Dark Tales of London : มือมาร (The Hand of Glory) ตอนที่ 3

กระทู้สนทนา
Dark Tales of London

บทนำ : http://ppantip.com/topic/32052994
มือมาร (The Hand of Glory) ตอนที่ 1 : http://ppantip.com/topic/32071542
มือมาร (The Hand of Glory) ตอนที่ 2 : http://ppantip.com/topic/32113866


สำหรับตอน The Hand of Glory นี้ มีทั้งหมด 5 ตอนจบนะคะ ขอบคุณที่สละเวลามาอ่าน และแวะมาคุยกัน ถ้ามีคำแนะนำอะไรก็บอกได้เลยนะคะ ยินดีรับฟังเป็นอย่างยิ่ง ส่วนของการตอบกระทู้ขอย้ายลงไปตอบด้านล่างนะคะ

__________________________________________________________________________


(3)

ไวท์ชาเพิล, ลอนดอน, 29 ธันวาคม 1888



ไม่มีใครอยากเชื่อสายตาว่า ข้าพเจ้าตามตัว ดร. โทเบียส ฟอล์กเนอร์จากบ้านมาที่โรงพยาบาลได้


ไม่มีใครกล้าถามเขาหรือข้าพเจ้าว่าทำได้อย่างไร ส่วน ดร. เวสต์ซึ่งเป็นผู้แนะนำเขาแก่ข้าพเจ้าทำเพียงแต่ยิ้มที่เห็นเขาปรากฏตัวที่ห้องเก็บศพพร้อมกับข้าพเจ้าเท่านั้น และสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น ก็ทำให้ข้าพเจ้าแจ้งแก่ใจว่า ความชำนาญในการผ่าศพตรวจของ ดร. โทเบียส ฟอล์กเนอร์นั้นไม่เป็นสองรองใคร


ดร. ฟอล์กเนอร์ถอดเสื้อโค้ตและสูทออกไปเก็บไว้ในห้อง พับแขนเสื้อเชิ้ตทั้งสองขึ้นและใช้เชือกรัดไว้ไม่ให้หลุดลงมา สวมผ้ากันเปื้อนทับเสื้อเชิ้ตและเสื้อกั๊ก รัดสายรอบเอวไว้ให้กระชับไม่เกะกะ แล้วเข้าไปสมทบกับ ดร. เวสต์ซึ่งแต่งกายในลักษณะเดียวกันพร้อมสำหรับการชันสูตรศพของเจมส์ พ็อตต์บนโต๊ะในห้องเก็บศพ และเล่าถึงการตรวจศพในที่เกิดเหตุให้เขาฟังโดยละเอียด


หลังจากตรวจสภาพภายนอกของเพิ่มเติมแล้ว ดร. ฟอล์กเนอร์ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ของห้องเก็บศพถอดเสื้อผ้าของผู้ตายออก ในเวลานั้น ข้าพเจ้าจึงได้เห็นรอยสักรูปนางเงือกและสมอเรือเหนืออกด้านขวาของเขาอย่างชัดเจน นอกจากบนอกแล้ว บนต้นแขนสองข้างของเขายังมีรอยสักเป็นตัวหนังสือที่สันนิษฐานได้ว่าเป็นชื่อเรือที่เขาเคยเป็นกลาสีอยู่อีกด้วย สีที่ซีดจางลงบ่งบอกว่า เป็นรอยสักที่ได้มานานพอสมควรแล้ว ซึ่งร่องรอยเหล่านี้ช่วยอธิบายถึงเหตุผลว่า เขาไปรู้จักมักคุ้นกับพวกคนเรือและได้ ‘เดอะ แฮนด์ ออฟ กลอรี่’ ดังที่อ้างว่าซื้อต่อมาจากกลาสีเรือคนหนึ่งได้อย่างไร และแสดงถึงความเป็นไปได้ที่เขาจะเข้าถึงตัวของเซอร์เอ็ดเวิร์ด สแตนตัน ซึ่งเป็นนักเดินเรือผู้หนึ่งด้วย ซึ่งเรื่องดังกล่าวคงได้รู้กันเมื่อข้าพเจ้าไปพบเซอร์เอ็ดเวิร์ดในวันรุ่งขึ้น


