.
บทที่ ๑๐ คำสัตย์กำกับคำสาป
อาทิตย์ส่องฟ้าร้อนแรง แสงไต้และตะเกียงพึงดับไป
คำกล่าวนี้ย่อมเป็นจริงทุกยุคทุกสมัย...
การประลองต่อมาอีก ๓ รอบ ๓ คน จบลงอย่างจืดชืด แม้หนึ่งในนั้นจะสามารถยิงป้ายนักษัตรได้ถึง ๗ ป้าย แต่เมื่อเทียบกับการยิงธนูของชายผู้ใช้คันธนูสีดำ นับว่าเปรียบดังกองไฟภายใต้แสงตะวันปานนั้น ผู้ชมเพียงเฝ้ารอให้การประลองธนูจบลงเพื่อเผยตัวตนที่แท้จริงของผู้ยิงป้ายนักษัตรได้ครบทั้ง ๑๒ ป้าย
ไม่นานขุนพลธรณินนำผู้เข้าแข่งขันทั้งหมดกลับเข้ามาในสนาม ไม่มีเกราะหนังและหน้ากากหวาย แต่ยังคงสวมชุดดำปกปิดร่างจรดลำคอ เผยเห็นใบหน้าชัดเจน ทั้งแปดคนเดินเรียงลำดับตามศักดิ์ฐานะเหมือนครั้งแรก เริ่มต้นด้วยองค์ชายอัศวเมฆและปิดท้ายด้วยเจ้าทิพ
บัดนี้ทุกคนมายืนเรียงแถวหน้ากระดานอีกครั้งต่อเบื้องพระพักตร์
“ขอเดชะ ฝ่าพระบาท ข้าพระพุทธเจ้าขอประกาศผลการแข่งขันประลองธนูที่เพิ่งสิ้นสุดลง ณ บัดนี้ พระพุทธเจ้าข้า...
หมายเลขหนึ่ง ยิงได้ ๔ ป้ายนักษัตร คือพลาสิน รองหัวหน้าครูฝึกทหารประจำกองทัพ”
ขุนพลธรณินประกาศเสียงดังชัดถ้อยคำ พร้อมกับพลาสินที่ก้าวออกมาหยุดยืนข้างหน้าสองก้าว เสียงฝูงชนพากันโห่ร้องปรบมือชื่นชม
“หมายเลขสองยิงได้ ๒ ป้ายนักษัตร คือปาหัต ผู้ช่วยหัวหน้ากองพระตำรวจ”
ปาหัตก้าวออกมายืนต่อจากพลาสิน
“หมายเลขสามยิงได้ ๘ ป้ายนักษัตร... คือสิงขร ราชองครักษ์ชั้นเอกประจำวังหลวง”
เสียงฝูงชนโห่ร้องขานรับดังขึ้นกว่าคนก่อนๆ ผสานเสียงวิจารณ์ขรม... ในเมื่อไม่ใช่สิงขรซึ่งถูกประกาศนามออกมา แล้วใครกันคือผู้ถือคันธนูสีดำที่ยิงได้ครบ ๑๒ ป้าย
สิงขรก้าวเดินออกมายืนเรียงลำดับเป็นคนที่สาม สีหน้าของเจ้าตัวคล้ายมึนงงสงสัยเช่นกัน ทั้งตกใจทั้งไม่เชื่อในสิ่งซึ่งตนรับรู้มา... แน่นอนว่าผู้เข้าแข่งขันทุกคน รวมทั้งสิงขรย่อมทราบแล้วว่าใครคือผู้ยิงป้ายนักษัตรได้ครบทุกป้าย
“หมายเลขสี่ยิงได้ ๒ ป้ายนักษัตร คือพายัน หัวหน้ากองม้าจู่โจมเร็ว”
เมื่อพายันก้าวออกมายืนต่อแถวแล้ว บรรยากาศในสนามพลันเงียบเสียงลงทันที... เป็นความเงียบเพื่อรอฟังคำประกาศจากปากขุนพลผู้เป็นกรรมการชี้ขาดการประลอง... ถึงนามของชายผู้หนึ่ง
“หมายเลขห้ายิงได้ครบ ๑๒ ป้ายนักษัตร...”
ขุนพลธรณินหยุดเว้นวรรค... แทบเป็นจังหวะเดียวกับการหยุดสูดลมหายใจของทุกคนในสนาม
“คือ เจ้าทิพ”
ความเงียบกริบตะลึงงันเข้าครอบงำทั้งสนาม... ก่อนจะกลายเป็นเสียงชุลมุนโกลาหลอยู่บนอัฒจันทร์ ถ้อยคำสบถวิจารณ์ดังไปทั่ว
เจ้าทิพเพียงก้าวเท้าออกมาด้วยอาการสงบนิ่ง เข้าไปต่อแถวในลำดับที่ห้า...
ขุนพลธรณินต้องประกาศให้ทุกคนอยู่ในความสงบ สักครู่จึงสามารถประกาศนามลำดับที่เหลือออกมา
“หมายเลขหก ยิงได้ ๓ ป้ายนักษัตร คืออาโป ผู้ช่วยนายกองเรือ”
ตามด้วย...
“หมายเลขเจ็ด ยิงได้ ๗ ป้ายนักษัตร คือ องค์ชายอัศวเมฆ พระราชบุตรแห่งนครปตานี”
และ...
