...ธรรมะจากพระผู้รู้... โดย พระ ปราโมทย์ ปา โมชฺโช ค่ะ ^^ จาก หนังสือธรรมะใกล้ตัว ฉบับที่ 59 - 60 ค่ะ

ดอกไม้ดอกไม้ดอกไม้   ธรรมะจากพระผู้รู้ โดย พระ ปราโมทย์ ปา โมชฺโช ค่ะ   ดอกไม้ดอกไม้ดอกไม้

จาก หนังสือธรรมะใกล้ตัว ฉบับที่ 59 ค่ะ



ถาม: สมาธิมีความจำเป็นในการเจริญวิปัสสนาหรือไม่
ผมคิดว่าในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนั้น สติเป็นหัวใจที่สำคัญที่สุด
สมาธิต้องการแน่แต่ไม่มาก เอาแค่สมาธิขั้นต้นพอแล้ว
แต่ความเป็นปัจจุบันธรรมสำคัญมากที่สุด
   ดอกไม้

ผมเที่ยวศึกษาการปฏิบัติของสำนักต่างๆ หลายสำนักมากครับ
พบว่าแนวทางของแต่ละสำนักจะเหลื่อมกันอยู่เสมอ
แม้แต่สำนักที่มีรากฐานอภิธรรมจากท่านอาจารย์แนบด้วยกัน
พอลงมือปฏิบัติจริงก็ยังเหลื่อมกัน

ผู้ปฏิบัติในทุกๆ สำนัก กระทั่งในสายพระป่าที่ผมเติบโตมา
ส่วนมากจะทำแค่สมถะกันแทบทั้งนั้น
กระทั่งผู้ที่บอกว่ากำลังเจริญวิปัสสนาจำแนกรูปนามอยู่
เอาเข้าจริง ก็เป็นการทำสมถะ แต่นึกว่ากำลังเจริญวิปัสสนา
ทั้งนี้เพราะไม่ได้ เตรียมความพร้อมของจิต ให้ดีเสียก่อนที่จะทำวิปัสสนา
สิ่งที่ทำจึงพลิกจากวิปัสสนาไปเป็นสมถะอยู่เสมอ

จิตที่พร้อมจะดำเนินวิปัสสนาได้นั้น
ต้องมีคุณสมบัติตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้
ปรากฏในบทอุทเทสของมหาสติปัฏฐาน
คือท่านให้มี กายในกาย หรือเวทนาในเวทนา
หรือจิตในจิต หรือธรรมในธรรม เป็น วิหารธรรม
คือเป็นเครื่องรู้ เครื่องอยู่ ไม่ใช่เครื่องจองจำผูกมัดให้จิตสงบนิ่ง

ท่านให้มี อาตาปี คือความเพียรแผดเผากิเลส
มีความอดทนอดกลั้นที่จะปฏิบัติให้ต่อเนื่อง
และไม่ใช่ปฏิบัติเพราะกิเลสตัณหาจูงให้ปฏิบัติ
ด้วยความอยากรู้ อยากเห็น อยากเป็น อยากได้

ท่านให้มี สัมปชัญญะ หรือความรู้ตัว
ซึ่งตรงนี้ต้องเป็นความรู้ตัวที่ไม่ถูกโมหะหรือความหลงครอบงำจิต
ที่เรียกว่า อสัมโมหสัมปชัญญะ
ความรู้ตัวนี้แหละครับ ที่มียากที่สุด
ส่วนมากจิตของผู้ปฏิบัติจะมีโมหะแทรกอยู่เสมอ
ไม่รู้ตัว ทั้งที่คิดว่ากำลังรู้ตัว
ฝัน ทั้งที่กำลังตื่น

ท่านให้มี สติ คือความระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง

ท่านให้ นำความยินดียินร้ายในโลกออกเสีย
คือรู้อารมณ์ทั้งปวงด้วยจิตที่เป็นกลางจริงๆ

