.
บทที่ ๑๕ การชิงชัยบนหลังช้าง
เสียงกลองย่ำเป็นสัญญาณเรียกคู่ต่อสู้ทั้งสองกลับเข้าสู่สนาม ผู้คนต่างส่งเสียงด้วยความประหลาดใจเมื่อเห็นเจ้าทิพเดินกลับเข้ามาพร้อมสิงขรและคุกเข่าลงหน้าปะรำที่ประทับ
ขุนพลธรณินก้าวเข้าไปเบื้องหน้า กราบบังคมทูลด้วยเสียงดังก้อง
“ขอเดชะฝ่าพระบาท บัดนี้การประลองได้ดำเนินมาถึงด่านที่สามคือด่านจอมทัพ คู่แข่งขันทั้งสองต่างแพ้และชนะคนละหนึ่งด่าน ดังนั้นการต่อสู้ด้วยของ้าวบนหลังช้างซึ่งเป็นลักษณะการต่อสู้ของจอมทัพจะเป็นการตัดสินตำแหน่งขุนพลฉลูนักษัตร ผู้เป็นตัวแทนเมืองปตานีเข้าคัดเลือกตำแหน่งราชาสิบสองนักษัตรต่อไป พระพุทธเจ้าข้า จึงขอเริ่มการประลองแข่งขัน ณ บัดนี้”
กราบบังคมทูลจบ ทั้งตัวขุนพลและคู่แข่งขันทั้งสองต่างถวายบังคมก่อนที่สองหนุ่มในชุดนักรบสวมเกราะจะเดินแยกย้ายไปสู่ช้างศึกของตน
จากการเสี่ยงทิศสิงขรเป็นฝ่ายมีชัยจึงเลือกให้ช้างศึกของตนประจำอยู่ด้านทิศตะวันตก ส่วนช้างของเจ้าทิพต้องไปอยู่ฝั่งตะวันออกซึ่งนับว่าเสียเปรียบเพราะแล่นช้างย้อนเข้าหาแสงอาทิตย์
เจ้าทิพเดินช้าๆ ไปสู่ช้างของตน แต่ละก้าวที่เดินไปช่างแผ่วเบายิ่งนัก ดูไปคล้ายพระภิกษุเดินย่างสำรวมตน มีเพียงผู้ที่ได้รับฟังคำกราบทูลของเซียงจือกงจึงเข้าใจสภาพของคนที่กำลังประคับประคองอวัยวะภายในให้กระทบกระเทือนจากการเคลื่อนไหวน้อยที่สุด บางคนถึงกับรู้สึกสงสารและเวทนาในอาการของชายหนุ่ม ขณะที่พระราชธิดาวิสาณีถึงกับทรงเบือนพระพักตร์มิอาจทนทอดพระเนตรได้
ชายหนุ่มเมื่อไปถึงช้างของตน ได้ตั้งจิตพนมมือแล้วก้มลงกอบฝุ่นดิน เหวี่ยงขึ้นโปรยซัดไปยังคอช้างตลอดจนเท้าทั้งสี่ ก่อนที่จะจับใบหูช้างรั้งคชสารให้ย่อกายลงมารับตน มีทหารคนหนึ่งเข้ามาช่วยยกเจ้าทิพขึ้นคอช้างแล้วผูกเชือกรัดข้อเท้าของชายหนุ่มไว้กับเชือกที่รั้งคอช้าง ผิดกับอาการอันคล่องแคล่วแข็งแรงของสิงขรที่กระโจนพรวดเหวี่ยงร่างขึ้นคอช้าง
“เจ้าทิพทำอะไรของเขาน่ะ ท่านสิงหล”
พระเจ้าฤทธิเทวารับสั่งถามขุนพลคู่พระทัยขึ้น เมื่อเห็นอาการกอบดินมาโปรยซัดของชายหนุ่ม
“ขอเดชะ ตามหลักการกำหนดธาตุทั้งสี่ของศรีวิชัย ถือธาตุน้ำเป็นใหญ่ กำหนดจิตอยู่กับธาตุน้ำ และธาตุที่เหลือทั้งสามกำหนดผูกพันกับหลักการต่อสู้ ธาตุลมคือความเร็ว ธาตุไฟคือจังหวะ และธาตุดินคือความแข็งแกร่ง สิ่งที่เจ้าทิพกระทำข้าพระองค์ก็มิสู้แน่ใจ อาจเป็นการตั้งจิตเพื่อผนวกธาตุดินและความแข็งแกร่งผ่านคชสารก็เป็นได้พระเจ้าค่ะ”
