ราชาสิบสองนักษัตร ศึกรวมสุโขทัย - บทที่ ๑๒ ความลับของคู่ชิงชัย

.
                                                  

บทที่ ๑๒ ความลับของคู่ชิงชัย

ผลแพ้ชนะปรากฏ แต่ปมความสงสัยก่อเกิดมากมาย...
ก่อนพักการประลองในภาคเช้าและย้ายไปประลองที่สนามด้านนอกในช่วงบ่าย มีรับสั่งให้เจ้าทิพขึ้นไปเฝ้าบนอัฒจันทร์หน้าปะรำที่ประทับทันที
บัดนี้ชายหนุ่มซึ่งถอดเกราะหนังอ่อนออกเหลือแต่ชุดทหารเดินเท้าสีเข้มนั่งคุกเข่ายกมือพนมแนบอกอยู่หน้าปะรำ ซึ่งเว้นเป็นลานกว้างขนาด ๑ วา สำหรับการเข้าเฝ้าเฉพาะพระพักตร์

“เราต้องขอชมเชยหลานเรา ที่วาดฝีมือดาบได้อย่างอัศจรรย์คล่องแคล่ว รวดเร็วราวปาฏิหาริย์... นึกไม่ถึงจริงๆ ว่าจะปิดบังผู้คนมาได้เนิ่นนานขนาดนี้”
พระราชธิดาวิสาณีได้ทรงสดับพระราชบิดาชมเชยเจ้าทิพ อดทรงแย้มพระสรวลออกมามิได้ สายพระเนตรแวววาวจับจ้องไปยังชายหนุ่มด้วยความรักใคร่
“...แล้วลูกหญิงล่ะ เคยรู้บ้างไหมว่าเจ้าทิพมีวิชาการต่อสู้ที่ล้ำเลิศปานนี้”

พระราชธิดาถูกตรัสถามขึ้นอย่างกระทันหัน ขณะพระทัยเคลิบเคลิ้มปลื้มปิติ ทรงรีบระงับพระอาการ คลายแย้มพระสรวลลง
“หม่อมฉันมิเคยล่วงรู้มาก่อนเลยเพคะ... เจ้าทิพเขาคงปิดบังเพราะไม่ใคร่จะไว้วางใจเรากระมังเพคะ”

พระเจ้าศรีมหาราชทรงพระสรวลชอบพระทัยในพระอาการแสนงอนของพระราชธิดา
“เขาก็คงมีเหตุผลของเขา ลูกอย่าไปเคืองเลย... นี่ถ้าทุกคนรู้แต่แรกว่าเจ้าทิพหยิบอาวุธฝึกฝีมือ คงจะถูกปรามแต่ต้น ไหนเลยจะมีวันนี้ได้...” ตรัสแล้วก็ทรงพระสรวล

ผิดกับพระเจ้าฤทธิเทวาที่ประทับนิ่ง สะกดพระอาการกระสับกระส่ายพระองค์ ทรงเบือนพระพักตร์ไปทางขุนพลเอกแล้วรับสั่งขึ้น
“ท่านขุนพล ท่านก็ถามออกไปเถิดถึงความใดที่ข้องอยู่ในใจ”
“พระเจ้าค่ะ...” ขุนพลสิงหลกราบทูลรับคำ แล้วเอ่ยถามชายหนุ่มว่า
“เจ้าทิพ ท่านบอกว่าได้เรียนรู้วิชาฝีมือกับท่านพราหมณ์กุณฑกัญจ ท่านหยิบดาบร่ายรำบูชาครูและเทวดาตามแบบศรีวิชัย แต่ไฉนเพลงดาบที่ท่านใช้จึงเป็นแนววิชาของพระมหาเถรศรีศรัทธา เรื่องนี้ท่านช่วยอธิบายเถิดว่าเป็นมาอย่างไร... และท่านพราหมณ์ได้สอนสิ่งใดไว้บ้าง”

เจ้าทิพถวายบังคมพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ แล้วจึงกล่าวตอบคำขุนพลด้วยอาการสงบ
“เพลงดาบที่ข้าพเจ้าใช้ ท่านพราหมณ์กุณฑกัญจเป็นผู้สอนให้... เป็นเพลงดาบของพระมหาเถรศรีศรัทธาจริง ส่วนท่านพราหมณ์จะรู้วิชาดาบของพระมหาเถระมาได้อย่างไร ข้าพเจ้ามิได้รู้เลย ท่านพราหมณ์ไม่เคยกล่าวให้ข้าพเจ้ารับรู้”
“ท่านเป็นศิษย์ของท่านพราหมณ์ ทำไมอาจารย์ท่านต้องปิดบังตัวท่านด้วย”