ดร. ฟอล์กเนอร์เลิกเปลือกตาของผู้ตายขึ้นดูจุดเลือดออกในนัยน์ตาขาว สั่งให้เจ้าหน้าที่บันทึกสิ่งที่เขาพบลงในสมุด ข้าพเจ้าบอกให้จ่ามัสเกรฟซึ่งตามมาสมทบบันทึกในสิ่งเดียวกัน โดยที่ข้าพเจ้าเองก็จดสิ่งที่เขาพูดลงในสมุดของตนเองด้วย


เขาสำรวจอาการเกร็งของกรามและกล้ามเนื้อบนใบหน้า จับคางของผู้ตายให้แหงนขึ้น นำตะเกียงเข้ามาส่องใกล้ ๆ เพื่อตรวจดูในช่องปากให้ชัดเจนขึ้น จากนั้นจึงตรวจหาร่องรอยและบาดแผลบนลำคอ และสำรวจจุดอื่น ๆ บนร่างกาย โดยบรรยายสิ่งที่เห็นไปด้วยอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่ถึงกับรัวเร็วเสียจนจดตามไม่ทัน


โดยสรุปแล้ว สภาพภายนอกของผู้ตาย ไม่มีบาดแผลที่เกิดจากการต่อสู้หรือบาดแผลอื่น ๆ บนร่างกายเพิ่มเติม นอกจากรอยช้ำเล็กน้อยบริเวณกลางหน้าอกเท่านั้น ซึ่งไม่ต่างจากผลการตรวจศพในที่เกิดเหตุของ ดร. เวสต์นัก


“เป็นไปได้ไหมว่า หัวใจวายเพราะตกใจสุดขีด” ดร. เวสต์ถาม


“ดูจากหน้าตากับอาการเกร็งแล้วก็เป็นไปได้ แต่จะอธิบายเรื่องจุดเลือดออกในตาขาวว่าอย่างไร” ดร. ฟอล์กเนอร์ว่า “ช่วยผมพลิกศพผู้ตายดูด้านหลังหน่อยเถอะ”


ดร. เวสต์ช่วยเขาพลิกศพให้นอนตะแคงเพื่อตรวจดูด้านหลัง และในเวลานั้นเอง ที่เขาทำเสียงบางอย่างในลำคอ และก้มลงมองรอยจ้ำเลือดด้านหลังอย่างสนใจ ก่อนที่จะยกมือขึ้นเรียกข้าพเจ้าให้เข้ามาดูกับเขาใกล้ ๆ “จ้ำเลือดด้านหลัง โดยทั่วไปแล้ว จะออกสีแดงเลือดหมู แต่นี่ออกเป็นสีคล้ำกว่า ออกไปทางม่วงเลยทีเดียว”


“สีเช่นนี้บอกถึงสาเหตุการตายว่าเป็นอย่างไรกัน คุณหมอ” ข้าพเจ้าถาม


“รอยตกของเลือด หรือ livor mortis ที่เกิดขึ้นหลังตายที่ออกสีคล้ำไปทางน้ำเงินหรือม่วงอย่างนี้ แสดงให้เห็นว่า เขาตายเพราะขาดอากาศหายใจ” เขาตอบ


ดร. เวสต์พยักหน้ายืนยันคำตอบนั้นกับข้าพเจ้า “สอดคล้องกับจุดเลือดออกในเยื่อบุตาขาวทั้งสองข้าง และใบหน้าที่คล้ำกว่าปกติ”


“ศพของเขาอ้าปากอยู่ เขาจะหายใจทางปากไม่ได้หรือ” ข้าพเจ้าซัก  


“สารวัตรถามคำถามได้น่าสนใจ” ดร. ฟอล์กเนอร์ว่า “ถูกต้องแล้วที่คนเราหายใจทางปากได้ แต่ถ้ามีบางอย่างไปขวางทางเดินหายใจ ก็ทำให้ขาดอากาศได้ หรือสารพิษบางอย่างก็มีฤทธิ์ทำให้คนเราหายใจไม่ออก จนต้องดิ้นรนพยายามหายใจทุกวิถีทางได้เช่นกัน เพราะฉะนั้น ศพก็อาจอยู่ในสภาพเช่นนี้ได้เหมือนกัน”    