เสียงกลองย่ำรัวก่อนตีย้ำ ๑๒ ครั้งเพื่อเริ่มการต่อสู้ ช้างทั้งสองฝ่ายต่างพุ่งแล่นเข้าหากัน ช้างของสิงขรรูปร่างใหญ่วิ่งพุ่งเข้ามาด้วยความเร็ว ในขณะที่ช้างของเจ้าทิพอยู่ในลักษณะกึ่งเดินกึ่งวิ่งอย่างช้าๆ
เจ้าทิพยกง้าวขวางไว้หน้าลำตัวแต่คมง้าวสะท้อนแสงพระอาทิตย์แวววาว เล็งประกายรุนแรงเข้าใส่ตาข้างหนึ่งของช้างสิงขรอยู่ตลอดเวลา แม้แต่สิงขรเองก็มิทันสังเกต
เมื่อช้างของคู่ต่อสู้แล่นเข้ามาอยู่ใกล้จนแลดูใหญ่โต เจ้าทิพพลันทิ้งลมหายใจออก กำหนดตนเข้าสู่ปราณเปลี่ยนมิติ... ก่อนที่ระยะห่างจากคอช้างสองเชือกจะได้ช่วงจ้วงฟาดฟัน คมง้าวของเจ้าทิพก็พุ่งตรงเข้าหาสิงขรทันที ผสานด้วยความเร็วของช้างที่แล่นเข้าปะทะกัน
สิงขรนึกไม่ถึงว่าเจ้าทิพจะเข้าสู่ปราณเปลี่ยนมิติตั้งแต่ง้าวแรก แต่ที่คาดไม่ถึงยิ่งกว่าคือเจ้าทิพกลับใช้กระบวนเพลง “ทวน” พุ่งง้าวแทงสุดปลายแขนเข้าหาตนที่กุมง้าวด้วยมือสองข้าง ยังไม่ได้ระยะฟาดฟัน
เสียงปะทะดังสนั่นเมื่อช้างทั้งสองเชือกแทงงาสอดงวงเข้าประสานกัน พร้อมกับราชองครักษ์หลวงรีบบิดกายสะบัดฟาดคอง้าวไปทางซ้ายสุดแรง ปัดง้าวรุกที่พุ่งแทงให้เบี่ยงพ้นไป
ง้าวรุกที่แทงมาหลังจากถูกปัดกระเด็นก็เร่งชักกลับโดยไว แล้วพุ่งแทงเข้าใส่ชายโครงขวาที่เปิดกว้างออก
สิงขรกุมง้าวด้วยสองมือ คมง้าวอยู่ด้านมือขวา บัดนี้แขนขวาวาดคร่อมอยู่ทางซ้าย จะลากฟาดกลับคงไม่ทันการณ์...
ในจังหวะคับขันช้างที่ปะทะเข้าใส่กันก็สะบัดปัดป่ายจนช้างของสิงขรถูกยกขึ้น ด้วยเจ้าทิพเดินช้างระวังจังหวะช้าเร็วขณะที่ช้างของสิงขรถูกไสแล่นมาด้วยความเร็วทั้งที่ตาพร่ามัวเพราะแสงสะท้อนจ้าจากคมง้าว จึงเสียเปรียบจังหวะถูกงัดขึ้นอยู่ด้านบน... แต่กลับเป็นโชคเมื่อตะพองช้างของสิงขรกระดอนขึ้นมาปะทะคันง้าวของเจ้าทิพให้เบี่ยงเฉียงเสียจังหวะ ราชองครักษ์หนุ่มรีบสะบัดคันง้าวกลับมาปัดคมง้าวเจ้าทิพได้ทันท่วงที
พริบตานั้นสิงขรไม่รอช้า เร่งกดฟาดง้าวที่ปลายยกเฉียงอยู่ด้านบนเข้าใส่เจ้าทิพทันที แม้ช้างตนจะเสียเปรียบด้วยถูกหนุนยกสูงแต่อาศัยภาวะที่ปลายง้าวของคู่ต่อสู้ทิ้งคาอยู่จากจังหวะที่พุ่งแทงผิดพลาด เปิดส่วนบนทั้งหมดเป็นช่องโหว่ให้โจมตี
ครั้งนี้นับว่าเจ้าทิพกระทำการเสี่ยงมากในการพุ่งแทงง้าวเข้าใส่คู่ต่อสู้บนคอช้าง... นับว่าเป็นข้อที่ไม่พึงกระทำ ด้วยการรบพุ่งกันบนคอช้างที่ต่างสะบัดคลุกวงในชิงเชิงกันตลอดเวลา จังหวะสะบัดย่อมเบี่ยงเบนเป้าหมายของจังหวะพุ่งอาวุธ นักรบจึงมักจับจังหวะช้างและประสานด้วยจังหวะฟาดง้าวเข้าใส่ ซึ่งหวังผลสำเร็จได้มากกว่า ดุจง้าวของสิงขรที่จู่โจมฟาดมาในครานี้...
