.
บทที่ ๔๔ กลยุทธ์แต่ละฝักฝ่าย
สายลมยามสายโชยเอื่อย พัดธงสีเขียวและสีแดงลู่สะบัดไปมารอบเชิงเทินของสนามประลอง
ทั้งหมดมีเพียง ๑๑ ผืน
ขาดธงประจำป้ายเถาะนักษัตรที่ยังมิได้ถูกยกชูขึ้นมา...ว่าจะเป็นสีใด
ด้วยมีข้อกังขาอยู่ ๒ ข้อ จากเรื่องที่เจ้าทิพใช้ลูกธนูของพลแม่นธนูซึ่งยิงมาปักทิ้งไว้กับพื้น...
ข้อแรก เจ้าทิพสามารถหยิบลูกธนูของผู้อื่นมาใช้ได้หรือไม่ และข้อที่สอง การที่เจ้าทิพยิงลูกธนูดอกสุดท้ายของตนออกไป ถือว่าการแข่งขันยุติลงแล้วหรือไม่ ถ้าเป็นอันยุติ..การที่เจ้าทิพจะยิงลูกธนูของผู้อื่นติดตามไป ก็ย่อมกระทำมิได้หรือต้องนับเป็นโมฆะหากมีผลต่อสภาพการแข่งขัน
ผู้คนรอบสนามยามนี้ต่างรอคำตัดสินชี้ขาดจากปากของขุนพลใหญ่ภัทธิยะด้วยใจกระวนกระวาย
ไม่นานท่านขุนพลใหญ่ก็ปรากฏกายพร้อมเสียงอันดัง บนอัฒจันทร์ด้านทิศใต้ฝั่งตรงข้ามกับปะรำที่ประทับ
“จากข้อท้วงติงเรื่องผู้เข้าประลองยิงป้ายเถาะนักษัตรด้วยการใช้ลูกธนูอีกดอกยิงให้ลูกธนูของตนตกลงบนป้ายนักษัตรนั้น เราขอตัดสินโดยยึดหลักดังนี้...” เสียงขุนพลภัทธิยะประกาศดัง ในขณะที่เสียงผู้คนรอบสนามเงียบกริบ...
“ในกฎกติการะบุไว้ให้ลูกธนูของพลแม่นธนูเป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขัน สามารถส่งผลให้เกิดประโยชน์หรือเกิดโทษต่อการยิงธนูของผู้เข้าประลองแข่งขัน แต่จำกัดเฉพาะลูกธนูของผู้เข้าประลองเท่านั้นที่ปักตรึงบนเป้าหมายจึงจะนับเป็นคะแนน... ครั้งนี้ผู้เข้าประลองยิงลูกธนูของตนเข้าสู่เป้าหมาย ส่วนการนำลูกธนูของพลแม่นธนูมายิงจนเกิดประโยชน์ ไม่ถือว่าทำผิดกติกาแต่ประการใด...”
เสียงโห่ร้องดังขึ้นทันที จนขุนพลภัทธิยะต้องยกมือขึ้นปรามให้สงบลง ด้วยยังมีคำวินิจฉัยอีกข้อ เมื่อฝูงชนสงบเสียงลงบ้างแล้วจึงประกาศต่อ...
“ส่วนเรื่องการยุติลงของการประลอง ตามกติการะบุให้ยุติเมื่อผู้เข้าประลองใช้ลูกธนูหมดทั้ง ๑๒ ดอก ความหมายของคำว่า “หมด” นั้นคือ ลูกธนูดอกที่สิบสองต้องเป็นลูกตาย ในระหว่างที่ลูกธนูดอกที่สิบสองยังเคลื่อนไหว ผู้เข้าประลองจึงยังสามารถกระทำการใดๆ รวมถึงยิงลูกธนูของพลแม่นธนูออกตามไปได้... ในฐานะกรรมการใหญ่ของการประลองครั้งนี้ ขอตัดสินให้การยิงป้ายเถาะนักษัตรเป็นคะแนน”
ธงสีเขียวประจำป้ายเถาะนักษัตรถูกยกขึ้นทันที...
เสียงโห่ร้องของฝูงชนดังแทรกขึ้นอีกครั้ง ก่อนที่ขุนพลใหญ่จะประกาศสรุป...
