Dark Tales of London : มือมาร (The Hand of Glory) ตอนที่ 2

กระทู้สนทนา
Dark Tales of London : บทนำ : http://ppantip.com/topic/32052994
Dark Tales of London : มือมาร (The Hand of Glory) ตอนที่ 1 : http://ppantip.com/topic/32071542

----------------------------------------------------------------

ขออนุญาตตอบกระทู้จากคราวที่แล้วก่อนนะคะ

กาแฟ คุณ turtle_cheesecake
ขอบคุณที่ยังตามอ่านกันอยู่ หวังจะตามกันต่อไปเรื่อย ๆ นะคะ ^^


กาแฟ คุณ zoi
ขอบคุณที่แวะมาอ่านค่ะ


กาแฟ คุณจันทร์พันฝัน
ขอกรี๊ดด้วยคนได้มั้ยคะ (ฮา) เราไม่ได้คุยกันบนถนนฯ มานานมากเลย ดีใจที่ได้คุยกันอีก ><
เห็นคุณจันทร์พันฝันเอาเรื่องมาลงสม่ำเสมอมากเลย นับถือมาก เสียดายยังไม่ได้แวะไปอ่าน วันหลังจะไปแวะหานะคะ
เรื่องนี้ต้องบอกว่า เกิดจากหลาย ๆ อย่างที่ได้เห็นมาในอังกฤษ โดยเฉพาะ The Hand of Glory ของจริง
ในตอนจบของเรื่องนี้คงมีโอกาสได้เล่าเบื้องหลังให้ฟัง ^^

กาแฟ คุณ lovereason :
ขอบคุณที่มาอ่านค่ะ


ขอบคุณท่านอื่น ๆ ที่แวะมาคราวก่อนโน้นด้วย : คุณ Draconia , คุณเด็กหญิงจูดี้ขี้บ่น , คุณ Psycho man, คุณ turtle_cheesecake , คุณสมาชิกหมายเลข 1412708


ขอบคุณทุกท่านที่สละเวลามาอ่าน อ่านแล้วคิดเห็นอย่างไรก็คุยกันได้นะคะ รับฟังคำแนะด้วยความยินดีเป็นอย่างยิ่งค่ะ ^^

----------------------------------------------------------------------------------------------------------

(2)


ชานเซอรี เลน (1), ลอนดอน, 29 ธันวาคม 1888



“เขาอยู่ที่นี่นี่ละครับ สารวัตร” มร. อัลเฟรด คอร์ทนีย์บอกข้าพเจ้า เมื่อเราสองคนลงจากรถม้า นำข้าพเจ้าไปที่ประตู ควานหากุญแจในกระเป๋าเสื้ออยู่พักหนึ่งจึงได้กุญแจออกมาไขเข้าบ้าน และพาข้าพเจ้าเข้าไปภายในที่พักของเขา ซึ่งแบ่งเช่าอาศัยอยู่กับคนที่ข้าพเจ้าต้องการพบ


ด้วยชื่อเสียงที่กล่าวขวัญกันว่า เป็นคนเข้าถึงยากและไม่ยอมตกปากรับคำทำสิ่งไรให้ใครอย่างง่าย ๆ ข้าพเจ้าจึงไม่อยากผลีผลามเข้าพบเขาเพื่อให้ตนเองถูกปฏิเสธกลับมาให้เสียการ เพราะข้าพเจ้ารู้ว่า คนเช่นนี้ ยิ่งรบเร้ามากเท่าใด ก็จะยิ่งแข็งขืนมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงต้องสืบข้อมูลเสียก่อนที่จะไปหา เพื่อให้รู้ว่า เขาเป็นคนเช่นไร และต้องวิสาสะกับเขาอย่างไร จึงจะถูกอัธยาศัยของเขา ทว่าจากการพูดคุยกับตำรวจที่ไวท์ชาเพิลแล้ว ข้าพเจ้ากลับรู้สึกเหมือนตนเองเดินเข้าหาทางตัน ยิ่งสอบถาม ก็ยิ่งมองไม่เห็นทางจะพูดคุยกับเขาโดยไม่มีอุปสรรคได้เลย กระทั่งสารวัตรแบล็กนั่นเองเป็นผู้ที่นึกถึง มร. คอร์ทนี่ย์ขึ้นได้