วิถีง้าวของสิงขรฟาดลงมาคล้ายฟ้าฟาด เจ้าทิพชักง้าวกลับอย่างรวดเร็วด้วยปราณเปลี่ยนมิติ แล้วยกหนุนด้วยสองมือปัดง้าวที่ฟันลงมาออกไปด้วยกำลังแรง เจ้าทิพอาศัยความเร็วแห่งธาตุลม ผสมความแข็งแกร่งของธาตุดินเข้าต้านรับ จนง้าวของสิงขรกระดอนออกไกล ง่ามมือของบุตรขุนพลใหญ่ถึงกับสั่นสะท้านคล้ายฟาดง้าวลงบนโขดหินศิลาแลง ยิ่งฟาดแรงก็ยิ่งเจ็บสะท้านจากง่ามถึงข้อมือ
จากท่าสะบัดปัดง้าว เจ้าทิพผลักวนคมง้าวไล่กลับเข้าหาสิงขร ดูประหนึ่งคมง้าวปาดพลิ้วอยู่เหนือคันง้าวของราชองครักษ์ชั้นเอกประจำวังหลวง
“ท่านารายณ์กวาดสมุทร” สิงขรคำนึงในใจ
ท่าจู่โจมที่สองของพระมหาเถระเมื่อสิ้นสุดลงสามารถเปลี่ยนข้ามสู่ภาวะท่าจู่โจมที่สามของกระบวนเพลงใหม่ได้ แต่คาดไม่ถึงว่าเจ้าทิพจะสามารถเปลี่ยนจากกระบวนเพลงทวนสู่กระบวนเพลงง้าว อีกทั้งเปลี่ยนจากการรับเป็นรุกในการเชื่อมต่อสู่ท่าจู่โจมที่สาม...ท่านารายณ์กวาดสมุทร ซึ่งอาศัยหลักความแข็งแกร่งสะท้อนพลังที่รุกเข้ามาแล้วปาดเข้าโจมตีสู่ช่องว่างของพลังศัตรูที่เปิดออก
สิงขรจับภาวะที่ตะพองช้างของตนเชิดอยู่สูง รีบทิ้งตัวเอียงไปทางซ้าย ปล่อยมือขวาที่กุมง้าวออก กระทั่งคมง้าวของเจ้าทิพเฉียดพลาดข้อมือตน... แต่กลับไม่พลาดเป้าใหญ่ คมง้าวฟาดต่อเนื่องปาดใส่ชายโครงขวาที่พยายามเบี่ยงหลบ...
ราชองครักษ์หนุ่มถึงกับสะดุ้ง เจ็บแปลบถึงกระดูกซี่โครง ขนาดเป็นเพียงรอยฟันปาดแฉลบมิได้ถูกฟันเข้าอย่างจัง... หากมิใช่เพราะมีเกราะหนังคลุม แม้ง้าวไร้คมก็คงต้องเป็นบาดแผลฉกรรจ์แน่นอน
ผู้ชมบนอัฒจันทร์ไม่คาดคิดมาก่อนว่าเจ้าทิพจะสามารถรุกไล่สิงขรให้เข้าตาจนแต่ต้นมือ ทั้งยังเชื่อมั่นในช้างศึกของกองราชองครักษ์หลวงว่าคงจะมีเปรียบในการปะทะกัน ครั้นเห็นทุกอย่างผิดพลาดจนตกเป็นรองทั้งความเร็ว ความแข็งแกร่งและจังหวะ ต่างพากันเพลาเสียงลง เหลือเพียงเสียงร้องอุทานด้วยความหวั่นใจ...
เจ้าทิพรุกไล่ไปอีก ๒ ท่าจู่โจม ทั้งรวดเร็วและรุนแรงจนคู่ชิงชัยใกล้จะเพลี่ยงพล้ำเข้าไปทุกขณะ
ด้วยความเชี่ยวชาญของบุตรขุนพลใหญ่ แม้จะเสียเปรียบเยี่ยงไร เท้าก็ยังสั่นขยิกสั่งช้างให้ถอยปรับจังหวะ บัดนี้ตระหนักแล้วว่าความแข็งแกร่งของเจ้าทิพอาศัยความแข็งแกร่งของธาตุดิน แม้มิได้ยืนอยู่บนพื้นแต่ก็นั่งคร่อมอยู่บนร่างสัตว์ใหญ่ที่เชื่อมผสานกับความแข็งแกร่งของพื้นพสุธา จากเท้าทั้งสี่ที่ยืนหยัดติดกับพื้นราบ ผิดกับช้างศึกของตนที่ถูกหนุนจนขาหน้ายกลอย
พลันเห็นง้าวของเจ้าทิพแปรเปลี่ยนสู่ท่าจู่โจมที่หก จ้วงฟันรุนแรงจากด้านบนในขณะที่ง้าวของตนหลุดวิถีออกไปอยู่ด้านซ้ายของลำตัวซึ่งเป็นผลจากการจู่โจมครั้งก่อน... สิงขรสูดลมหายใจแรงเข้าเต็มทรวงอก วิถีของง้าวที่ฟันลงมาแม้เร็วมากแต่ความเร็วในการดึงง้าวขึ้นปะทะรับในแนวเฉียงเหนือศีรษะของสิงขรกลับรวดเร็วกว่า...