“เจ้าทิพากร ขุนพลฉลูนักษัตรยิงได้ ๖ ธงเขียว”
พระเจ้าศรีมหาราชทรงปลื้มปิติในผลการแข่งขัน รับสั่งชมเชยขึ้น
“ฝีมือของเจ้าทิพช่างน่าอัศจรรย์จริงๆ ขนาดมีเสาบังอยู่จนมองไม่เห็นป้ายนักษัตรยังสามารถยิงลูกธนู ๒ ดอกให้กระทบกันไปปักลงตรงกลางเป้าหมายได้... ที่น่าประหลาดใจคือสามารถรู้ระยะห่างของป้ายนักษัตร ราวกับมีตาทิพย์”
“ขอเดชะ มีตาทิพย์อยู่จริงๆ พระพุทธเจ้าข้า... ที่ระบุตำแหน่งของป้ายนักษัตรหลังเสาให้เจ้าทิพ” ขุนพลสิงหลกราบทูล
“ท่านขุนพลหมายความกระไร”
ขุนพลสิงหลแย้มยิ้ม ก่อนจะกราบทูลว่า
“ข้าพระพุทธเจ้าเห็นองค์หญิงวิสาณีทรงคลี่ผ้าซับพระพักตร์ที่ทรงถือไว้ กำหนดเป็นระยะห่างของป้ายนักษัตรหลังเสาให้กับเจ้าทิพ พระพุทธเจ้าข้า”
ที่แท้ทุกคนเพียงเห็นองค์หญิงวิสาณีทรงถือภูษาแพรหงส์ชมบุปผาขึ้นซับน้ำพระเนตร แต่ไม่ทันสังเกตว่าตอนเจ้าทิพถือลูกธนูในมือขวา ถือคันธนูในมือซ้ายเป็นการบอกใบ้มายังองค์หญิงให้ทรงช่วยบอกระยะห่างของป้ายนักษัตรที่อยู่หลังเสา
ป้ายเถาะนักษัตรอยู่เบื้องทิศตะวันออกเฉียงมาทางเหนือจึงเป็นที่สังเกตได้ชัดจากตำแหน่งปะรำที่ประทับ เมื่อพระองค์หญิงทอดพระเนตรเห็นแววตาวิงวอนและท่ามือที่ขยับเข้าออกของชายหนุ่มจนทรงเข้าพระทัยในความหมาย จึงทรงคลี่กางผ้าภูษาออกเท่ากับระยะห่างระหว่างตัวป้ายและเสา ส่วนเจ้าทิพก็ขยับมือที่ถือลูกธนูอยู่เข้าออกตามจนได้ระยะตรงกันจึงหยุดแล้วหันกลับไปเล็งยิง...
สิ้นคำกราบทูล ทุกพระองค์และทุกคนจึงสิ้นสงสัย
พร้อมกับความสนิทสนมผูกพันของเจ้าทิพและพระราชธิดาวิสาณีที่เริ่มประจักษ์ชัดแก่คนทั่วไป...
-----------------------------------
ขุนพลชวดนักษัตรเข้าประลองยิงธนูเป็นคนสุดท้าย และทำได้ ๓ ธงเขียว
เมื่อสิ้นสุดการแข่งขันขุนพลภัทธิยะจึงประกาศรายนามผู้ผ่านเข้ารอบต่อไปจำนวน ๖ คนเรียงตามลำดับคือ...
อันดับที่ ๑ ขุนพลมะโรงนักษัตรจากไทรบุรี ยิงได้ ๗ ธงเขียว และเหลือลูกธนู ๒ ดอก
อันดับที่ ๒ ขุนพลวอกนักษัตรจากบันทายสมอ ยิงได้ ๗ ธงเขียว และเหลือลูกธนู ๑ ดอก
อันดับที่ ๓ ขุนพลมะเมียนักษัตรจากตรัง ยิงได้ ๖ ธงเขียว และเหลือลูกธนู ๓ ดอก
อันดับที่ ๔ ขุนพลมะเส็งนักษัตรจากพัทลุง ยิงได้ ๖ ธงเขียว และเหลือลูกธนู ๑ ดอก
อันดับที่ ๕ ขุนพลฉลูนักษัตรจากปตานี ยิงได้ ๖ ธงเขียว และไม่มีลูกธนูเหลือ
อันดับที่ ๖ ขุนพลระกานักษัตรจากสะอุเลา ยิงได้ ๕ ธงเขียว และเหลือลูกธนู ๔ ดอก
...ผู้ได้อันดับหนึ่งและอันดับบน ย่อมได้สิทธิ์พิเศษในการแข่งขันในรอบต่อไป
จากนั้นขุนพลใหญ่แห่งเมืองนครศรีธรรมราชจึงนำผู้ผ่านเข้ารอบทั้งหกคนเข้ามาสู่กลางสนามเพื่อกำหนดการจับคู่แข่งขันในรอบต่อไป
เริ่มจากการจับคู่ต่อสู้กันด้วยดาบคู่ ผู้แพ้ถูกคัดออก เพื่อให้เหลือเพียง ๔ คนสุดท้าย โดยให้สิทธิ์ผู้ชนะการแข่งขันยิงธนูอันดับที่ ๑ และอันดับที่ ๒ ไม่ต้องเข้าแข่งขัน และให้สิทธิ์ผู้ชนะอันดับที่ ๓ เลือกผู้ที่จะประลองด้วย
ในรอบนี้ขุนพลมะเมียนักษัตรจากเมืองตรังผู้ชนะอันดับที่ ๓ ย่อมไม่ต้องการเปรียบเพลงดาบกับเจ้าทิพ หรือกับขุนพลจากเมืองพัทลุง จึงขอเลือกที่จะต่อสู้กับขุนพลระกานักษัตรจากเมืองสะอุเลา
ดังนั้นเจ้าทิพและขุนพลเมืองพัทลุง ผู้มีนามว่า “กบิล” จึงถูกประกาศให้เป็นคู่ต่อสู้กัน
ในรอบ ๔ คนสุดท้าย...
