ผมเชื่อว่า "สภาประชาชน" รูปแบบนี้ สามารถกำจัดปัญหาคอรัปชั่นได้ 100% และคนไทยทุกสีต้องการ

สืบเนื่องมาจากครั้งก่อน ผมได้ตั้งกระทู้ http://ppantip.com/topic/31313155 โดยเสนอให้แบ่งแยกอำนาจรัฐออกเป็นเขตใหญ่ๆ  ก็ไม่นึกว่ากำนัน แกจะบ้าจี้ คิดไปไกลกว่านั้น สับให้เป็นเล็กๆยิ่งกว่านั้นอีก ซึ่งส่วนตัวผมไม่เห็นด้วยในแนวทางนั้น อันที่จริงไม่ใช่ว่าไม่เห็นด้วย(บางส่วน) เพียงแต่ ว่ากันตรงๆ คือประเทศไทยยังไม่พร้อม จนถึงในระดับดีพอที่จะไปถึงจุดๆนั้น ยังเร็วเกินไปที่จะกระจายอำนาจออกแบบสุดขั้วทุกหัวระแหงแบบนั้น เหมือนยุบโรงเรียนประถม โรงเรียนอนุบาลทิ้ง แล้วไล่เด็กๆไปทำมาหากินกันเอง แน่นอนว่ามีเด็กหลายคนอดตายแน่นอน


วันนี้เลยขอเสนอสภาประชาชนรูปแบบนี้ มาให้คิดกันเล่นๆ ลองดูว่าทุกท่านจะรู้สึก"ฟิน"กับสภาแบบนี้กันหรือไม่ ?

รูปแบบที่ว่าคือเป็นสภาซ้อนสภา

สภาแรกเป็นสภาการเมืองทั่วๆไปนั่นแหละ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง รัฐบาลจะประกาศนโยบายอะไร มีมติอย่างไร ให้ สส. มาเถียงกันในสภานี้ รูปแบบเดิม

สภาที่สองเป็นสภาประชาชน เป็นการเมืองภาคประชาชน มีลักษณะเป็นสภาย่อยซ้อนสภาหลักอีกชั้นหนึ่ง โดยมีโครงสร้างแบบนี้...
- จำนวนของสมาชิกสภา เอาสัก 100-200 คน ก็พอแล้ว
- สมาชิกสภาประชาชนมาจากประชาชนทุกอาชีพ และจะต้องมีอาชีพที่ไม่ซ้ำกัน เพื่อความหลากหลาย
- ขณะที่เป็นสมาชิกของสภา จะต้องประกอบอาชีพนั้นๆอยู่ หรือเคยประกอบอาชีพนั้นๆ อยู่ไม่น้อยกว่า 5ปี ในสังกัดหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง หรือบริษัทเอกชนก็ได้
- การได้มา ต้องมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น
- สมาชิกสภาประชาชนจะต้องไม่สังกัดพรรคการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น
- สภาชิกสภาประชาชน มีวาระการดำรงตำแหน่งครั้งล่ะ 4ปี
- เพื่อความต่อเนื่องในการทำงานของสภาประชาชน หากมีสมาชิกลาออก หรือถูกเชิญออก หรือถูกเพิกถอน ก็จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่เฉพาะตำแหน่งของสมาชิกคนเดิมที่ว่างเท่านั้น และจะไม่กระทบกับสมาชิกคนอื่นๆ  (เพราะฉะนั้นสภาประชาชนจะไม่มีการยุบสภา การยุบสภาหมายถึงการลาออกของสมาชิกพร้อมๆกันทุกคน)
- การโหวตน่าจะมีวิธีการ และการนับคะแนนเสียง ที่เป็นวิธีการโดยเฉพาะ เช่น เอาแบบลงคะแนนให้ กับลงคะแนนไม่ให้ เข้าใจง่ายๆคือ โหวตไลค์กับดิสไลค์ นั่นแหละ นับเฉพาะเสียงของประชาชนที่สมัครใจจะมาเลือกตั้ง (การเลือกตั้งสภานี้ถือเป็นสิทธิของประชาชน แต่ไม่ถือเป็นหน้าที่ของประชาชน)  (ไม่อย่างนั้นก็คงต้องเลือกตั้งกันทั้งปี ไม่ต้องทำการทำงานกันพอดี)
- กกต. มีอำนาจในการตรวจสอบเหมือนกัน
- มีกฎหมายรองรับสถาณะ อำนาจ และหน้าที่