“ปราณเปลี่ยนมิติ” เจ้าทิพคำนึงขึ้นเมื่อสิงขรตัดใจใช้วิชาที่ซ่อนเร้นออกมา
เสียงปะทะของง้าวสองเล่มดังสนั่นอีกครา ผสานกับเสียงแผดร้องของคชสารที่แย่งชิงเชิง เจ้าทิพฉวยความมีเปรียบจากความรุนแรงของง้าวที่ฟันลงมา กดไล่คมง้าวรูดไปตลอดด้ามเข้าสู่มือที่ยึดกุมของสิงขร
แม้ราชองครักษ์หนุ่มจะใช้ความเร็วเข้าต้านรับได้ทันท่วงที แต่พลังแห่งอาวุธของเจ้าทิพยังหนุนส่งต่อเนื่อง จึงอาศัยความเร็ว “ที่เหนือกว่า” ชิงถอนง้าวกลับลงมา แล้วพลิกสะบัดยันรับในแนวราบ ตั้งฉากกับลำตัว... คมทวนเจ้าทิพแม้ติดตามลงมาแต่ไม่ปาดสู่มือแล้ว ทั้งหมดนี้สิงขรกระทำอย่างรวดเร็วราวพลิกหงายฝ่ามือ เป็นความรวดเร็วที่น่าตระหนกจริงๆ
เจ้าทิพสำนึกตนว่าต้องพิชิตคู่ต่อสู้ให้ได้ภายใน ๘ ท่าจู่โจม บัดนี้มาถึงท่าที่หกแล้ว หากปล่อยให้สิงขรใช้ความเร็วที่เหนือกว่าทำลายจังหวะที่ต่อเนื่อง ตนต้องพ่ายแพ้สิ้นสติไปในอีก ๒ ท่าจู่โจม
จังหวะก่อนหน้านี้เห็นสิงขรเร่งขยิกช้างถอยเพื่อให้กลับมาตั้งหลักได้ ชายหนุ่มจึงรีบไสช้างประชิดติดตลอดเวลา จนงวงช้าง ๒ เชือกยึดเกี่ยวพันกันราวเถาวัลย์ยักษ์ ๒ เส้นที่ตีเกลียวยึดโยงรวมเป็นหนึ่ง จังหวะของช้างจึงแทบจะถูกตัดทิ้งออกไปจากจังหวะง้าวแล้ว
ง้าวของเจ้าทิพซึ่งพาดหยุดอยู่บนด้ามง้าวที่พลิกขึ้นรับของสิงขร พลันพุ่งกระแทกออกไปตรงๆ อย่างรุนแรงทรงพลัง ตะขอสั้นๆ บนคอง้าวเกี่ยวกระแทกจนทั้งอาวุธและแขนของสิงขรเบี่ยงกระเด็นไปด้านหลัง
คมง้าวของเจ้าทิพพลันถูกกระชากกลับมาครึ่งจังหวะแล้วกรีดฟาดลงด้วยกำลังแรงยังทรวงอกของสิงขรที่เอนหงายเปิดอยู่
ลมหายใจของสิงขรถี่กระชั้น แม้เจ้าตัวจะรวดเร็วปานใด แต่การจะรั้งแขนดึงง้าวกลับมาปิดป้องมิอาจกระทำได้ทัน ด้วยยังกระเด็นไปตามแรงส่งของของ้าว จึงอาศัยแรงนั้นพลิกกายสะบัดทั้งตัวออกจากคอช้าง มือหนึ่งคลายออกจากด้ามง้าวแล้วฉวยจับเชือกที่พาดรั้งตัวช้างโหนร่างอยู่อีกด้านหนึ่ง
เป็นการแก้ไขสถานการณ์จากภาวะคับขันที่คาดไม่ถึง...
เจ้าทิพพลันรู้สึกเจ็บแปลบอย่างรุนแรงที่ชายโครงขวาถึงหน้าอก แม้แสงแดดส่องจ้าแต่ภาวะโดยรอบคล้ายเริ่มมืดทะมึนลงทุกขณะ
สิงขรบัดนี้โหนร่างหลบอยู่ด้านข้างของตัวช้าง อย่าว่าแต่จะฟาดฟันเข้าใส่เลย แม้แต่มองก็ไม่เห็นตัวแล้ว ยังจะกระทำสิ่งใดได้...
ความเจ็บปวดไล่ตีขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ก่อนที่ทุกอย่างจะมืดดับลง ง้าวในมือเจ้าทิพพลันพุ่งออกไป
...เป็นภวังค์สุดท้ายก่อนสิ้นสติฟุบลงกับคอช้าง
เสียงขุนพลธรณินตะโกนลั่น
“การประลองยุติ...”
