[นิยายการเมือง The Rise of the Fifth Tiger] ภาค : การชุมนุมครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 20 ปี

ธีมของเรื่องก็จะมาแนว Political Thriller ที่มีทั้งฉากตื่นเต้น
เนื้อเรื่องที่ตัวเอกอยู่ในสภาพถูกกดดัน ต้องคิดวางแผนหักเล่ห์ชิงเหลี่ยมกับตัวร้าย
มีทั้งเรื่องที่เกี่ยวพันกับธุรกิจและการเมือง

นอกจากแนวซีเรียสแล้ว ก็จะมีแนวโรแมนติกคอมเมดี้แทรกเป็นระยะ
จริงๆแล้วก็จะมีครบทุกรสชาติ ดราม่าเอย ฉากสร้างแรงบันดาลใจก็มี

แม้เนื้อเรื่องจะเกี่ยวข้องกับตัวละครที่มีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์
แต่เนื้อเรื่องหลักก็จะอยู่กับตัวละครสมมุติมากกว่า

....ควรจะมีตัวละครเอกที่มีบุคลิกประมาณไหนดี?

**********

[นิยายการเมือง The Rise of the Fifth Tiger] ภาค : การชุมนุมครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 20 ปี

----------

พ.ศ. 2560

...ผ่านเวลามากว่า 3 ปี นับตั้งแต่เหตุการณ์ยึดอำนาจ แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และ พรรคเพื่อไทย (พท.) ได้ลิ้มรสการเว้นวรรคทางการเมืองแบบพักยาว จนรู้ซึ้งถึงการถูกกดดันจากรัฐบาลพิเศษ...

เมื่อการเลือกตั้งครั้งใหม่ใกล้เข้ามาถึง การเจรจาลับก็เกิดขึ้นระหว่าง ปชป. และ พท. เพื่อร่วมกันหลุดพ้นออกจากวังวนของการครอบงำ...

ในการเลือกตั้งครั้งหน้านี้ พรรคที่จะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล พรรคนั้นจำเป็นต้องมีเสียงสนับสนุนไม่น้อยกว่ากึ่งนึงของรัฐสภา คือไม่น้อยกว่า 375 เสียงจากสมาชิกรัฐสภา 750 คน ซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จำนวน 500 คน และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลพิเศษอีก 250 คน

ช่างมีโอกาสน้อยเหลือเกินที่พรรคใดพรรคหนึ่งจะชนะการเลือกตั้งแล้วได้ ส.ส. ถึง 375 ที่นั่ง

ดูท่าทางแล้ว ผู้ที่จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีคงต้องได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. แต่งตั้งด้วยเท่านั้น โดยพรรคที่ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลก็จะถูกครอบงำด้วย ส.ว. แต่งตั้งอยากหลีกเลี่ยงไม่ได้

...ทว่า หากเหตุการณ์ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเล่า...

**********

หลังการเลือกตั้งครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ในการประชุมรัฐสภาเพื่อตัดสินว่าพรรคใดจะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล กลุ่ม ส.ว. ต่างเตรียมลงคะแนนโหวตแคนดิเดตจากพรรคหน้าใหม่ที่มีกลุ่มรัฐบาลพิเศษอยู่เบื้องหลัง ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยคะแนนเสียง 250 เสียงจาก ส.ว. รวมกับคะแนนเสียงจากพรรค ปชป. อีก 180 เสียง และพรรคขนาดกลางขนาดเล็กอีกเกือบ 80 เสียง

แม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้ด้วยจำนวน ส.ส. 240 คน แต่ก็ยังมีคะแนนห่างไกลจากเป้าหมาย 375 เสียง อย่างมาก ...หนทางที่พรรคเพื่อไทยจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลนั้นดูเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย...