บทบาท และอำนาจ หน้าที่ของสภาประชาชน
1  สภาประชาชนมี "หน้าที่" (ใช้คำว่าหน้าที่ น่ะครับ) ให้คำปรึกษา หรือแสดงความคิดเห็นต่อการทำงานของรัฐบาล และฝ่ายค้านด้วย ในนามของสภาก็ได้ ในนามของสมาชิกเพียง 1คนก็ได้
2  สภาประชาชนมีอำนาจในการตรวจสอบและรับรู้การทำงานของรัฐบาล หรือที่เกี่ยวกับรัฐบาล และฝ่ายค้านด้วย (ในเฉพาะด้านที่ไม่เกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ)
3  สภาประชาชนมีอำนาจในการ กับกระทรวงต่างๆ กำหนดมาตราฐานการทำงานต่างๆ ในกิจการอันเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล
4  สภาประชาชนมีอำนาจในการตรวจสอบความสุจริตโปร่งใสของรัฐบาล (ข้อ 2-3-4 นี่คือสาเหตุที่ต้องคัดคนเอามาจากหลายๆอาชีพ)
5  สภาประชาชนมีอำนาจในเผยแพร่การทำงานของตัวเอง และของรัฐบาล ต่อสื่อมวลชน ในนามของสภาก็ได้ ในนามของสมาชิกเพียง 1คนก็ได้ (หรือจะมีสื่อเป็นของตัวเองเลยก็ได้)
6  สภาประชาชนมีอำนาจในการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆของภาครัฐ
7  สภาประชาชนมีสิทธิที่จะเข้าร่วมประชุมกับรัฐสภา ในนามของสภาประชาชนเท่านั้น และไม่มีสิทธิลงมติในรัฐสภา
8  สภาประชาชนมีหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน ในส่วนของการใช้อำนาจรัฐที่กระทบต่อประชาชนและเข้าไปดำเนินการตรวจสอบ เสนอข้อเท็จจริงต่อรัฐ และหาแนวทางแก้ไข

ยกตัวอย่างเช่น  รัฐบาลต้องการกู้เงิน 2.2 ล้านล้าน มาสร้างรถไฟขนผัก สมมุติว่าผ่านมติรัฐสภาแล้ว ก็ให้เป็นไปตามนั้น เพราะถือว่าเป็นนโยบายของรัฐที่ได้หาเสียงไว้กับ ประชาชน

แต่หลังจากนั้นก็คือบทบาทของสภาประชาชนที่ต้องเข้าไปตรวจดูการทำงานของรัฐ ว่ามีขั้นตอนการทำงานอย่างไร  เปิดประมูลที่ไหน อย่างไร ใครประมูลบ้าง ใครประมูลได้ ได้ไปที่ราคาเท่าไหร่ มีการทุจริตเกิดขึ้นไหม  พอเริ่มลงงาน ก็ยังสามารถเข้าไปตรวจสอบมาตราฐานการทำงานได้ รวมไปถึงมีอำนาจในการเรียกดูสำเนาบัญชีได้ ค่าหินเท่าไหร่ ค่าปูนเท่าไหร่ ค่าแรงเท่าไหร่  ถ้าเห็นว่าราคาไม่เป็นธรรม การทำงานไม่ได้มาตราฐาน ก็สามารถให้คำแนะนำได้ว่า ไปซื้อหินดินทรายปูนจากไหนจึงจะถูกและมีคุณภาพกว่านี้ มาตราฐานการทำงานนั่นนู้นนี่โน้น ตามหลักสากลเขาเป็นอย่างไร ฯลฯ ซึ่งถ้าหากเสนอความเห็นไปแล้ว บริษัทที่ได้ประมูลไปเขาไม่ฟัง ก็มีสิทธิที่จะสั่งระงับโครงการเพื่อตรวจสอบ (เขียนไว้ในสัญญานจ้างงานเลยว่า บริษัทรับเหมาจะต้องโดนตรวจสอบ ไปจนถึงโดนล้วงลูกจากสภาประชาชน) และเสนอเรื่องไปที่รัฐสภาได้ ว่าจะเอายังไงต่อ ยกเลิกสัญญาโดยไม่จ่ายค่าจ้าง หาบริษัทอื่นมาประมูลใหม่เลยได้ไหม  ฯลฯ หากสภาประชาชนยังไม่เห็นชอบกับมติของรัฐสภา ก็ยังมีอีกช่องทางคือ ตีแผ่เรื่องพวกนี้ออกสื่อมวลชน ประเดี๋ยวรัฐบาลก็โดนการเมืองภาคประชาชน เล่นงานเอง