กัมพะทิฬจากเมืองไทรบุรีผู้ยิงธนูเป็นอันดับที่ ๑ ได้สิทธิ์กำหนดเลือกคู่ต่อสู้และกำหนดรูปแบบการต่อสู้.. ซึ่งไม่เป็นที่ประหลาดใจ เมื่อกัมพะทมิฬเลือกที่จะต่อสู้กับผู้ชนะ..ระหว่างขุนพลจากเมืองตรังและขุนพลจากเมืองสะอุเลา..โดยกำหนดการต่อสู้แทงทวนบนหลังม้า
ดังนั้นผู้ชนะระหว่างเจ้าทิพและ “กบิล” จะต้องมาเผชิญหน้ากับเขมราฐ... ผู้ซึ่งใช้สิทธิ์กำหนดรูปแบบการต่อสู้ด้วยของ้าวบนหลังช้าง
การประลองทั้งหมดจะกระทำในวันรุ่งขึ้น... เพื่อหาคู่ชิงชัย ๒ คนสุดท้าย
-----------------------------------
ถนนเบื้องทิศตะวันตกของเมืองไปจนจดริมแม่น้ำปตานีเรียงรายไปด้วยเรือนพักสินค้าของพ่อค้าต่างเมืองที่มาปักหลักค้าขายยังเมืองท่าแห่งนี้
พวกพ่อค้าจะนำสินค้ามาจากเมืองของตนล่องเรือมายังอ่าวปตานีแล้วลำเลียงต่อด้วยเรือเล็กมาตามลำน้ำปตานีและขึ้นฝั่งที่ท่าพระวัง ดังนั้นจึงมักสร้างโรงพักสินค้ารายรอบถนนจากท่าพระวังสู่ประตูกำแพงเมืองด้านทิศตะวันตก
ผู้คนที่เดินทางจากต่างเมืองมายังปตานีมักจะมาขอพักอาศัยอยู่ในย่านนี้กับพวกพ่อค้าที่เป็นชาวเมืองเดียวกับตน บ้างก็ตอบแทนกันด้วยเงินทองหรือแลกเปลี่ยนความช่วยเหลือกัน ยิ่งช่วงนี้เป็นช่วงพิธีชุมนุมสิบสองนักษัตรย่านนี้จึงคึกคักไปด้วยคนต่างเมืองมากกว่าครั้งใดๆ ในรอบหลายปี
แม้จะเป็นช่วงบ่ายคล้อยแต่เรือนพักหลายแห่งก็ตั้งวงดื่มกินกันแต่หัววัน และเรื่องราวที่สนทนาก็ไม่พ้นเรื่องการประลองชิงตำแหน่งราชาสิบสองนักษัตรของวันนี้ที่เสร็จสิ้นไปตั้งแต่ก่อนเที่ยง
“ท่านเห็นฝีมือการยิงธนูของเจ้าทิพไหม... ข้าว่าในแผ่นดินนี้คงไม่มีใครเทียบได้แล้ว นี่ถ้าไม่ถูกกลั่นแกล้งข้าว่าจำนวนป้ายนักษัตรทั้ง ๑๒ ป้ายคงต้องถูกยิงจนหมดสิ้นแน่”
“ข้าก็คิดเช่นนั้นเหมือนกัน ยิ่งตอนยิงธนูไปชนหัวลูกธนูอีกดอกที่กำลังหล่นมาจากฟ้านี่...ข้ายังขนลุกอยู่เลย”
“แต่ก็นั่นแหละ.. รอบต่อไปไม่ใช่ประลองธนู หากเป็นเพลงดาบ เจ้าทิพจะสู้ได้หรือ ยิ่งมีปัญหาเรื่องพิษไข้ป่าอยู่ด้วย”
“คงจะยาก ขุนพลกบิลมีเพลงดาบมิใช่ชั่ว.. ดูตอนรำดาบถวายเมื่อวานในงานพิธีเปิดชุมนุมสิบสองนักษัตร เพลงดาบดุดันแข็งกร้าวกว่าผู้ใด กวาดฟาดดาบออกไปแต่ละที ข้านี่ได้ยินเสียงลมชัดเจน”
“ไม่ว่าผู้ใดจะเป็นฝ่ายชนะระหว่างเจ้าทิพและกบิล ทั้งสองคนไม่ใช่คู่ต่อสู้บนหลังช้างของเขมราฐอย่างเด็ดขาด...”
ผู้คนที่นั่งกินกันอยู่ ๗-๘ คนบนแคร่ขนาดใหญ่หน้าโรงเรือนพักสินค้า ต่างผลัดกันเล่าเรื่องและออกความคิดเห็นอย่างสนุกสนาน
ด้านในโรงเรือนพักสินค้าที่เป็นหลังคาทรงป้านมีผู้คนกลุ่มหนึ่งพากันเดินออกมา คนเดินนำหน้าเป็นชายหนุ่มลักษณะงามมีสง่าราศี ดูทรงภูมิปัญญาและเปี่ยมอำนาจ ด้านซ้ายเดินตามด้วยชาย ๒ คนคล้ายผู้ติดตาม ส่วนด้านขวาเป็นชายวัยกลางคนศีรษะตรงกลางล้านเลี่ยน มีผมปอยอยู่ด้านข้างเป็นเจ้าของโรงเรือนแห่งนี้
“ขอเวลาให้ข้าได้ทยอยขนย้ายข้าวของออกไป สักราว ๗ วันท่านก็ให้คนเริ่มเข้ามาอยู่ได้แล้ว แต่ข้าอาจจะต้องขอฝากสินค้าส่วนหนึ่งไว้ที่นี่ จนกว่าจะขายมันออกไปได้หมด” ชายกลางคนที่ศีรษะล้านกล่าวขึ้น
“ไม่เป็นไรหรอก ข้ายังไม่มีสินค้ามากมายเอามาพักเก็บหรอก ต้องรอสัก ๓-๔ เดือนจึงจะได้ใช้โรงพักสินค้าเต็มที่... สินค้าเก่าของท่านก็แยกออกไปกองไว้มุมนึง จะได้ไม่ปะปนกัน”
ชายหนุ่มที่เดินนำหน้ากล่าวตอบด้วยใบหน้าแย้มยิ้ม เป็นรอยยิ้มที่มีเสน่ห์แฝงอำนาจสยบจิตใจผู้คน