เหตุที่สารวัตรแบล็กรู้จักกับเพื่อนบ้านของ ดร. ฟอล์กเนอร์ได้นั้น เนื่องจาก มร. คอร์ทนีย์เคยเป็นเป็นนักข่าวของโปลิศกาแซ็ตต์ (2) ซึ่งเป็นนิตยสารข่าวตำรวจ รับผิดชอบติดตามข่าวสารเขตไวท์ชาเพิลมาก่อน จึงได้รู้จักมักคุ้นกับตำรวจย่านนี้พอควร แม้จะออกจากที่ทำงานเดิมไปเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการของนิตยสารคอร์นฮิลล์ (3) แต่ มร. คอร์ทนีย์ก็ยังแวะเวียนมาในย่านนี้เป็นครั้งคราวเพื่อหาข้อมูลสำหรับงานเขียน และระหว่างที่ข้าพเจ้าออกจากบ้านที่เกิดเหตุนั้น สารวัตรแบล็กก็เห็นเขายืนชะเง้อชะแง้ปะปนอยู่กับชาวบ้านที่ทราบข่าวการตายของเจมส์ พ็อตต์พอดี จึงได้แนะนำให้ข้าพเจ้ากับเขาได้รู้จักกัน ครั้งทราบเรื่องแล้ว เขาก็ให้ความร่วมมือแก่ข้าพเจ้าเป็นอย่างดี และนำข้าพเจ้าไปที่บ้านของเขาเพื่อพบกับ ดร. ฟอล์กเนอร์


เป็นเหตุการณ์ประจวบเหมาะอย่างเหลือเชื่อ ถือเป็นโชคดีอย่างยิ่งของข้าพเจ้า และเป็นจุดเริ่มต้นของการคลี่คลายคดีแรก ในฐานะสารวัตรสืบสวนของสก็อตแลนด์ยาร์ดที่ดีอยู่ไม่ใช่น้อย แต่ข้าพเจ้าก็ยังหวังอะไรไม่ได้มากนัก เพราะหากคนที่ข้าพเจ้าอยากพบ ไม่ให้ความร่วมมือเสียแล้ว ข้าพเจ้าก็ต้องแสวงหาทางที่จะรู้เรื่องนั้นด้วยตนเองต่อไป


เมื่อพูดถึงชานเซอรี เลน อันเป็นที่ตั้งของแฟลตซึ่ง ดร. โทเบียส ฟอล์กเนอร์พักอาศัยแล้ว ในคราวแรกที่ทราบจาก ดร. เวสต์ ข้าพเจ้าแปลกใจเล็กน้อยที่เขาอยู่ที่นั่น เพราะย่านนั้นเป็นย่านพักอาศัยของผู้พิพากษา ตุลาการ ทนายความ และเสมียนทนายเป็นส่วนมาก เนื่องจากอยู่ใกล้กับศาลและสำนักอบรมทนายความแห่งเนติบัณฑยสภาอังกฤษทั้งสี่แห่ง คือ เกรย์สอินน์ ลินคอล์นอินน์ อินเนอร์เทมเพิล และมิดเดิลเทมเพิล (4) กระทั่ง มร. คอร์ทนีย์เล่าให้ข้าพเจ้าฟังระหว่างทาง จึงได้เข้าใจ


