ราชาสิบสองนักษัตร ศึกรวมสุโขทัย - บทที่ ๒๗ หอคัมภีร์พระมหาเถรศรีศรัทธา

.
                                                  

บทที่ ๒๗ หอคัมภีร์พระมหาเถรศรีศรัทธา

อาทิตย์ส่องแสงเจิดจ้า เป็นเวลาใกล้เที่ยงวัน
ชายหนุ่มที่รับบาดเจ็บเริ่มลืมตาขึ้น ครั้งนี้ปวดแปลบแผลบริเวณชายโครง จนรู้สึกตึงรั้งตลอดซีกขวาของร่างกาย

“เป็นอย่างไรบ้าง รู้สึกปวดแผลบ้างไหม” เสียงกล่าวภาษาจีนดังขึ้นจากมุมห้อง
“องค์หญิง... เสด็จไปแล้วหรือ” ทันทีที่เจ้าทิพประคองสติได้ สิ่งแรกที่ถามหาคือพระนางผู้เป็นดั่งดวงใจ

เซียงจือกงถอนหายใจ กล่าวว่า
“ขบวนเสด็จของพระเจ้าศรีมหาราช ได้ออกจากนครปตานีไปแต่เช้าตรู่แล้ว พระนางก็ประทับอยู่ในขบวนด้วย”

เจ้าทิพรู้สึกเจ็บแปลบสะท้อนในใจ จนไม่รู้สึกสิ่งใดกับแผลกาย สายตาเหม่อลอยไปเบื้องบน ผู้เป็นอาเห็นอาการแล้ว กล่าวปลอบว่า
“เจ้าอย่าเพิ่งคิดอะไรมากไปเลย เร่งรักษาตนให้หาย อย่าลืมว่าพระนางทรงเป็นห่วงในตัวเจ้ามาก ทรงหวังว่าสักวันเจ้าจะทำทุกอย่างได้สำเร็จและรีบกลับมาหาพระนาง... หรือเจ้าจะนอนทอดอาลัยในห้องนี้ตลอดไป”

เจ้าทิพมองตาผู้เป็นอาแล้วรู้สึกละอาย ดูจากสภาพอิดโรยของท่านคงต้องอดหลับอดนอนเฝ้ารักษาอาการบาดเจ็บของตน
“หลานขอโทษ... หลานไม่ควรมีความคิดท้อแท้” ว่าแล้วพยายามพยุงกายลุกขึ้นนั่ง
“ดีแล้ว... เป็นอย่างไรเจ็บปวดแผลมากไหม”
เจ้าทิพพยักหน้าเป็นเชิงตอบรับ

“อาการของเจ้าดีขึ้นแล้ว เลือดที่เคยคั่งก็ไหลเวียนเป็นปกติ บริเวณบาดแผลจึงเป็นแผลสดอย่างดีพร้อมที่จะสมานหายต่อไป ส่วนที่เจ้ารู้สึกเจ็บมากเพราะเราหยุดฝังเข็มให้เจ้าแล้ว เพื่อให้ร่างกายได้ทำงานด้วยกลไกตามธรรมชาติ หลังจากนี้เจ้าต้องอดทนกับแผลสดภายในกาย หมั่นกินยาและพอกสมุนไพร อีกไม่นานเกิน ๓ วันคงลุกขึ้นได้”

“ขอบพระคุณท่านอาจือกง บุญคุณของท่านอา ผู้หลานไม่รู้จะทดแทนอย่างไร ทั้งช่วยให้หลานได้ชัยและยังช่วยรักษาชีวิตของหลานไว้อีก”
เซียงจือกงหัวเราะชอบใจ เป็นครั้งแรกที่ท่านหัวเราะขึ้นมาหลังจากเจ้าทิพล้มเจ็บ เสียงหัวเราะย่อมทำให้จิตใจของชายหนุ่มเบิกบานไปด้วย

“ชัยชนะของเจ้า นับว่าถูกใจเรานัก... จงจำไว้ ฝีมือการต่อสู้แม้เป็นพื้นฐานที่สำคัญ แต่การใช้ปัญญากำหนดยุทธวิธีในการต่อสู้จะทำให้เจ้าชนะเมื่อเจ้าเสียเปรียบ และจะทำให้เจ้าออกแรงน้อยที่สุดเมื่อเจ้ามีเปรียบ”