“หมายเลขแปด ยิงได้ ๒ ป้ายนักษัตร คือสะเทิง รองหัวหน้าด่านไทร”
คำประกาศต่อมาภายหลังนาม “เจ้าทิพ” แทบไม่เป็นที่สนใจของผู้ชม ทุกคนยังคงพึมพำกันถึงเรื่องประหลาดที่เจ้าทิพกลายเป็นผู้ยิงป้ายนักษัตรได้ครบทั้ง ๑๒ ป้าย บ้างเริ่มวิพากษ์วิจารณ์ถึงลางหายนะของเมืองปตานี
แม้แต่พระเจ้าฤทธิเทวาก็ไม่ทรงปักพระทัยเชื่อ รับสั่งให้ขุนพลสิงหลเร่งดำเนินการ...
ไม่นานเสียงร้องประกาศก็ดังก้องมาจากเชิงเทินหน้าปะรำที่ประทับ
“มีรับสั่งจากองค์เหนือหัวแห่งเมืองปตานี... ให้เจ้าทิพแสดงฝีมือยิงธนูถวายให้ทอดพระเนตร ณ บัดนี้”
ทุกคนมองไปตามต้นเสียง เห็นร่างขุนพลใหญ่สิงหลยืนเด่นอยู่บนเชิงเทิน... คำประกาศเรียกเสียงตะโกนร้องสนับสนุนจากฝูงชนกลุ่มใหญ่ ด้วยเป็นดั่งใจที่ต้องการ
สักครู่มีทหารนำคันธนูสีดำพร้อมลูกธนูมามอบให้เจ้าทิพ
ชายหนุ่มรับแล้วยืนนิ่งอยู่ จนขุนพลธรณินกล่าวขึ้น
“ท่านเลือกหาเป้าหมายใดก็ได้ ที่พอจะพิสูจน์ยืนยันฝีมือการยิงธนูของท่าน”
เจ้าทิพเพียงมองขุนพลธรณินอย่างเงียบงัน ผู้เข้าแข่งขันคนอื่นล้วนพากันหลีกห่างเว้นระยะยืนออกไป เจ้าทิพสอดท้ายลูกธนูเข้ากับสายเอ็นหนัง น้าวขึ้นธนู เล็งไปยังป้ายฉลูนักษัตร ที่อยู่เบื้องล่างปะรำที่ประทับ... ป้ายนักษัตรทุกป้ายล้วนถูกถอดถอนลูกธนูที่เคยปักอยู่ออกไป เหลือเพียงรอยทิ้งไว้
เจ้าทิพยืนเบื้องล่างหน้าปะรำที่ประทับ ห่างป้ายฉลูนักษัตรเพียง ๓ วา... จึงเป็นระยะที่ใกล้มากจนไม่อาจจะพิสูจน์สิ่งใดได้ นอกจากยืนยันว่าเจ้าทิพยิงธนูเป็น
หัวธนูเล็งตรงไปที่ป้ายฉลูนักษัตร แต่สายตาของชายหนุ่มกลับแหงนมองขึ้นไปบนปะรำที่ประทับ ดวงตาแวววาวจับจ้องอยู่บนวงพักตร์ของพระราชธิดาวิสาณี
“เป็นท่านจริงๆ” พระองค์หญิงทรงรำพึงขึ้นทันทีที่สายพระเนตรประสาน พระพักตร์เบิกบานราวกับเป็นคนละพระองค์เมื่อครู่ก่อนหน้า
พริบตานั้นเจ้าทิพหมุนตัวกลับหลัง ธนูที่ง้าวขึ้นไว้ถูกปล่อยออกไปสุดแรง เสียงสายหนังดีดดังเฟี้ยว...
การหมุนตัวยิงธนูรวดเร็วปานฟ้าแลบ ไม่เห็นแม้กระทั่งลีลาการกะเล็งเป้าหมาย... ที่แท้เจ้าทิพยิงธนูไปยังป้ายมะแมนักษัตรที่อยู่ทางทิศใต้ ฝั่งตรงข้ามปะรำที่ประทับ ห่างไกลจากจุดยืนยิงออกไปถึง ๔๗ วา
ป้ายมะแมนักษัตรเล็กเพียง ๕ นิ้ว ถูกผูกห้อยลงมาจากหัวเสาพลันสะดุ้งกวัดแกว่งด้วยแรงปักตรึงของลูกธนู... พร้อมเสียงอุทานดังกึกก้องทั่วสนาม
การยืนเล็งแล้วยิงธนูไปยังเป้าหมายขนาดเล็กที่อยู่ห่างไกลเยี่ยงนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้... แต่เจ้าทิพใช้เวลาเพียงเสี้ยวของการหมุนตัวกลับหลังหันก็สามารถปล่อยลูกธนูตรงสู่เป้าหมายได้
เป็นฝีมือยิงธนูที่น่าตื่นตระหนกยิ่งนัก...