เมื่อเริ่มกระบวนการโหวตเลือกแคนดิเดตจากรัฐสภา...
ผลปรากฏว่า ผู้ที่ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี คือ แคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทย!
ด้วยคะแนนเสียงจาก ส.ส. พรรคเพื่อไทย 240 เสียง รวมกับคะแนนเสียงจาก ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์บางส่วนอีก 140 เสียง รวมเป็น 380 เสียง เกินกึ่งนึงของสมาชิกรัฐสภา

...คนไทยทั้งประเทศที่รับชมการถ่ายทอดสดถึงกับตะลึงกับผลการลงคะแนน สิ่งที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ที่สุด กลับกลายเกิดขึ้นมาต่อหน้าต่อตา... พท. จับมือกันเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลกับ ปชป. ด้วยการเลือกแคนดิเดตคนนี้ที่ได้รับความไว้วางใจจากแกนนำ 2 พรรคใหญ่ว่าเป็นบุคคลสายกลางที่แกนนำทั้ง 2 พรรคใหญ่เชื่อใจได้

**********

ผลการลงคะแนนรัฐสภาที่พลิกโผที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เกิดขึ้นจากการเจรจาลับของแกนนำทั้ง 2 พรรคใหญ่ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายร่วมกันที่จะหลุดพ้นจากการครอบงำโดย ส.ว. แต่งตั้ง ด้วยเงื่อนไขที่ทั้ง 2 พรรคใหญ่จะจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน แล้วผลักดันการแก้กฎหมายไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ!

ไม่นานหลังจากรัฐบาลร่วมของพรรค พท. และ ปชป. เริ่มเข้าสู่อำนาจ การเดินหน้าผลักดันการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับก็เริ่มเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

ประเด็นสำคัญที่จะมีการปฏิรูปในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งแตกต่างจากรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ผ่านมา ได้แก่
  1. คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ที่วางนโยบายระยะยาวให้กับประเทศไทย จะต้องมาจากการเลือกโดย 2 พรรคใหญ่ ด้วยกลไกที่เรียกว่า "พรรคหนึ่งเสนอ อีกพรรคหนึ่งเลือก"
   พูดง่ายๆคือ พรรค พท. เสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิมา 100 คน ให้พรรค ปชป. เลือกเป็นกรรมการ 10 คน แล้วในทางกลับกันก็ให้พรรค ปชป. เสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิมา 100 คน ให้พรรค พท. เลือกเป็นกรรมการอีก 10 คน เมื่อรวมกับกรรมการโดยตำแหน่งอีก 5 คน ก็จะครบองค์ประชุมของคณะกรรมการ
   เรียกได้ว่าเป็นคณะกรรมการที่ทำงานคล้ายโปลิตบูโร แต่มีกรรมการเป็นบุคคลที่ทั้ง 2 พรรคใหญ่ให้การยอมรับร่วมกันผ่านกลไก "พรรคหนึ่งเสนอ อีกพรรคหนึ่งเลือก"
   กรรมการแต่ละท่านจึงมีแนวนโยบายสายกลางที่เข้าได้กับทั้งพรรค พท. และ ปชป. มาทำหน้าที่กำหนดนโยบายระยะยาวให้ทั้ง 2 พรรคใหญ่ปฏิบัติร่วมกัน

2. รัฐบาลภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ที่จะร่างขึ้นมานี้ จะให้พรรคที่ได้คะแนนเสียงอันดับ 1 กับอันดับ 2 ผลัดกันเป็นรัฐบาลพรรคละ 2 ปี
   พูดง่ายๆ คือ พรรค พท. ได้เป็นรัฐบาล 2 ปีแรก แล้วให้พรรค ปชป. เป็นรัฐบาล 2 ปีหลัง
   นี่เป็นหนึ่งในข้อตกลง win-win ร่วมกัน ของสองพรรคใหญ่ที่ทำให้เกิดเรื่องพลิกโผการเมืองที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยขึ้นมา!
   ทั้งนี้ จุดอ่อนจากการเปลี่ยนรัฐบาลทุก 2 ปี ได้ถูกแก้ไขด้วยจุดแข็งจาก (ข้อ 1) นโยบายระยะยาวของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่เลือกร่วมกันโดย 2 พรรคใหญ่