“ครั้งนี้หลานนับว่าได้ประสบการณ์และความมั่นใจมากมาย... หลานจะจำไว้ ทุกอย่างสำคัญที่จิตใจ ทุกอย่างเริ่มต้นที่จิตใจ”

-----------------------------------

๓ วันต่อมา เจ้าทิพและเซียงจือกงได้เดินทางมายังเรือนพักของมหาอำมาตย์วาสุธี ณ ที่นั้นมีขุนพลสิงหล ผู้เป็นน้องชายแท้ๆ ของท่านมหาอำมาตย์อยู่ด้วย
“ต้องขอบใจท่านผู้บัญชาการกองเรือ ที่ให้เกียรติมาตามคำเชื้อเชิญของเรา”
“มิเป็นไรๆ แม้ท่านไม่เชิญ เราคงต้องหาโอกาสมาสนทนากับท่านมหาอำมาตย์เป็นการส่วนตัวอยู่ดี”

แล้วทั้งสองก็หัวเราะด้วยไมตรีให้กัน ผู้เป็นเจ้าเรือนเชื้อเชิญให้ทุกคนขึ้นเรือนแล้วนั่งบนตั่งที่ตระเตรียมไว้
“เจ้าทิพล่ะ อาการบาดเจ็บเป็นอย่างไรบ้าง เราให้คนไปคอยสอบถามเมื่อรู้ว่าพอจะทุเลาบ้างแล้ว จึงรีบเชิญมาเพื่อจะได้ปรึกษากัน”

“อาการของข้าพเจ้าแทบหายเป็นปกติ แต่หมอหลวงยังสั่งให้กินยาต่อไปจนครบ ๑๐ วัน” เจ้าทิพกล่าวตอบอย่างนอบน้อม
“อืม นับว่าเป็นข่าวดี ตอนนี้เจ้าคือขุนพลฉลูนักษัตรแล้ว สิ่งเร่งด่วนที่ต้องกระทำคือการเตรียมพร้อมเข้าสู่พิธีประลองคัดเลือกราชาสิบสองนักษัตร ที่จะมีขึ้นในอีก ๓ เดือนข้างหน้า”

คำว่าราชาสิบสองนักษัตร ทำให้บรรยากาศการสนทนาที่ผ่อนคลาย กลายเป็นเคร่งเครียดขึ้นมาทันที

มหาอำมาตย์หันไปทางเซียงจือกง กล่าวว่า
“ท่านผู้บัญชาการกองเรือ ท่านคงสงสัยว่าเราเชิญท่านมาด้วยทำไม เราขอกล่าวตามตรง ถ้าขุนพลฉลูนักษัตรไม่ใช่เจ้าทิพ เราคงไม่บังอาจรบกวนเชื้อเชิญท่านมาในครั้งนี้ด้วยหรอก” เว้นสักครู่ แล้วรินน้ำชาส่งให้ “เรารู้ว่าท่านรักใคร่ในตัวเจ้าทิพดุจหลานชายแท้ๆ และหวังให้เขาประสบความสำเร็จ จึงอยากจะขอปัญญาของท่านช่วยชี้แนะต่อไป เช่นเดียวกับที่ท่านได้ชี้แนะให้เจ้าทิพมีชัยในการประลองด่านสุดท้าย”

เซียงจือกงรับฟังแล้วก็หัวเราะ กล่าวบ่ายเบี่ยงมิรับคำชม
“ท่านอย่าได้ปฏิเสธเลย เรารู้ว่าด้วยสภาพของเจ้าทิพตอนนั้น ไม่มีทางเอาชนะสิงขรได้” มหาอำมาตย์ยืนกราน แล้วกล่าวหนักแน่น “ครั้งนี้ก็เหมือนกัน เจ้าทิพคงไม่สามารถเอาชนะกัมพะทมิฬ ตัวแทนเมืองไทรบุรีได้ ถ้าท่านไม่ช่วย”

“กัมพะทมิฬ... เป็นนักรบชาวทมิฬที่มาตั้งถิ่นฐานอยู่เมืองไทรบุรีหรือ” เซียงจือกงกล่าวทวน
“เป็นเช่นนั้นจริงๆ คิดว่าท่านคงพอจะทราบมาบ้างแล้ว” ครั้งนี้เป็นขุนพลสิงหลที่เอ่ยวาจา