“ขอบใจท่านมาก... นี่ถ้าท่านไม่มาซื้อโรงเรือนของข้า สงสัยข้าต้องปล่อยร้างแน่”
เมื่อเดินผ่านมาถึงแคร่ไม้ที่กลุ่มชาย ๗-๘ คนนั่งดื่มกินกันอยู่ หนึ่งในนั้นร้องถามขึ้นว่า
“ตกลงท่านขายโรงเรือนไปแล้วหรือ”
“ใช่ เจรจาตกลงกันเรียบร้อยแล้ว” ชายศีรษะล้านตอบพลางยิ้มพลางด้วยดีใจ “ข้าตั้งใจจะกลับไปอยู่กระบุรี เดินทางไปๆ มาๆ ข้าชักรู้สึกไม่ไหวแล้ว... แต่พวกเจ้าไม่ต้องห่วง ข้าขอพ่อหนุ่มคนนี้แล้ว ให้พวกเจ้าได้พักอยู่ต่อได้ ไม่มีเรื่องใดให้ต้องกังวล... บางทีข้าอาจจะกลับบ้านเมืองเราพร้อมพวกเจ้าก็ได้ในอาทิตย์หน้า”
ชายศีรษะล้านที่แท้เป็นเจ้าของโรงพักสินค้าชาวกระบุรี ส่วนกลุ่มคน ๗-๘ คนคือผู้ที่มาขอพักอาศัย เป็นชาวเมืองเดียวกัน
“แล้วสินค้าที่เหลือทั้งหมดนี่ล่ะ” อีกคนในวงดื่มกินถาม
“โอย... พ่อหนุ่มเขาซื้อไปเกือบครึ่ง ที่เหลือเดี๋ยวข้าก็ย้ายเอาออกไปฝากขายกับพรรคพวกข้า แต่บางส่วนก็ทิ้งไว้ที่นี่ละ ขนไปขนมาจะเสียหาย ข้าไปแล้วอีก ๔-๕ เดือนค่อยกลับมาสะสางเงินทองที่ฝากขายสินค้าอีกครั้ง”
แล้วชายศีรษะล้านก็ผายมือมายังชายหนุ่ม “เอ้า พวกเจ้าก็ไหว้และทำความรู้จักเขาไว้... นี่ละเจ้าของโรงเรือนคนใหม่ที่ให้ที่อยู่ที่กินพวกเจ้า”
กลุ่มชายทั้ง ๗-๘ คนต่างพากันพนมมือไหว้ฝากตัว
“นายท่านมีนามว่ากระไร พวกข้าจะได้ออกชื่อถูก”
ชายหนุ่มตอบด้วยท่าทีเปี่ยมไมตรี
“ข้าชื่อพานอิน มาจากสุพรรณภูมิ”
ในเมืองปตานียามนี้เต็มไปด้วยผู้คนต่างถิ่นปะปนเข้ามามากมาย แต่จะมีผู้ใดส่องประกายโดดเด่นเกินกว่าเชื้อพระวงศ์แห่งเมืองสุพรรณภูมิผู้นี้เป็นไม่มี ผู้ติดตามทางด้านซ้าย ๒ คนก็คือนายเรืองและนายราบ
“ขอบพระคุณนายท่านที่เมตตาให้พวกข้าได้อยู่อาศัยต่อ... เดี๋ยวพอเสร็จพิธีชุมนุมสิบสองนักษัตร พวกข้าก็จะแยกย้ายกันไป บางคนก็ไปเที่ยวบ้านอื่นเมืองอื่นต่อ บางคนก็กลับกระบุรีเลย”
“พวกท่านไม่ได้มาด้วยกันหรือ” ชายหนุ่มเจ้าของโรงเรือนพักสินค้าคนใหม่ถาม
“มิได้...พวกข้ามากัน ๓ กลุ่ม กลุ่มหนึ่งก็ ๒-๓ คน แล้วต่างมาขอพักอาศัยอยู่ที่นี่ เพราะเป็นคนเมืองเดียวกัน”
“ข้าได้ยินพวกท่านกล่าวเปรียบเจ้าทิพกับเขมราฐ... ท่านว่าผู้ใดจะมีชัยในวันพรุ่ง”
“พวกข้าส่วนใหญ่คิดว่า หากเจ้าทิพสามารถเอาชนะกบิลได้ อย่างไรเสียก็คงต้องแพ้ต่อเขมราฐ.. ดูจากการแสดงเพลงง้าวบนหลังช้างเมื่อวาน เทียบกับที่ได้ยินมาว่าเจ้าทิพเอาชนะลูกชายของขุนพลสิงหลอย่างหวุดหวิดในการประลองเมื่อสามเดือนที่ผ่านมา.. ฟังแล้วฝีมือช่างห่างไกลกันนัก”
“ใช่...อีกอย่างข้าได้ยินมาว่าเจ้าทิพมีพิษไข้ป่าสาหัสอยู่ด้วย แม้จะหลบห่าธนูจาก ๑๒ ทิศได้ แต่คงไม่อาจหลบของ้าวบนหลังช้างของเขมราฐพ้นแน่” อีกคนกล่าวเสริม
พานอินยิ้ม ผงกศีรษะเป็นเชิงรับทราบ กล่าวสั้นๆ
“เจ้าทิพไม่มีวันพ่ายแพ้หรอก”
“ทำไมนายท่านจึงคิดเช่นนั้นล่ะ” หนึ่งในกลุ่มชายที่ตั้งวงดื่มกินถามกลับบ้าง
(มีต่อ)
ราชาสิบสองนักษัตร ศึกรวมสุโขทัย - บทที่ ๔๔ กลยุทธ์แต่ละฝักฝ่าย
บทที่ ๔๔ กลยุทธ์แต่ละฝักฝ่าย
สายลมยามสายโชยเอื่อย พัดธงสีเขียวและสีแดงลู่สะบัดไปมารอบเชิงเทินของสนามประลอง
ทั้งหมดมีเพียง ๑๑ ผืน
ขาดธงประจำป้ายเถาะนักษัตรที่ยังมิได้ถูกยกชูขึ้นมา...ว่าจะเป็นสีใด
ด้วยมีข้อกังขาอยู่ ๒ ข้อ จากเรื่องที่เจ้าทิพใช้ลูกธนูของพลแม่นธนูซึ่งยิงมาปักทิ้งไว้กับพื้น...