“หามิได้ท่านขุนพล ความสัมพันธ์ระหว่างท่านพราหมณ์และข้าพเจ้ามิได้เป็นอาจารย์และศิษย์กัน...ท่านเพียงแนะนำสั่งสอนวิชาการต่างๆ แก่ข้าพเจ้า เพื่อข้าพเจ้าจักได้ทำธุระให้แก่ท่าน... หนึ่งในเรื่องนั้นคือการตามหาองค์ตุมพะทะนานทองกลับคืนมาสู่เมืองปตานี... ส่วนข้าพเจ้าเองก็หาได้มีความรักผูกพันสิ่งใดแก่ท่านพราหมณ์ไม่”
คำตอบของเจ้าทิพยิ่งทำให้ทุกผู้คนรู้สึกมึนงงสงสัยหนักขึ้นไปอีก

“ท่านไม่ได้ไหว้พราหมณ์กุณฑกัญจเป็นอาจารย์... แล้วทำไมท่านพราหมณ์ต้องช่วยให้ท่านมีวิชาฝีมือ ทำไมต้องช่วยให้เมืองปตานีได้องค์ตุมพะทะนานทองกลับคืน...” ขุนพลสิงหลเอ่ยรำพึง กึ่งซักถามด้วยความสงสัย
“เรียนท่านขุนพลตามตรง ข้าพเจ้ารังเกียจท่านพราหมณ์ที่เป็นต้นเหตุให้พระมารดาของข้าพเจ้าต้องสิ้นพระชนม์ลง... จึงไม่ยินดีที่จะกราบไหว้เป็นอาจารย์ เรื่องนี้คิดว่าท่านขุนพลคงพอจะเข้าใจ” เจ้าทิพกล่าวเสียงหนัก ด้วยความพลุ่นพล่านในอารมณ์

“บังอาจนัก... มารดาเจ้าสิ้นก็เพราะตัวเจ้า ยังไม่รู้ดีรู้ชั่วอีก... นี่ถ้ามารดาเจ้าไม่ลงน้ำหวังไปช่วยเจ้า...ป่านนี้นางคงไม่ตายหรอก เจ้ามันลูกผลาญญาติจริงๆ”
พระสุรเสียงของพระเจ้าฤทธิเทวาก้องสนั่น พระหัตถ์ขวาตบลงบนพระชานุดังลั่น จนทุกผู้คนที่เฝ้ารายรอบต่างสะท้านใจ ท่านขุนพลเอกเองก็อดคิดไม่ได้ ทุกครั้งที่พระเจ้าแผ่นดินทรงรำลึกถึงการสิ้นพระชนม์ของพระสนมจันทรา พระองค์จะทรงเสียพระทัยและเคืองพระทัยไปยังเจ้าทิพทุกครา... ครั้งนี้นับว่าเจ้าทิพกล่าวคำผิดพลาดแล้ว... ยิ่งนึกไม่ถึง ชายหนุ่มกลับผูกใจอาฆาตพราหมณ์กุณฑกัญจว่าเป็นต้นเหตุ จนกล้าที่จะกล่าวพาดพิงถึงการสิ้นพระชนม์ของพระมารดาขึ้นมาต่อหน้าพระเจ้าปตานี

ท่ามกลางเพลิงพิโรธและความอึดอัดทั้งปวง พระสุรเสียงหนึ่งก็ดังขึ้น
“น้องเรา เรื่องราวทั้งมวลก็ผ่านไปหลายปีแล้ว... เท่าที่เราทราบมา ครานั้นเป็นอุบัติเหตุ เชือกซึ่งผูกรั้งเจ้าทิพจึงขาดไป พระสนมทรงรักผูกพันในบุตรของตนจึงสู้อุตส่าห์ลงน้ำไปช่วย แม้จะรู้ว่าต้องสิ้นชีพก็ยอม... ในเมื่อพระนางรักใคร่ในบุตรชายจนสละได้แม้พระชนม์ชีพ การที่ท่านจะมาโกรธเคืองบุตรที่พระนางแลกชีวิตคืนมา ยังจะทำให้ดวงวิญญาณที่ล่วงลับเป็นสุขได้หรือ... ท่านลองตรองดูเถิด”