“เราทราบมาว่า ราชวงศ์โจฬะทมิฬที่ยิ่งใหญ่อยู่บริเวณตอนใต้ของชมพูทวีปหลังพ่ายแพ้ต่อราชวงศ์ปัญญาก็แทบสิ้นแผ่นดิน ครั้นราชวงศ์คาลจีซึ่งเป็นชาวมุสลิมพิชิตราชวงศ์ปัญญาและดินแดนชมพูทวีปไว้ได้เกือบทั้งหมด ชาวโจฬะทมิฬจึงเริ่มตั้งหลักใหม่ได้อีกครั้ง ส่วนหนึ่งเข้ายึดครองเกาะลังกาทางตอนบน อีกส่วนเดินเรือมาตั้งรกรากอยู่ที่เมืองไทรบุรี ก่อตั้งสถานีการค้าข้ามมหาสมุทรอินเดียเพื่อสะสมทุนทรัพย์”

“ท่านผู้บัญชาการกองเรือนับว่ารู้เรื่องราวในดินแดนต่างๆ กระจ่างดุจหงายฝ่ามือ” ขุนทัพปตานีกล่าวชื่นชม
“เรื่องการประลองอาวุธ.. มีความสัมพันธ์ระหว่างกัมพะทมิฬ และสิงขรเกิดขึ้นใช่หรือไม่”

คำถามตรงจุดของเซียงจือกงทำเอาแม่ทัพใหญ่ปตานีถึงกับนิ่งอึ้ง ก่อนข่มใจอธิบายเรื่องราวให้ฟัง

ใช่... เมื่อ ๒ ปีก่อน ทั้งสองคนเคยต่อสู้กัน โดยกัมพะทมิฬเป็นฝ่ายเอาชนะด้วยฝีมือที่เหนือกว่ามาก จากนั้นทั้งสองต่างแลกเปลี่ยนวิชาฝีมือต่อกัน... แนววิชาของโจฬะทมิฬนั้นใช้ธาตุไฟเป็นจิต เช่นเดียวกับที่พวกเขาบูชาไฟ ใช้ธาตุน้ำกำหนดจังหวะ เมื่อเปรียบเทียบกับเจ้าทิพที่ใช้ธาตุน้ำเป็นจิต ตามหลักของชาวศรีวิชัยที่อาศัยผืนน้ำเป็นหลัก ใช้ธาตุไฟเป็นจังหวะ... นับว่าเป็น ๒ ขั้วที่หักล้างกันอย่างรุนแรง ทั้งสองแนวมีข้อเหมือนกันคือการกำหนดธาตุดินเป็นความแข็งแกร่ง ธาตุลมเป็นความเร็ว
...แต่ระดับความรุดหน้าของกัมพะทมิฬ ดูเหมือนจะเหนือกว่าเจ้าทิพอยู่ ๒ ขั้น


“ท่านว่าแลกเปลี่ยนวิชากัน... สิงขรนำอะไรไปแลกเปลี่ยน”
“๑ กระบวนเพลงดาบซึ่งมี ๘ ท่าจู่โจม”

เซียงจือกงนิ่งใคร่ครวญ ก่อนถามว่า
“ตอนอยู่บนปะรำที่ประทับ ท่านกราบทูลองค์กษัตริย์ทั้งสองพระองค์ว่าเจ้าทิพฝึกฝนจนถึงขั้นที่ ๙ ซึ่งเป็นขั้นแรกของระดับภวังค์สำนึก ถ้าอย่างนั้นกัมพะทมิฬมิอยู่ระดับขั้นที่ ๑๑ แล้วหรือ”

“มิใช่...” แม่ทัพใหญ่แห่งปตานีส่ายหน้า กล่าวต่อด้วยความมั่นใจ
“ฟังจากที่สิงขรอธิบาย ข้าพเจ้าเชื่อว่าวิชาของกัมพะทมิฬในวันนี้คงอยู่ในระดับขั้นที่ ๙ เท่ากับเจ้าทิพ... เพียงแต่วิชาของโจฬะทมิฬเป็นแนวมืด สามารถบังคับธาตุได้ตั้งแต่ระดับขั้นที่ ๗ จึงมีความรุดหน้ามาถึง ๒ ระดับขั้นแล้ว ในขณะที่แนววิชาของเจ้าทิพต้องรอถึงระดับขั้นที่ ๙ จึงเริ่มต้นบังคับธาตุได้”