ข้อแรก เจ้าทิพสามารถหยิบลูกธนูของผู้อื่นมาใช้ได้หรือไม่ และข้อที่สอง การที่เจ้าทิพยิงลูกธนูดอกสุดท้ายของตนออกไป ถือว่าการแข่งขันยุติลงแล้วหรือไม่ ถ้าเป็นอันยุติ..การที่เจ้าทิพจะยิงลูกธนูของผู้อื่นติดตามไป ก็ย่อมกระทำมิได้หรือต้องนับเป็นโมฆะหากมีผลต่อสภาพการแข่งขัน
ผู้คนรอบสนามยามนี้ต่างรอคำตัดสินชี้ขาดจากปากของขุนพลใหญ่ภัทธิยะด้วยใจกระวนกระวาย
ไม่นานท่านขุนพลใหญ่ก็ปรากฏกายพร้อมเสียงอันดัง บนอัฒจันทร์ด้านทิศใต้ฝั่งตรงข้ามกับปะรำที่ประทับ
“จากข้อท้วงติงเรื่องผู้เข้าประลองยิงป้ายเถาะนักษัตรด้วยการใช้ลูกธนูอีกดอกยิงให้ลูกธนูของตนตกลงบนป้ายนักษัตรนั้น เราขอตัดสินโดยยึดหลักดังนี้...” เสียงขุนพลภัทธิยะประกาศดัง ในขณะที่เสียงผู้คนรอบสนามเงียบกริบ...
“ในกฎกติการะบุไว้ให้ลูกธนูของพลแม่นธนูเป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขัน สามารถส่งผลให้เกิดประโยชน์หรือเกิดโทษต่อการยิงธนูของผู้เข้าประลองแข่งขัน แต่จำกัดเฉพาะลูกธนูของผู้เข้าประลองเท่านั้นที่ปักตรึงบนเป้าหมายจึงจะนับเป็นคะแนน... ครั้งนี้ผู้เข้าประลองยิงลูกธนูของตนเข้าสู่เป้าหมาย ส่วนการนำลูกธนูของพลแม่นธนูมายิงจนเกิดประโยชน์ ไม่ถือว่าทำผิดกติกาแต่ประการใด...”
เสียงโห่ร้องดังขึ้นทันที จนขุนพลภัทธิยะต้องยกมือขึ้นปรามให้สงบลง ด้วยยังมีคำวินิจฉัยอีกข้อ เมื่อฝูงชนสงบเสียงลงบ้างแล้วจึงประกาศต่อ...
“ส่วนเรื่องการยุติลงของการประลอง ตามกติการะบุให้ยุติเมื่อผู้เข้าประลองใช้ลูกธนูหมดทั้ง ๑๒ ดอก ความหมายของคำว่า “หมด” นั้นคือ ลูกธนูดอกที่สิบสองต้องเป็นลูกตาย ในระหว่างที่ลูกธนูดอกที่สิบสองยังเคลื่อนไหว ผู้เข้าประลองจึงยังสามารถกระทำการใดๆ รวมถึงยิงลูกธนูของพลแม่นธนูออกตามไปได้... ในฐานะกรรมการใหญ่ของการประลองครั้งนี้ ขอตัดสินให้การยิงป้ายเถาะนักษัตรเป็นคะแนน”
ธงสีเขียวประจำป้ายเถาะนักษัตรถูกยกขึ้นทันที...
เสียงโห่ร้องของฝูงชนดังแทรกขึ้นอีกครั้ง ก่อนที่ขุนพลใหญ่จะประกาศสรุป...