พระเจ้าศรีมหาราชนั้น ทรงขัดพระทัยอยู่เสมอมาเรื่องที่พระเจ้าฤทธิเทวาทรงโกรธขึ้งเจ้าทิพ แต่ทรงดำริว่าไม่เป็นการบังควรที่จะไปยุ่งเกี่ยว ที่ผ่านมาเพียงทรงช่วยอุดหนุนบำรุงเลี้ยงเจ้าทิพในวังของพระองค์ ครั้งนี้ทรงเห็นพระเจ้าปตานีแสดงพระกิริยาไม่สมควรต่อหน้าพระองค์ จึงได้ทีรับสั่งตักเตือน

“ขอพระราชทานอภัย ที่หม่อมฉันเสียกิริยาต่อหน้าพระองค์... เพียงเพราะไม่ใคร่ถูกใจที่เจ้าทิพพาลโกรธโทษไปยังพราหมณ์กุณฑกัญจ ซึ่งเป็นพราหมณ์ผู้ใหญ่สืบสายตระกูลโทณพราหมณ์... นี่ถ้าไม่ใช่เพราะไฟสงครามระหว่างมลายูและชวา ผู้สืบสายตระกูลโทณพราหมณ์คงไม่ได้หวนคืนสู่ดินแดนบนคาบสมุทรเป็นแน่ แม้กลับมาแล้วก็ยังห่วงใยในตัวเจ้าทิพ สู้อุตส่าห์เดินทางไปถึงเมืองนครฯ เพื่อฝึกฝนอบรมเจ้าทิพ หวังแก้ไขคนอันเป็นอัปมงคล อีกทั้งยังใส่ใจเรื่องการตามหาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สูญหายไป... แต่นี่กระไร เจ้าทิพไม่เพียงไม่เคารพกราบไหว้อาจารย์ ยังคิดแค้นเนรคุณอีก คำทำนายคงจะเป็นจริงเสียแล้วละพระองค์”

“ท่านอย่าเพิ่งสรุปและโกรธเคืองไปเลย ลองฟังเจ้าทิพดูก่อน อาจจะมีนัยเรื่องวิชาของพระมหาเถระซ่อนอยู่บ้าง”
พระดำรัสเตือนของพระเจ้าศรีมหาราชอีกครั้ง... ทำให้พระเจ้าฤทธิเทวาทรงยั้งพระทัย แล้วรับสั่งให้ขุนพลสิงหลดำเนินการซักไซ้เรื่องราวต่อไป


“ท่านพราหมณ์ได้สอนวิชาอาวุธของพระมหาเถรศรีศรัทธาแก่ท่าน มีอย่างไรบ้าง”
“ท่านได้สอนวิชาเพลงดาบสองมือ เพลงดาบมือเดียว เพลงทวนและเพลงง้าว ทั้งสี่อาวุธต่างมีจำนวน ๙ กระบวนเพลง บ้างมี ๙ ท่าจู่โจม บ้างมี ๘ ท่าจู่โจม... รวมเป็นทั้งสิ้น ๗๗ ท่าจู่โจม”

สีหน้าของขุนพลเอกเปลี่ยนไปทันที ขบกรามข่มใจ พูดน้ำเสียงหนักขึ้นว่า
“เจ้ารู้ไหม เพลงอาวุธของพระมหาเถระที่ถ่ายถอดอยู่ในปตานี มีทั้งหมดเพียง ๗๒ ท่าจู่โจมเท่านั้น...”

เจ้าทิพถึงกับผงะ ชักสีหน้างุนงง ตนนั้นเรียนวิชาและอาศัยอยู่แต่ในเมืองนครฯ เรื่องราวการฝึกฝนอาวุธชั้นสูงในวังปตานีนั้นไม่เคยได้รับรู้เลย ใจนั้นใคร่จะถามว่าทำไมจึงมีเพียง ๗๒ จู่โจม แต่ก็ฉุกใจนิ่งเฉยเสีย... สักครู่จึงได้ยินขุนพลสิงหลกล่าวอธิบายต่อไปให้ทุกคนรับฟัง

“พระมหาเถระทรงบัญญัติเพลงอาวุธดาบคู่ ดาบเดี่ยว ทวนและง้าว ไว้ทั้งหมดอย่างละ ๙ กระบวนเพลง ใน ๑ เพลงมี ๙ ท่าจู่โจม เรียงลำดับทวีความรุนแรงขึ้นไป จากท่าจู่โจมที่หนึ่งไปจนสูงสุดในท่าจู่โจมที่เก้า ดังนั้นในแต่ละอาวุธจึงมีทั้งสิ้น ๘๑ ท่าจู่โจม กระบวนเพลงทั้งเก้าถูกบัญญัติให้ใช้ในสถานการณ์รุกรบที่แตกต่างกันไป...