--------------------------------------------------
ราชาสิบสองนักษัตร ศึกรวมสุโขทัย - บทที่ ๑๕ การชิงชัยบนหลังช้าง
บทที่ ๑๕ การชิงชัยบนหลังช้าง
เสียงกลองย่ำเป็นสัญญาณเรียกคู่ต่อสู้ทั้งสองกลับเข้าสู่สนาม ผู้คนต่างส่งเสียงด้วยความประหลาดใจเมื่อเห็นเจ้าทิพเดินกลับเข้ามาพร้อมสิงขรและคุกเข่าลงหน้าปะรำที่ประทับ
ขุนพลธรณินก้าวเข้าไปเบื้องหน้า กราบบังคมทูลด้วยเสียงดังก้อง
“ขอเดชะฝ่าพระบาท บัดนี้การประลองได้ดำเนินมาถึงด่านที่สามคือด่านจอมทัพ คู่แข่งขันทั้งสองต่างแพ้และชนะคนละหนึ่งด่าน ดังนั้นการต่อสู้ด้วยของ้าวบนหลังช้างซึ่งเป็นลักษณะการต่อสู้ของจอมทัพจะเป็นการตัดสินตำแหน่งขุนพลฉลูนักษัตร ผู้เป็นตัวแทนเมืองปตานีเข้าคัดเลือกตำแหน่งราชาสิบสองนักษัตรต่อไป พระพุทธเจ้าข้า จึงขอเริ่มการประลองแข่งขัน ณ บัดนี้”
กราบบังคมทูลจบ ทั้งตัวขุนพลและคู่แข่งขันทั้งสองต่างถวายบังคมก่อนที่สองหนุ่มในชุดนักรบสวมเกราะจะเดินแยกย้ายไปสู่ช้างศึกของตน
จากการเสี่ยงทิศสิงขรเป็นฝ่ายมีชัยจึงเลือกให้ช้างศึกของตนประจำอยู่ด้านทิศตะวันตก ส่วนช้างของเจ้าทิพต้องไปอยู่ฝั่งตะวันออกซึ่งนับว่าเสียเปรียบเพราะแล่นช้างย้อนเข้าหาแสงอาทิตย์
เจ้าทิพเดินช้าๆ ไปสู่ช้างของตน แต่ละก้าวที่เดินไปช่างแผ่วเบายิ่งนัก ดูไปคล้ายพระภิกษุเดินย่างสำรวมตน มีเพียงผู้ที่ได้รับฟังคำกราบทูลของเซียงจือกงจึงเข้าใจสภาพของคนที่กำลังประคับประคองอวัยวะภายในให้กระทบกระเทือนจากการเคลื่อนไหวน้อยที่สุด บางคนถึงกับรู้สึกสงสารและเวทนาในอาการของชายหนุ่ม ขณะที่พระราชธิดาวิสาณีถึงกับทรงเบือนพระพักตร์มิอาจทนทอดพระเนตรได้
ชายหนุ่มเมื่อไปถึงช้างของตน ได้ตั้งจิตพนมมือแล้วก้มลงกอบฝุ่นดิน เหวี่ยงขึ้นโปรยซัดไปยังคอช้างตลอดจนเท้าทั้งสี่ ก่อนที่จะจับใบหูช้างรั้งคชสารให้ย่อกายลงมารับตน มีทหารคนหนึ่งเข้ามาช่วยยกเจ้าทิพขึ้นคอช้างแล้วผูกเชือกรัดข้อเท้าของชายหนุ่มไว้กับเชือกที่รั้งคอช้าง ผิดกับอาการอันคล่องแคล่วแข็งแรงของสิงขรที่กระโจนพรวดเหวี่ยงร่างขึ้นคอช้าง
“เจ้าทิพทำอะไรของเขาน่ะ ท่านสิงหล”
พระเจ้าฤทธิเทวารับสั่งถามขุนพลคู่พระทัยขึ้น เมื่อเห็นอาการกอบดินมาโปรยซัดของชายหนุ่ม
“ขอเดชะ ตามหลักการกำหนดธาตุทั้งสี่ของศรีวิชัย ถือธาตุน้ำเป็นใหญ่ กำหนดจิตอยู่กับธาตุน้ำ และธาตุที่เหลือทั้งสามกำหนดผูกพันกับหลักการต่อสู้ ธาตุลมคือความเร็ว ธาตุไฟคือจังหวะ และธาตุดินคือความแข็งแกร่ง สิ่งที่เจ้าทิพกระทำข้าพระองค์ก็มิสู้แน่ใจ อาจเป็นการตั้งจิตเพื่อผนวกธาตุดินและความแข็งแกร่งผ่านคชสารก็เป็นได้พระเจ้าค่ะ”