“เจ้าทิพากร ขุนพลฉลูนักษัตรยิงได้ ๖ ธงเขียว”
พระเจ้าศรีมหาราชทรงปลื้มปิติในผลการแข่งขัน รับสั่งชมเชยขึ้น
“ฝีมือของเจ้าทิพช่างน่าอัศจรรย์จริงๆ ขนาดมีเสาบังอยู่จนมองไม่เห็นป้ายนักษัตรยังสามารถยิงลูกธนู ๒ ดอกให้กระทบกันไปปักลงตรงกลางเป้าหมายได้... ที่น่าประหลาดใจคือสามารถรู้ระยะห่างของป้ายนักษัตร ราวกับมีตาทิพย์”
“ขอเดชะ มีตาทิพย์อยู่จริงๆ พระพุทธเจ้าข้า... ที่ระบุตำแหน่งของป้ายนักษัตรหลังเสาให้เจ้าทิพ” ขุนพลสิงหลกราบทูล
“ท่านขุนพลหมายความกระไร”
ขุนพลสิงหลแย้มยิ้ม ก่อนจะกราบทูลว่า
“ข้าพระพุทธเจ้าเห็นองค์หญิงวิสาณีทรงคลี่ผ้าซับพระพักตร์ที่ทรงถือไว้ กำหนดเป็นระยะห่างของป้ายนักษัตรหลังเสาให้กับเจ้าทิพ พระพุทธเจ้าข้า”
ที่แท้ทุกคนเพียงเห็นองค์หญิงวิสาณีทรงถือภูษาแพรหงส์ชมบุปผาขึ้นซับน้ำพระเนตร แต่ไม่ทันสังเกตว่าตอนเจ้าทิพถือลูกธนูในมือขวา ถือคันธนูในมือซ้ายเป็นการบอกใบ้มายังองค์หญิงให้ทรงช่วยบอกระยะห่างของป้ายนักษัตรที่อยู่หลังเสา
ป้ายเถาะนักษัตรอยู่เบื้องทิศตะวันออกเฉียงมาทางเหนือจึงเป็นที่สังเกตได้ชัดจากตำแหน่งปะรำที่ประทับ เมื่อพระองค์หญิงทอดพระเนตรเห็นแววตาวิงวอนและท่ามือที่ขยับเข้าออกของชายหนุ่มจนทรงเข้าพระทัยในความหมาย จึงทรงคลี่กางผ้าภูษาออกเท่ากับระยะห่างระหว่างตัวป้ายและเสา ส่วนเจ้าทิพก็ขยับมือที่ถือลูกธนูอยู่เข้าออกตามจนได้ระยะตรงกันจึงหยุดแล้วหันกลับไปเล็งยิง...
สิ้นคำกราบทูล ทุกพระองค์และทุกคนจึงสิ้นสงสัย
พร้อมกับความสนิทสนมผูกพันของเจ้าทิพและพระราชธิดาวิสาณีที่เริ่มประจักษ์ชัดแก่คนทั่วไป...
-----------------------------------
ขุนพลชวดนักษัตรเข้าประลองยิงธนูเป็นคนสุดท้าย และทำได้ ๓ ธงเขียว
เมื่อสิ้นสุดการแข่งขันขุนพลภัทธิยะจึงประกาศรายนามผู้ผ่านเข้ารอบต่อไปจำนวน ๖ คนเรียงตามลำดับคือ...
อันดับที่ ๑ ขุนพลมะโรงนักษัตรจากไทรบุรี ยิงได้ ๗ ธงเขียว และเหลือลูกธนู ๒ ดอก
อันดับที่ ๒ ขุนพลวอกนักษัตรจากบันทายสมอ ยิงได้ ๗ ธงเขียว และเหลือลูกธนู ๑ ดอก
อันดับที่ ๓ ขุนพลมะเมียนักษัตรจากตรัง ยิงได้ ๖ ธงเขียว และเหลือลูกธนู ๓ ดอก
อันดับที่ ๔ ขุนพลมะเส็งนักษัตรจากพัทลุง ยิงได้ ๖ ธงเขียว และเหลือลูกธนู ๑ ดอก
อันดับที่ ๕ ขุนพลฉลูนักษัตรจากปตานี ยิงได้ ๖ ธงเขียว และไม่มีลูกธนูเหลือ
อันดับที่ ๖ ขุนพลระกานักษัตรจากสะอุเลา ยิงได้ ๕ ธงเขียว และเหลือลูกธนู ๔ ดอก
...ผู้ได้อันดับหนึ่งและอันดับบน ย่อมได้สิทธิ์พิเศษในการแข่งขันในรอบต่อไป
จากนั้นขุนพลใหญ่แห่งเมืองนครศรีธรรมราชจึงนำผู้ผ่านเข้ารอบทั้งหกคนเข้ามาสู่กลางสนามเพื่อกำหนดการจับคู่แข่งขันในรอบต่อไป
เริ่มจากการจับคู่ต่อสู้กันด้วยดาบคู่ ผู้แพ้ถูกคัดออก เพื่อให้เหลือเพียง ๔ คนสุดท้าย โดยให้สิทธิ์ผู้ชนะการแข่งขันยิงธนูอันดับที่ ๑ และอันดับที่ ๒ ไม่ต้องเข้าแข่งขัน และให้สิทธิ์ผู้ชนะอันดับที่ ๓ เลือกผู้ที่จะประลองด้วย
ในรอบนี้ขุนพลมะเมียนักษัตรจากเมืองตรังผู้ชนะอันดับที่ ๓ ย่อมไม่ต้องการเปรียบเพลงดาบกับเจ้าทิพ หรือกับขุนพลจากเมืองพัทลุง จึงขอเลือกที่จะต่อสู้กับขุนพลระกานักษัตรจากเมืองสะอุเลา
ดังนั้นเจ้าทิพและขุนพลเมืองพัทลุง ผู้มีนามว่า “กบิล” จึงถูกประกาศให้เป็นคู่ต่อสู้กัน
ในรอบ ๔ คนสุดท้าย...
