มองรัฐธรรมนูญ : การเลือกตั้งสส.

หลังจากพยายามทำความเข้าใจกับ การเลือกตั้ง สส.ในรัฐธรรมนูญฉบับจะลงประชามติอยู่หลายวัน ก็เลยได้ข้อสรุปว่า น่าจะลองตั้งตุ๊กตาขึ้นมา เพื่อมองเห็นจุดต่าง ๆ ได้ชัดเจนขึ้น

-------------------------------------------------

ขอเริ่มต้นจากเนื้อหาจากคำอธิบายสาระสำคัญร่างรัฐธรรมนูญ ที่สรุปโดย กรธ.

โดยมีจุดที่น่าตั้งข้อสังเกต ดังนี้

1.การเอาทุกคะแนนมาคำนวณ โดยเอาคะแนนทั้งประเทศมารวมกันหมด แล้วคำนวณว่า พรรคใด ควรได้ สส.จำนวนเท่าไหร่

[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

ประเด็นนี้พอจะเข้าใจได้ว่า เมื่อมีคะแนนคนที่เลือกแล้วไม่ได้รับเลือกอยู่ ก็อยากจะให้มีตัวแทนของคนกลุ่มนี้ แต่ที่ไม่เข้าใจก็คือ แล้วทำไมถึงต้องเอาคะแนนนี้ไปคิด เพื่อที่จะได้สส. ระบบบัญชีรายชื่อ

เพราะคะแนนตัวนี้ก็เห็นชัดเจนว่า คนกลุ่มนี้เขาเลือกใคร ต้องการให้ใครเป็นตัวแทน ซึ่งในบางเขตเลือกตั้ง คะแนนอันดับหนึ่ง กับอันดับสอง ทิ้งกันไม่กี่ร้อยคะแนน หรือบางคนที่สอบตก ยังมีคะแนนมากกว่า คนสอบได้ในบางเขต(ที่มีคนออกมาใช้สิทธิน้อย ๆ) แต่สุดท้าย บอกว่า อยากให้ทุกเสียงมีความหมาย กลับนำคะแนนนั้น ๆ ไปให้กับคนอื่น ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อพรรคนั้น

ผมว่า จุดนี้ ถ้าให้ดี ไม่ต้องมีบัญชีรายชื่อ แต่น่าจะนำคะแนนของผู้สมัครพรรคนั้น ๆ มาเรียงลำดับ ถ้าพรรคนั้น ต้องได้ สส.เพิ่ม ก็เอาจากคนที่ได้คะแนนมากที่สุด ที่ยังไม่ได้รับเลือกตั้ง เป็นสส.ไป

ถ้าแบบนี้น่าจะดีกว่า เพราะอย่างน้อย คนที่ได้เป็น สส.คนนั้น ยังมีประชาชนเลือกไม่น้อย


2.ในเรื่องที่พรรคการเมือง ต้องคัดสรรบุคคลที่ดี ในแต่ละเขต อันนี้ก็ยิ่งชัดเจน เมื่อเลือกคนดีแล้ว มีประชาชนเลือกมากมาย แต่ไปแพ้คู่แข่งเพียงเล็กน้อย คะแนนส่วนนี้ กลับต้องโยกไปให้สิทธิการเป็นสส.กับบุคคลในบัญชีรายชื่อแทน อันนี้ไม่รู้ว่า มันจะเป็นธรรม และตรงตามวัตถุประสงค์ของการกำหนดการเลือกตั้งลักษณะนี้หรือไม่เพียงใด

[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้


3.ในเรื่องการเลือกตั้งลักษณะนี้ ผมว่า ถ้าเราทำความเข้าใจกันให้ดี น่าจะชัดเจนว่า จุดประสงค์หลัก คือต้องการให้ประชาชนเลือกบุคคล ไม่ใช่ให้ประชาชนเลือกพรรค ดังนั้น เมื่อลงคะแนนแล้ว จะมากำหนดการมอง ให้เป็นภาพว่า ที่ประชาชนลงคะแนนไปทั้งหมดนั้น เป็นการเลือกพรรคการเมือง คงไม่ถูกต้อง

คือเมื่อนำคะแนนของคนที่ไม่ได้รับเลือก ไปกองรวมกัน เพื่อสรุปว่า พรรคควรได้สส.กี่คนนั้น น่าจะผิดหลักการอย่างชัดเจน

[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้



ผมได้ลองเอาข้อมูลการเลือกตั้งครั้งปี 2554 มาใช้ แล้วลองทำการคำนวณตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้

ตอนแรกกะว่า จะเลือกเอา 7 เขต (แทน สส.เขต 350 คน) แล้วจะคำนวณบัญชีรายชื่อ อีก 3 คน (แทนสส.บัญชีรายชื่อ 150 คน) แต่เมื่อค้นหาข้อมูลดู ก็เลยคิดว่า ยกมาสองจังหวัด รวม 7 เขตเลือกตั้ง น่าจะง่ายกว่า

แล้วเมื่อค้นก็เจอ ฉะเชิงเทรา (4 คน) กับ ยโสธร (3 คน) อันนี้เจอก่อน ก็ใช้เลย ไม่ได้มีไบแอสในการเลือกใด ๆ ทั้งสิ้น

โดยข้อมูลการเลือกตั้งที่ได้มา ก็มีทั้งหมดดังที่ซ่อนอยู่

[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

เมื่อนำมา ลงตาราง ได้ดังนี้






ซึ่งข้อมูลที่ลงตาราง พยายามย่อให้มากที่สุด แต่โดยสรุปก็คือ จากผลการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต พรรคเพื่อไทย (1) จะได้ สส. 5 เขต และพรรคประชาธิปัตย์ (10) จะได้สส. 2 เขต