เสียงกลองย่ำรัวก่อนตีย้ำ ๑๒ ครั้งเพื่อเริ่มการต่อสู้ ช้างทั้งสองฝ่ายต่างพุ่งแล่นเข้าหากัน ช้างของสิงขรรูปร่างใหญ่วิ่งพุ่งเข้ามาด้วยความเร็ว ในขณะที่ช้างของเจ้าทิพอยู่ในลักษณะกึ่งเดินกึ่งวิ่งอย่างช้าๆ
เจ้าทิพยกง้าวขวางไว้หน้าลำตัวแต่คมง้าวสะท้อนแสงพระอาทิตย์แวววาว เล็งประกายรุนแรงเข้าใส่ตาข้างหนึ่งของช้างสิงขรอยู่ตลอดเวลา แม้แต่สิงขรเองก็มิทันสังเกต
เมื่อช้างของคู่ต่อสู้แล่นเข้ามาอยู่ใกล้จนแลดูใหญ่โต เจ้าทิพพลันทิ้งลมหายใจออก กำหนดตนเข้าสู่ปราณเปลี่ยนมิติ... ก่อนที่ระยะห่างจากคอช้างสองเชือกจะได้ช่วงจ้วงฟาดฟัน คมง้าวของเจ้าทิพก็พุ่งตรงเข้าหาสิงขรทันที ผสานด้วยความเร็วของช้างที่แล่นเข้าปะทะกัน
สิงขรนึกไม่ถึงว่าเจ้าทิพจะเข้าสู่ปราณเปลี่ยนมิติตั้งแต่ง้าวแรก แต่ที่คาดไม่ถึงยิ่งกว่าคือเจ้าทิพกลับใช้กระบวนเพลง “ทวน” พุ่งง้าวแทงสุดปลายแขนเข้าหาตนที่กุมง้าวด้วยมือสองข้าง ยังไม่ได้ระยะฟาดฟัน
เสียงปะทะดังสนั่นเมื่อช้างทั้งสองเชือกแทงงาสอดงวงเข้าประสานกัน พร้อมกับราชองครักษ์หลวงรีบบิดกายสะบัดฟาดคอง้าวไปทางซ้ายสุดแรง ปัดง้าวรุกที่พุ่งแทงให้เบี่ยงพ้นไป
ง้าวรุกที่แทงมาหลังจากถูกปัดกระเด็นก็เร่งชักกลับโดยไว แล้วพุ่งแทงเข้าใส่ชายโครงขวาที่เปิดกว้างออก
สิงขรกุมง้าวด้วยสองมือ คมง้าวอยู่ด้านมือขวา บัดนี้แขนขวาวาดคร่อมอยู่ทางซ้าย จะลากฟาดกลับคงไม่ทันการณ์...
ในจังหวะคับขันช้างที่ปะทะเข้าใส่กันก็สะบัดปัดป่ายจนช้างของสิงขรถูกยกขึ้น ด้วยเจ้าทิพเดินช้างระวังจังหวะช้าเร็วขณะที่ช้างของสิงขรถูกไสแล่นมาด้วยความเร็วทั้งที่ตาพร่ามัวเพราะแสงสะท้อนจ้าจากคมง้าว จึงเสียเปรียบจังหวะถูกงัดขึ้นอยู่ด้านบน... แต่กลับเป็นโชคเมื่อตะพองช้างของสิงขรกระดอนขึ้นมาปะทะคันง้าวของเจ้าทิพให้เบี่ยงเฉียงเสียจังหวะ ราชองครักษ์หนุ่มรีบสะบัดคันง้าวกลับมาปัดคมง้าวเจ้าทิพได้ทันท่วงที
พริบตานั้นสิงขรไม่รอช้า เร่งกดฟาดง้าวที่ปลายยกเฉียงอยู่ด้านบนเข้าใส่เจ้าทิพทันที แม้ช้างตนจะเสียเปรียบด้วยถูกหนุนยกสูงแต่อาศัยภาวะที่ปลายง้าวของคู่ต่อสู้ทิ้งคาอยู่จากจังหวะที่พุ่งแทงผิดพลาด เปิดส่วนบนทั้งหมดเป็นช่องโหว่ให้โจมตี
ครั้งนี้นับว่าเจ้าทิพกระทำการเสี่ยงมากในการพุ่งแทงง้าวเข้าใส่คู่ต่อสู้บนคอช้าง... นับว่าเป็นข้อที่ไม่พึงกระทำ ด้วยการรบพุ่งกันบนคอช้างที่ต่างสะบัดคลุกวงในชิงเชิงกันตลอดเวลา จังหวะสะบัดย่อมเบี่ยงเบนเป้าหมายของจังหวะพุ่งอาวุธ นักรบจึงมักจับจังหวะช้างและประสานด้วยจังหวะฟาดง้าวเข้าใส่ ซึ่งหวังผลสำเร็จได้มากกว่า ดุจง้าวของสิงขรที่จู่โจมฟาดมาในครานี้...