--------------------------------------------------
“หรือคำสาปจะเป็นจริงเพคะเจ้าพี่... วันนี้เขาจึงมีฤทธิ์เดชขึ้นมาเพื่อล้างผลาญบ้านเมือง” พระมเหสีซึ่งประทับเบื้องซ้ายองค์พระเจ้าฤทธิเทวากระซิบกราบทูล พระพักตร์ซีดเผือด
พระอาการเคร่งเครียดกลับปรากฏแก่พระเจ้าปตานีมากกว่าผู้ใด ทรงตรึกตรองถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในที่สุดรับสั่งด้วยพระสุรเสียงดังว่า
“เจ้าทิพ... จงบอกมาเจ้าไปฝึกวิชาการต่อสู้มาจากที่ใด ใครเป็นผู้สอนเจ้า”
เจ้าทิพคุกเข่าลง วางคันธนูกับพื้น พนมมือทั้งสอง กราบทูลว่า
“ข้าพระองค์เรียนการต่อสู้กับ “พราหมณ์กุณฑกัญจ” พระเจ้าค่ะ”
“พราหมณ์กุณฑกัญจ” สองกษัตริย์ทรงอุทานขึ้นแทบพร้อมกัน
เป็นนามที่บรรดาข้าราชบริพารต่างต้องแปลกใจเช่นกัน เพราะพราหมณ์กุณฑกัญจคือผู้ทำนายชะตาชีวิตของเจ้าทิพตั้งแต่แรกเกิดว่าเป็นกาลกิณีบ้านเมือง ถึงขั้นทำพระศาสนาให้หมดไป จนพระเจ้าฤทธิเทวาทรงให้เจ้าทิพไปอยู่เมืองนครศรีธรรมราชและทรงประกาศห้ามมิให้ผู้ใดสั่งสอนวิชาการสู้รบ... คิดไม่ถึงว่าเจ้าทิพจะเอ่ยอ้างนามพราหมณ์ดังกล่าว
“ที่เจ้ากล่าวมามีหลักฐานใด... ท่านพราหมณ์กุณฑกัญจแม้มิใช่ผู้อยู่ใต้อาณัติสิทธิ์ของเรา แต่ย่อมไม่กระทำเรื่องทรยศหลอกลวงเราเป็นอันขาด ท่านพราหมณ์ไม่เพียงทำนายว่าเจ้าจะนำความวิบัติมาสู่บ้านเมือง ทั้งยังเตือนเราอย่าให้เจ้าได้จับอาวุธเป็นอันขาด มีหรือจะมาสอนการรบให้เจ้า... และที่สำคัญ ตัวท่านเป็นพราหมณ์ร่ายพระเวท ไม่ได้มีวิชาอาวุธ... หากเจ้าไม่บอกให้ชัดแจ้ง เราจะเปลี่ยนตัวเจ้าเป็นคนโทษทันที”
เป็นพระสุรเสียงประกาศิตชี้เป็นชี้ตาย ผู้คนทั้งแผ่นดินต่างหวั่นเกรงต่อพระราชอาญา แต่บัดนี้เจ้าทิพกลับสงบสุขุม คล้ายภูผาใหญ่ไม่เกรงอัสนีบาต
“ขอเดชะ พระอาญามิพ้นเกล้า แม้ข้าพระองค์จะเป็นบุคคลในคำสาป แต่ก็ถือวาจาเป็นสัจจะเหนือสิ่งใด... ท่านพราหมณ์ได้ตรวจดวงชะตาของข้าพระองค์เห็นว่ายังพอมีทางแก้ไข หากได้เป็นผู้นำองค์ตุมพะทะนานทองกลับคืนสู่นครปตานี อำนาจบุญกุศลจักเปลี่ยนกรรมลิขิตสิ้น ท่านจึงได้แอบสั่งสอนวิชาการรบให้... ตัวท่านก่อนสละเพศบวชเป็นพราหมณ์เคยเป็นอดีตขุนพลนักรบมีวิชาอาวุธติดตัว ทั้งหมดทั้งปวงนี้ข้าพระองค์มีหนังสือของท่านพราหมณ์ยืนยัน พระเจ้าค่ะ”
กราบทูลแล้วเจ้าทิพ จึงเอ่ยขอหนังสือจากขุนพลธรณิน
“ท่านอา กระบอกใส่หนังสือที่ข้าพเจ้าฝากไว้กับท่าน รบกวนท่านช่วยนำขึ้นทูลเกล้าถวายองค์เหนือหัวด้วยเถิด”
ขุนพลธรณินให้ทหารนำกระบอกไม้เข้ามา เป็นกระบอกไม้ที่เจ้าทิพสะพายติดตัวตั้งแต่แรก เหตุเพราะต้องเปลี่ยนชุดปิดบังตนและสวมเกราะหนังเข้าประลอง จึงได้ฝากไว้กับท่านขุนพล
บัดนี้สายตาทุกคู่จับจ้องไปยังกระบอกไม้ ที่ถูกส่งต่อไปจนถึงมือของอาลักษณ์หลวง
ครั่งซึ่งผนึกด้ายฟั่นที่คาดรัดตรงปากกระบอกถูกตรวจสอบ พร้อมคำกราบทูลรายงาน
“ขอเดชะ กระบอกหนังสือยังไม่เคยถูกเปิดออก มีตราสัญญลักษณ์ของท่านพราหมณ์กุณฑกัญจประทับอยู่ พระเจ้าค่ะ”
พระเจ้าปตานีทรงพยักพระพักตร์เป็นเชิงอนุญาตให้อาลักษณ์หลวงดำเนินการเปิดอ่านถวาย
เมื่ออาลักษณ์หลวงแกะผนึกประทับ เปิดปากกระบอกไม้ นำเอาผืนผ้าไหมสีอ่อนออกมาคลี่กางอ่านถวาย ความว่า...
