Dark Tales of London: ทวิฆาต (The Man Who Died Twice) - บทนำ

กระทู้สนทนา
ตอนที่แล้ว
Dark Tales of London: มือมาร (The Hand of Glory)
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้


-------------------------------------------------------------------------



“ด้วยความขัดเขิน แต่ประสงค์อย่างแรงกล้าที่จะรู้ ข้าพเจ้าเดินไปยังภาพหนึ่งและหยุดยืนอยู่ตรงหน้าภาพนั้น
ภาพดังกล่าว คือ ภาพนักบุญเซบาสเตียนของกุยโด (1)

ความมีมิติทั้งลึกและกว้างของแสงและเงาที่ทาบจับเหนือองคาพยพสมชายชาตรีนั้นดูยิ่งใหญ่แต่นุ่มนวล
ขับให้สองแขนซึ่งถูกพันธนาการไว้จนไม่อาจช่วยเหลือตนเองได้โดดเด่นขึ้นเหนือฉากหลังยามราตรีที่มีบรรยากาศชวนผวา
ลูกศรทิ่มแทงในสีข้างที่บิดเกร็ง คิ้วที่เลิกขึ้น ดวงตาที่ลึกล้ำด้วยศรัทธาแรงกล้า
ซึ่งอาจเอาชนะความทุกข์ทรมานทางกายและความอับอายทั้งปวงได้
ริมฝีปากที่เผยอออกอย่างมรณสักขี (2)  ผู้ประจักษ์แจ้งแล้วซึ่งสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าเฉลยให้
ล้วนดูราวกับจะตั้งคำถามอย่างทอดอาลัยและจำนนต่อชะตาชีวิตของตนว่า

‘ข้าแต่พระองค์ อีกนานเท่าใดกันมันจึงจะจบสิ้น’

หัวใจของข้าพเจ้าเหมือนบวมพองอยู่ภายในอก ดวงตาของข้าพเจ้าคล้ายจะหลุดออกจากศีรษะเสียให้ได้เพราะการเพ่งมองอย่างจดจ่อ
จากนั้น น้ำตามหาศาล ซึ่งข้าพเจ้าไม่รู้ว่าเกิดขึ้นด้วยเหตุใด ก็ค่อย ๆ ร่วงรินลงมาตามใบหน้า”



‘อัตชีวประวัติของอัลตัน ล็อค ช่างตัดเสื้อและกวี’ โดย ชาร์ลส์ คิงสลีย์ (1850)
Charles Kinglsey’s  “Alton Locke, Tailor and Poet: An Autobiography”  (1850)





ภาพ Saint Sebastian โดย Guido Reni จิตรกรชาวอิตาลี จัดแสดงที่ Dulwich Picture Gallery, London



---------------------------------------------------------------------------------------




บทนำ


พินชิน สตรีท, ลอนดอน, 20 มกราคม 1889



ดินฟ้าอากาศของลอนดอนยังคงเลวร้าย หมอกควันที่ปกคลุมอยู่ชั่วนาตาปีไม่เคยจางหายไปไหน และดูจะหนักหนาขึ้นเมื่อเข้าฤดูหนาว แม้หิมะจะเพิ่งหยุดตกไปตั้งแต่วันก่อนจะทำให้ไปไหนมาไหนได้สะดวกขึ้น แต่ความอึดอัดและชื้นแฉะอย่างน่ารำคาญที่หลงเหลืออยู่ก็เป็นอุปสรรคในการทำงานของตำรวจและแพทย์อยู่ไม่น้อย เพราะน้ำจากหิมะละลายชะล้างเลือดจากบาดแผลของผู้เคราะห์ร้ายให้ไหลรินไปตามร่องบนพื้นถนน ทำให้แพทย์ที่กำลังตรวจศพไม่สามารถนั่งได้ถนัดนัก