อย่างไรก็ตามในการพันตูต่อสู้สถานการณ์ย่อมแปรเปลี่ยนตลอดเวลา จุดสำคัญของแนววิชาพระมหาเถระนั้นคือการพลิกแพลงแก้ไขสถานการณ์ไม่จำเป็นต้องไปเริ่มต้นจากท่าจู่โจมที่หนึ่งของกระบวนเพลงใหม่ หากแต่สามารถเชื่อมต่อกันระหว่างกระบวนเพลงในท่าจู่โจมที่ ๓ ท่าที่ ๖ และท่าที่ ๙... นั่นคือเมื่อจบท่าจู่โจมที่ ๒ สามารถข้ามไปยังท่าจู่โจมที่ ๓ ของกระบวนเพลงใดก็ได้ ทำให้เพลงอาวุธของพระมหาเถระสามารถพลิกแพลงตามสถานการณ์และยังไล่ลำดับต่อเนื่องไปจนถึงขีดสูงสุดใน ๙ ท่าจู่โจม...

พระมหาเถระได้มอบท่าจู่โจม ๘ ท่าแรกของทุกกระบวนเพลงไว้กับขุนพลศิระบิดาของเรา เพื่อให้สั่งสอนบรรดาศิษย์ อันที่จริงเพียง ๘ ท่าจู่โจมก็ไร้ผู้ต้านทานแล้ว ส่วนท่าจู่โจมที่ ๙ เป็นท่าอำมหิตรุนแรง ท่านให้เก็บไว้ในหอคัมภีร์พระเวทรอมอบให้กับขุนพลฉลูนักษัตรเท่านั้น ห้ามคนทั่วไปร่ำเรียน.. แต่แล้วก็เกิดเหตุขึ้น มีคนเข้าไปขโมยตำราของพระมหาเถระในหอคัมภีร์จนหายสาบสูญไป... เราจึงว่า ในวังปตานีนี้มีถ่ายทอดท่าจู่โจมกันเพียง ๗๒ ท่าเท่านั้น”

ขุนพลกล่าวจบก็จ้องมองเจ้าทิพเขม็ง เป็นการมองที่กดดันคาดคั้น แม้เจ้าทิพไม่ได้หันหน้ามองไปโดยรอบ แต่ก็รับรู้ถึงสายตาแทบทุกคู่ซึ่งจ้องมองมายังตนในลักษณะเดียวกัน
ชายหนุ่มเริ่มรู้สึกร้อนผ่าวที่ใบหน้า รับรู้ถึงเม็ดเหงื่อพรายที่ผุดซึมออกมาตามลำคอตน เป็นครั้งแรกที่สำนึกว่าลำคอแห้งผากกระหายน้ำ... เจ้าทิพรู้ดีแม้ไม่มีใครถามออกมา ตอนนี้ตนจำเป็นต้องมีคำอธิบายแล้ว ทว่า...

“ข้าพเจ้าไม่มีคำใดจะอธิบาย ทั้งไม่ทราบว่าเหตุไฉนท่านพราหมณ์จึงสามารถรู้เพลงอาวุธของพระมหาเถระถึง ๗๗ ท่าจู่โจม และไม่เคยรู้มาก่อนด้วยว่าท่าจู่โจมมีอยู่ทั้งสิ้น ๘๑ ท่า... เนื่องเพราะตลอดเวลาท่านพราหมณ์ให้ข้าพเจ้าฝึกฝนอาวุธและให้เก็บเป็นความลับ ห้ามแจ้งกับผู้ใด ดังนั้นตลอดเวลาข้าพเจ้าจึงไม่เคยได้สนทนาเรื่องอาวุธหรือวิชาการต่อสู้กับผู้ใดเลย ถ้าการที่ข้าพเจ้าได้ล่วงรู้วิชาอันเป็นสิ่งจำเพาะที่พระมหาเถระทรงมอบไว้แก่เมืองปตานีจะเป็นโทษ ก็สุดแต่ท่านขุนพลจะพิจารณาตามสมควรเถิด”

ขุนพลสิงหลเห็นอาการของเจ้าทิพ ครั้นตรองแล้วจึงกราบทูลพระเจ้าปตานีว่า
“ขอเดชะ เรื่องนี้ข้าพระองค์เห็นว่าควรมีรับสั่งไปยังท่านพราหมณ์กุณฑกัญจให้มาเข้าเฝ้าด้วยตนเองเป็นการด่วนเพื่ออธิบายข้อสงสัยทั้งปวง หากแม้นท่านพราหมณ์มีใจบริสุทธิ์คงไม่ขัดพระบัญชาหลบหนีไปอย่างแน่นอน พระเจ้าค่ะ”