วิถีง้าวของสิงขรฟาดลงมาคล้ายฟ้าฟาด เจ้าทิพชักง้าวกลับอย่างรวดเร็วด้วยปราณเปลี่ยนมิติ แล้วยกหนุนด้วยสองมือปัดง้าวที่ฟันลงมาออกไปด้วยกำลังแรง เจ้าทิพอาศัยความเร็วแห่งธาตุลม ผสมความแข็งแกร่งของธาตุดินเข้าต้านรับ จนง้าวของสิงขรกระดอนออกไกล ง่ามมือของบุตรขุนพลใหญ่ถึงกับสั่นสะท้านคล้ายฟาดง้าวลงบนโขดหินศิลาแลง ยิ่งฟาดแรงก็ยิ่งเจ็บสะท้านจากง่ามถึงข้อมือ
จากท่าสะบัดปัดง้าว เจ้าทิพผลักวนคมง้าวไล่กลับเข้าหาสิงขร ดูประหนึ่งคมง้าวปาดพลิ้วอยู่เหนือคันง้าวของราชองครักษ์ชั้นเอกประจำวังหลวง
“ท่านารายณ์กวาดสมุทร” สิงขรคำนึงในใจ
ท่าจู่โจมที่สองของพระมหาเถระเมื่อสิ้นสุดลงสามารถเปลี่ยนข้ามสู่ภาวะท่าจู่โจมที่สามของกระบวนเพลงใหม่ได้ แต่คาดไม่ถึงว่าเจ้าทิพจะสามารถเปลี่ยนจากกระบวนเพลงทวนสู่กระบวนเพลงง้าว อีกทั้งเปลี่ยนจากการรับเป็นรุกในการเชื่อมต่อสู่ท่าจู่โจมที่สาม...ท่านารายณ์กวาดสมุทร ซึ่งอาศัยหลักความแข็งแกร่งสะท้อนพลังที่รุกเข้ามาแล้วปาดเข้าโจมตีสู่ช่องว่างของพลังศัตรูที่เปิดออก
สิงขรจับภาวะที่ตะพองช้างของตนเชิดอยู่สูง รีบทิ้งตัวเอียงไปทางซ้าย ปล่อยมือขวาที่กุมง้าวออก กระทั่งคมง้าวของเจ้าทิพเฉียดพลาดข้อมือตน... แต่กลับไม่พลาดเป้าใหญ่ คมง้าวฟาดต่อเนื่องปาดใส่ชายโครงขวาที่พยายามเบี่ยงหลบ...
ราชองครักษ์หนุ่มถึงกับสะดุ้ง เจ็บแปลบถึงกระดูกซี่โครง ขนาดเป็นเพียงรอยฟันปาดแฉลบมิได้ถูกฟันเข้าอย่างจัง... หากมิใช่เพราะมีเกราะหนังคลุม แม้ง้าวไร้คมก็คงต้องเป็นบาดแผลฉกรรจ์แน่นอน
ผู้ชมบนอัฒจันทร์ไม่คาดคิดมาก่อนว่าเจ้าทิพจะสามารถรุกไล่สิงขรให้เข้าตาจนแต่ต้นมือ ทั้งยังเชื่อมั่นในช้างศึกของกองราชองครักษ์หลวงว่าคงจะมีเปรียบในการปะทะกัน ครั้นเห็นทุกอย่างผิดพลาดจนตกเป็นรองทั้งความเร็ว ความแข็งแกร่งและจังหวะ ต่างพากันเพลาเสียงลง เหลือเพียงเสียงร้องอุทานด้วยความหวั่นใจ...
เจ้าทิพรุกไล่ไปอีก ๒ ท่าจู่โจม ทั้งรวดเร็วและรุนแรงจนคู่ชิงชัยใกล้จะเพลี่ยงพล้ำเข้าไปทุกขณะ
ด้วยความเชี่ยวชาญของบุตรขุนพลใหญ่ แม้จะเสียเปรียบเยี่ยงไร เท้าก็ยังสั่นขยิกสั่งช้างให้ถอยปรับจังหวะ บัดนี้ตระหนักแล้วว่าความแข็งแกร่งของเจ้าทิพอาศัยความแข็งแกร่งของธาตุดิน แม้มิได้ยืนอยู่บนพื้นแต่ก็นั่งคร่อมอยู่บนร่างสัตว์ใหญ่ที่เชื่อมผสานกับความแข็งแกร่งของพื้นพสุธา จากเท้าทั้งสี่ที่ยืนหยัดติดกับพื้นราบ ผิดกับช้างศึกของตนที่ถูกหนุนจนขาหน้ายกลอย
พลันเห็นง้าวของเจ้าทิพแปรเปลี่ยนสู่ท่าจู่โจมที่หก จ้วงฟันรุนแรงจากด้านบนในขณะที่ง้าวของตนหลุดวิถีออกไปอยู่ด้านซ้ายของลำตัวซึ่งเป็นผลจากการจู่โจมครั้งก่อน... สิงขรสูดลมหายใจแรงเข้าเต็มทรวงอก วิถีของง้าวที่ฟันลงมาแม้เร็วมากแต่ความเร็วในการดึงง้าวขึ้นปะทะรับในแนวเฉียงเหนือศีรษะของสิงขรกลับรวดเร็วกว่า...