ถึงจะได้รับความไม่สะดวกในการทำงาน หาก ดร. โทเบียส ฟอล์กเนอร์ ซึ่งเป็นแพทย์ผู้ตรวจศพก็ไม่แสดงสีหน้ายินดียินร้ายอย่างเคย สีหน้าเช่นนี้ทำให้คนส่วนมากไม่อยากเข้าใกล้หรือซักถามเขานัก ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าซึ่งดูเหมือนจะทำงานกับเขาได้ราบรื่นกว่าใครเพื่อนจึงถูกส่งออกไปรับหน้าและรับมือกับเขา แต่ข้าพเจ้าก็ไม่ได้ลำบากใจแต่อย่างใด ด้วยรู้อยู่แก่ใจตนเองแล้วว่า เขามิได้เป็นอย่างที่ใครคิด  


แม้จะอายุน้อยกว่าข้าพเจ้าถึงสิบปี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เขาจะอ่อนความรู้หรือประสบการณ์ เพราะหากเขาไม่ช่วย การทำคดีแรกในฐานะสารวัตรสืบสวนสังกัดสก็อตแลนด์ยาร์ดของข้าพเจ้าคงไม่คลี่คลายในเร็ววัน ทั้งการทำงานร่วมกับเขาก็ไม่ใช่เรื่องยากเย็นแต่ประการใด เพราะเราต่างเข้าใจกันและทำงานเข้ากันได้ดี ซึ่งข้าพเจ้าต้องขอบคุณ ดร. เวสต์ ศัลยแพทย์ตำรวจประจำเขตไวท์ชาเพิล และเป็นผู้ที่แนะนำเขาให้ข้าพเจ้าได้รู้จัก


ดร. ฟอล์กเนอร์ที่ข้าพเจ้าได้สัมผัส ไม่ใช่คนเย็นชาหรือหยิ่งทะนงอย่างที่ใครร่ำลือกัน ตรงกันข้าม ในสายตาของข้าพเจ้า เขาไม่ใช่คนเจ้ายศเจ้าอย่างหรือยึดถือพิธีกรรมมากนัก สิ่งหนึ่งที่เป็นข้อพิสูจน์ในเรื่องดังกล่าว คือ คำเรียกแทนตัวเขาซึ่งข้าพเจ้าจงใจใช้ผิดมาตั้งแต่ต้น เพราะความจริงแล้ว ข้าพเจ้าไม่ควรเรียกเขาว่า ‘ด็อกเตอร์’ หรือ  ‘คุณหมอ’ ซึ่งเป็นคำเรียกสำหรับ ‘แพทย์’ (3) เพราะ ‘ศัลยแพทย์’ (4) ซึ่งเป็นสมาชิกของราชวิทยาลัยศัลยแพทย์ (5) อย่างเขา จะใช้คำเรียกขานว่า ‘มิสเตอร์’ หรือ ‘คุณ’ เพื่อให้เกิดความแตกต่างจากแพทย์ทั่วไป  


เหตุที่ข้าพเจ้าตั้งใจเรียกเขาว่า ‘คุณหมอ’ อย่างที่ข้าพเจ้าเรียก ดร. เวสต์ เพื่อนร่วมงานของเขา ตั้งแต่แรกที่พบกัน เพราะอยากทราบว่าเขาจะแสดงออกกับข้าพเจ้าอย่างไร ซึ่งเขาก็ปล่อยให้ข้าพเจ้าเรียกเขาตามที่ข้าพเจ้าถนัด โดยไม่มีการแสดงออกทางกิริยาหรือสายตาที่เป็นการดูถูกเลยว่าข้าพเจ้าไม่รู้มรรยาท ซึ่งแพทย์บางคนก็ยอมเรื่องนี้ไม่ได้  