“กราบทูลองค์เหนือหัวพระเจ้าฤทธิเทวา ราชาแห่งนครปตานี ข้าพระองค์พราหมณ์กุณฑกัญจผู้รับพระกรุณาธิคุณ โปรดให้บำรุงอุปถัมภ์ตำหนักพราหมณ์ของข้าพระองค์ที่เมืองนครศรีธรรมราชด้วยความสมบูรณ์เสมอมา ข้าพระองค์สำนึกในพระกรุณาธิคุณ ตั้งใจจะอบรมดูแลพระราชบุตรพระองค์เล็กเจ้าทิพากร ให้ตัดเสียซึ่งการใดที่จะเป็นขบถร้ายต่อพระองค์และบ้านเมืองทั้งปวง
เมื่อนำฤกษ์ชะตาของพระราชบุตรไปให้อาจารย์ของข้าพระองค์ตรวจสอบอีกครั้ง พบว่าการนี้พอมีทางแก้ไข แม้พระราชบุตรจักเกิดใต้ฤกษ์ดาวมฤตยู มีมรณะเมืองกำกับ เป็นเหตุให้ผลาญเสียบ้านเสียเมืองเสียผู้คนใกล้ชิด แต่พระราชบุตรมีเรือนธาตุไฟอยู่นอกและธาตุน้ำอยู่ใน เป็นลักษณะที่แปลก ธาตุไฟตกคาบการเปลี่ยนแปลง ธาตุน้ำตกคาบพุทธานุภาพ เป็นลักษณะของผู้เปลี่ยนโลกและพระศาสนา
จึงเห็นนิมิตว่า แม้นพระราชบุตรสามารถอัญเชิญองค์ตุมพะทะนานทองกลับสู่นครปตานีได้ พระพุทธานุภาพจักช่วยล้างชะตาอาถรรพ์ไปในทางที่ดี ความเจริญรุ่งเรืองแห่งพระศาสนาและบ้านเมืองจักเกิดขึ้นสืบไป
ข้าพระองค์ผู้สืบสายตระกูลโทณพราหมณ์ ครั้งวัยหนุ่มก่อนสละเพศออกบวช ได้เคยเป็นขุนทหารของเมืองหนึ่งมาก่อน เรื่องนี้ข้าพระองค์ต้องกราบขอพระราชทานอภัยโทษ ที่มิเคยกราบทูลเรื่องดังกล่าว ด้วยมีความจำเป็นกระทบถึงเมืองกำเนิด
ข้าพระองค์ได้ฝึกฝนเจ้าทิพากรจนมีความเชี่ยวชาญในการอาวุธทั้งปวง ทั้งได้ตรวจสอบอุปนิสัยของเขาจนเชื่อมั่นว่าพระราชบุตรจะไม่นำภัยพิบัติมาสู่นครปตานี และอาจเป็นผู้มีฝีมือเหมาะสมจะได้อัญเชิญองค์ตุมพะทะนานทองกลับมาสู่นครปตานี
ข้าพระองค์ได้ทำหนังสือยืนยันขึ้นอีกฉบับ ฝากไว้กับท่านมหาอำมาตย์วิษณุยัน มีข้อความสอดคล้องกัน การใดที่ข้าพระองค์กระทำผิดพลั้งไป ขอได้โปรดพระราชทานอภัยโทษด้วยเถิด
ขออำนาจแห่งพระวิษณุและมวลหมู่เทพยดาทั้งปวงจงอำนวยพรแด่พระเจ้าปตานีและนครของพระองค์สืบไป
พราหมณ์กุณฑกัญจ”
เป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่มีผู้ออกนาม “
ทิพากร” ด้วยฐานะ “
พระราชบุตร” แม้แต่ตัวเจ้าทิพเองก็พลอยรู้สึกอึดอัดใจที่ได้ยิน อย่าว่าแต่ผู้คนทั่วไปที่ได้รับฟัง ย่อมรู้สึกพิกลในใจ
พราหมณ์กุณฑกัญจกระทำการด้วยความรอบคอบ ได้กำกับฝากหนังสืออีกฉบับไว้ที่มหาอำมาตย์แห่งเมืองนครฯ ซึ่งตามเสด็จองค์พระประมุขของตนมาในครั้งนี้ ตัวมหาอำมาตย์ไม่ทราบข้อความภายใน เพียงรับฝากด้วยคำกล่าวของท่านพราหมณ์ว่า... “
เมื่อถึงเวลา องค์ราชันแห่งปตานีจะขอดูหนังสือฉบับนี้”
บัดนี้อาลักษณ์หลวงได้ตรวจสอบหนังสือทั้งสองฉบับและยืนยันเนื้อความสอดคล้องต้องกันเป็นที่เรียบร้อย
พระเจ้าฤทธิเทวาทรงตรึกตรองด้วยความลำบากพระทัย จึงประทับนิ่งอยู่
ฝ่ายพระเจ้าศรีมหาราชทอดพระเนตรดังนั้นจึงรับสั่งว่า
“ในเมื่อท่านพราหมณ์ยืนยันตรวจสอบดวงชะตาของหลานเราว่ามีทางแก้ไขจากร้ายเป็นดี ท่านก็สมควรจะยินดีจึงจะถูกต้อง หรือท่านยังมีข้อขัดข้องใดอยู่อีกหรือ”
พระเจ้าฤทธิเทวาทรงถอนพระปัสสาสะ รับสั่งตอบ
“เรื่องนี้ ยากที่หม่อมฉันจะรับได้จริงๆ... เรื่องดวงชะตาของเจ้าทิพเป็นที่รับรู้กันว่าร้ายถึงขั้นล้างบ้านล้างเมือง... หลายชีวิตต้องสิ้นไปเพราะต้องการเปลี่ยนลิขิตของสวรรค์ แม้กระทั่งพระสนมจันทรา พระมารดาของเขา...”