เซ็ปติมัส ฟอล์กเนอร์ บิดาของ ดร. ฟอล์กเนอร์ รวมถึงพี่ชายของเขาอีกสามคนล้วนแต่เป็นหมอความฝีปากเอก แม้จะมีบ้านของครอบครัวและสำนักงานอยู่ที่เซอร์รีย์ (5) แต่ต้องเดินทางมาว่าความในลอนดอนอยู่บ่อยครั้ง พ่อลูกฟอล์กเนอร์จึงได้ซื้อแฟลตหลังนี้ไว้เพื่อจะได้ไม่ต้องเดือดร้อนหาที่พักและสถานที่จัดเตรียมเอกสารสู้คดี ต่อมา ดร. ฟอล์กเนอร์ซึ่งปลดประจำการจากการเป็นแพทย์ทหารเนื่องจากได้รับบาดเจ็บจากสมรภูมิอาบูเคลีย ในสงครามมาห์ดิสต์ ที่ซูดาน (6) กลับมาเป็นศัลยแพทย์ที่โรงพยาบาลในลอนดอน ก็ได้ขอเช่าแฟลตนี้จากบิดาและพี่ชายเพื่อใช้เป็นที่พักอาศัย ส่วน มร. คอร์ทนีย์ ซึ่งเป็นเพื่อนเก่าแก่ของ ดร. ฟอล์กเนอร์มาตั้งแต่สมัยเรียนโรงเรียนกินนอนจนถึงมหาวิทยาลัย กำลังหาที่อยู่ใหม่ เพราะต้องการความสงบสำหรับเขียนหนังสือ ประกอบทำเลของแฟลตอยู่ใกล้ห้องสมุด จึงตกลงแบ่งเช่าแฟลตนั้นกันคนละครึ่ง  


“วันนี้ มิสซิสดาร์ลตัน ผู้ดูแลบ้านของเราไม่อยู่ อาจไม่ได้รับความสะดวกบ้าง ต้องขออภัยสารวัตรด้วย” มร. คอร์ทนีย์บอกระหว่างนำข้าพเจ้าขึ้นบันไดไปชั้นบน เขาเปิดประตูเข้าไปในห้องรับแขก และแนะนำให้ข้าพเจ้ารู้จักกับบุคคลที่นอนอยู่บนโซฟาหน้าเตาผิง


“สารวัตรเฟย์… นี่คือ ดร. โทเบียส ฟอล์กเนอร์”


ดร. โทเบียส ฟอล์กเนอร์ เป็นชายหนุ่มรูปร่างสูงเพรียว สวมแว่นสายตา หน้าตาและบุคคลิกดีทีเดียว แต่ทว่ามีท่าทางไม่เป็นมิตรกับใครง่ายดายนัก และเป็นอย่างที่เพื่อนร่วมงานของเขานิยามไว้ คือ เหมือนแมว… แมวที่กำลังไม่สบอารมณ์เพราะถูกรบกวนความสงบยามอ่านหนังสืออยู่เสียด้วย ถึงไม่พองขนขู่ฟ่อ แต่ก็อาจกางเล็บตะปบได้ทันทีเมื่อเข้าใกล้จนเกินควร


ดวงตาสีเขียวที่จดจ่ออยู่กับเนื้อหาของหนังสือเปลี่ยนทิศมาจับจ้องยังใบหน้าของสหายร่วมแฟลตของเขาซึ่งเป็นผู้นำข้าพเจ้าเข้ามา ตามด้วยใบหน้าของข้าพเจ้า ท่าทีของเขาเขาดูเหมือนแมวตัวใหญ่แต่ปราดเปรียวที่แสดงอาการระแวดระวัง และพร้อมกระโจนหนีคนแปลกหน้าอย่างข้าพเจ้าได้ตลอดเวลา แม้แววตาจะแสดงความสงสัย ทว่าริมฝีปากของเขายังคงปิดสนิท ไม่กล่าวทักทายหรือตั้งคำถาม


“ดร. ฟอล์กเนอร์” ข้าพเจ้าแนะนำตัว “ผมชื่อไมเคิล เฟย์ เป็นสารวัตรสืบสวนจากสก็อตแลนด์ยาร์ด ขอโทษด้วยที่มารบกวนเวลาพักผ่อน แต่เรามีเรื่องจำเป็นต้องขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ”


“ถ้าสารวัตรต้องการแพทย์ตรวจศพ สารวัตรควรไปหา ดร. เวสต์ที่เข้าเวรอยู่ ไม่ใช่ผมที่ลาพักในวันนี้”


แม้จะมีแก่ใจแนะนำแต่ก็เป็นคำปฏิเสธที่ไร้เยื่อใยสิ้นดี แต่คำตอบของเขาไม่ได้เหนือไปจากความคาดหมายของข้าพเจ้า