แม้ว่าในยุคสมัยปัจจุบัน การเรียกขานด้วยคำนำหน้านามที่แตกต่างระหว่างแพทย์และศัลยแพทย์จะไม่เคร่งครัดมากนัก แต่สำหรับบางคนก็ยังถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ด้วยเมื่อกึ่งศตวรรษก่อนนั้น งานศัลยแพทย์ไม่ใช่งานของ ‘สุภาพบุรุษ’  เพราะเป็นงานที่ต้องใช้แรงงาน ต้องสัมผัสกับบาดแผลและสิ่งสกปรกต่าง ๆ ดังนั้น ผู้ที่ได้รับเกียรติให้ใช้คำนำหน้านามว่า ‘คุณหมอ’ จึงจำกัดเฉพาะแพทย์ที่ทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และจ่ายยาให้ผู้ป่วยเท่านั้น ในขณะที่ศัลยแพทย์ ซึ่งเป็นผู้ทำการผ่าตัด ทำแผล และจัดกระดูกถูกแยกออกจากแพทย์ด้วยคำนำหน้านามว่า ‘คุณ’ แม้สถานะของศัลยแพทย์จะได้รับการยอมรับนับถือและได้รับการยกย่องในสังคม แต่ธรรมเนียมการเรียกขานด้วยคำนำหน้าชื่อที่แตกต่างกันอย่างแต่ก่อนนั้นก็ยังสืบทอดมาจนถึงบัดนี้


นอกจากศัลยแพทย์ตำรวจที่ข้าพเจ้าได้รู้จักจากการทำงานในคดีฆาตกรรมที่ไวท์ชาเพิลไม่ว่าจะเป็น ดร. บอนด์ ดร. ฟิลลิปส์ และ ดร. เวสต์ ซึ่งล้วนแต่เป็นศัลยแพทย์ที่มีประสบการณ์มานานและมากด้วยความสามารถ ดร. ฟอล์กเนอร์ เป็นศัลยแพทย์ตำรวจอีกคนหนึ่งที่ข้าพเจ้าชื่นชม


ถึงเขาจะเขายอมรับคำที่ข้าพเจ้าใช้เรียกเขาอย่างถ่อมตน แต่สำหรับข้าพเจ้าแล้ว การเรียกเขาว่า ‘คุณหมอ’ เป็นสิ่งที่สมควรแก่ความรู้ ความสามารถ และฐานะของเขายิ่งกว่า ‘คุณ’ เสียอีก


ที่เขาเคยบอกเอาไว้ว่า เราสองคนอาจได้พบกันอีกไม่ช้าก็เร็ว ตราบใดที่มหานครลอนดอนยังคงมีอาชญากรรม เป็นความจริงอย่างที่สุด เพราะหลังจากคดีที่บัคเคิลสตรีทเมื่อปลายเดือนธันวาคมปีก่อน เขาและข้าพเจ้าก็ต้องมาพบกันอีกครั้งที่พินชินสตรีทแห่งนี้ เพราะคดีฆาตกรรมซึ่งตำรวจท้องที่แจ้งว่า อาจเป็นฝีมือของฆาตกรร้ายที่มีสมญาว่า ‘แจ็คเดอะริปเปอร์’ ซึ่งเป็นเสมือนเงาปีศาจร้ายที่ปกคลุมเขตไวท์ชาเพิลมานาน เนื่องจากยังไม่มีใครรู้ว่า เขาเป็นใคร และยังจับตัวมาลงโทษไม่ได้มาจนถึงบัดนี้


แม้คดีฆาตกรรมไม่ใช่เรื่องชวนอภิรมย์ แต่การได้ทำงานกับเขาถือเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างหนึ่งในบรรดาเรื่องร้ายที่เกิดขึ้น


ระหว่างจดบันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับศพที่พบลงในสมุดตามที่ ดร. ฟอล์กเนอร์บอก ข้าพเจ้าเห็นเขายกมือขึ้นใช้แขนเสื้อปาดหยาดเหงื่อซึ่งหยดรินออกมาข้างแก้ม ทั้งที่อากาศในเวลานั้นเย็นยะเยือก ซึ่งเป็นเรื่องผิดสังเกต เมื่อข้าพเจ้าเดินเข้าไปหา และย่อตัวลงนั่งข้าง ๆ จึงพบว่า ใบหน้าของเขาซีดเผือดจนแทบจะไร้สีเลือด


“คุณหมอป่วยอยู่หรือ”  