สรุปแล้ว จิตที่พร้อมจะเจริญวิปัสสนานั้น
ต้องเป็นจิตที่รู้จัก รู้อารมณ์ อย่างเป็น "เครื่องอยู่ของจิต"
คือไม่เพ่งจ้องอารมณ์เพื่อ บังคับให้จิตนิ่ง หรือให้อารมณ์ดับไป หรือให้รู้ชัดกว่าปกติธรรมดา
ไม่เผลอหลุดไปในความฟุ้งซ่าน ไม่รู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏเฉพาะหน้า
จิตต้อง "ไม่ถูกกิเลสครอบงำ"
มี "ความรู้ตัว" ไม่หลง ไม่เผลอ
มี "สติ" ว่องไวรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
ด้วย "ความเป็นกลาง" ปราศจากความยินดียินร้าย

จิตที่จะมีคุณภาพเช่นนี้ได้นั้น คือจิตที่มี สัมมาสมาธิ เป็นกำลังสนับสนุน
ตรงจุดนี้บางท่านมีความเห็นว่า
น่าจะใช้ขณิกสมาธิระลึกรู้รูปนามไปเลย
ในขณะที่ผมเห็นว่า จิตที่ไม่มีกำลังเพียงเท่านั้น
มักจะหลงตามอารมณ์ มากกว่าจะสักแต่ว่ารู้อารมณ์
ทั้งพระพุทธเจ้าท่านก็ทรงแสดงสัมมาสมาธิด้วยฌาน ๔
ในพระอภิธัมมัตถสังคหะ
ก็ระบุชัดว่าจิตวิสุทธิ์คืออุปจาระและอัปปนาสมาธิ
แสดงว่าสมาธิที่แนบแน่นกว่าขณิกสมาธิเป็นสิ่งสำคัญ ท่านจึงแสดงไว้เช่นนั้น

เมื่อจิตมีกำลังตั้งมั่น สักว่ารู้อารมณ์ได้แล้ว
คราวนี้ไม่ว่าอารมณ์อันใดปรากฏกับจิต
จิตจึงสักว่ารู้ว่าเห็นได้จริงๆ และเห็นชัดว่าขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕
โดยที่ไม่ต้องมีความคิดแทรกปนเข้าไปเลย
แต่เป็นการประจักษ์ชัดต่อหน้าต่อตานั่นเอง

แต่สำหรับบางท่านที่ใช้ปัญญาสนับสนุนสมาธิได้
คือสามารถแยกอารมณ์อันเป็นข้าศึกของสมาธิออกได้
จิตก็เป็นสมาธิคือตั้งมั่น รู้ อยู่เป็นอัตโนมัติ
เรียกว่าใช้ ปัญญาอบรมสมาธิ
ส่วนมากจึงเจริญสติสัมปชัญญะได้ในชีวิตธรรมดา

แต่ผู้ปฏิบัติส่วนมาก จิตไม่มีความรู้ตัวจริง
ยังหลงอยู่ทั้งที่คิดว่ารู้ตัว ยังฝันอยู่ทั้งที่ลืมตา
เวลาน้องๆ หลานๆ มาขอคำปรึกษา ก็จะแนะให้เขารู้จัก รู้ตัว เท่านั้นเอง
บางคนก็แนะให้ทำสมาธิก่อน แต่ส่วนมากจะแนะวิธีทำจิตให้เป็นสมาธิโดยใช้กำลังปัญญา
เพราะคนเมืองนั้นถ้าไม่มีอุปนิสัยมาก่อน ยากจะเริ่มด้วยแนวทางเจโตวิมุติได้
ทั้งนี้ เพื่อเขาจะสามารถไปปฏิบัติจริงในชีวิตประจำวันได้นั่นเอง


วันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๒   ดอกไม้

http://www.larndham.net/cgi-bin/kratoo.pl/000323.htm
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่