(มีต่อ)
ราชาสิบสองนักษัตร ศึกรวมสุโขทัย - บทที่ ๑๐ คำสัตย์กำกับคำสาป
บทที่ ๑๐ คำสัตย์กำกับคำสาป
อาทิตย์ส่องฟ้าร้อนแรง แสงไต้และตะเกียงพึงดับไป
คำกล่าวนี้ย่อมเป็นจริงทุกยุคทุกสมัย...
การประลองต่อมาอีก ๓ รอบ ๓ คน จบลงอย่างจืดชืด แม้หนึ่งในนั้นจะสามารถยิงป้ายนักษัตรได้ถึง ๗ ป้าย แต่เมื่อเทียบกับการยิงธนูของชายผู้ใช้คันธนูสีดำ นับว่าเปรียบดังกองไฟภายใต้แสงตะวันปานนั้น ผู้ชมเพียงเฝ้ารอให้การประลองธนูจบลงเพื่อเผยตัวตนที่แท้จริงของผู้ยิงป้ายนักษัตรได้ครบทั้ง ๑๒ ป้าย
ไม่นานขุนพลธรณินนำผู้เข้าแข่งขันทั้งหมดกลับเข้ามาในสนาม ไม่มีเกราะหนังและหน้ากากหวาย แต่ยังคงสวมชุดดำปกปิดร่างจรดลำคอ เผยเห็นใบหน้าชัดเจน ทั้งแปดคนเดินเรียงลำดับตามศักดิ์ฐานะเหมือนครั้งแรก เริ่มต้นด้วยองค์ชายอัศวเมฆและปิดท้ายด้วยเจ้าทิพ
บัดนี้ทุกคนมายืนเรียงแถวหน้ากระดานอีกครั้งต่อเบื้องพระพักตร์
“ขอเดชะ ฝ่าพระบาท ข้าพระพุทธเจ้าขอประกาศผลการแข่งขันประลองธนูที่เพิ่งสิ้นสุดลง ณ บัดนี้ พระพุทธเจ้าข้า...
หมายเลขหนึ่ง ยิงได้ ๔ ป้ายนักษัตร คือพลาสิน รองหัวหน้าครูฝึกทหารประจำกองทัพ”
ขุนพลธรณินประกาศเสียงดังชัดถ้อยคำ พร้อมกับพลาสินที่ก้าวออกมาหยุดยืนข้างหน้าสองก้าว เสียงฝูงชนพากันโห่ร้องปรบมือชื่นชม
“หมายเลขสองยิงได้ ๒ ป้ายนักษัตร คือปาหัต ผู้ช่วยหัวหน้ากองพระตำรวจ”
ปาหัตก้าวออกมายืนต่อจากพลาสิน
“หมายเลขสามยิงได้ ๘ ป้ายนักษัตร... คือสิงขร ราชองครักษ์ชั้นเอกประจำวังหลวง”
เสียงฝูงชนโห่ร้องขานรับดังขึ้นกว่าคนก่อนๆ ผสานเสียงวิจารณ์ขรม... ในเมื่อไม่ใช่สิงขรซึ่งถูกประกาศนามออกมา แล้วใครกันคือผู้ถือคันธนูสีดำที่ยิงได้ครบ ๑๒ ป้าย
สิงขรก้าวเดินออกมายืนเรียงลำดับเป็นคนที่สาม สีหน้าของเจ้าตัวคล้ายมึนงงสงสัยเช่นกัน ทั้งตกใจทั้งไม่เชื่อในสิ่งซึ่งตนรับรู้มา... แน่นอนว่าผู้เข้าแข่งขันทุกคน รวมทั้งสิงขรย่อมทราบแล้วว่าใครคือผู้ยิงป้ายนักษัตรได้ครบทุกป้าย
“หมายเลขสี่ยิงได้ ๒ ป้ายนักษัตร คือพายัน หัวหน้ากองม้าจู่โจมเร็ว”
เมื่อพายันก้าวออกมายืนต่อแถวแล้ว บรรยากาศในสนามพลันเงียบเสียงลงทันที... เป็นความเงียบเพื่อรอฟังคำประกาศจากปากขุนพลผู้เป็นกรรมการชี้ขาดการประลอง... ถึงนามของชายผู้หนึ่ง
“หมายเลขห้ายิงได้ครบ ๑๒ ป้ายนักษัตร...”
ขุนพลธรณินหยุดเว้นวรรค... แทบเป็นจังหวะเดียวกับการหยุดสูดลมหายใจของทุกคนในสนาม
“คือ เจ้าทิพ”
ความเงียบกริบตะลึงงันเข้าครอบงำทั้งสนาม... ก่อนจะกลายเป็นเสียงชุลมุนโกลาหลอยู่บนอัฒจันทร์ ถ้อยคำสบถวิจารณ์ดังไปทั่ว
เจ้าทิพเพียงก้าวเท้าออกมาด้วยอาการสงบนิ่ง เข้าไปต่อแถวในลำดับที่ห้า...
ขุนพลธรณินต้องประกาศให้ทุกคนอยู่ในความสงบ สักครู่จึงสามารถประกาศนามลำดับที่เหลือออกมา
“หมายเลขหก ยิงได้ ๓ ป้ายนักษัตร คืออาโป ผู้ช่วยนายกองเรือ”
ตามด้วย...
“หมายเลขเจ็ด ยิงได้ ๗ ป้ายนักษัตร คือ องค์ชายอัศวเมฆ พระราชบุตรแห่งนครปตานี”
และ...