“เปล่า… ผมไม่ได้ป่วย” เขาพยายามลุกขึ้นแต่เสียหลัก ข้าพเจ้ารีบคว้าแขนของเขาไว้ ก่อนที่เขาจะถลาลงไปข้างหน้า


เขากล่าวขอบคุณ เมื่อข้าพเจ้าช่วยประคองเขาให้ลุกขึ้นยืน พอยืนได้มั่นแล้ว เขาก็ขอไม้เท้าที่ฝากไว้กับจ่าวิลเลียม มัสเกรฟ ลูกน้องของข้าพเจ้ามาใช้พยุงตัว


“ถึงหญิงผู้เคราะห์ร้ายจะมีบาดแผลถูกของมีคมแทงที่อกซ้าย และรอยเฉือนที่ลำคอในแนวระนาบ แต่ลักษณะของเหยื่อ และการกระทำของคนร้ายไม่ใกล้เคียงกับวิธีการลงมือของแจ็คเดอะริปเปอร์” เขากล่าว “สารวัตรคงคิดเหมือนกัน”


“ใช่ ผมคิดว่าไม่น่าจะเป็นฝีมือของแจ็คเดอะริปเปอร์ แต่น่าจะเป็นการฆ่าชิงทรัพย์ หรือฆ่าด้วยแรงจูงใจอื่น” ข้าพเจ้าเห็นพ้อง โดยพูดให้ได้ยินกันเพียงสามคน คือ เขา จ่ามัสเกรฟ และข้าพเจ้า “แต่ตราบใดที่เรายังจับเขาไม่ได้ ความหวาดกลัวของคนก็เป็นสิ่งที่เราห้ามกันไม่ได้”


“แล้วสารวัตรคิดจะทำอย่างไรต่อไป” เขาถาม พร้อมส่งสัญญาณมือให้เคลื่อนย้ายศพไปที่โรงพยาบาลได้


“ต้องปรึกษากับทางผู้บังคับบัญชาก่อน ว่าจะให้ทำอย่างไรต่อไป เพราะผมก็ได้รับแจ้งให้เข้ามาดูแลคดีนี้เสียแล้ว”


“ผมนึกว่าสารวัตรจะอยากโอนคดีกลับไปให้ตำรวจท้องที่ทำ”


“อยากซี ทำไมจะไม่อยาก” ข้าพเจ้าว่า พลางเหลือบตามองตำรวจท้องที่เคลื่อนย้ายศพออกไปจากที่เกิดเหตุ “แต่…”


“ผมว่า สารวัตรไม่ได้กลัวว่าตำรวจท้องที่จะทำคดีได้ไม่เรียบร้อยหรือละเลยไม่สนใจจนหญิงผู้นี้ต้องตายเปล่า” เขาต่อให้ “แต่เพราะรู้สึกว่าตัวเองเข้ามาเกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นแล้ว จึงอยากรับผิดชอบต่อไปให้สุดทาง อย่างนั้นมากกว่ากระมัง”


“ถูกของคุณหมอ” ข้าพเจ้ายอมรับ  


“คดีทุกคดีมีความสำคัญก็จริง แต่สารวัตรทำทุกคดีที่เข้ามาไม่ได้ดอก” เขาเตือน “ถึงเวลาวางมือ ก็ต้องวาง”


น้ำเสียงของเขาสะท้อนความรู้สึกบางอย่างออกมา และน้ำเสียงนั้นทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกว่า เขากำลังหวนนึกถึงเรื่องในอดีต ซึ่งเป็นเหตุให้เขาต้องวางมือจากบางสิ่งบางอย่างที่เขาเคยรับผิดชอบและจำใจก้าวถอยออกมาจากสิ่งนั้น


