาเคลื่อนไหวร่างกาย”

“จะประลองอยู่แล้ว เจ้าไม่น่าประมาทเช่นนี้เลย” ขุนพลสิงหลถอนหายใจ ตำหนิขึ้น

“ตอนประลองข้าพเจ้าจะใช้วิชาสลายธาตุ ข่มความเจ็บปวด... แต่ก็อาจทำให้ข้าใช้ความเร็วจากปราณเปลี่ยนมิติได้ไม่เต็มที่”

ขุนพลใหญ่แห่งปตานีถึงกับส่ายหน้า
สำหรับเรื่องสิทธาซึ่งคาดว่าพัวพันกับองค์ชายใหญ่คงต้องพักไว้ก่อน แต่เรื่องอาการบาดเจ็บของเจ้าทิพจะรอช้ามิได้...

-----------------------------------

เจ้าทิพไปยังร้านค้าของนายทองเย็นที่ตลาดเก่าปตานี ก็พบพี่ร่วมสาบาน...พานอิน

“ท่านพี่...” ปากร้องเรียก กายโผเข้าสวมกอด
“เจ้ากลับมาเกือบวันสุดท้ายเลยนะ.. อยู่ฝึกวิชาหรือกระไร”

“ข้าอยู่รักษาแผล” แล้วผละออกจากสวมกอด ชี้มาที่สีข้างชายโครงของตน “จำเรื่องโขลงช้างเถื่อนได้ไหม เมื่อสามอาทิตย์ก่อนวราสอนข้าคล้องช้างในป่า ข้าจับตัวจ่าโขลงได้เลยนะ... แต่ตอนหลังมีชาวบ้านคนหนึ่งตกคอช้างแล้วจะโดนช้างป่าที่ตัวเองไล่ต้อนแทงทำร้าย ข้าเลยกระโดดลงไปช่วย...” พลางยิ้มแห้งๆ “สุดท้ายได้แผลนี้มา... สาหัสเอาการ”

สำหรับช้างเถื่อนในป่าที่กำลังบ้าคลั่งเพราะถูกไล่ต้อน ยากนักที่จะสยบได้ในทันที เจ้าทิพถลันเข้าไปขวางทางงาจึงพลาดท่าถูกแทง แต่ก็รีบจับงาคว้างวงสื่อสารให้เจ้าช้างเถื่อนสงบลงได้ จึงมิโดนซ้ำอีกแผล

“เจ้านี่... ชะล่าใจเหลือเกิน จนบาดเจ็บเอา” พานอินดุขึ้น “แล้วนี่อีก ๓ วันก็จะประลองอาวุธอยู่แล้ว”
“ถ้าข้าไม่ช่วย เขาคงตายไปแล้ว... ยังไงข้าก็ต้องช่วยเขา ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม”

พานอินได้ฟัง ส่ายหน้าทั้งรอยยิ้ม พลางคำนึงขึ้น...นี่ละ นิสัยของน้องร่วมสาบานข้า ไม่เคยห่วงหรือสนใจในชีวิตของตนสักเท่าใดเลย
“คืนนี้ข้าจะนอนกับท่านพี่ที่นี่ ข้าขอพาม้าไปผูกไว้ที่คอกด้านหลัง แล้วขอใช้เวลากับมันสักครู่... มันเป็นม้าที่ข้าเลือกมาจากท่านขุนพลสิงหล”
“ไปเถอะ เรายังมีเวลาคุยกันทั้งคืน”

เจ้าทิพขึ้นม้า ขี่ช้าๆ วนไปเข้าตรอกเล็กที่เชื่อมต่อแนวถนนเส้นหลังร้าน
ตลาดเมืองเก่าปตานีมีร้านรวงมากมายปลูกเรียงรายกัน ด้านหน้าขายสินค้า ด้านหลังสำหรับรับส่งสินค้าปริมาณมาก เเละเป็นสถานที่พักม้า