“ปราณเปลี่ยนมิติ” เจ้าทิพคำนึงขึ้นเมื่อสิงขรตัดใจใช้วิชาที่ซ่อนเร้นออกมา
เสียงปะทะของง้าวสองเล่มดังสนั่นอีกครา ผสานกับเสียงแผดร้องของคชสารที่แย่งชิงเชิง เจ้าทิพฉวยความมีเปรียบจากความรุนแรงของง้าวที่ฟันลงมา กดไล่คมง้าวรูดไปตลอดด้ามเข้าสู่มือที่ยึดกุมของสิงขร
แม้ราชองครักษ์หนุ่มจะใช้ความเร็วเข้าต้านรับได้ทันท่วงที แต่พลังแห่งอาวุธของเจ้าทิพยังหนุนส่งต่อเนื่อง จึงอาศัยความเร็ว “ที่เหนือกว่า” ชิงถอนง้าวกลับลงมา แล้วพลิกสะบัดยันรับในแนวราบ ตั้งฉากกับลำตัว... คมทวนเจ้าทิพแม้ติดตามลงมาแต่ไม่ปาดสู่มือแล้ว ทั้งหมดนี้สิงขรกระทำอย่างรวดเร็วราวพลิกหงายฝ่ามือ เป็นความรวดเร็วที่น่าตระหนกจริงๆ
เจ้าทิพสำนึกตนว่าต้องพิชิตคู่ต่อสู้ให้ได้ภายใน ๘ ท่าจู่โจม บัดนี้มาถึงท่าที่หกแล้ว หากปล่อยให้สิงขรใช้ความเร็วที่เหนือกว่าทำลายจังหวะที่ต่อเนื่อง ตนต้องพ่ายแพ้สิ้นสติไปในอีก ๒ ท่าจู่โจม
จังหวะก่อนหน้านี้เห็นสิงขรเร่งขยิกช้างถอยเพื่อให้กลับมาตั้งหลักได้ ชายหนุ่มจึงรีบไสช้างประชิดติดตลอดเวลา จนงวงช้าง ๒ เชือกยึดเกี่ยวพันกันราวเถาวัลย์ยักษ์ ๒ เส้นที่ตีเกลียวยึดโยงรวมเป็นหนึ่ง จังหวะของช้างจึงแทบจะถูกตัดทิ้งออกไปจากจังหวะง้าวแล้ว
ง้าวของเจ้าทิพซึ่งพาดหยุดอยู่บนด้ามง้าวที่พลิกขึ้นรับของสิงขร พลันพุ่งกระแทกออกไปตรงๆ อย่างรุนแรงทรงพลัง ตะขอสั้นๆ บนคอง้าวเกี่ยวกระแทกจนทั้งอาวุธและแขนของสิงขรเบี่ยงกระเด็นไปด้านหลัง
คมง้าวของเจ้าทิพพลันถูกกระชากกลับมาครึ่งจังหวะแล้วกรีดฟาดลงด้วยกำลังแรงยังทรวงอกของสิงขรที่เอนหงายเปิดอยู่
ลมหายใจของสิงขรถี่กระชั้น แม้เจ้าตัวจะรวดเร็วปานใด แต่การจะรั้งแขนดึงง้าวกลับมาปิดป้องมิอาจกระทำได้ทัน ด้วยยังกระเด็นไปตามแรงส่งของของ้าว จึงอาศัยแรงนั้นพลิกกายสะบัดทั้งตัวออกจากคอช้าง มือหนึ่งคลายออกจากด้ามง้าวแล้วฉวยจับเชือกที่พาดรั้งตัวช้างโหนร่างอยู่อีกด้านหนึ่ง
เป็นการแก้ไขสถานการณ์จากภาวะคับขันที่คาดไม่ถึง...
เจ้าทิพพลันรู้สึกเจ็บแปลบอย่างรุนแรงที่ชายโครงขวาถึงหน้าอก แม้แสงแดดส่องจ้าแต่ภาวะโดยรอบคล้ายเริ่มมืดทะมึนลงทุกขณะ
สิงขรบัดนี้โหนร่างหลบอยู่ด้านข้างของตัวช้าง อย่าว่าแต่จะฟาดฟันเข้าใส่เลย แม้แต่มองก็ไม่เห็นตัวแล้ว ยังจะกระทำสิ่งใดได้...
ความเจ็บปวดไล่ตีขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ก่อนที่ทุกอย่างจะมืดดับลง ง้าวในมือเจ้าทิพพลันพุ่งออกไป
...เป็นภวังค์สุดท้ายก่อนสิ้นสติฟุบลงกับคอช้าง
เสียงขุนพลธรณินตะโกนลั่น
“การประลองยุติ...”
--------------------------------------------------