กัมพะทิฬจากเมืองไทรบุรีผู้ยิงธนูเป็นอันดับที่ ๑ ได้สิทธิ์กำหนดเลือกคู่ต่อสู้และกำหนดรูปแบบการต่อสู้.. ซึ่งไม่เป็นที่ประหลาดใจ เมื่อกัมพะทมิฬเลือกที่จะต่อสู้กับผู้ชนะ..ระหว่างขุนพลจากเมืองตรังและขุนพลจากเมืองสะอุเลา..โดยกำหนดการต่อสู้แทงทวนบนหลังม้า
ดังนั้นผู้ชนะระหว่างเจ้าทิพและ “กบิล” จะต้องมาเผชิญหน้ากับเขมราฐ... ผู้ซึ่งใช้สิทธิ์กำหนดรูปแบบการต่อสู้ด้วยของ้าวบนหลังช้าง
การประลองทั้งหมดจะกระทำในวันรุ่งขึ้น... เพื่อหาคู่ชิงชัย ๒ คนสุดท้าย
-----------------------------------
ถนนเบื้องทิศตะวันตกของเมืองไปจนจดริมแม่น้ำปตานีเรียงรายไปด้วยเรือนพักสินค้าของพ่อค้าต่างเมืองที่มาปักหลักค้าขายยังเมืองท่าแห่งนี้
พวกพ่อค้าจะนำสินค้ามาจากเมืองของตนล่องเรือมายังอ่าวปตานีแล้วลำเลียงต่อด้วยเรือเล็กมาตามลำน้ำปตานีและขึ้นฝั่งที่ท่าพระวัง ดังนั้นจึงมักสร้างโรงพักสินค้ารายรอบถนนจากท่าพระวังสู่ประตูกำแพงเมืองด้านทิศตะวันตก
ผู้คนที่เดินทางจากต่างเมืองมายังปตานีมักจะมาขอพักอาศัยอยู่ในย่านนี้กับพวกพ่อค้าที่เป็นชาวเมืองเดียวกับตน บ้างก็ตอบแทนกันด้วยเงินทองหรือแลกเปลี่ยนความช่วยเหลือกัน ยิ่งช่วงนี้เป็นช่วงพิธีชุมนุมสิบสองนักษัตรย่านนี้จึงคึกคักไปด้วยคนต่างเมืองมากกว่าครั้งใดๆ ในรอบหลายปี
แม้จะเป็นช่วงบ่ายคล้อยแต่เรือนพักหลายแห่งก็ตั้งวงดื่มกินกันแต่หัววัน และเรื่องราวที่สนทนาก็ไม่พ้นเรื่องการประลองชิงตำแหน่งราชาสิบสองนักษัตรของวันนี้ที่เสร็จสิ้นไปตั้งแต่ก่อนเที่ยง
“ท่านเห็นฝีมือการยิงธนูของเจ้าทิพไหม... ข้าว่าในแผ่นดินนี้คงไม่มีใครเทียบได้แล้ว นี่ถ้าไม่ถูกกลั่นแกล้งข้าว่าจำนวนป้ายนักษัตรทั้ง ๑๒ ป้ายคงต้องถูกยิงจนหมดสิ้นแน่”
“ข้าก็คิดเช่นนั้นเหมือนกัน ยิ่งตอนยิงธนูไปชนหัวลูกธนูอีกดอกที่กำลังหล่นมาจากฟ้านี่...ข้ายังขนลุกอยู่เลย”
“แต่ก็นั่นแหละ.. รอบต่อไปไม่ใช่ประลองธนู หากเป็นเพลงดาบ เจ้าทิพจะสู้ได้หรือ ยิ่งมีปัญหาเรื่องพิษไข้ป่าอยู่ด้วย”
“คงจะยาก ขุนพลกบิลมีเพลงดาบมิใช่ชั่ว.. ดูตอนรำดาบถวายเมื่อวานในงานพิธีเปิดชุมนุมสิบสองนักษัตร เพลงดาบดุดันแข็งกร้าวกว่าผู้ใด กวาดฟาดดาบออกไปแต่ละที ข้านี่ได้ยินเสียงลมชัดเจน”
“ไม่ว่าผู้ใดจะเป็นฝ่ายชนะระหว่างเจ้าทิพและกบิล ทั้งสองคนไม่ใช่คู่ต่อสู้บนหลังช้างของเขมราฐอย่างเด็ดขาด...”
ผู้คนที่นั่งกินกันอยู่ ๗-๘ คนบนแคร่ขนาดใหญ่หน้าโรงเรือนพักสินค้า ต่างผลัดกันเล่าเรื่องและออกความคิดเห็นอย่างสนุกสนาน
ด้านในโรงเรือนพักสินค้าที่เป็นหลังคาทรงป้านมีผู้คนกลุ่มหนึ่งพากันเดินออกมา คนเดินนำหน้าเป็นชายหนุ่มลักษณะงามมีสง่าราศี ดูทรงภูมิปัญญาและเปี่ยมอำนาจ ด้านซ้ายเดินตามด้วยชาย ๒ คนคล้ายผู้ติดตาม ส่วนด้านขวาเป็นชายวัยกลางคนศีรษะตรงกลางล้านเลี่ยน มีผมปอยอยู่ด้านข้างเป็นเจ้าของโรงเรือนแห่งนี้
“ขอเวลาให้ข้าได้ทยอยขนย้ายข้าวของออกไป สักราว ๗ วันท่านก็ให้คนเริ่มเข้ามาอยู่ได้แล้ว แต่ข้าอาจจะต้องขอฝากสินค้าส่วนหนึ่งไว้ที่นี่ จนกว่าจะขายมันออกไปได้หมด” ชายกลางคนที่ศีรษะล้านกล่าวขึ้น
