มีด Cold Steel รุ่น Recon Tanto เหล็ก CarbonV

มีดตันโตะ รุ่นรีคอนตันโตะ ของโคลด์สตีล

ผมไม่ค่อยแน่ใจ คือยังไม่ได้หาข้อมูลว่ามีดรุ่นนี้มีมาตั้งแต่ปีไหน แต่ก็เป็นงานยุคแรกๆของโคลด์สตีล เป็นงานหรือมีดที่ออกแบบมาได้อย่างยิ่งใหญ่สุดๆรุ่นนึงของวงการมีดเลยทีเดียว

ผมเองที่แน่ใจได้คือสมัยก่อนผมเคยเห็นมีดรุ่นนี้แล้ว และในช่วงที่ผมอายุ 18 คือประมาณปี 2538 ผมเริ่มสนใจมีดอย่างจริงจัง ผมได้หนังสือมีดมาจำนวนนึง มันมีโฆษณาของมีดรุ่นนี้แน่นอน ไม่แน่ใจว่าใช่รุ่นแรกไหม แต่ก็เป็นรุ่นต้นๆยุคบุกเบิกตลาดมีดของมีดในแบบอเมริกันตันโตะ ซึ่งช่วงนั้นเริ่มมีแพร่หลายในหมู่ช่างทำมีดแบบคัสตอมชาวอเมริกัน

และมีดชุดนี้ก็กลายเป็นหลักสำคัญของมีดในแบบตันโตะที่เพิ่มความนิยมเข้ามาในวงการมีด และเป็นยุคแรกๆของมีดกึ่งๆยุทธวิธี ที่ทุกวันนี้เราเรียกมีดแทกติคอล สมัยก่อนจริงๆมันไม่มีนะครับ มีดประเภทนี้หรือคำศัพท์ตัวนี้ มันพึ่งมีมาในยุคโคลด์สตีลหรือยุคสไปเดอโก้นี่แหละ

รุ่นนี้ใช้เหล็กที่เป็นสูตรเฉพาะของทางโคลด์สตีล ที่เรียกว่าคาร์บอนวี หรือบางทีก็เรียกว่าคาร์บอนไฟว์ ตามตัวอักษรหรือเลขโรมัน เหล็กสูตรนี้ตอนมันเกิดขึ้นมาก็ได้รับความสนใจเป็นอย่างสูง ต้นตอของมันจริงๆว่ากันว่ามาจากบริษัทมีดแคมิลัส แล้วขายให้โคลด์สตีลอีกที น่าจะประมาณนี้ ผมเริ่มลืมๆจากอาการสมองเสื่อมเพราะแพ้ผงชูรส มีการถกเถียงหรือประเมิณเนื้อหาของเหล็กตัวนี้กันอย่างแพร่หลาย ซึ่งในสมัยก่อนมันเป็นความลับ แต่เดี๋ยวนี้ก็คงไม่ใช่

จนในที่สุดก็สรุปหรือคาดคะเนกันว่ามันเป็นเหล็กทูลสตีลในตระกูลโอหนึ่งสูตรนึง O1 toolsteel จริงๆแล้วมันก็มีหลายสูตรนะครับ เฉพาะโอหนึ่งหรือโอวัน ก็มีหลายสูตรแตกต่างกันไปเล็กๆน้อยๆตามแต่แหล่งที่มา โดยหลักๆมันคือเหล็กทำเครื่องมือชุบแข็งด้วยน้ำมันที่มีปริมาณคาร์บอนอยู่ประมาณ 1 % หรือ 100 ป็อยท์ และมีทังสเตนผสมอยู่ วิ่งขึ้นวิ่งลงตั้งแต่ 0.5 - 0.8 % โครเมียมก็เหมือนกัน ราวๆนี้

มาว่ากันถึงตัวมีดบ้าง โดยรวมแล้วเป็นมีดที่ค่อนข้างเรียบร้อย ออกแบบมาได้ดี ขายมาราวๆสามสิบปีทุกวันนี้ก็ยังผลิตออกมาอยู่ จัดว่าเป็นตำนานหน้าหนึ่งของวงการมีด คือมีดในแบบอเมริกันตันโตะ ขนาดพอเหมาะ รูปร่างสวยงาม ความหนาของสันพอได้ แต่ความหนาหรือองศาของแนวคมค่อนข้างกว้าง คือคมหนา มันหนาขนาดไหน ? คือหนากว่ามีดธรรมดาทั่วๆไปเท่าตัวนึงครับ ไม่ต้องเอาไปเปรียบกับมีดญี่ปุ่น หรือมีดครัวญี่ปุ่นที่แนวคมบาง มันต่างกันมาก