3. การแต่งตั้ง ส.ว. ด้วยกลไก "พรรคหนึ่งเสนอ อีกพรรคหนึ่งเลือก" เช่นเดียวกับที่ใช้แต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และลดจำนวน ส.ว. ให้เหลือเพียง 180 คน
    พูดง่ายๆคือ พรรค พท. เสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิมา 800 คน ให้พรรค ปชป. เลือกเป็น ส.ว. 80 คน แล้วในทางกลับกันก็ให้พรรค ปชป. เสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิมา 800 คน ให้พรรค พท. เลือกเป็น ส.ว. อีก 80 คน รวมเป็น ส.ว. 160 คน ส่วนอีก 20 คนมาจากการเลือกโดย ส.ส. ของพรรคอื่นในสภา
   โดย ส.ว. ตามรัฐธรรมนูญใหม่ที่จะร่างขึ้นมานี้ จะไม่มีอำนาจโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป แต่จะให้มีอำนาจเสนอชื่อแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ศาลทุกศาล จนถึงองค์กรอิสระอย่าง ปปช. และ กกต. รวมทั้งมีอำนาจถอดถอนตำแหน่งเหล่านี้ด้วย

...โดยทั่วไปแล้ว อำนาจของ ส.ว. ในร่างใหม่นี้จะคล้ายกับที่เคยมีในรัฐธรรมนูญ (รธน.) ฉบับปี 2540 แต่ไม่ใช่เพียงแค่นั้น แม้แต่อำนาจของฝ่ายบริหารเองก็เข้มแข็งแบบเดียวกับที่เคยปรากฏใน รธน. 2540 ด้วย เพื่อให้รัฐบาลที่สองพรรคใหญ่ผลัดกันเป็น มีอำนาจเพียงพอที่จะขับเคลื่อนโครงการที่ประชาชนนิยม ไปสู่การแก้ปัญหาได้จริงอย่างรวดเร็ว!

**********

ผลจากการเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับของ ส.ส. พรรค พท. และ ปชป. ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมายจากกลุ่มที่สนับสนุน รธน. 2560 รวมทั้งองค์กรอิสระต่างๆ

เมื่อการเดินหน้าแก้กฎหมายเริ่มติดขัดจากขัดขวางขององค์กรอิสระต่างๆ มวลชนจากต่างจังหวัดทุกภูมิภาคก็เริ่มทยอยเดินทางเข้าสู่กรุงเทพมหานคร เหล่านักการเมืองของพรรค พท. ก็เริ่มนำขบวนประชาชนจากภาคเหนือและภาคอีสานเข้ากรุง ในขณะเดียวกัน เหล่านักการเมืองของพรรค ปชป. ก็เดินนำขบวนมวลมหาประชาชนจากภาคใต้เข้ามาชัตดาวน์ที่ทำการสำคัญ ...ก่อกำเนิดเป็นการชุมนุมครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 20 ปี ของประวัติศาสตร์การเมืองไทย!

...แรงกดดันของประชาชนจากทุกภูมิภาคนั้นหนักหน่วงมหาศาลเกินที่องค์กรใดๆจะต้านทานไว้ได้... เพียงไม่นานก็เกิดการออกกฎหมายตั้งคณะร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาและออกบทเฉพาะกาลให้รัฐบาลร่วมของสองพรรคใหญ่ทำหน้าที่รัฐบาลรักษาการในช่วงเวลาพิเศษนี้ เพื่อแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับให้สำเร็จ และประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่สองพรรคใหญ่ผลักดันร่วมกันด้วยแรงสนับสนุนจากประชาชนจากทุกภูมิภาค...