ชายหนุ่มผูกม้าไว้ที่คอก ป้อนน้ำและหญ้าพร้อมแปรงสางขนคอ มันมีชื่อว่า “สีนิล” เป็นหนึ่งในม้าดีที่สุด ๖ ตัวซึ่งท่านขุนพลสิงหลจัดเตรียมไว้ให้เลือก สีนิลเป็นม้าสีดำสนิทตามชื่อ ฟันใหญ่แข็งแรงแสดงถึงกระดูกที่แกร่งสมบูรณ์ กล้ามเนื้อสะโพกแข็งเป็นก้อนแต่ข้อขาเล็ก บ่งบอกว่าทรงพลังอีกทั้งคล่องแคล่วว่องไว ที่สำคัญคือเจ้าทิพสื่อจิตกับสีนิลได้เป็นอย่างดี...
ตอนนี้เจ้าทิพต้องการสร้างความคุ้นเคยกับสีนิลให้มากที่สุด

หลังจากดูแลม้าแล้ว จึงเข้าไปรับอาหารร่วมกับพานอิน ทั้งสองต่างแลกเปลี่ยนเล่าประสบการณ์ของตนให้อีกฝ่ายฟัง เรื่องที่ทำให้เจ้าทิพประหลาดใจคือพานอินซื้อโรงเรือนพักสินค้าอยู่ในละแวกเดียวกับโรงเรือนของไต้ซีหง แต่เรื่องที่ทั้งสองให้ความสนใจมากที่สุดคือการประลองระหว่างขุนพลสิงหลและหิงสาอาตมัน ที่จะมีขึ้นในรุ่งเช้า

-----------------------------------

ข่าวการประลองของสองขุนพลใหญ่แห่งเมืองปตานีและเมืองไทรบุรีแพร่สะพัดไปทั่ว สถานที่ประลองคือลานกว้างด้านนอกของสนามพิธีชุมนุมสิบสองนักษัตรทางทิศเหนือ ปกติลานแห่งนี้จะใช้สำหรับประลองด่านขี่ม้าแทงทวนและฟันง้าวบนคอช้าง

เช้านี้ผู้คนจึงเนืองแน่นอยู่บนอัฒจันทร์... นอกจากเจ้าทิพและกัมพะทมิฬที่เกี่ยวข้องกับคู่ประลองโดยตรงแล้ว ยังมีบรรดาขุนพลนักษัตรจากทุกเมืองเข้าร่วมชม ทุกคนปรารถนาจะได้เห็นเพลงอาวุธของปตานีและไทรบุรี สองเมืองที่ถูกคาดหมายร่วมกับบันทายสมอและพัทลุง.. ว่าเป็นเพียงสี่เมืองที่มีโอกาสคว้าชัยตำแหน่งราชาสิบสองนักษัตร

เจ้าทิพคล้องคันธนูกับลำตัว ยืนอยู่ข้างพานอินและนายเรืองบนอัฒจันทร์บริเวณตรงกลาง... บอกทุกคนสั้นๆ ว่านำธนูมา “คุมเชิง” ป้องกันให้ขุนพลสิงหล
เสียงผู้คนโห่ร้องเมื่อขุนพลสิงหลปรากฏกายขึ้นพร้อมสิงขรบุตรชาย... เป็นเสียงตะโกนร้องยกย่องทักทายและให้กำลังใจต่อบุคคลที่พวกเขานิยมรักใคร่

“เจ้าไม่ต้องกลัวแล้ว ว่าผลของการประลองจะทำให้ขุนพลสิงหลต้องเสื่อมเกียรติลง” เสียงของพานอินกล่าวขึ้นข้างๆ เจ้าทิพ
“ท่านพี่คิดว่าท่านขุนพลจะไม่พ่ายแพ้หรือ”