“อืม เรานับว่าเข้าใจแล้ว... เรื่องวิชาในแนวมืดเราเคยได้ยินว่า ผู้ฝึกจะประสบความสำเร็จในเวลาอันสั้น แต่สุดท้ายสภาพร่างกายจะทรุดโทรมในภายหลัง จุดด้อยอีกข้อหนึ่งคือไม่สามารถทำการสู้รบได้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน”

“ท่านเซียงจือกงเข้าใจถูกแล้ว เพราะวิชาแนวนี้ไม่ได้มุ่งเน้นความเพียรในการฝึกฝนจนเกิดผลสำเร็จ ดังนั้นจึงก่อผลเสียต่อเนื่องตามมามากมาย รวมถึงครอบงำจิตใจให้ฝักใฝ่ในกิเลสตัณหา จึงเรียกกันว่า... วิชาแนวมืด”

“หากระดับฝีมือห่างกันถึง ๒ ระดับขั้น นับว่ายากนักที่เจ้าทิพจะเอาชัยได้จริงๆ” เซียงจือกงพึมพำด้วยความหนักใจ
“แล้วถ้าเจ้าทิพสามารถฝึกฝนจนถึงระดับขั้นที่ ๑๐ ท่านเชื่อว่าเจ้าทิพยังจะพอมีโอกาสได้ชัยชนะบ้างหรือไม่” มหาอำมาตย์ถามขึ้น

เซียงจือกงพยักหน้า เป็นเชิงตอบรับ ถามกลับไปว่า
“ดูเหมือนท่านทั้งสองจะมีความมั่นใจว่าสามารถฝึกฝนเจ้าทิพให้มีฝีมือรุดหน้าได้ในเร็ววันนี้”

“เรามิอาจพูดว่ามีความมั่นใจเต็มที่ แต่เชื่อว่าบันทึกวิชาของพระมหาเถรศรีศรัทธา น่าจะช่วยเจ้าทิพได้มากทีเดียว”
มหาอำมาตย์กล่าวแล้ว ขุนพลผู้น้องก็เล่าอธิบายว่า
“เมื่อครั้งพระมหาเถรศรีศรัทธาทรงเขียนบันทึกวิชาการต่อสู้มอบไว้ให้ มีบันทึกทั้งหมด ๓ เล่มพร้อมจดหมายปิดผนึก ๑ ฉบับ บันทึกเล่มแรกคือวิชาเพลงอาวุธดาบสองมือ ดาบมือเดียว ทวนและง้าว อย่างละ ๙ กระบวนเพลง จากท่าจู่โจมที่ ๑ ถึงท่าจู่โจมที่ ๘... ท่านทรงมอบบันทึกเล่มแรกไว้กับบิดาของเรา ซึ่งขณะนั้นเป็นขุนพลใหญ่เมืองปตานี เพื่อให้ฝึกฝนนักรบเข้าสู่การประลองอาวุธคัดเลือกเป็นขุนพลฉลูนักษัตร”

“ท่านก็ได้เรียนรู้วิชาต่อสู้จากบันทึกเล่มนี้” เซียงจือกงกล่าวถาม
“ถูกต้อง นอกจากขุนพลบิดาจะสอนให้เราแล้ว ยังมีศิษย์อื่นๆ อีก รวมถึงวายุ ผู้ต่อมาขึ้นเป็นราชาสิบสองนักษัตรในการประลองเมื่อ ๑๓ ปีก่อน”

“วายุราชา ผู้หายสาบสูญไปในการค้นหาองค์ตุมพะทะนานทอง...”
“ใช่ หายตัวไปพร้อมปริศนาต่างๆ มากมาย” ขุนพลใหญ่รับคำ แล้วอธิบายต่อ

“ส่วนบันทึกเล่มที่สอง คือวิชาอาวุธที่เหลือ... ท่าจู่โจมที่ ๙ ของ ๙ กระบวนเพลงจาก ๔ อาวุธ รวมทั้งหมด ๓๖ ท่าจู่โจม ซึ่งเป็นสุดยอดวิชาพิฆาตรุนแรง ทั้งยังสลับเปลี่ยนแปลงไปมาระหว่างกันได้อีก... เนื่องเพราะเป็นท่าจู่โจมสังหารอำมหิต พระมหาเถระทรงจำกัดให้ถ่ายทอดเฉพาะขุนพลฉลูนักษัตรเท่านั้น... แต่น่าเสียดาย บันทึกเล่มนี้ได้ถูกคนร้ายลักลอบขโมยไปพร้อมจดหมายปิดผนึก ก่อนที่จะมีผู้ใดได้เคยฝึกและเปิดอ่าน”