รัฐบาลเฉพาะกาลที่นำโดยพรรค พท. และ ปชป. จึงได้ดำเนินโครงการประชานิยมลูกผสมร่วมกัน และเริ่มแต่งตั้งบุคคลกลุ่มใหม่เข้ามาทำหน้าที่ ส.ว., ในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ, ในคณะกรรมการชุดต่างๆ, ในองค์กรสำคัญ เพื่อขับเคลื่อนงานของรัฐบาล ด้วยอำนาจในกฎหมายตามบทเฉพาะกาล

ด้วยกฎหมายในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้เอง ทำให้อำนาจรัฐสภากลับคืนมาสู่ภาวะสูงสุดตามหลักการ Parliamentary Supremacy ที่ให้อำนาจรัฐสภาอยู่เหนือทั้งฝ่ายบริหารและตุลาการ... การผลักดันกฎหมายจึงไม่ถูกขัดขวางโดยองค์กรอิสระใดๆอีกต่อไป...

**********

แม้พรรค พท. และ ปชป. จะมีนโยบายที่ตรงกันข้ามกันในหลายประเด็น แต่โครงการประชานิยมเป็นนโยบายที่ทั้งสองพรรคใหญ่ค่อนข้างมองไปในทางเดียวกัน เพียงไม่นานหลังจากโครงการประชานิยมลูกผสมเริ่มดำเนินการ เงินจำนวนมากได้สะพัดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เมื่อประสานกับความคล่องตัว เข้าถึงพื้นที่ และเครือข่ายท้องถิ่นของนักการเมืองสองพรรคใหญ่ ทำให้เงินหมุนเวียนได้อย่างรวดเร็ว เศรษฐกิจเติบโตเต็มศักยภาพ GDPโตกว่า 5%

ในขณะเดียวกัน คณะร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งก็เริ่มเปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

...แต่เพียงไม่นานก็เกิดเหตุการณ์วางระเบิดขึ้นติดต่อกันหลายจุด และสังคมเต็มไปด้วยข่าวลือการปฏิวัติรัฐประหารเพื่อยึดอำนาจรัฐบาลเฉพาะกาล... มวลมหาประชาชนจากเหนือจรดใต้จึงเริ่มเดินขบวนเข้ากรุงมาอีกครั้ง แต่ครั้งนี้เป้าหมายอยู่ที่กรมกองของเหล่าทัพ รัฐบาลเฉพาะกาลที่นำโดยพรรค พท. และ ปชป. จึงต้องออกมาคลี่คลายสถานการณ์ด้วยการพูดคุยกับทุกฝ่าย และเร่งการทำประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยยังเปิดช่องให้มีการปรับแก้ได้ภายหลัง เพื่อให้ประชาชนยังมีส่วนร่วมกับการปรับปรุง รธน. ได้อย่างเต็มที่ แม้ว่าร่าง รธน. จะผ่านประชามติไปแล้ว...

ด้วยความมั่นใจในเสียงสนับสนุน รัฐบาลจึงตั้งเกณฑ์ไว้ว่าต้องได้รับคะแนนเกิน 2 ใน 3 ของผู้มาลงคะแนนประชามติจึงจะถือว่ายอมรับร่าง รธน. ฉบับใหม่นี้ ซึ่งผลจากการเติบโตทางเศรษฐกิจและความตื่นตัวทางการเมืองในช่วงหลังจากเกิดเหตุระเบิดครั้งที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนออกมาลงประชามติอย่างล้นหลาม ผลออกมาว่ายอมรับร่างรัฐธรรมนูญมากถึง 75% ของผู้มาลงคะแนนเสียง ทำให้การได้รับเสียงยอมรับถึง 2 ใน 3 ของผู้มาลงคะแนนประชามติ กลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ของการยอมรับร่างรัฐธรรมนูญ...

**********

ยังไม่จบ... มีเนื้อเรื่องต่อใน คห. 1
https://ppantip.com/topic/36505212/comment1
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่