มากจนกระทั่งมันต้องใช้ตำราเล่มใหม่ในการลับให้มันคม จริงๆแล้วมันไม่ค่อยเหมาะกับงานทั่วๆไปหรืองานในป่าแบบมีดบูชคราฟ ถ้าจะหามีดเดินป่าที่ใช้ได้ดีในซี่รี่ย์หรือรุ่นเดียวกันกับรีคอนตันโตะ ก็ให้หารุ่น SRK จะดีกว่า หรือไม่ก็ Bush ranger จะเหมาะมากกว่า แต่รุ่นนี้ก็เลิกผลิตไปนานแล้ว ไม่งั้นก็รีคอนสเก๊าท์ไปเลย ใหญ่หน่อยแต่ทำงานได้กว้างขวางกว่า ส่วนพี่ใหญ่อย่างเทรียลมาสเตอร์ ก็ขอแนะนำว่าถ้าคุณไม่ได้คิดจะเข้าป่าเป็นเดือนๆหรือใช้ชีวิตอยู่ในป่า ก็ให้เลี่ยงไปหารุ่นอื่น รุ่นหลังๆอย่างเลทเธอร์เน็ก หรือรุ่นเล็กเลยอย่างโคบุ้น ก็ใช้ได้ดีหรือปาดเฉือนได้ดีกว่ารุ่นรีคอนตันโตะ

รุ่นนี้สันมีดหนา ตั้งแนวคมมาหนา และลับคมด้านหน้าหรือเซกกันดารี่บีเวลก็หนา คือเหล็กมันดีจริง ลับได้คมจริง แต่การฝ่าเข้าไปเป้าหมายทำได้ยากมาก เหมาะกับงานทางยุทธวิธี เช่นตัดเชือก ตัดไม้ งัดแงะ ทิ่มแทง หรือทุบๆตีๆก็ยังพอไหว ดูแนวคมที่ผมถ่ายรูปให้ดูแล้วเทียบกับมีดที่ทุกท่านมีก็คงเข้าใจว่ามีดคมหนามันหนายังไง

ส่วนมากแล้วผมใช้มีดเล่มนี้ในการค้นคว้าวิจัยเรื่องเหลี่ยมเรื่องมุม เรื่องระยะของการตั้งคม คือตั้งคมองศาขนาดนี้ปลายมีดทำอะไรได้บ้าง แนวคมทำอะไรได้บ้าง เป็นจุดอ้างอิงหรือขีดจำกัดว่าอย่าตั้งองศาให้มันกว้างขนาดนี้ อะไรทำนองนั้น มีดที่เราใช้กันทั่วๆไปจริงๆแล้วก็ไม่ได้ตั้งคมหนาขนาดนี้นะครับ ท่านที่ไม่เคยชินกับการลับมีดคมหนาอาจจะลับแล้วถูกแต่ขอบคมโดยไม่ได้ถูหน้าคมเลยก็ได้ คือองศามันไม่ได้กับการลับแบบธรรมดา

มีดแบบนี้แหละครับ ถ้าลับคมละเอียดหรือใช้สูตรเดียวกันกับลับมีดทำครัว มันจะเฉือนของไม่เข้า เช่น 240 - 1000 - 2000 - 3000 - 5000 - 6000

เท่าที่ใช้มีดเล่มนี้มันเหมาะกับสูตร 1000 แล้วก็แต่งคมเลย อย่างเล่มนี้ก็ลับ 1000 แล้วขึ้นไปแต่งคมบนหินอาคันซอ ให้มันรู้สึกกระด้างๆหน่อยมันถึงจะเฉือนเข้า เป็นอย่างนั้นจริงๆ

จัดว่าเป็นมีดดีที่ไม่ค่อยเหมาะกับชีวิตโดยทั่วๆไปนัก

เป็นของสะสมหายาก ได้รับความนิยมในหมู่นักเล่นมีดแทกติคอล และนักสะสมมีดในสายของโคลด์สตีล

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่