และจากการคำนวณตามวิธี ของคุณมีชัย จะได้ว่า ตามคะแนนดิบ จากทั้งหมด 7 เขต พรรคเพื่อไทย จะได้ สส. 5 คน (ได้ครบแล้ว) พรรค ปชป.จะได้ สส. 3 คน แต่ได้แล้ว 2 คน ดังนั้น จะได้ บัญชีรายชื่ออีก 1 คน และพรรคภูมิใจไทย (16) จากที่ไม่ได้สส.แบบแบ่งเขตเลย แต่จากคะแนนจะได้ 2 คน ดังนั้น เลยได้ สส.บัญชีรายชื่อ 2 คน

แต่จากผลการเลือกตั้งจริง ๆ ที่มีการแยกบัตรเลือกตั้งสองใบ จะเห็นว่า สามเสียงที่ได้ จะเป็นของ พรรคเพื่อไทย 2 คน พรรค ปชป. 1 คน



---------------------------------------------------------------------


ดังนั้น การกำหนดรูปแบบการเลือกตั้งแบบนี้ น่าจะไม่ใช่การทำคะแนนทุกคะแนนให้มีคุณค่า แต่น่าจะเป็นการช่วย พรรคขนาดกลางถึงใหญ่ ที่มีความสามารถหาคนที่พอจะแข่งขันได้ แต่มีโอกาสชนะไม่มาก ให้มีโอกาสได้ สส.จากระบบบัญชีรายชื่อมาทดแทน

แต่พอทำแบบนี้ ผลเสียกลับไปตกกับพรรคขนาดเล็กแทน เพราะการทำแบบนี้ พรรคขนาดเล็กจะไม่มีทางได้คะแนนเสียงเลย ถ้าหากไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตนั้น ๆ

อย่างที่ยกตัวอย่างมา สองจังหวัดนี้ พรรครักประเทศไทย (5) ไม่ได้ส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลย ทำให้จะไม่ได้คะแนนจาก 7 เขตนี้เลย

แต่ถ้าเป็นรูปแบบเดิม เห็นได้ชัดว่า พรรครักประเทศไทย ซึ่งไม่ได้ส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลย ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 4 (รวมสองจังหวัดนี้) ได้มา 18,127 คะแนน และทั้งประเทศเมื่อคำนวณแล้ว ได้ สส.บัญชีรายชื่อ 4 คน แต่พอคิดแบบคุณมีชัย ก็กลับเป็นว่า เมื่อไม่ส่งผู้สมัคร ก็ไม่มีสิทธิได้คะแนน

แบบนี้ไม่รู้ว่า เป็นการรอนสิทธิของผู้เลือก ในการจะเลือกพรรคการเมืองที่ชอบหรือไม่

เพราะเท่าที่จำได้ ในการเลือกตั้ง ที่มีให้เลือกบัญชีรายชื่อ ผมจะเลือกพรรคเล็ก ที่ฟังนโยบายแล้วเข้าท่า เหมือนกับว่า เป็นการให้กำลังใจคนสนใจการเมือง ตั้งพรรคขึ้นมา เสนอนโยบาย

แต่พอเปลี่ยนระบบเป็นแบบนี้ กลายเป็นว่า ถ้าผมอยากเลือกพรรคอะไร ก็ต้องไปลุ้นว่า ให้มีผู้สมัครของพรรคนั้น มาลงสมัครในเขตเลือกตั้งที่ผมเลือก และ เมื่อมี แล้วผมเลือกไปแล้ว กลายเป็นว่า ผมเลือกนาย A ที่เป็นตัวแทนพรรคที่ผมอยากเลือก หรือผมเลือกพรรคที่ผมอยากเลือกกันแน่

เกิดพรรคนี้ มีดีพอสมควร สามารถหาผู้สมัครที่พอเรียกคะแนนระดับหลายพันคะแนนได้มาสัก 10 คน ทุกคนไม่มีสิทธิได้รับเลือก แต่กลายเป็นว่า หมายเลขหนึ่งในบัญชีรายชื่อ เป็นคนได้รับเลือกแทน มันจะเป็นธรรมกับผู้สมัครเหล่านั้นหรือป่าว

พรรคเล็ก ๆ แทนที่จะสร้างพรรค นำเสนอนโยบาย กับส่งผู้สมัครแบบเขตสักนิดหน่อย ทำบัญชีรายชื่อสั้น ๆ ก็พอ กลับกลายเป็นว่า ถ้าไม่ส่งผู้สมัครหลายร้อยคน จะไม่มีทางได้รับเลือกตั้งแน่นอน

ก็ไม่รู้ว่า การปฏิรูปทางการเมืองที่พยายามทำนั้น ต้องการให้การเมืองไทย เดินไปทางไหนระหว่าง การเหลือพรรคใหญ่ ๆ เพียงสองสามพรรค กับการมีพรรคการเมืองมาก ๆ ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึงกันแน่



--------------------------------------------------------------------------------


สรุป ในประเด็นการเลือกตั้งแบบนี้ ผมว่า ถ้าหากการลงประชามติครั้งนี้ผ่าน แล้วจะต้องใช้การเลือกตั้งแบบนี้ ผมหวังว่า เราจะใช้กันแล้ว มีการศึกษาเปรียบเทียบ ถ้าเห็นว่า มันไม่ดี ก็ควรจะแก้ไข เพื่อให้การเลือกตั้ง สะท้อนเสียงของประชาชนได้อย่างแท้จริง อย่างที่พยายามตั้งเป้าเอาไว้

แต่โดยส่วนตัวแล้ว คิดว่า ถ้าไม่มีการใช้การเลือกตั้งแบบนี้น่าจะดีกว่า




ผมเลยสรุปว่า การลงประชามติครั้งนี้ ผมจะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่