แน่นอนที่สุด ข้าพเจ้ารู้ดีว่า เขาหมายถึงฤทธิ์ของ ‘เดอะ แฮนด์ ออฟ กลอรี่’ หรือ มันดราโกราที่เราสนทนากันก่อนมาที่นี่


“แล้วจะพิสูจน์ได้อย่างไร” ข้าพเจ้าถามต่อ


เขาบอกให้ ดร. เวสต์ปล่อยศพลงนอนหงายตามเดิม และส่งสัญญาณมือบอกให้เจ้าหน้าที่ห้องเก็บศพนำถาดอุปกรณ์มาให้ “อาจจะต้องผ่าดู”


คำตอบของเขาทำให้จ่ามัสเกรฟทำหน้าตื่น หันมาสบตากับข้าพเจ้าอย่างไม่สบายใจนัก แต่ข้าพเจ้าก็ช่วยอะไรเขาไม่ได้ เพราะหากไม่ทำเช่นนั้น ก็ไม่อาจรู้ว่า เจมส์ พ็อตต์ตายด้วยสาเหตุใดแน่ “คุณหมอทำตามที่เห็นควรเถิด”


ดร. ฟอล์กเนอร์หยิบมีดผ่าตัดขึ้นมา จรดมีดลงบริเวณใต้คางของศพ กดใบมีดคมกริบเข้าไปในผิวเนื้อ ลากลงมาผ่านลำคอ เป็นทางยาวลงไปตลอดกลางอกจนสุดที่ท้องน้อยอย่างไม่ลังเล เลือดของผู้ตายไหลซึมออกมาตามรอยแผลที่แบะออกจนเห็นเนื้อสีแดงสดและไขมันสีเหลืองที่แทรกอยู่ ภาพที่ปรากฏอยู่ต่อหน้าเป็นเหมือนภาพที่เกิดขึ้นในฝันร้าย แต่กลิ่นคาวของเลือดมนุษย์ที่ฟุ้งกระจายอยู่ในห้องเก็บศพเป็นเครื่องเตือนสติว่า สิ่งที่เห็นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง และกลิ่นนั้นทำให้จ่ามัสเกรฟถึงกับผงะถอยหลังมาชนใส่ข้าพเจ้า


ศัลยแพทย์เงยหน้าขึ้นมามองข้าพเจ้าเล็กน้อย ก่อนก้มลงเลาะผิวหนังและกล้ามเนื้อบริเวณลำคอของผู้ตายให้เปิดออก จนกระทั่งเผยให้เห็นหลอดลมและเส้นเลือดด้านใน สีหน้าเรียบเฉย มือทั้งสองที่เปื้อนเลือด และทักษะการใช้มีดของเขา ทำให้ข้าพเจ้าหายใจไม่ทั่วท้อง ความเชี่ยวชาญอย่างน่ากลัวนั้นดูจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ตำรวจเขตไวท์ชาเพิลหวั่นเกรง เพราะหากเขาคิดเปลี่ยนสถานะจากศัลยแพทย์เป็นฆาตกรแล้ว เขาอาจเป็นอาชญากรที่หาตัวจับยากได้ยิ่งกว่าแจ็ค เดอะ ริปเปอร์ที่ยังลอยนวลอยู่เสียอีก


“สมัยเรียนมหาวิทยาลัย ดร. ฟอล์กเนอร์ทำคะแนนวิชากายวิภาคศาสตร์ได้ดีเยี่ยม” ดร. เวสต์เอ่ยขึ้นเหมือนชวนคุย เพื่อให้บรรยากาศผ่อนคลายลงบ้าง “นั่นคือเหตุผลหนึ่งที่เราเรียกเขาเข้าทำงานทันทีที่ทราบว่า เขากลับมาลอนดอน ประสบการณ์ในการเป็นแพทย์ทหารเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่เราต้องการให้เขามาเป็นศัลยแพทย์ตำรวจ เพราะเขาเคยเผชิญสิ่งที่เลวร้ายที่สุดเท่าที่มนุษย์คนหนึ่งเคยพบมาแล้ว ศพในสภาพที่ไม่น่าดูเป็นสิ่งที่เขาเคยเห็นมานักต่อนัก สารวัตรไม่ต้องแปลกใจดอก หากเขามองผู้ตายอย่างไม่รู้สึกอะไร เพราะประสบการณ์จากสมรภูมิได้สอนเขาว่า เขาไม่มีทางอื่นนอกจากต้องรับมือกับมันให้ได้ ด้วยวิจารณญาณที่แม่นยำและความเด็ดขาดในการวินิจฉัย”