“ไม่เป็นไรหรอก ข้ายังไม่มีสินค้ามากมายเอามาพักเก็บหรอก ต้องรอสัก ๓-๔ เดือนจึงจะได้ใช้โรงพักสินค้าเต็มที่... สินค้าเก่าของท่านก็แยกออกไปกองไว้มุมนึง จะได้ไม่ปะปนกัน”
ชายหนุ่มที่เดินนำหน้ากล่าวตอบด้วยใบหน้าแย้มยิ้ม เป็นรอยยิ้มที่มีเสน่ห์แฝงอำนาจสยบจิตใจผู้คน
“ขอบใจท่านมาก... นี่ถ้าท่านไม่มาซื้อโรงเรือนของข้า สงสัยข้าต้องปล่อยร้างแน่”
เมื่อเดินผ่านมาถึงแคร่ไม้ที่กลุ่มชาย ๗-๘ คนนั่งดื่มกินกันอยู่ หนึ่งในนั้นร้องถามขึ้นว่า
“ตกลงท่านขายโรงเรือนไปแล้วหรือ”
“ใช่ เจรจาตกลงกันเรียบร้อยแล้ว” ชายศีรษะล้านตอบพลางยิ้มพลางด้วยดีใจ “ข้าตั้งใจจะกลับไปอยู่กระบุรี เดินทางไปๆ มาๆ ข้าชักรู้สึกไม่ไหวแล้ว... แต่พวกเจ้าไม่ต้องห่วง ข้าขอพ่อหนุ่มคนนี้แล้ว ให้พวกเจ้าได้พักอยู่ต่อได้ ไม่มีเรื่องใดให้ต้องกังวล... บางทีข้าอาจจะกลับบ้านเมืองเราพร้อมพวกเจ้าก็ได้ในอาทิตย์หน้า”
ชายศีรษะล้านที่แท้เป็นเจ้าของโรงพักสินค้าชาวกระบุรี ส่วนกลุ่มคน ๗-๘ คนคือผู้ที่มาขอพักอาศัย เป็นชาวเมืองเดียวกัน
“แล้วสินค้าที่เหลือทั้งหมดนี่ล่ะ” อีกคนในวงดื่มกินถาม
“โอย... พ่อหนุ่มเขาซื้อไปเกือบครึ่ง ที่เหลือเดี๋ยวข้าก็ย้ายเอาออกไปฝากขายกับพรรคพวกข้า แต่บางส่วนก็ทิ้งไว้ที่นี่ละ ขนไปขนมาจะเสียหาย ข้าไปแล้วอีก ๔-๕ เดือนค่อยกลับมาสะสางเงินทองที่ฝากขายสินค้าอีกครั้ง”
แล้วชายศีรษะล้านก็ผายมือมายังชายหนุ่ม “เอ้า พวกเจ้าก็ไหว้และทำความรู้จักเขาไว้... นี่ละเจ้าของโรงเรือนคนใหม่ที่ให้ที่อยู่ที่กินพวกเจ้า”
กลุ่มชายทั้ง ๗-๘ คนต่างพากันพนมมือไหว้ฝากตัว
“นายท่านมีนามว่ากระไร พวกข้าจะได้ออกชื่อถูก”
ชายหนุ่มตอบด้วยท่าทีเปี่ยมไมตรี
“ข้าชื่อพานอิน มาจากสุพรรณภูมิ”
ในเมืองปตานียามนี้เต็มไปด้วยผู้คนต่างถิ่นปะปนเข้ามามากมาย แต่จะมีผู้ใดส่องประกายโดดเด่นเกินกว่าเชื้อพระวงศ์แห่งเมืองสุพรรณภูมิผู้นี้เป็นไม่มี ผู้ติดตามทางด้านซ้าย ๒ คนก็คือนายเรืองและนายราบ
“ขอบพระคุณนายท่านที่เมตตาให้พวกข้าได้อยู่อาศัยต่อ... เดี๋ยวพอเสร็จพิธีชุมนุมสิบสองนักษัตร พวกข้าก็จะแยกย้ายกันไป บางคนก็ไปเที่ยวบ้านอื่นเมืองอื่นต่อ บางคนก็กลับกระบุรีเลย”
“พวกท่านไม่ได้มาด้วยกันหรือ” ชายหนุ่มเจ้าของโรงเรือนพักสินค้าคนใหม่ถาม
“มิได้...พวกข้ามากัน ๓ กลุ่ม กลุ่มหนึ่งก็ ๒-๓ คน แล้วต่างมาขอพักอาศัยอยู่ที่นี่ เพราะเป็นคนเมืองเดียวกัน”
“ข้าได้ยินพวกท่านกล่าวเปรียบเจ้าทิพกับเขมราฐ... ท่านว่าผู้ใดจะมีชัยในวันพรุ่ง”
“พวกข้าส่วนใหญ่คิดว่า หากเจ้าทิพสามารถเอาชนะกบิลได้ อย่างไรเสียก็คงต้องแพ้ต่อเขมราฐ.. ดูจากการแสดงเพลงง้าวบนหลังช้างเมื่อวาน เทียบกับที่ได้ยินมาว่าเจ้าทิพเอาชนะลูกชายของขุนพลสิงหลอย่างหวุดหวิดในการประลองเมื่อสามเดือนที่ผ่านมา.. ฟังแล้วฝีมือช่างห่างไกลกันนัก”
“ใช่...อีกอย่างข้าได้ยินมาว่าเจ้าทิพมีพิษไข้ป่าสาหัสอยู่ด้วย แม้จะหลบห่าธนูจาก ๑๒ ทิศได้ แต่คงไม่อาจหลบของ้าวบนหลังช้างของเขมราฐพ้นแน่” อีกคนกล่าวเสริม
พานอินยิ้ม ผงกศีรษะเป็นเชิงรับทราบ กล่าวสั้นๆ
“เจ้าทิพไม่มีวันพ่ายแพ้หรอก”
“ทำไมนายท่านจึงคิดเช่นนั้นล่ะ” หนึ่งในกลุ่มชายที่ตั้งวงดื่มกินถามกลับบ้าง
(มีต่อ)