“เจ้าฟังเสียงโห่ร้องของผู้คนสิ... เป็นเสียงที่มาจากความรักและเคารพ เป็นความนิยมชมชอบในบุคลิกภาพและอุปนิสัยของท่านขุนพล ไม่มีใครตะโกนสรรเสริญในฝีมือการต่อสู้ของท่าน มีแต่ตะโกนทักทายให้ท่านรู้ว่าพวกตนอยู่ตรงนี้ มาสนับสนุนและเป็นกำลังใจให้ท่าน... แล้วอย่างนี้เกียรติภูมิของท่านจะถูกลบเลือนไปเพราะผลแพ้พ่ายได้อย่างไร”

เป็นความจริงดังที่พานอินกล่าว...
ขุนพลสิงหลเป็นแม่ทัพที่เด็ดขาดแต่เปี่ยมเมตตา ฝึกทหารด้วยความเข้มงวดและเหนื่อยยากทำให้ได้นักรบซึ่งมีฝีมือ มีความทรหดและระเบียบวินัย แต่ในสนามรบท่านจะคำนึงถึงผลกระทบต่อครอบครัวของทหารเป็นสำคัญ มิเคยกระทำการใดที่เสี่ยงต่อการสูญเสียกำลังพลโดยไม่จำเป็น การปราบโจรผู้ร้ายกระทำด้วยความรัดกุมระมัดระวัง จึงประสบผลสำเร็จและแทบจะไม่ต้องสังเวยชีวิตทหารในสังกัดเลย

เกียรติภูมิของท่านได้มาด้วยความเมตตาและความสำเร็จในการปกป้องบ้านเมือง หากวันหนึ่งจะต้องเสื่อมสลายหายไปก็เพราะตัวท่านไร้ซึ่งความเมตตาและล้มเหลวในการรบ... หาใช่เพราะผลของการต่อสู้กับผู้มีฝีมือเหนือกว่าตน

จากนั้นไม่นานหิงสาอาตมันก็เดินเข้ามาในลานพร้อมกัมพะทมิฬ ที่เป็นทั้งศิษย์และหลานชายในสายเลือด...
ทั้งคู่แต่งกายตามแบบชาวชมพูทวีปตอนใต้ นุ่งผ้าสีสดขลิบทองคล้ายโจงกระเบนแต่ยาวคร่อมถึงข้อเท้า ไม่ใส่เสื้อแต่สวมปลอกแขนและแขวนแผงโลหะเงินประดับพลอยทับทิมมากมายพาดหน้าอก เผยเห็นผิวดำคล้ำมะเมื่อมดุดัน

คนเป็นอาจารย์อายุราว ๓๖ ปี ไว้หนวดและเคราครึ้ม ตากลมพองโต คิ้วดกหนาเป็นเส้นยาว ใบหน้ารูปสี่เหลี่ยม มัดผมด้านบนเป็นมวยมีวงแหวนรัดเหนือศีรษะแต่ปล่อยผมด้านข้างยาวปรกบ่า ส่วนคนที่เป็นทั้งศิษย์และหลานมีใบหน้าพิมพ์เดียวกันอยู่ในวัย ๒๔ ปี ไม่มีเคราแต่ไว้หนวดเรียวยาว ปล่อยผมยาวเลยบ่ามิได้มุ่นเป็นมวย

“๑๓ ปีก่อนเพราะท่านพ่ายแพ้ต่อวายุราชา เราจึงไม่ได้ต่อสู้กัน... นึกไม่ถึงมาวันนี้ข้าจะได้ประลองเพลงดาบกับท่าน หวังว่าฝีมือของท่านตอนนี้คงจะเหนือกว่า ๑๓ ปีก่อนมากนัก หาไม่คงจะได้อายต่อหน้าชาวเมืองปตานีที่แห่แหนกันมา” หิงสาอาตมันพูดจาข่มขึ้น

ขุนพลสิงหลยิ้มให้ พร้อมกล่าวตอบโต้ไป

(มีต่อ)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่