“หมายเลขแปด ยิงได้ ๒ ป้ายนักษัตร คือสะเทิง รองหัวหน้าด่านไทร”
คำประกาศต่อมาภายหลังนาม “เจ้าทิพ” แทบไม่เป็นที่สนใจของผู้ชม ทุกคนยังคงพึมพำกันถึงเรื่องประหลาดที่เจ้าทิพกลายเป็นผู้ยิงป้ายนักษัตรได้ครบทั้ง ๑๒ ป้าย บ้างเริ่มวิพากษ์วิจารณ์ถึงลางหายนะของเมืองปตานี
แม้แต่พระเจ้าฤทธิเทวาก็ไม่ทรงปักพระทัยเชื่อ รับสั่งให้ขุนพลสิงหลเร่งดำเนินการ...
ไม่นานเสียงร้องประกาศก็ดังก้องมาจากเชิงเทินหน้าปะรำที่ประทับ
“มีรับสั่งจากองค์เหนือหัวแห่งเมืองปตานี... ให้เจ้าทิพแสดงฝีมือยิงธนูถวายให้ทอดพระเนตร ณ บัดนี้”
ทุกคนมองไปตามต้นเสียง เห็นร่างขุนพลใหญ่สิงหลยืนเด่นอยู่บนเชิงเทิน... คำประกาศเรียกเสียงตะโกนร้องสนับสนุนจากฝูงชนกลุ่มใหญ่ ด้วยเป็นดั่งใจที่ต้องการ
สักครู่มีทหารนำคันธนูสีดำพร้อมลูกธนูมามอบให้เจ้าทิพ
ชายหนุ่มรับแล้วยืนนิ่งอยู่ จนขุนพลธรณินกล่าวขึ้น
“ท่านเลือกหาเป้าหมายใดก็ได้ ที่พอจะพิสูจน์ยืนยันฝีมือการยิงธนูของท่าน”
เจ้าทิพเพียงมองขุนพลธรณินอย่างเงียบงัน ผู้เข้าแข่งขันคนอื่นล้วนพากันหลีกห่างเว้นระยะยืนออกไป เจ้าทิพสอดท้ายลูกธนูเข้ากับสายเอ็นหนัง น้าวขึ้นธนู เล็งไปยังป้ายฉลูนักษัตร ที่อยู่เบื้องล่างปะรำที่ประทับ... ป้ายนักษัตรทุกป้ายล้วนถูกถอดถอนลูกธนูที่เคยปักอยู่ออกไป เหลือเพียงรอยทิ้งไว้
เจ้าทิพยืนเบื้องล่างหน้าปะรำที่ประทับ ห่างป้ายฉลูนักษัตรเพียง ๓ วา... จึงเป็นระยะที่ใกล้มากจนไม่อาจจะพิสูจน์สิ่งใดได้ นอกจากยืนยันว่าเจ้าทิพยิงธนูเป็น
หัวธนูเล็งตรงไปที่ป้ายฉลูนักษัตร แต่สายตาของชายหนุ่มกลับแหงนมองขึ้นไปบนปะรำที่ประทับ ดวงตาแวววาวจับจ้องอยู่บนวงพักตร์ของพระราชธิดาวิสาณี
“เป็นท่านจริงๆ” พระองค์หญิงทรงรำพึงขึ้นทันทีที่สายพระเนตรประสาน พระพักตร์เบิกบานราวกับเป็นคนละพระองค์เมื่อครู่ก่อนหน้า
พริบตานั้นเจ้าทิพหมุนตัวกลับหลัง ธนูที่ง้าวขึ้นไว้ถูกปล่อยออกไปสุดแรง เสียงสายหนังดีดดังเฟี้ยว...
การหมุนตัวยิงธนูรวดเร็วปานฟ้าแลบ ไม่เห็นแม้กระทั่งลีลาการกะเล็งเป้าหมาย... ที่แท้เจ้าทิพยิงธนูไปยังป้ายมะแมนักษัตรที่อยู่ทางทิศใต้ ฝั่งตรงข้ามปะรำที่ประทับ ห่างไกลจากจุดยืนยิงออกไปถึง ๔๗ วา
ป้ายมะแมนักษัตรเล็กเพียง ๕ นิ้ว ถูกผูกห้อยลงมาจากหัวเสาพลันสะดุ้งกวัดแกว่งด้วยแรงปักตรึงของลูกธนู... พร้อมเสียงอุทานดังกึกก้องทั่วสนาม
การยืนเล็งแล้วยิงธนูไปยังเป้าหมายขนาดเล็กที่อยู่ห่างไกลเยี่ยงนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้... แต่เจ้าทิพใช้เวลาเพียงเสี้ยวของการหมุนตัวกลับหลังหันก็สามารถปล่อยลูกธนูตรงสู่เป้าหมายได้
เป็นฝีมือยิงธนูที่น่าตื่นตระหนกยิ่งนัก...