สรุปสั้นๆคือ สภาประชาชนมีบทบาทคือ เป็นเหมือน QA , IA ทำการ Follow up รัฐบาล ให้กับประชาชน เป็นปากเป็นเสียงในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ครม.  สส.  ให้ประชาชน รวมไปถึงเป็นที่ปรึกษาและเป็นฝ่ายค้านของรัฐด้วย

ถามว่าสภาแบบนี้อำนาจมันจะล้นฟ้าเกินไปไหม ?  ก็อยากจะเอาเหตุผลที่ว่า เงินภาษีของประชาชน ประชาชนก็ต้องมีสิทธิที่จะตรวจสอบ และรับรู้ ที่มาที่ไปของเงินตัวเองได้ มาแก้หน้ารับหลักการตอบได้ แถมสภานี้ก็มาจากการเลือกตั้งเหมือนกัน  (ถึง ศักดิ์ อาจจะไม่เท่า) ก็ควรจะมีศรีเท่ากัน

ผมเชื่อว่าถ้ารัฐบาลต้องทำงานภายใต้การตรวจสอบอย่างเข้มข้นจริงจังจากคน(มีอำนาจ)ที่มีความรู้และประสปการการทำงานด้านนั้นๆ  ซ้ำยังถูกประชาชนจับตาดูอยู่ทุกวินาที การทุจจริตก็จะไม่เกิดขึ้น  ผีย่อมเห็นผี คิดดูเอาง่ายๆ อย่างคุณๆ หรือผม ที่กำลังอ่านกันอยู่เนี่ย คุณทำงานอะไรอยู่ สมมุติคุณเป็นวิศวะกรสายโอเปอเรชั่น คุณก็น่าจะรู้ว่าในสายงานของคุณ ถ้าจะโกงเขาโกงอะไรได้บ้าง และโกงกันยังไง แล้วถ้าจะตรวจสอบ ต้องไปจี้ที่ไหน มันถึงจะได้เห็นผี อีกอย่างสมาชิกสภาประชาชนก็ไม่ต้องกลัวอิทธิพลของนักการเมืองในสภาหลักด้วย เพราะโดยหลักการเขามีประชาชนเป็นแบ็คให้เป็นล้านๆคน

สุดท้ายนี้ต่อให้เป็นพรรคที่ตนเองรักมากแค่ไหน  ถ้าถูกจับได้จะๆคาหนังคาเขาว่าแอบไปกินไก่วัด ผมเชื่อว่าคณะศรัทธาแห่งพรรคนั้นส่วนใหญ่ จะเสื่อมศรัทธาในพรรคนั้นทันที

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแนวคิดคร่าวๆ ซึ่งเอาเข้าจริงมันยังต้องมีการปรับปรุงเนื้อหาและรายละเอียดอื่นๆอีกมาก  เชิญแลกเปลี่ยนแบบผู้มีอารยะ

ปล. ลืมทุกทฤษฎีไปก่อนน่ะครับ สถาณะการณ์บ้านเมืองในตอนนี้ต้องการนักคิดมากกว่านักทฤษฎี


แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่