“ดร. เวสต์แนะนำให้ผมมาขอคำปรึกษาจากคุณหมอ เนื่องจากคุณหมอเชี่ยวชาญในเรื่องเหล่านี้มากกว่า”


ดร. ฟอล์กเนอร์นิ่งไปครู่หนึ่ง วางหนังสือลงบนโต๊ะ เปลี่ยนจากท่านอนเหยียดขาบนโซฟามาเป็นนั่งพิงพนัก ขยับแว่นสายตาให้เข้าที่ แต่ยังไม่ยอมเชิญให้ข้าพเจ้านั่ง


“เพราะเป็นคดีที่มีเสียงร่ำลือว่ากันฝีมือของภูติผี…”


“ถูกต้องแล้ว”


“สารวัตรไม่เชื่อว่ามันเกี่ยวข้องกับภูติผี…”


“ผมไม่เชื่อว่าเป็นเช่นนั้น แต่เมื่อมีคนพูดถึง ผมก็พร้อมจะตรวจสอบ”


เขามองข้าพเจ้าอย่างพินิจพิเคราะห์อยู่ครู่หนึ่ง ก่อนพยักหน้าช้า ๆ ข้าพเจ้าไม่รู้ว่าท่าทางอย่างนั้นมีความหมายว่าอย่างไร แต่สีหน้าโล่งใจของ มร. คอร์ทนีย์ทำให้ข้าพเจ้าพอจะวางใจได้ส่วนหนึ่งว่าคำขอของข้าพเจ้าคงได้รับการตอบสนอง



“อัลเฟรด วานไปชงชามาทีเถอะ” ดร. ฟอล์กเนอร์ว่า ถอนใจเบา ๆ แล้วหันมาพูดกับข้าพเจ้า “เชิญนั่งก่อนครับ สารวัตร เราอาจจะต้องคุยกันยาว”


---------------------------------------------------------------------------------------

หมายเหตุ

[1] Chancery Lane

[2] The Police Gazette (or Hue and Cry) เป็นนิตยสารรายสัปดาห์ของกระทรวงมหาดไทย มีบรรณาธิการบริหาร คือ กองบัญชาการตำรวจนครบาล เริ่มจำหน่ายในปี 1772 ในชื่อ The Quarterly Persuit ต่อมาจึงเปลี่ยนชื่อเป็น Hue and Cry and Police Gazette, Hue and Cry or Police Gazette (1828)  และ The Police Gazette (1839) ตามลำดับ เป็นการรายงานข่าวเกี่ยวกับคดีอาชญากรรม ประกาศจับ และความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับคดีต่าง ๆ ของตำรวจและกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เป็นนิตยสารที่ยังมีขายอยู่จนถึงปัจจุบัน

[3] Cornhill Magazine เป็นวารสารวรรณกรรมและนิยาย ก่อตั้งในปี 1859 โดย  George Murray Smith มีคอลัมน์หลักเป็นนิยายเรื่องยาว และบทความอื่น ๆ

[4] เนติบัณฑยสภาอังกฤษ (Inns of Court) เป็นองค์กรวิชาชีพของทนายความ (Barrister) ในสหราชอาณาจักรอังกฤษและเวลส์ ประกอบด้วยสำนักอบรมสี่แห่ง ได้แก่ Lincoln's Inn, the Inner Temple, the Middle Temple, Gray's Inn

[5] Surrey เป็น County หนึ่งของอังกฤษ อยู่ทางทิศใต้ของลอนดอน

[6] Battle of Abu Klea (มกราคม 1885) เกิดขึ้นที่ Abu Klea ประเทศซูดาน ระหว่างสงครามที่มาห์ดิสต์ หรือ The Mahdist War (1881-1899) เป็นสงครามอาณานิคม (colonial war) ที่เกิดขึ้นอัฟริกาซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษในยุคนั้น เริ่มต้นจากความขัดแย้งระหว่างอียิปต์และซูดาน โดยมีอังกฤษซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคมเข้าแทรกแซง ทำให้ชาวซูดานนำโดย Mohammed Ahmed ("The Madhi") ผู้นำศาสนาในซูดานทำสงครามต่อต้าน



(มีต่อนะคะ)
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่