--------------------------------------------------
“หรือคำสาปจะเป็นจริงเพคะเจ้าพี่... วันนี้เขาจึงมีฤทธิ์เดชขึ้นมาเพื่อล้างผลาญบ้านเมือง” พระมเหสีซึ่งประทับเบื้องซ้ายองค์พระเจ้าฤทธิเทวากระซิบกราบทูล พระพักตร์ซีดเผือด
พระอาการเคร่งเครียดกลับปรากฏแก่พระเจ้าปตานีมากกว่าผู้ใด ทรงตรึกตรองถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในที่สุดรับสั่งด้วยพระสุรเสียงดังว่า
“เจ้าทิพ... จงบอกมาเจ้าไปฝึกวิชาการต่อสู้มาจากที่ใด ใครเป็นผู้สอนเจ้า”
เจ้าทิพคุกเข่าลง วางคันธนูกับพื้น พนมมือทั้งสอง กราบทูลว่า
“ข้าพระองค์เรียนการต่อสู้กับ “พราหมณ์กุณฑกัญจ” พระเจ้าค่ะ”
“พราหมณ์กุณฑกัญจ” สองกษัตริย์ทรงอุทานขึ้นแทบพร้อมกัน
เป็นนามที่บรรดาข้าราชบริพารต่างต้องแปลกใจเช่นกัน เพราะพราหมณ์กุณฑกัญจคือผู้ทำนายชะตาชีวิตของเจ้าทิพตั้งแต่แรกเกิดว่าเป็นกาลกิณีบ้านเมือง ถึงขั้นทำพระศาสนาให้หมดไป จนพระเจ้าฤทธิเทวาทรงให้เจ้าทิพไปอยู่เมืองนครศรีธรรมราชและทรงประกาศห้ามมิให้ผู้ใดสั่งสอนวิชาการสู้รบ... คิดไม่ถึงว่าเจ้าทิพจะเอ่ยอ้างนามพราหมณ์ดังกล่าว
“ที่เจ้ากล่าวมามีหลักฐานใด... ท่านพราหมณ์กุณฑกัญจแม้มิใช่ผู้อยู่ใต้อาณัติสิทธิ์ของเรา แต่ย่อมไม่กระทำเรื่องทรยศหลอกลวงเราเป็นอันขาด ท่านพราหมณ์ไม่เพียงทำนายว่าเจ้าจะนำความวิบัติมาสู่บ้านเมือง ทั้งยังเตือนเราอย่าให้เจ้าได้จับอาวุธเป็นอันขาด มีหรือจะมาสอนการรบให้เจ้า... และที่สำคัญ ตัวท่านเป็นพราหมณ์ร่ายพระเวท ไม่ได้มีวิชาอาวุธ... หากเจ้าไม่บอกให้ชัดแจ้ง เราจะเปลี่ยนตัวเจ้าเป็นคนโทษทันที”
เป็นพระสุรเสียงประกาศิตชี้เป็นชี้ตาย ผู้คนทั้งแผ่นดินต่างหวั่นเกรงต่อพระราชอาญา แต่บัดนี้เจ้าทิพกลับสงบสุขุม คล้ายภูผาใหญ่ไม่เกรงอัสนีบาต
“ขอเดชะ พระอาญามิพ้นเกล้า แม้ข้าพระองค์จะเป็นบุคคลในคำสาป แต่ก็ถือวาจาเป็นสัจจะเหนือสิ่งใด... ท่านพราหมณ์ได้ตรวจดวงชะตาของข้าพระองค์เห็นว่ายังพอมีทางแก้ไข หากได้เป็นผู้นำองค์ตุมพะทะนานทองกลับคืนสู่นครปตานี อำนาจบุญกุศลจักเปลี่ยนกรรมลิขิตสิ้น ท่านจึงได้แอบสั่งสอนวิชาการรบให้... ตัวท่านก่อนสละเพศบวชเป็นพราหมณ์เคยเป็นอดีตขุนพลนักรบมีวิชาอาวุธติดตัว ทั้งหมดทั้งปวงนี้ข้าพระองค์มีหนังสือของท่านพราหมณ์ยืนยัน พระเจ้าค่ะ”
กราบทูลแล้วเจ้าทิพ จึงเอ่ยขอหนังสือจากขุนพลธรณิน
“ท่านอา กระบอกใส่หนังสือที่ข้าพเจ้าฝากไว้กับท่าน รบกวนท่านช่วยนำขึ้นทูลเกล้าถวายองค์เหนือหัวด้วยเถิด”
ขุนพลธรณินให้ทหารนำกระบอกไม้เข้ามา เป็นกระบอกไม้ที่เจ้าทิพสะพายติดตัวตั้งแต่แรก เหตุเพราะต้องเปลี่ยนชุดปิดบังตนและสวมเกราะหนังเข้าประลอง จึงได้ฝากไว้กับท่านขุนพล
บัดนี้สายตาทุกคู่จับจ้องไปยังกระบอกไม้ ที่ถูกส่งต่อไปจนถึงมือของอาลักษณ์หลวง
ครั่งซึ่งผนึกด้ายฟั่นที่คาดรัดตรงปากกระบอกถูกตรวจสอบ พร้อมคำกราบทูลรายงาน
“ขอเดชะ กระบอกหนังสือยังไม่เคยถูกเปิดออก มีตราสัญญลักษณ์ของท่านพราหมณ์กุณฑกัญจประทับอยู่ พระเจ้าค่ะ”
พระเจ้าปตานีทรงพยักพระพักตร์เป็นเชิงอนุญาตให้อาลักษณ์หลวงดำเนินการเปิดอ่านถวาย
เมื่ออาลักษณ์หลวงแกะผนึกประทับ เปิดปากกระบอกไม้ นำเอาผืนผ้าไหมสีอ่อนออกมาคลี่กางอ่านถวาย ความว่า...