“วิชาที่ท่านระบุว่าเจ้าทิพได้เรียนรู้ถึง ๕ ใน ๙ ท่าจู่โจม”

ขุนพลสิงหลมองดูเจ้าทิพ กล่าวช้าๆ
“ใช่ เราก็ไม่รู้ว่าทำไมพราหมณ์กุณฑกัญจจึงรู้วิชาเหล่านี้... ยิ่งไปกว่านั้น ทหารของเราที่ติดตามส่งเสด็จพระเจ้าศรีมหาราชจนถึงเมืองนครฯ ได้กลับมารายงานเราเมื่อเช้าวันนี้ บอกว่าท่านพราหมณ์ได้เดินทางออกจากเมืองนครฯ ตั้งแต่วันที่พระเจ้าศรีมหาราชเสด็จมาเมืองปตานีแล้ว เพียงทิ้งจดหมายกราบทูลลาไว้ด้วยข้อความสั้นๆ ไม่ได้ระบุถึงเหตุผลชัดเจนหรือจุดหมายที่จะเดินทางไป”

เรื่องของพราหมณ์กุณฑกัญจทำให้ทุกคนนิ่งงัน สับสน แม้แต่ตัวเจ้าทิพเองก็ไม่เข้าใจ

“ส่วนบันทึกเล่มที่ ๓ คือการฝึกจิตเข้าสู่สุญญตา พระมหาเถระระบุว่า สามารถช่วยเคลื่อนย้ายระดับจิต จากระดับจิตสำนึกสู่ระดับภวังค์สำนึก และจากระดับภวังค์สำนึกสู่ระดับขั้นที่สูงขึ้นไป บันทึกเล่มนี้ยังคงเก็บอยู่ในหอคัมภีร์เก่า... และอาจเป็นบันทึกเล่มนี้ ที่ช่วยให้วายุมีชัยได้เป็นราชาสิบสองนักษัตรเมื่อ ๑๓ ปีที่แล้ว”

เซียงจือกงครุ่นคิด แล้วกล่าวเสียงหนักๆ ขึ้น
“การกำหนดวิธีเอาชัยชนะเหนือกัมพะทมิฬคงต้องใช้เวลาตรึกตรองสักระยะ แต่มีเรื่องสำคัญที่สุดซึ่งต้องเร่งกระทำ... คือต้องหาครูฝึกผู้สามารถสั่งช้างสั่งม้า มาสอนเจ้าทิพ”
“ต้องถึงระดับสั่งสัตว์ได้เลยหรือ”

“ใช่ หากว่าเราต้องการเพิ่มความมั่นใจในชัยชนะ... อย่าลืมว่าเจ้าทิพแอบฝึกวิชาอยู่ในเมืองนครฯ แม้จะฝึกฝนเพลงอาวุธได้แคล่วคล่อง แต่การฝึกบังคับม้าแทงทวนและไสช้างฟาดของ้าว นับว่ากระทำได้จำกัดนัก... หากเขามีเปรียบเรื่องการขี่ม้าและช้าง บางทีเมื่อผสมกับเพลงอาวุธของพระมหาเถระ เจ้าทิพอาจมีเปรียบในด้านจังหวะและด้านความแข็งแกร่งขึ้นมาก็เป็นได้”

สองพี่น้องมหาอำมาตย์และขุนพลต่างนิ่งงัน มองตากันด้วยสีหน้ายุ่งยากใจ...

“ท่านไม่มีคนผู้มีความสามารถปานนั้นมาเป็นครูสอนเจ้าทิพหรือ” เซียงจือกงถามย้ำ
ขุนพลสิงหลไม่ตอบคำโดยตรง แต่กล่าวคล้ายพึมพำกับพี่ชายผู้เป็นอำมาตย์ใหญ่
“หรือว่าถึงเวลาที่เราต้องไปขอโทษต่อเขาแล้ว...”

“เวลา ๑๕ ปีแล้วสินะ...”
เสียงของมหาอำมาตย์เอ่ยขึ้นอย่างเลื่อนลอย

-----------------------------------
(มีต่อ)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่