“เรามี ดร. บอนด์  (1) และ ดร. ฟิลลิปส์  (2) ซึ่งมีคุณสมบัติของแพทย์ตำรวจอย่างครบถ้วนอยู่แล้ว แต่เมื่อมีคดีที่ร้ายแรงมากขึ้น และการชันสูตรศพเป็นสิ่งสำคัญในการทำคดี เราต้องการยังต้องการบุคคลที่มีคุณสมบัติเช่นนี้อีกจำนวนมาก” เขาบอก “แม้จะมีประสบการณ์ในการเป็นแพทย์ตำรวจมาไม่นาน แต่ดร. ฟอล์กเนอร์ก็ถือเป็นหนึ่งในบุคคลเหล่านั้น”


“เนื้อด้านในบริเวณใกล้กับเส้นเลือดใหญ่ส่วนหน้าของลำคอทั้งสองข้าง โดยเฉพาะทางด้านซ้ายของลำคอช้ำ และมีเลือดออกในเนื้อเยื่อบริเวณนั้นเล็กน้อย มีความเป็นไปได้ว่ามีการกดทับบนลำคอในส่วนที่มีเส้นเลือดดังกล่าวอยู่” ดร. ฟอล์กเนอร์เอ่ยขึ้น หลังรอให้เพื่อนร่วมงานของเขาจบการสนทนากับข้าพเจ้า ดูเหมือนว่า เขาได้ยินทุกสิ่งที่ ดร. เวสต์พูดเกี่ยวกับตัวเขา แต่ไม่สนใจจะออกความเห็นอื่นใดที่นอกเหนือไปจากเรื่องงานตรงหน้า และรอให้พวกข้าพเจ้าพร้อมสำหรับการจดในสิ่งที่เขาบรรยาย


“สภาพของหลอดลมปกติ ไม่พบความเสียหาย” เขาใช้มีดเฉือนเปิดหลอดลมตามยาว ใช้ปากคีบควานเข้าไปด้านใน “ไม่พบสิ่งแปลกปลอมติดค้าง หรือปิดกั้นทางเดินหายใจ มีความเป็นไปได้ว่า เขาตายเพราะขาดอากาศหายใจ เนื่องจากเส้นเลือดใหญ่บริเวณลำคอถูกกดทับหรือถูกทำให้ตีบตัน ซึ่งสัมพันธ์กับคราบน้ำลายที่ไหลออกมาจากปาก”


แม้จะได้ข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับสาเหตุการตายบางประการแล้ว แต่ ดร. ฟอล์กเนอร์ก็ยังไม่หยุดอยู่เพียงเท่านั้น เขาชำระคราบเลือดที่เปื้อนมือในอ่างน้ำ เช็ดน้ำที่เปียกมือออกเที่ยวหนึ่งก่อน เพื่อให้ทำงานได้ถนัดขึ้น เขาหยิบมีดผ่าตัดกรีดใต้ไหปลาร้าจากด้านหนึ่งถึงอีกด้านหนึ่ง จึงเปลี่ยนอุปกรณ์จากมีดขนาดเล็กมาเป็นมีดขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อใช้เลาะเปิดหน้าอกของผู้ตายออกเป็นส่วนต่อไป

เมื่อส่วนที่เป็นแผงซี่โครงของศพโผล่พ้นเนื้อออกมา ข้าพเจ้าได้ยินจ่ามัสเกรฟทำเสียงบางอย่างในลำคอ ยกมือขึ้นปิดปากเหมือนอยากอาเจียนเต็มแก่แต่ต้องกลั้นไว้ แข็งใจดูและบันทึกรายละเอียดการชันสูตรศพต่อ ทั้งที่ใบหน้าของเขาซีดเซียวเต็มทน จนข้าพเจ้านึกเห็นใจและนับถือความรับผิดชอบในหน้าที่ของเขาไปในเวลาเดียวกัน  