“กราบทูลองค์เหนือหัวพระเจ้าฤทธิเทวา ราชาแห่งนครปตานี ข้าพระองค์พราหมณ์กุณฑกัญจผู้รับพระกรุณาธิคุณ โปรดให้บำรุงอุปถัมภ์ตำหนักพราหมณ์ของข้าพระองค์ที่เมืองนครศรีธรรมราชด้วยความสมบูรณ์เสมอมา ข้าพระองค์สำนึกในพระกรุณาธิคุณ ตั้งใจจะอบรมดูแลพระราชบุตรพระองค์เล็กเจ้าทิพากร ให้ตัดเสียซึ่งการใดที่จะเป็นขบถร้ายต่อพระองค์และบ้านเมืองทั้งปวง
เมื่อนำฤกษ์ชะตาของพระราชบุตรไปให้อาจารย์ของข้าพระองค์ตรวจสอบอีกครั้ง พบว่าการนี้พอมีทางแก้ไข แม้พระราชบุตรจักเกิดใต้ฤกษ์ดาวมฤตยู มีมรณะเมืองกำกับ เป็นเหตุให้ผลาญเสียบ้านเสียเมืองเสียผู้คนใกล้ชิด แต่พระราชบุตรมีเรือนธาตุไฟอยู่นอกและธาตุน้ำอยู่ใน เป็นลักษณะที่แปลก ธาตุไฟตกคาบการเปลี่ยนแปลง ธาตุน้ำตกคาบพุทธานุภาพ เป็นลักษณะของผู้เปลี่ยนโลกและพระศาสนา
จึงเห็นนิมิตว่า แม้นพระราชบุตรสามารถอัญเชิญองค์ตุมพะทะนานทองกลับสู่นครปตานีได้ พระพุทธานุภาพจักช่วยล้างชะตาอาถรรพ์ไปในทางที่ดี ความเจริญรุ่งเรืองแห่งพระศาสนาและบ้านเมืองจักเกิดขึ้นสืบไป
ข้าพระองค์ผู้สืบสายตระกูลโทณพราหมณ์ ครั้งวัยหนุ่มก่อนสละเพศออกบวช ได้เคยเป็นขุนทหารของเมืองหนึ่งมาก่อน เรื่องนี้ข้าพระองค์ต้องกราบขอพระราชทานอภัยโทษ ที่มิเคยกราบทูลเรื่องดังกล่าว ด้วยมีความจำเป็นกระทบถึงเมืองกำเนิด
ข้าพระองค์ได้ฝึกฝนเจ้าทิพากรจนมีความเชี่ยวชาญในการอาวุธทั้งปวง ทั้งได้ตรวจสอบอุปนิสัยของเขาจนเชื่อมั่นว่าพระราชบุตรจะไม่นำภัยพิบัติมาสู่นครปตานี และอาจเป็นผู้มีฝีมือเหมาะสมจะได้อัญเชิญองค์ตุมพะทะนานทองกลับมาสู่นครปตานี
ข้าพระองค์ได้ทำหนังสือยืนยันขึ้นอีกฉบับ ฝากไว้กับท่านมหาอำมาตย์วิษณุยัน มีข้อความสอดคล้องกัน การใดที่ข้าพระองค์กระทำผิดพลั้งไป ขอได้โปรดพระราชทานอภัยโทษด้วยเถิด
ขออำนาจแห่งพระวิษณุและมวลหมู่เทพยดาทั้งปวงจงอำนวยพรแด่พระเจ้าปตานีและนครของพระองค์สืบไป
พราหมณ์กุณฑกัญจ”
เป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่มีผู้ออกนาม “ทิพากร” ด้วยฐานะ “พระราชบุตร” แม้แต่ตัวเจ้าทิพเองก็พลอยรู้สึกอึดอัดใจที่ได้ยิน อย่าว่าแต่ผู้คนทั่วไปที่ได้รับฟัง ย่อมรู้สึกพิกลในใจ
พราหมณ์กุณฑกัญจกระทำการด้วยความรอบคอบ ได้กำกับฝากหนังสืออีกฉบับไว้ที่มหาอำมาตย์แห่งเมืองนครฯ ซึ่งตามเสด็จองค์พระประมุขของตนมาในครั้งนี้ ตัวมหาอำมาตย์ไม่ทราบข้อความภายใน เพียงรับฝากด้วยคำกล่าวของท่านพราหมณ์ว่า... “เมื่อถึงเวลา องค์ราชันแห่งปตานีจะขอดูหนังสือฉบับนี้”
บัดนี้อาลักษณ์หลวงได้ตรวจสอบหนังสือทั้งสองฉบับและยืนยันเนื้อความสอดคล้องต้องกันเป็นที่เรียบร้อย
พระเจ้าฤทธิเทวาทรงตรึกตรองด้วยความลำบากพระทัย จึงประทับนิ่งอยู่
ฝ่ายพระเจ้าศรีมหาราชทอดพระเนตรดังนั้นจึงรับสั่งว่า
“ในเมื่อท่านพราหมณ์ยืนยันตรวจสอบดวงชะตาของหลานเราว่ามีทางแก้ไขจากร้ายเป็นดี ท่านก็สมควรจะยินดีจึงจะถูกต้อง หรือท่านยังมีข้อขัดข้องใดอยู่อีกหรือ”
พระเจ้าฤทธิเทวาทรงถอนพระปัสสาสะ รับสั่งตอบ
“เรื่องนี้ ยากที่หม่อมฉันจะรับได้จริงๆ... เรื่องดวงชะตาของเจ้าทิพเป็นที่รับรู้กันว่าร้ายถึงขั้นล้างบ้านล้างเมือง... หลายชีวิตต้องสิ้นไปเพราะต้องการเปลี่ยนลิขิตของสวรรค์ แม้กระทั่งพระสนมจันทรา พระมารดาของเขา...”
(มีต่อ)