พระเจ้าฤทธิเทวาทรงมีรับสั่งเห็นชอบตามที่ขุนพลใหญ่เสนอมา และทรงมอบให้อำมาตย์วาสุธีเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ

          

“เจ้าทิพ แม้ว่าท่านจะเอาชนะสิงขรด้วยท่าไอยราเสียบงาคู่ ซึ่งเป็นท่าจู่โจมที่ ๙ ของกระบวนเพลงไอยราออกศึก แต่สิ่งที่ทำให้ท่านรุกไล่และควบคุมการเคลื่อนไหวของสิงขรไว้ได้ทั้งหมด คือมิติความเร็วที่เหนือกว่า... เราเคยรู้มาว่ายอดขุนศึกศรีวิชัยมีวิชาปิดปราณเปลี่ยนมิติ หรือที่ท่านใช้ต่อสู้กับสิงขรจะเป็นวิชาดังกล่าว”
“เป็นวิชาปิดปราณเปลี่ยนมิติจริง แต่ข้าพเจ้าเพียงฝึกได้ขั้นเริ่มต้น”

“อืม.. แนววิชาของศรีวิชัยใช้หลัก ๔ ธาตุซึ่งมีธาตุน้ำเป็นศูนย์กลาง ใช้ธาตุไฟควบคุมจังหวะ ใช้ธาตุดินคุมความแข็งแกร่ง และใช้ธาตุลมคุมความเร็ว... วิชาปิดลมปรานเปลี่ยนมิติ ใช้ภาวะจิตตั้งแต่ขั้นที่ ๙ ซึ่งเป็นขั้นเริ่มต้นของภาวะภวังค์สำนึกควบคุมลมหายใจออก กำหนดให้ผ่อนช้าลง ยิ่งช้าทุกอย่างรอบกายก็จะยิ่งช้าตาม แต่ตัวเจ้าของปราณกลับบรรลุความเร็วขึ้นจากตรงกลางภายใน”

“แล้ววิชาของปตานีล่ะ กำกับขับเร่งความเร็วกันอย่างไร ทำไมสิงขรจึงไม่นำออกมาใช้” พระเจ้าศรีมหาราชตรัสถามขึ้นด้วยความสนพระทัย

“ขอเดชะ แนววิชาของปตานีแม้เป็นหลัก ๔ ธาตุเช่นกัน แต่กำหนดธาตุลมเป็นศูนย์กลาง ใช้ธาตุดินควบคุมความแข็งแกร่ง ใช้ธาตุน้ำคุมจังหวะ และใช้ธาตุไฟคุมความเร็ว... การจะกำหนดธาตุไฟให้ถ่ายเทในร่างจนเกิดภาวะแห่งมิติความเร็ว ต้องฝึกจิตจนบรรลุถึงขั้นที่ ๙ เป็นต้นไปเช่นกัน ภาวะจิตของสิงขรนั้นอยู่ในขั้นที่ ๘ ยังไม่หลุดพ้นจากภาวะจิตเหนือสำนึก จึงไม่อาจกำหนดธาตุไฟเร่งมิติได้ พระพุทธเจ้าข้า”

“ถ้าเป็นเช่นนั้น สิงขรคงต้องพ่ายแพ้แน่นอนแล้วสิ”
“อาจเป็นเช่นนั้นจริง พระพุทธเจ้าข้า.. แต่อย่างไรก็ควรได้ชมนักสู้ทั้งสองประลองแทงทวนบนหลังม้าและของ้าวบนคอช้างต่อไป แม้เจ้าทิพจะได้เป็นฉลูนักษัตร ข้าพระพุทธเจ้าก็หมายจะได้เห็นฝีมือของเขา เผื่อจะเห็นข้อบกพร่องใดที่ควรแก้ไขฝึกฝนเพิ่มเติมสำหรับการประลองชิงตำแหน่งราชาสิบสองนักษัตรในอีก ๓ เดือนข้างหน้า พระพุทธเจ้าข้า”

พระเจ้าแผ่นดินแห่งเมืองนครศรีธรรมราชทรงพยักพระพักตร์ แย้มพระสรวลด้วยพอพระทัย ทรงดำริขึ้นว่าเมืองปตานีนี้ได้ขุนพลดี แม้บุตรชายของตนจะพ่ายแพ้อัปยศ แต่ก็หวังถึงประโยชน์ของชาติบ้านเมืองเป็นสำคัญ

(มีต่อ)
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่