“พบรอยร้าวขนาดเล็กบนซี่โครง…” ดร. ฟอล์กเนอร์บอก และเรียกเอาแว่นขยายจากเจ้าหน้าที่มาส่องดู จากนั้นจึงเอาไม้บรรทัดมาวัด และบอกให้บันทึกสิ่งที่พบลงไป


“รอยร้าวนี้เกิดจากอะไร” ข้าพเจ้าถาม


“อาจเกิดจากการถูกกระแทกหรือมีบางอย่างซึ่งมีน้ำหนักมากกดทับ” เขาบอก “รอยร้าวนี้เป็นรอยที่เกิดขึ้นใหม่ น่าจะเกิดขึ้นไม่นานมานี้ แต่ผมบอกไม่ได้ว่า เกิดขึ้นเมื่อใดและเพราะอะไร”


“การใช้ของหนักกดทับบนหน้าอกเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เขาหายใจไม่ออกหรือขาดอากาศหายใจได้หรือไม่”


“เป็นไปได้ หากแรงกดนั้นมีน้ำหนักมากพอ” ดร. ฟอล์กเนอร์ว่า “การกดทับบนหน้าอก และกดเส้นเลือดบริเวณลำคอ เป็นเหตุทำให้ขาดอากาศหายใจได้ทั้งสิ้น… สารวัตรนึกอะไรออกอย่างนั้นหรือ”


“ผมกำลังคิดถึงวิธีการฆ่าแบบ Burking (3)





-------------------------------------------------------------------------------

[1] Thomas Bond (1841-1901) ศัลยแพทย์ชาวอังกฤษ เมื่อเป็นนักเรียนแพทย์ได้รับรางวัลเหรียญทองในการสอบวิชาศัลยแพทย์จากUniversity of London ได้รับการฝึกฝนจากราชวิทยาลัยศัลยแพทย์และได้เข้ารับราชการเป็นแพทย์ทหารในสงครามปรัสเซีย เมื่อปลดประจำการเนื่องจากป่วยได้กลับมาเป็นศัลยแพทย์ที่ลอนดอน และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นศัลยแพทย์ตำรวจประจำA Division (Westminster) ในปี 1867 ได้ทำการชันสูตาศพในคดีฆาตกรรมที่สำคัญหลายรายรวมถึงคดีแจ็ค เดอะ ริปเปอร์ ดร. บอนด์ถือเป็นคนแรก ๆ ที่วิเคราะห์พฤติกรรมของคนร้าย (offender profiling) จากการพฤติกรรมร่วมหรือลักษณะการกระทำของคนร้ายที่ก่อคดี

[2] George Bagster Phillips (1935-1897)  ศัลยแพทย์ชาวอังกฤษได้รับการแต่งตั้งให้เป็นศัลยแพทย์ตำรวจประจำ H Division (Whitechapel) ในปี 1865 เป็นแพทย์ผู้ทำการชันสูตรศพในคดีฆาตกรรมที่ก่อโดยแจ็คเดอะ ริปเปอร์มาตั้งแต่ต้น ได้ชื่อว่าเป็นแพทย์ที่มีอัธยาศัยดี และมีความเชียวชาญสูง

[3] William Burke (1792-1829) ชาวไอริช ก่อคดีร่วมกับ William Hare เพื่อนำศพไปขายต่อให้กับโรงเรียนแพทย์ใน Edinburgh สก็อตแลนด์โดยเบิร์กจะชวนเหยื่อมาดื่มที่บ้าน แล้ววางยาให้หมดสติ จากนั้นจับเหยื่อนอนกับพื้นแล้วขึ้นไปนั่งทับ หรือคุกเข่าทับบนหน้าอกใช้มือปิดปากและจมูกของเหยื่อจนขาดอากาศหายใจและเสียชีวิต เบิร์กและแฮร์ถูกจับได้เบิร์กให้การรับสารภาพเกี่ยวกับวิธีการฆ่าทั้งหมดและถูกประหารชีวิตด้วยการแขวนคอที่เอดินเบอระ ต่อมา วิธีการฆ่าโดยใช้แรงกดทับ (mechanical asphyxia หรือ  traumatic asphyxia) ร่วมกับการปิดกั้นทางเดินหายใจ (smothering) จึงถูกเรียกว่า ‘Burking’ ตามชื่อของเบิร์กซึ่งเป็นผู้ใช้วิธีการดังกล่าว

(มีต่อค่ะ)
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่