ข้าพเจ้าจำได้ว่า มร. อัลเฟรด คอร์ทนีย์ อดีตนักข่าวของโปลิศกาแซตต์และเป็นเพื่อนของเขาเคยเล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า เขาเคยเป็นศัลยแพทย์ทหาร แต่ลาออกจากราชการ เนื่องจากได้รับบาดเจ็บจากสนามรบ กลับมาเป็นแพทย์ที่ลอนดอน แต่งานของศัลยแพทย์ตำรวจนั้น ข้าพเจ้าไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นงานสบาย และเป็นงานที่แทบจะไร้ชื่อเสียงหรือคำยกย่อง เพราะเป็นการทำงานในห้องเก็บศพที่ไม่มีใครปรารถนาจะเข้ามาดูหรือชื่นชม ซึ่งแตกต่างจากศัลยแพทย์อื่น ๆ ที่งานผ่าตัดรักษาคนไข้เป็นหลักที่มีโอกาสได้สำแดงฝีมือในโรงแสดงการผ่าตัดต่อหน้านักศึกษาและเพื่อนร่วมวิชาชีพ


“คุณหมอเจ็บขาอยู่ใช่ไหม” ข้าพเจ้าถาม ด้วยเห็นสีหน้าของเขาไม่ดีขึ้น และยังไม่กล้าทิ้งน้ำหนักลงที่ขาซ้ายมากนัก ซึ่งข้าพเจ้าจำได้ว่า ขาซ้ายของเขามีปัญหาอยู่บ้าง แต่ไม่เคยคิดว่า อาการที่เป็นอยู่นั้นจะสร้างความเจ็บปวดให้เขาได้มากถึงเพียงนี้ เป็นไปได้ว่า บาดแผลจากสงครามนี้ทำให้เขาจำต้องยุติการเป็นแพทย์ทหาร และไม่อาจกลับสู่สมรภูมิได้อีก


“ครับ สารวัตร ผมยังพอทนไหว” เขาฝืนยิ้ม “แต่ลูกปืนที่ฝังอยู่ในขาผม ไม่ค่อยถูกกับความชื้น และอากาศหนาวจัดสักเท่าไหร่”




.................................................................................................

หมายเหตุ
(1) Guido Reni (1575-1642) จิตรกรชาวอิตาลี
(2) มรณสักขี (Martyr) คือ คริสตศาสนิกชนที่ถูกทรมานจนเสียชีวิต หรือถูกฆ่า หรือถูกประหาร เนื่องจากดำรงไว้ซึ่งความเชื่อทางศาสนาของตน
(3) Physician
(4) Surgeon
(5) Fellow of Royal College of Surgeons (FRCS)




-----------------------------------------

บอกกล่าว

สำหรับเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่ 2 ของเรื่องสั้นขนาดยาว หรือ นิยายขนาดสั้น ชุด Dark Tales of  London ค่ะ อาจจะใช้เวลานิดหน่อยในการนำมาลงแต่ละตอน แต่ก็จะพยายามเอามาลงให้สม่ำเสมอ บทนำอาจจะสั้นสักหน่อยนะคะ แต่แอบเสียวภาพประกอบเล็กน้อยว่า อมยิ้มจะปลิวมั้ย แต่อยากให้เห็นภาพ  Saint Sebastian ของจริงที่จัดแสดงในลอนดอนค่ะ เนื่องจากจะมีการพูดถึงในเรื่องนี้อีกหลายหนเลยทีเดียว

ต้องขอขอบคุณทุกท่านที่ติดตามอ่านมาตั้งแต่ตอนแรกทั้งที่แสดงตัวและไม่แสดงตัว ถ้าแวะมาอ่านแล้ว ก็มาคุยกันได้ค่ะ ถ้ามีคำแนะนำอะไรบอกได้เลยนะคะ ไม่ต้องเกรงใจ เพราะนิยายย้อนยุคแบบนี้โอกาสจะพลาดก็มีเหมือนกัน เนื่องจากการเขียนถึงการรบสมัยก่อนนั้นไม่ง่ายจริง ๆ ค่ะ สำหรับท่านที่เคยอ่านเรื่องนี้แล้ว คงจะได้ทราบกันแล้วนะคะว่า ขาของหมอโทเบียสมีปัญหาอะไร

ขอบคุณอีกครั้งที่สละเวลามาอ่านค่ะ ^^
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่